ฉีกกฎวิธีบริหาร Chain Store เบื้องหลังการขายดีทุกสาขาของ Barnes & Noble เชนร้านหนังสือใหญ่ที่สุดในโลกที่มีกว่า 600 สาขา

TEXT : Sir.nim

 Main Idea

  • Barnes & Noble คือ ร้านหนังสือเก่าแก่ที่มีอายุธุรกิจราวร้อยกว่าปี แถมเป็นเชนร้านหนังสือรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่มีสาขา 600 กว่าแห่งทั่วอเมริกาด้วย

 

  • ครั้งหนึ่ง Barnes & Noble เกือบต้องโดนดิสรัปต์ ปิดสาขาไปมากกว่า 150 แห่ง เพราะการเข้ามาของร้านหนังสือออนไลน์ แต่สุดท้ายก็ได้นักธุรกิจมือดีอย่าง “James Daunt” เข้ามาช่วย

 

  • โดยหลักการง่ายๆ ที่ เจมส์ ดันท์ ซีอีโอของแบรนด์ นำมาใช้บริหารจัดการร้านสาขาต่างๆ ก็คือ การให้ทุกร้านสามารถเลือกตัดสินใจบริหารจัดการร้านได้ด้วยตัวเองตามความเหมาะสมกับลูกค้าในพื้นที่นั้นๆ ดีกว่าที่จะยึดตามรูปแบบเดียวกันทั้งแบรนด์เพื่อให้เหมือนกันทุกร้าน นับเป็นการคิดนอกกรอบและฉีกกฎที่ Chain Store ต่างๆ ไม่เคยทำมาก่อน

             

     ในการบริหารจัดการธุรกิจกับร้านสาขา สิ่งหนึ่งที่ทุกแบรนด์มักจะยึดเหมือนกันเสมอ ก็คือ การพยายามสร้างเอกลักษณ์ของร้านให้ออกมาคล้ายคลึงกัน ตั้งแต่การคุมโทนการตกแต่ง การออกแบบพื้นที่ใช้งาน ไปจนถึงการจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อสร้างการจดจำให้กับผู้บริโภค ยิ่งเป็นร้าน Chain Store ใหญ่ๆ ด้วยแล้ว กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ยิ่งค่อนข้างซีเรียส

     แต่นั่นอาจไม่ใช่กับ “Barnes & Noble” เชนร้านหนังสือรายใหญ่ที่สุดในโลก ที่ได้ออกมาเปิดเผยเคล็ดลับการทำธุรกิจด้วยการฉีกทุกกฎที่เคยมีมา จากการออกนโยบายสนับสนุนให้ร้านสาขาแต่ละแห่งที่มีอยู่ 600 กว่าแห่งทั่วสหรัฐอเมริกา สามารถจัดตกแต่งพื้นที่ รวมถึงบริหารจัดการคัดเลือกหนังสือเข้าร้านและชั้นวาง เพื่อทำการตลาดกับลูกค้าในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง

ให้ความไว้วางใจ เชื่อใจ และอิสระ คือ หัวใจสำคัญ การทำร้านสาขาให้เติบโต

     โดยแนวคิดดังกล่าวนี้มาจาก “James Daunt” นักธุรกิจชาวอังกฤษ ซีอีโอคนล่าสุดของแบรนด์ที่เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจตั้งแต่ปี 2562 เจมส์ ดันท์ ได้เปิดเผยตัวเลขผลประกอบการว่าในปี 2565 ยอดขายรวมของ Barnes & Noble สูงกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ถึง 3% และหากคิดเฉพาะยอดขายหนังสือเพิ่มขึ้นกว่า 14% ซึ่งเขามีแผนที่จะเปิดร้านใหม่เพิ่มขึ้นอีก 30 กว่าแห่งในปีนี้

     เจมส์ ดันท์ กล่าวว่าเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจมียอดขายเพิ่มขึ้นได้ เป็นเพราะเขาไว้วางใจให้ผู้จัดการร้านและพนักงานในแต่ละท้องที่สร้างร้านหนังสือที่คิดว่าดีที่สุดให้กับร้านของตัวเอง

     โดยมองว่าการที่ร้านแต่ละที่ทำเหมือนกันนั้นอาจสร้างความน่าเบื่อให้กับผู้บริโภคได้ และยังมองว่าการปล่อยให้แต่ละร้านได้บริหารจัดการกันเองตามความเหมาะสม จะช่วยให้สามารถตอบโจทย์และเข้าถึงลูกค้าในแต่ละพื้นที่ได้ตรงจุดมากกว่า จนส่งผลต่อยอดขายที่เพิ่มขึ้นได้นั่นเอง ขณะเดียวกันการปล่อยให้พนักงานและผู้ดูแลร้านมีอิสระในการคิดออกแบบและตัดสินใจด้วยตนเอง ยังช่วยให้ทุกคนรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของ รัก และหวงแหนร้าน และยังสนุกกับการทำงานมากขึ้นด้วย

     “ร้านสาขาแต่ละแห่งจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อมีเอกลักษณ์ของตัวเอง และสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันไปหมดซะทุกร้าน ซึ่งร้านหนังสือที่ดีต้องรองรับความต้องการของชุมชนในท้องถิ่นของตนได้” เจมส์ ดันท์กล่าว

ร้านค้าที่ดี คือ ร้านค้าที่ลูกค้าสามารถค้นพบสิ่งที่ตัวเองต้องการได้

     ถามว่า เจมส์ ดันท์ ไปเอาแนวคิดนี้มาจากไหน? และเหตุใดเขาจึงกลายมาเป็นซีอีโอของ Barnes & Noble ได้

     ต้องเล่าเท้าความให้ฟังว่าจริงๆ แล้วก่อนที่จะมาทำงานกับ Barnes & Noble เขาเคยโด่งดังจากการช่วยกอบกู้ให้ Waterstones เชนร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ในอังกฤษมาก่อน ซึ่งเคยเกือบล้มละลายเพราะการเข้ามาร้านหนังสือออนไลน์ที่สะดวก รวดเร็วกว่า และไม่ถูกจำกัดพื้นที่ในการขาย จนทำให้คนเข้าร้านหนังสือน้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่ Barnes & Noble ต้องเจอเหมือนกัน

     โดยแนวทางการทำธุรกิจที่เขานำมาใช้กับทั้ง Waterstones และ Barnes & Noble นั้น มีต้นกำเนิดมาจาก “Daunt Books” ร้านหนังสือของเขาเองที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 ซึ่งเคยมีคนขนานนามว่าเป็นร้านหนังสือที่สวยที่สุดในลอนดอน และยังเป็นต้นกำเนิดไอเดียการบริหารร้านเชนสโตร์ในอังกฤษอีกด้วย โดยตั้งแต่ทำร้านหนังสือของตัวเอง ซึ่งแม้จะมีจำนวนสาขาไม่มากเท่าไหร่นัก แต่ เจมส์ ดันท์ ก็ให้ความสำคัญกับความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ โดยเขาพยายามจัดคาแรกเตอร์และประเภทหนังสือเด่นของแต่ละร้านให้แตกต่างกันไปตามความชอบและต้องการของลูกค้าในพื้นที่นั้นๆ โดยเชื่อว่าร้านหนังสือที่ดี คือ ร้านหนังสือที่ลูกค้าสามารถค้นพบหนังสือที่ตัวเองต้องการได้

     ซึ่งนี่เองอาจเป็นที่มาของกลยุทธ์ที่เขานำมาใช้กับ Waterstones และ Barnes & Noble จนทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตและยืนหยัดอยู่ได้ แม้จะมีร้านหนังสือออนไลน์เข้ามาแชร์ส่วนแบ่งตลาด อย่าง Amazon หรือเจ้าอื่นๆ อีกก็ตาม

     จากแนวคิดของ เจมส์ ดันท์ ผู้ประกอบการท่านใดที่คิดจะลงทุนสาขาเพิ่มเติมจะลองนำไปใช้ดูบ้างก็ได้ ขอเพียงแค่จำไว้ง่ายๆ ว่าร้านค้าแต่ละแห่ง ย่อมมีกลุ่มลูกค้าของตัวเองที่มีความชื่นชอบแตกต่างกันออกไป ถึงแม้จะเป็นแบรนด์เดียวกัน ขายสินค้าแบบเดียวกันก็ตาม ซึ่งการใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ จะช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโตยั่งยืนได้ แม้จะต้องเจออีกกี่วิกฤตก็ตาม เพราะคุณได้เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคแล้ว!

ที่มา : https://www.businessinsider.com/barnes-noble-ceo-trusts-booksellers-create-good-bookshops-2023-2?fbclid=IwAR1ddD3MJJASMemFqNFPkZ8l7-Wr9G7JM79v4DYXoUkty0sJfTUsURIPlxg

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย