สสว. เปิดแผนพัฒนา SME ไทย ภารกิจ 5 ปี พาผู้ประกอบการตัวเล็กโตแบบยั่งยืน

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงาน “เพิ่มศักยภาพ SME ไทย ด้วยแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570)” โดยนำร่องในพื้นที่ภาคเหนือ

 

  • หนึ่งในแผนฯ ที่น่าสนใจคือ การสร้าง SME Regional Champion 100 ราย ให้เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และผลักดันเครือข่ายที่เกี่ยวข้องให้เติบโตไปพร้อมกัน

 

  • พร้อมเน้นการทำงานเป็นหนึ่ง ลดความซ้ำซ้อน ช่วยให้ SME เข้าถึงข้อมูลของรัฐได้ง่ายขึ้น

 

     เพราะต้องการให้ SME ไทยแข็งแกร่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สสว. จัดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงาน “เพิ่มศักยภาพ SME ไทย ด้วยแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) โดยนำร่องในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งนี้ภายในงานมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการ ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพร้อมการเสวนา “ภาครัฐ x เอกชน ร่วมเสริมศักยภาพ SME ไทย” โดยผู้เชี่ยวชาญด้าน SME และด้านเศรษฐกิจที่มาร่วมสะท้อนนานาทัศนะ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญของแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5

     ดร.อภิรดี ขาวเธียร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสว. ได้กล่าวถึงสาระสำคัญของแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) ว่าสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นหลักคือ

     1. สร้างการเติบโตที่ครอบคลุม

     กลยุทธ์พัฒนา SME กลุ่มต่างๆ ให้เกิดเป็น Business life cycle โดยจะดูแล SME ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เติบโต ฟื้นฟู และมีการดูแลเฉพาะกลุ่ม อาทิ ธุรกิจของผู้สูงอายุ, ธุรกิจการเกษตร ฯลฯ

     2. สร้างการเติบโตแบบมุ่งเป้า

     กลยุทธ์พัฒนาส่งเสริมด้านตลาด ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดสากล

     3. สร้างสภาพแวดล้อมให้สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ

     กลยุทธ์พัฒนา Eco system ทั้งระบการทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งเงินทุน, เทคโนโลยีนวัตกรรม, แรงงาน บุคลากร, ข้อมูล, บริการ, กฎหมาย กฎระเบียบ, ข้อมูลเพื่อกำหนดนโยบาย

 

7 วิธีขับเคลื่อน SME ไทย

     ดร.อภิรดี ได้ขยายความถึงการดำเนินแผนงานต่อว่า เนื่องจาก SME มีจำนวนมากกว่า 3 ล้านรายและมีหน่วยงานมากมายที่ร่วมกันส่งเสริม SME ดังนั้นในการทำงานต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพจึงได้มีการดำเนินงานดังนี้

     1. สสว. มีบทบาทเป็น System Integrator ในปี 2567 เป็นปีแรกที่ สสว. จะทำงานใกล้ชิดกับสำนักงบประมาณ ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองโครงการของผู้ประกอบการทั้งหมดก่อนจะไปถึงขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งการเป็น System Integrator จะทำให้เห็นภาพรวมในการส่งเสริม SME ว่าแต่ละปีได้ทำเรื่องใดไปบ้าง มีเรื่องอะไรบ้างที่ยังไม่ได้ทำ เรื่องอะไรที่ควรทำเพิ่มเติม เพื่อทำให้แผนแต่ละปีตอบโจทย์มากที่สุด

     2. สสว. ยังมีแผนพัฒนาผู้ประกอบการแบบเจาะกลุ่ม โดย 4 กลุ่มที่จะมีการให้ความสำคัญเป็นพิเศษได้แก่

     เครื่องสำอาง ภาคเหนือมีผู้ประกอบการที่อยู่ในเครื่องสำอางที่เก่งๆ จำนวนมาก ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มี bio industry ที่แข็งแรงสามารถต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก

     ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อน Soft power เปิดโอกาสสร้างการรับรู้สินค้าดีๆ บริการเด็ด เจ๋งๆ ของประเทศไทยในตลาดโลก

     เครื่องมือแพทย์ ผู้ประกอบการไทยมีองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม มีการสะสมประสบการณ์สร้างเครื่องมือแพทย์ที่ดีๆ จำนวนมาก

     ชิ้นส่วนอากาศยานและซ่อมบำรุง ประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ประกอบการที่เป็นซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมนี้จำนวนมาก น่าจะต่อยอดพัฒนาไปตอบโจยท์เรื่องอากาศยานเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีมูลค่าสูง

     3. การขับเคลื่อนมาตรการ High Impact Program

     หนึ่งใน High Impact Program ที่สสว. พยายามผลักดันในช่วงสองปีที่ผ่านมาคือ ให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยได้ร่วมงานกับกรมบัญชีกลางเพื่อช่วยเพิ่มแต้มต่อสร้างโอกาส SME ที่จะเข้าสู่ภาครัฐได้ อาทิ SME ที่ขึ้นทะเบียนเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไว้กับ สสว. สามารถเสนอราคาสูงกว่าผู้ประกอบการทั่วไปได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาต่ำสุดของผู้ประกอบการทั่วไป

     4. การส่งเสริม SME ด้วยกลไกการบริการ BDS (Business Development Service)

     เปรียบเสมือนโครงการคนละครึ่งภาค SME โดยให้ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ เช่น เรื่องมาตรฐาน การตลาด การบริหารการจัดการ ฯลฯ ให้ไปหารายชื่อรายผู้ให้บริการด้านนั้นๆ ในเว็บไซต์ของสสว. เพื่อหาผู้ให้บริการที่เหมาะสมกับธุรกิจจากนั้นก็จับคู่มาโดยที่ภาครัฐจะช่วยออกค่าบริการให้ ถ้าเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางรัฐจะออกค่าบริการให้ 50% แต่ถ้าเป็นระดับ micro รัฐจะออกค่าบริการให้ 80%

     ในกรณีที่ผู้ให้บริการที่อยู่ในลิสต์ของ สสว. ยังไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถแนะนำ Service provider เพิ่มเติมได้

     5. ยกระดับความรู้ SME

     สสว. จะนำหลักสูตรอบรมออนไลน์ไว้ในแพลต์ฟอร์มต่างๆ ให้ผู้ประกอบการเลือกเวลาศึกษาได้ตามสะดวกมี 4 แพลตฟอร์ม

     หนึ่ง www.smeacademy365.com เป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูลความรู้พื้นฐานในการเป็นผู้ประกอบการ เช่น การขายของออนไลน์ การทำบัญชีอย่างง่าย ความรู้เรื่องภาษี ฯลฯ

     สอง www.smeone.info เป็นเว็บไซต์รวบรวมแหล่งบริการต่างๆ ของภาครัฐ รวบรวมองค์ความรู้ เทรนด์ธุรกิจต่างๆ รวมทั้งบทสัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ

     สาม SMECONNEXT เป็นแอปพลิเคชัน แหล่งรวบรวมข่าวสาร และบริการต่างๆ ของ สสว.

     สี่ www.thesmecoach.com เป็นระบบฐานข้อมูลรวบรวมผู้เชี่ยวชาญเลือกใช้บริการได้ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์

     6. มีศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (OSS) กระจายอยู่ทั่วประเทศ

     7. เร็วๆ นี้จะมีมาตรการ ช้อป SME ดีมีคืน มีการมอบสัญลักษณ์ “SME ชัวร์” ให้สินค้า SME ที่ได้รับการรับรองผู้ที่มาซื้อสินค้าที่มีสัญลักษณ์นี้สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

เปิดมุมมอง ภาครัฐ x เอกชน ร่วมเสริมศักยภาพ SME ไทย

     นางสาวลลนา เถกิงรัศมี ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายแผนส่งเสริม SMEs สสว กล่าวว่า อยากขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น หน่วยงานที่อยากให้เข้ามาร่วมงานเพิ่มเติม เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ BCG เพราะเป็นประเด็นที่ SME ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับ SME ก็สามารถแนะนำตัวมาได้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและมีข้อมูลที่ครบถ้วน อยากทำภาพนั้นให้ชัดขึ้นในอนาคต

     นอกจากนี้อยากขยายขอบเขตการทำงานให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่มากขึ้น ซึ่งได้เริ่มทำแผนฯ ที่เชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่อง หลังจากการทำแผนฯ แล้วต่อไปก็จะเป็นเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ

     อยากจะฝากหน่วยงานในพื้นที่ที่ต้องยกระดับ SME ในภูมิภาค ให้ทันกับเทรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลต่อ SME ที่จะขาดแคลนแรงงาน ต้องเตรียมปรับตัวใช้ดิจิทัล เครื่องยนต์อัตโนมัติ ฯลฯ

     เรื่องการประชาสัมพันธ์ ที่ผ่านมาแม้ภาครัฐมีโครงการมาตรฐานต่างๆ จำนวนมากช่วย SME แต่ไม่สามารถสื่อสารให้ SME ทราบได้ทั้งหมด บางท่านที่รู้ก็สามารถใช้ประโยชน์ บางท่านที่ไม่รู้ก็จะกลายเป็นเสียโอกาสในการพัฒนา ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนา ให้ข้อมูลครบถ้วน ทันเหตุการณ์ ครอบคลุม

นโยบายทางการเงินสำหรับ SME

     นางพรวิภา ตั้งเจิรญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า SME ในภาคเหนือมีประมาณ 5 แสนกว่าราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก เงินทุนอาจจะน้อย การขอสินเชื่ออาจลำบาก อีกทั้งยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องของการทำงบการเงิน ยิ่งทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ทำให้โอกาสเข้าหาแหล่งเงินทุนยากขึ้น นอกจากนี้ทางช่วงโควิดที่ผ่านมาสถาบันการเงินก็ค่อนข้างเข้มงวด จะระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ภาครัฐได้เข้ามาช่วยเรื่องของสินเชื่อฟื้นฟู แต่บางทีผู้ประกอบการก็ไม่ทราบว่าภาครัฐมีความช่วยเหลืออยู่ ทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ประกอบการรับทราบเข้าถึงบริการต่างๆ เหล่านี้

     ในส่วนของแบง์ชาติมีมาตรการต่างๆ ที่ช่วยหลือ SME อาทิ แก้หนี้เดิมเติมเงินใหม่ หรือถ้า SME ต้องการคำปรึกษาโทรศัพท์ได้ที่เบอร์ 1213 นอกจากนี้พยายามสร้างระบบนิเวศทางการเงิน ให้ระบบการเงินเอื้อกับประชาชนมากขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และถูกลง ในยุคดิจิทัลอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัย ต้องมี Cyber Hygiene ระมัดระวังทางดิจัทัลใช้อย่างสุขภาพดีและไม่ถูกหลอก

จากใจสสว.

     นางสาวลลนา ยังได้กล่าวอีกว่า อยากให้ SME มั่นใจในแผนฯ ซึ่งมุ่งจะช่วยทุกคนเป็นไปตามโจทย์หนึ่งคือ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ขณะเดียวกันเราจะพาทุกคนก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน โดยมีโปรแกรมส่งเสริมที่แอดวานซ์ เช่น เรื่องนวัตกรรม การพาไปตลาดโลก

     มีแผนจะสร้าง Regional Champion ประเทศไทยจะต้องมีผู้ประกอบการสัก 100 รายที่เป็น A-list ในเรื่องของ SME ซึ่งจะเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นผู้ที่ผลักดันเครือข่าย หรือคนที่เกี่ยวข้องให้ค่อยๆ โตไปพร้อมกัน

     นอกจากแผนฯ แล้ว ในรายชื่อกรรมการของคณะทำงานยังมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานบอร์ด รวมทั้งรัฐมนตรี ร่วมเป็นกรรมการ จึงมั่นใจได้ว่าจะช่วยกันขับเคลื่อน SME กันอย่างเต็มที่

     “ทางภาครัฐพยายามเน้นให้ผู้ประกอบเข้าระบบข้อมูลภาครัฐ ซึ่ง SME ONE ID ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือนั้น ข้อดีของการเข้าระบบจะทำให้ผู้ประกอบการมีตัวตนอยู่ในระบบของภาครัฐ ซึ่งมีประโยชน์มากมาย แต่หากไม่อยู่ในระบบก็จะเสียสิทธิอย่างสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายรายไม่ได้รับความช่วยเหลือก็เพราะไม่ได้อยู่ในกระดานข้อมูลของภาครัฐ”

     ทั้งนี้ สสว. จะจัดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงาน “เพิ่มศักยภาพ SME ไทย ด้วยแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) ครั้งต่อไปที่ภาคอีสานคือจังหวัดขอนแก่นในวันที่ 1 มีนาคม 2566

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง