ธุรกิจเจ๊งไม่ได้แปลว่าจบ 3 วิธีกอบกู้วิกฤต จากเคสจริง เจ็บจริง และกลับมารอดได้จริง

TEXT : nimsri

Main Idea

  • “วิกฤต” กับ “ธุรกิจ” เป็นของคู่กัน ไม่วันใดก็วันหนึ่งคุณอาจต้องเจอเข้าสักวัน อาจเป็นวิกฤตเล็กๆ หรือเป็นวิกฤตใหญ่ก็ได้ สิ่งสำคัญ คือ คุณจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามานั้นยังไง

 

  • นี่คือ 3 คาถาจากประสบการณ์ตรงของผู้ประกอบการท่านหนึ่งที่เราอยากหยิบยกนำมาฝาก ถามตัวเองก่อนว่า มีต้นทุนอะไรอย่างอื่นที่ทำได้อีกบ้าง 2. รีบทำ รีบลอง รีบรู้ และ3. ปรับไปตามสเตปที่เจอหน้างาน

 

   ย้อนไปก่อนหน้าเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาด อวัศยา ปิงเมือง หรือ “แอม” คือ หนึ่งหุ้นส่วนธุรกิจโรงงานผลิตสบู่แฮนด์เมดที่มียอดการส่งออกไปกว่า 44 ประเทศทั่วโลก และยังไม่นับร้านขายของฝากชั้นนำในประเทศอีกหลายแห่ง แต่แล้วสุดท้ายธุรกิจก็ต้องมาสะดุด เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดจากโรคร้าย สิ่งที่อวัศยาหนึ่งในฐานะผู้บริหารของบริษัทพยายามทำ ก็คือ การนำพาทุกคนในองค์กรให้รอดพ้นจากวิกฤตไปให้ได้ และนี่คือ 3 คาถาที่เธอเล่าออกมาจากประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง เพื่อหวังให้ผู้ประกอบการคนอื่นๆ ได้นำมาใช้เป็นแนวทาง ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจบ้างไม่มากก็น้อย

ถามตัวเองก่อนว่า มีต้นทุนอะไรอย่างอื่นที่ทำได้อีกบ้าง

     “ก่อนหน้านี้เราทำธุรกิจส่งออกสบู่แฮนด์เมดมาก่อน ส่งออกปีหนึ่งหลายสิบตู้คอนเทนเนอร์เลย โดยกระจายส่งไปขายกว่า 44 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้เรายังมีหน้าร้านที่จตุจักร และวางขายในร้านขายของฝากมีชื่อของไทย เช่น ในคิงพาวเวอร์ด้วย แต่พอวิกฤตโควิด-19 เข้ามา เมื่อ 3 ปีก่อน ทุกอย่างก็หยุดชะงักไปหมด ออร์เดอร์ถูกระงับ ของที่ฝากวางขาย ก็ถูกให้เรียกไปเก็บคืนมา ตอนแรกเราพยายามประคองธุรกิจด้วยการทำเจลแอลกฮอลล์ออกมาขายก่อน เนื่องจากเป็นวัตถุดิบส่วนหนึ่งที่มีเก็บไว้อยู่แล้ว จนของเริ่มหมด เราก็มานั่งคิดกันต่อว่าจะทำยังไงต่อไปดี

     “ตอนนั้น คือ นั่งประชุมกับพนักงานเลยว่านอกจากงานที่ทำอยู่แล้ว มีใครเก่งเรื่องอะไรกันอีกบ้าง ก็ให้พูดไอเดียมา  ซึ่งทุกคนลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าด้วยความที่เราทำสบู่พวกผลไม้ ซึ่งทำออกมาได้น่ากิน เหมือนของจริง เวลาลูกค้ามาซื้อก็จะชม เราเลยคิดกันว่าอยากทำเป็นของกิน เพราะจับต้องได้ง่ายด้วย ณ เวลานั้นสินค้าที่ระลึกกลายเป็นของไม่จำเป็นไปแล้ว ไม่มีใครซื้อ งั้นน่าจะหันมาทำของกินดีกว่า จากนั้นก็เลยมาคิดต่อว่าจะขายอะไรกันดี ซึ่งพนักงานหลายคนชอบทำกับข้าวกันอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่างั้นเราลองทำกับข้าวขายกันดีกว่า”

 

คำแนะนำ : การต้องเริ่มทำสิ่งใหม่จากที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน สิ่งที่จะช่วยเราได้ ก็คือ เราต้องเริ่มต้นลงมือทำด้วยตัวเอง ต้องทดลอง พัฒนา เรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน

 

 

รีบทำ รีบลอง รีบรู้

     “พอคิดได้ว่าจะทำกับข้าวขาย เราก็ลงสำรวจกันเลยว่าตลาดไหนที่น่าจะมีแรงงานเยอะสุด จำได้ตอนนั้นเราออกจากบ้านไปลองเซอร์เวย์กันตั้งแต่ตี 3 เลย นานา สีลม สุขุมวิท อโศก จนถึงบางนา จนสรุปมาได้ที่ที่สีลม เลยไปลองจับฉลากเช่าพื้นที่ขายดูอาทิตย์หนึ่ง ค่าที่ตอนนั้นเท่าที่จำได้ คือ ประมาณ 6,000 บาท เท่ากับว่าวันหนึ่งเราต้องขายให้ได้มากกว่า 1 หมื่นบาท นี่คือ ต้นทุน เพราะไหนจะค่าพนักงาน ค่าน้ำมันรถอีก ต้องขับจากรามอินทรา ไปซอยละลายทรัพย์ ต้องมานอนที่โรงงาน ตื่นทำกับข้าวกันตั้งแต่เที่ยงคืน ตีสามเสร็จก็ออกไปตั้งร้าน ซึ่งจริงๆ มันก็พอขายได้ แต่ไม่คุ้ม เพราะอาหารทำไปประมาณเที่ยงก็บูดละ เพราะเราทำตั้งแต่ตีสาม นี่คือ ปัญหาใหญ่เลย ก็เลยมาคิดกันต่อว่างั้นก็ต้องขายของกินที่ไม่บูด”

 

คำแนะนำ : สำหรับช่วงที่เป็นเหมือนหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าคิดและตัดสินใจแล้วว่าจะทำอะไร ให้ทำเลย รีบลอง รีบรู้ ถ้าใช่ก็จะได้ไปต่อ ถ้าไม่เวิร์กก็รีบม้วนเสื่อกลับ ไม่งั้นเจ็บหนัก เหนื่อย และเสียเวลาเปล่า

 

 

ปรับไปตามสเตปที่เจอหน้างาน

     “พอได้โจทย์ว่าขายอะไรที่เป็นของกิน ไม่บูดง่าย และไม่ต้องเหนื่อยขนาดนี้ เราก็เบนเข็มมาขายน้ำ ซึ่งเราก็ลองอีกหลายอย่าง ตอนแรกขายน้ำมะพร้าวหอมไปรับมาจากบ้านแพ้ว สมุทรสาคร ปรากฏว่าก็บูดอีก เพราะมะพร้าวพอปลอกแล้วต้องแช่แข็งตลอดเวลา มันมีบางลูกที่ไม่ถึงน้ำแข็งก็เสียอีก สุดท้ายเราเลยลองปรับมาขายนมปั่น คราวนี้ลองเปิดร้านทำแบรนด์เป็นคีออสขายในห้างเลย เพราะจริงๆ ก่อนหน้าที่จะมาทำธุรกิจผลิตสบู่ เราเคยทำงานกับห้างมาก่อน เป็นผู้จัดการคอยทำโปรโมชั่น หาสินค้ามาขาย จึงพอมีคอนเนคชั่นและความรู้ในการติดต่อเอาสินค้าเข้าไปขายอยู่บ้าง

     “ปรากฏว่าพอเริ่มตั้งตัวได้เราก็เริ่มมองหาวัตถุดิบอื่นเข้ามาเสริม ตอนนั้นเลยเริ่มคุยกับซัพพลายเออร์ที่ญี่ปุ่นซึ่งธุรกิจของเขาก็หยุดชะงักเหมือนกัน ก็เลยลองมาคุยกันว่าเรามีอะไรที่พอจะทำร่วมกันให้ต่างฝ่ายต่างมีรายได้เพิ่มขึ้นมาได้ไหม ซึ่งก็นึกไปถึงส้มยูสุที่เป็นวัตถุดิบจากที่บ้านเขา ตอนนั้นเมืองไทยเริ่มฮิต เป็นที่ต้องการของตลาด แต่หากินได้ยาก เราเลยติดต่อซัพพลายเออร์ให้นำเข้า และเปิดเป็นร้านขายน้ำส้มยูสุเพิ่มขึ้นมา ทั้งสองอย่างนี้ช่วยให้ธุรกิจเราพอประคับประคองผ่านมาได้ มีงานให้พนักงานได้ทำต่อ ระหว่างที่รอธุรกิจเดิมให้กลับมาขายได้อีก”

 

คำแนะนำ : พอเจอกับวิกฤตจริงๆ เราไม่สามารถวางแผนได้เลยว่า ทำไปแล้วจะเป็นยังไง ดีหรือไม่ดี สิ่งที่ทำได้ คือ การปรับไปตามหน้างานที่เป็น อย่างตอนแรกที่ขายอาหาร แล้วมันเกิดบูดขึ้นมา ก็ทำให้เราปรับตัวและเรียนรู้ว่าควรจะขายอะไรที่ความเสี่ยงน้อย คือ ไม่ต้องทำไว้ก่อนและรอลูกค้ามาซื้อ แต่รอให้ลูกค้ามาซื้อก่อน จึงค่อยทำ เราเลยลองเปลี่ยนมาขายเครื่องดื่มแทน จากนมปั่น ก็มาเป็นน้ำส้มยูสุ ซึ่งตอนนั้นเราเริ่มมองแล้วว่าบางครั้งเราอาจไม่ต้องลงมือทำเองทุกอย่าง เพียงแต่ไปหยิบสิ่งดีๆ ที่คนอื่นเขาทำไว้แล้ว มาต่อยอดพัฒนาก็ได้ เช่น น้ำส้มยูสุขนาดส่งมาจากญี่ปุ่น ถึงมือเรา โดยไม่ใส่สารกันบูด ก็ยังสามารถเก็บรักษาไว้ได้ ก็ช่วยทำให้เราลดความเสี่ยงเรื่องวัตถุดิบลงได้

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน