ไขข้อสงสัย ทำไมธุรกิจ SME ต้องทำ BCG ทำแล้วดีจริงไหม?

TEXT : กองบรรณาธิการ

 Main Idea

  • มีผลสำรวจที่บอกว่า SME ประมาณ 27.9% รับรู้เรื่องนโยบาย BCG และมีเพียง 3.2% เท่านั้นสามารถนำนโยบาย BCG model มาปฏิบัติใช้จริง หนึ่งในนั้นคือ ฟาร์มอินแปลง ใช้เวลา 12 ปีพิสูจน์ว่าการนำ BCG มาใช้จะช่วยทำให้ธุรกิจยั่งยืน

 

  • สิ่งที่ SME ต้องการการสนับสนุนเพื่อนำแนวคิด BCG มาใช้ในธุรกิจประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก คือ ต้องการผู้เชี่ยวชาญ, สิทธิประโยชน์ทางภาษี และเงินทุนสนับสนุนในช่วงเริ่มต้นในแบบร่วมจ่าย (Co-payment)

 

  • ซึ่งเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับ Cottage farm เอสเอ็มอีตัวเล็กๆ ที่อยากพัฒนาฟาร์มเห็ด ด้วยการติดตั้งโซลาเซลล์

 

  • ในขณะที่สถาบันการเงินไทยก็ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้นเช่นเดียวกัน

 

     คงไม่ต้องสาธยายให้มากความว่า BCG สำคัญอย่างไร เพราะไม่อย่างนั้นรัฐบาลคงไม่กำหนดให้ BCG model อยู่ในแผนพัฒนาประเทศใน 3 ด้านทั้ง Bio Economy, Circular Economy และ Green Economy

     แต่ถึงกระนั้นหลายคนอาจสงสัยว่าเรื่องเหล่านี้คนตัวเล็กๆ อย่างเอสเอ็มอีจะทำได้อย่างไร ทำแล้วจะดีจริงหรือไม่ SME Thailand Online จะพาไปไขข้อสงสัยกัน

ธุรกิจ ยั่งยืนได้เพราะ BCG

     จากแนวคิด “ทำของที่ใช้ ใช้ของที่ทำ” ทำให้ฟาร์มอินแปลงจากจังหวัดชุมพรกลายเป็นฟาร์มแรกๆ ที่มีของเสียเป็นศูนย์หรือ Zero Waste และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ฟาร์มแห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้ 12 ปี

    “เพราะของเสียที่เกิดขึ้นภายในฟาร์มสำคัญมาก” ปฏิวัติ อินทร์แปลง เจ้าของฟาร์มอินทร์แปลงในจังหวัดชุมพร บอกว่านี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจเขายืนได้บนขาตัวเอง

     ในการทำฟาร์มวัวนั้นเขาจึงได้นำทุกสิ่งทุกอย่างมาทำให้เกิดมูลค่า แม้แต่อึวัวก็นำไปทำไปเป็นอาหารไส้เดือนขายทาง Shopee หรือแม้แต่การรีดนมก็จะรีดนมเป็นระบบปิดคือ นำเทคโนโลยีมาช่วยให้น้ำนมออกจากเต้าแม่วัวแล้วอยู่ในสูญญากาศ ไม่ต้องผ่านมือคน หรือต้องหิ้วให้มีนมหก เป็นต้น

     “แนวคิด BCG จะเป็นทางรอดของธุรกิจ เพียงแต่ต้องปรับให้เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง ฟาร์มของเราจะเน้นทำทุกอย่างที่ใช้ ใช้ทุกอย่างที่ทำให้เกิดมูลค่าสูงสุด ขี้วัวที่คนอื่นยี้ แต่มันคือทองคำสำหรับผม ทำให้ผมไม่ต้องซื้อแก๊สใช้ ปีนี้เรากำลังจะต่อยอดจากไบโอแก๊สมูลวัวมาเป็นเชื้อเพลิงปั่นกระแสไฟฟ้า ตั้งใจทำสถานีชาร์จรถ EV ติดไว้หน้าฟาร์มด้วย สำหรับลูกค้า”

BCG สงคราการค้าอันใหม่ รอได้…แต่อาจไม่รอด

     กฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) ได้พูดถึงแนวคิดการทำ BCG ของ SME ในงาน ISMED Growing Up Forum 2023 “New Move to Next Normal: ว่า ถ้าผู้ประกอบการคิดว่าเรื่อง BCG เป็นเรื่องที่ไม่ควรรอก็จะมองหาโอกาส หาวิธีปรับเปลี่ยนธุรกิจทำให้ได้ปรับตัวก่อน แต่ถ้าผู้ประกอบการคิดว่าเรื่อง BCG เป็นเรื่องที่รอได้ เพราะเป็นเรื่องไกลตัวเพราะยังมาไม่ถึงธุรกิจตัวเอง อาจปรับตัวได้ช้าหรือไม่ทันกับตลาดโลก เพราะ ปัจจุบัน EU ออกมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566

     “ผมมองว่ามันเป็นสงครามอันใหม่ของ advanced country ที่เล่นกัน แต่ถ้าเราไม่เล่นด้วยกับเขาเราจะแย่ อยากให้เปลี่ยนความคิดว่าสิ่งนี้เกิดแล้วกระทบอะไรกับธุรกิจ มองเป็นโอกาส แล้วลองหาทางปรับตัว”

     กฤษณ์ อธิบายเพิ่มว่าในที่สุดมันจะมีแรงผลักเรื่องกฏหมาย โดยเฉพาะกฏหมายในประเทศยุโรปหรืออเมริกาที่มีเรื่องภาษีคาร์บอนมาบังคับใช้ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบกับบริษัทใหญ่ๆ ในบ้านเรา จากนั้นบริษัทใหญ่ๆ ก็จะมา force ให้คู่ค้าที่เป็น SME ต้องทำตามเงื่อนไข

     “ผมว่าอันนี้ชัดเจนเกิดขึ้นแน่นอน มันจะวิ่งเป็นวงจร ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจส่งออกโดยตรงหรือไม่ ถ้าเราไม่ปรับตัวเราเดือดร้อนแน่นอน”

เงินทุนอุปสรรคหลักของ SME

     ถ้าถามว่า SME ส่วนใหญ่เข้าใจเรื่อง BCG แค่ไหน โมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจของแบงก์ใน SME 500 รายทั่วประเทศเกี่ยวกับเรื่อง BCG พบว่า SME 27.9% รับรู้เรื่องนโยบาย BCG มี 14.2% ที่เข้าใจนโยบาย BCG และมีเพียง 3.2% เท่านั้นที่นำนโยบาย BCG model มาปฏิบัติใช้จริง

     โดยสิ่งที่ SME ต้องการการสนับสนุนเพื่อนำแนวคิด BCG มาใช้ในธุรกิจประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก คือ หนึ่ง ต้องการผู้เชี่ยวชาญ 73.24% สอง สิทธิประโยชน์ทางภาษี 67.61% สาม เงินทุนสนับสนุนในช่วงเริ่มต้นในแบบร่วมจ่าย (Co-payment) 61.97%

     ซึ่งข้อมูลนี้สอดคล้องกับความต้องการของ จุ๊บ นัยนา ยังเกิด เจ้าของ Mushroom Cottage Farm อดีตพนักงานสถาบันการเงินหันมาเอาดีกับการทำฟาร์มเห็ดแบบยั่งยืนทั้งการผลิต ที่มีการนำขี้เลื่อยมาใช้ หรือแม้แต่คาเฟ่ที่อยู่ในฟาร์มก็จะใช้แก้วย่อยสลายได้ หรืออาหารที่เหลือก็จะนำไปเลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ย ล่าสุดสนใจที่จะติดตั้งโซล่าเซลล์

     “อยู่ในกระบวนการขอสินเชื่อ เพราะการติดตั้งโซลล่าเซลล์ปัจจุบันราคาค่อนข้างสูง หลังคาขนาดประมาณ 4-5x10 เมตร ราคาประมาณ 4-5 แสนบาท ซี่งอยากให้มีหน่วยงานหรือสถาบันการเงินที่จะช่วยผู้ประกอบรายเล็ก อยากช่วยโลกก็ต้องช่วยเราด้วย เพราะถ้าเราลงทุนไปแล้วอนาคตจะเกิดโรคอุบัติใหม่แล้วมีล็อกดาวน์อีกหรือไม่ก็ไม่รู้”

     “แม้ปัจจุบันหลายๆ สถาบันปล่อยกู้แต่ถือว่ากว่าจะได้เงินค่อนข้างยากโดยเฉพาะถ้าเป็นธุรกิจเล็กๆ ส่วนตัวเข้าใจว่ามันต้องมี process แต่อยากให้ดูความมุ่งมั่นของธุรกิจที่ตั้งใจด้วย มันจะมีบรรทัดฐานตรงไหนช่วยทำให้การขอสินเชื่อทำได้ง่ายคล่องขึ้น ที่อาจไม่ใช่การพิจารณาจากเอกสารอย่างเดียว อาจมาเยี่ยมชมธุรกิจมากขึ้น”

สร้างมาตรฐานใหม่ของสินเชื่อเรื่อง Sustainability

     พูดถึงสินเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง BCG กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่าส่วนใหญ่เกือบทุกธนาคารจะมีแต่โซลูชั่นที่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงานปกติ อาทิ เรื่องโซลาเซลล์

     “คำถามคือเงินที่แบงก์ปล่อยกู้ใหม่ในแต่ละปี มีสัดส่วนแค่ไหนที่เอาไปทำในเรื่อง Sustainability สัดส่วนแค่ไหนที่เอาไปช่วยคนตัวเล็กๆ ช่วย SME ให้เก่งขึ้น ผมว่าอันนั้นคือโจทย์สำคัญ ซึ่งตอนนี้อาจเป็นมิติใหม่ที่ออกมาบอกว่าเราอยากทำไดเมนชั่นนี้ สิ่งที่ k bank กำลังทำคือ พิจารณาว่า เซกเตอร์ไหนมีผลกับเรื่องคาร์บอนมากสุด สิ่งที่จำเป็นคือ โซลูชั่น่ที่ต้อง Tailor made ให้เหมาะกับแต่ละอุตสาหกรรมและลงไปให้ถึงคนตัวเล็กๆ ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงทดลอง”

แนวทางการปรับตัวสำหรับ SME

     สำหรับผู้ประกอบการที่คิดว่า BCG ยังจำเป็นอยู่หรือไม่นั้น ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อํานวยการบริหารศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ได้แนะนำถึงวิธีการปรับตัวว่าสามารถเริ่มต้นได้จากการนำ 3 RE ไปปรับใช้ดังนี้

     Re Imagine สิ่งที่พาท่านมาสู่ความสำเร็จวันนี้ อาจไม่ได้พาท่านไปสู่ความสำเร็จในวันหน้า ทุกวันนี้เราต่างอยู่บนเกมการค้าแบบใหม่จะใช้กฏแบบเดิมๆ ไม่ได้

     Re tools ถึงเวลาต้องมองย้อนแล้วว่า เครื่องมือที่ใช้ กรอบวิธีคิดที่เราวัด เป็นไปตามกรอบที่เรายังต้องการหรือข้อท้าทายใหม่ในอนาคตหรือไม่

     Resilience มองถึงภาพความยั่งยืนและเตรียมพร้อมทุกสถานการณ์

     “ถ้าเป็นปัญหาเรื่องความยั่งยืน Resilience climate crisis ไม่มีเรื่องไหนที่ใหญ่เกินไปที่พวกเราจะทำ และไม่มีเรื่องไหนเล็กเกินไปที่พวกเราจะมองข้าม”

     ในขณะที่ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย แนะนำให้ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยน 4 เรื่องคือ

     1. ปรับ mindset นำเอาคอนเซปต์ BCG มาทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือธุรกิจสีเขียวมาใช้ เชื่อว่าทำให้สามารถต่อยอดแนวความคิดในการทำธุรกิจไปได้อีกมากมาย

     2. ปรับรูปแบบธุรกิจโดยใช้แนวทางของ ESG ธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อไปต่อยอดกับการเปิดตลาดใหม่ๆ

     3. ปรับเปลี่ยนกระบวนการในการทำงาน ต้องมีความคล่องตัว ความรวดเร็ว โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามา นำข้อมูลมาใช้การดำเนินงาน เปรียบธุรกิจเป็นปลาต้อง fit & firm มีความแข็งแกร่งประมาณหนึ่ง พร้อมในการปรับตัวบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ใหญ่อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความแข็งแกร่งด้วย

     4. มี Balance สุขภาพธุรกิจ อยากแนะนำให้ผู้ประกอบการมีแหล่งเงินทุนหลายๆ ทางเลือกไว้

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น