รู้จัก “เอกภิศร นิลชาติ” เด็กช่างที่สร้างธุรกิจน้ำมันสกัดธรรมชาติ ป้อนกลุ่มแพทย์และตลาดสุขภาพมากว่า 10 ปี

TEXT : จีราวัฒน์ คงแก้ว

Main Idea

  • “เอกภิศร นิลชาติ” อดีตเด็กช่างเจ้าของบริษัท แอดแคปซูล จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันสกัดจากพืชพันธุ์ธรรมชาติ อาทิ น้ำมันสกัดดอกดาวเรือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา น้ำมันสกัดเย็น ฯลฯ

 

  • แต่กว่าจะมาถึงวันนี้บนเส้นทางธุรกิจ 10 กว่าปีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สุดท้ายก็ทำมันจนสำเร็จได้ จากเด็กช่างสู่ธุรกิจสกัดน้ำมันได้ยังไง ไปดูกัน

 

     คำพูดฉะฉาน อธิบายขั้นตอนการทำงานของการสกัดน้ำมันจากเมล็ดพันธุ์ธรรมชาติได้อย่างคล่องแคล่ว เรียกชื่อสารสำคัญ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ชัดเจนไม่ต่างจากผู้เชี่ยวชาญ รู้จักและเข้าใจการทำงานของเครื่องจักร ถึงขั้นพัฒนาเครื่องจักรบางส่วนมาใช้งานเองด้วยซ้ำ

     นี่คือ เรื่องราวของ “เอกภิศร นิลชาติ” อดีตเด็กช่างที่ขึ้นมาเป็นเจ้าของบริษัท แอดแคปซูล จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันสกัดจากพืชพันธุ์ธรรมชาติ อาทิ น้ำมันสกัดจากดอกดาวเรือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา น้ำมันสกัดเย็น ฯลฯ ที่ทำงานร่วมกับแพทย์และโรงพยาบาลชั้นนำมากว่า 10 ปี เส้นทางนี้ไม่ง่าย แต่ก็เรียนรู้ได้เสมอ เหมือนที่เขาพิสูจน์ให้เห็นแล้ว

เมื่อเด็กช่างจะลุกมาสกัดน้ำมันให้เป็นธุรกิจ

     “เอกภิศร” เรียนจบในระดับปวส.จากคณะเทคนิคการผลิต เคยทำงานโรงกลึงมาก่อน จนปี 2546-2547 เขาออกมาเป็นผู้ประกอบการโดยเริ่มจากทำสบู่จากธรรมชาติ ก่อนสนใจเรื่องการสกัดน้ำมันจากธัญพืช ซึ่งใช้เป็นส่วนผสมหนึ่งในการผลิตสบู่ ขณะที่พื้นฐานครอบครัวก็เป็นเกษตรกร จึงเห็นว่า สระบุรี ยังมีพืชพันธุ์ธรรมชาติที่น่าสนใจอีกเยอะมาก

     “ผมสนใจเรื่องการทำน้ำมันสกัดจากเมล็ดธัญพืช เนื่องจากตอนนั้นวารสารเกษตรธรรมชาติ เริ่มให้ความรู้ในเรื่องนี้ ด้วยความที่ผมเองเรียนจบช่างมา ก่อนหน้านี้ก็ทำงานโรงกลึงมาก่อน เลยพอรู้จักชิ้นส่วนเครื่องมือต่างๆ อยู่บ้าง ผมเริ่มจากซื้อเครื่องจากเมืองจีนเข้ามาเรียนรู้ก่อน ซึ่งในยุคนั้นราคาเครื่องจักรที่นำเข้าจากจีนไม่ได้แพงมาก แค่หลักหมื่นบาทเท่านั้นเอง พอมาใช้ก็สามารถผลิตน้ำมันได้จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากในยุคนั้น ประมาณปี 2548-2549”

     เอกภิศร ยอมรับว่าในตอนนั้นเขาซื้อเครื่องจักรมาทำด้วยความสนใจ ทั้งที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า น้ำมันเหล่านี้จะเอาไปต่อยอดอะไรได้บ้าง แต่มีไอเดียว่า จะบีบน้ำมันเพื่อเอาไปทำสบู่ธุรกิจที่คุ้นเคยก่อน การเป็นนักเรียนรู้ ลองผิดลองถูก ทำให้ในตอนนั้นเขาสามารถสกัดน้ำมันออกมาได้หลากหลาย ทั้งน้ำมันงาดำ งาขาว น้ำมันรำข้าว กระทั่งน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน ซึ่งมีเยอะใน จ.สระบุรี ก็สามารถทำได้ เรียกว่าเมล็ดอะไรที่บีบน้ำมันได้ ล้วนผ่านมือเขามาแล้วทั้งนั้น เมื่อความเชี่ยวชาญมีมากขึ้น คำถามของเขาก็เริ่มมีคำตอบ ในที่สุดน้ำมันที่ผลิตออกมา ก็มีคนสนใจซื้อจนได้

เริ่มเปิดตลาดสุขภาพ ทำงานร่วมกับแพทย์แผนไทย

     “ตอนนั้นผมทำกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชนอยู่ เป็นจังหวะเดียวกับที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต เข้ามาทำวิจัยชุมชนพอดี ท่านแนะนำว่าที่ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต อาจารย์กำลังสนใจเรื่องน้ำมันรำข้าวอยู่ อยากให้ผมลองเอาน้ำมันของผมไปให้อาจารย์ตรวจดูว่าใช้ได้หรือไม่ ดีจริงไหม ผมเลยหิ้วน้ำมันไปหาอาจารย์สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ (ภก.รศ.ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ อาจารย์วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต) ไปเล่าให้แกฟังว่า อันนี้เป็นน้ำมันสูตรเย็น ดีมากเลยนะ อาจารย์บอกผมว่า ของอย่างนี้พูดเองไม่ได้หรอก แต่ต้องพิสูจน์ได้ด้วย

     แกหายไป 3 วัน พอตรวจเสร็จก็บอกผมว่า จะขอเข้ามาดูกระบวนการสกัดน้ำมันของเรา แกถามรายละเอียดว่าเราสกัดแบบไหน ใช้รำเก่ารำใหม่แค่ไหน ผมพอรู้มาบ้างว่าน้ำมันรำข้าวนั้นต้องสกัดภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากสีข้าว และต้องทำวันต่อวัน จึงจะสกัดน้ำมันได้เยอะ อาจารย์เลยบอกว่า แกจะกำหนดสเปคมาให้ ถ้าผมสามารถทำตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ มีน้ำมันเท่าไร แกจะรับซื้อทั้งหมด สมัยนั้นผมบีบน้ำมันได้แค่เดือนละ 100 กิโลกรัม แกขอซื้อผมกิโลละ 1,500 บาท แต่ผมบอกว่า ขอแค่ 1,000 บาทพอ แต่อาจารย์ต้องช่วยผมตรวจสอบ และหาทางที่จะทำให้น้ำมันรำข้าวได้คุณภาพดีขึ้น”

     เขาบอกข้อแลกเปลี่ยนที่ถือว่า วิน-วิน ทั้งคู่ เพราะแน่นอนว่าลำพัง SME รายเล็ก จะนำผลิตภัณฑ์ตัวเองไปตรวจในแล็บดีๆ หรือผู้เชี่ยวชาญที่เก่งนั้น เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ และนี้คือทางออกของผู้ประกอบการอย่างเขา

สั่งสมประสบการณ์จากการแสวงหาและลงมือทำ

     การทำงานร่วมกับแพทย์แผนไทย ทำให้เขาได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองอยู่เรื่อยๆ เขาบอกว่าทุกครั้งที่ส่งน้ำมันไปตรวจสอบ ก็จะได้ผลวิเคราะห์เป็นข้อแลกเปลี่ยนกลับมาเสมอ เพื่อจะรู้ว่าน้ำมันคุณภาพแบบนี้เกิดจากสาเหตุอะไร และเขาต้องกลับมาปรับปรุงและพัฒนาแบบไหน จากนั้นก็เริ่มส่งไปยังแล็บอื่นๆ เพื่อทำการทดสอบเปรียบเทียบด้วย

     “ผมทำงานกับอาจารย์อยู่ปีกว่า จนได้ข้อสรุปของกระบวนการผลิตน้ำมันรำข้าวที่ดีที่สุด ทำอย่างไรให้น้ำมันรำข้าวมีค่าความเป็นกรด (Acid Value) ไม่เกินจากที่กฎหมายกำหนด ระหว่างนั้นก็มีการพัฒนาเครื่องมือบางส่วนขึ้นมาใช้งานเองด้วย เช่น เครื่องอบรำ เรียนรู้อุณหภูมิเครื่องหีบที่หมาะสมกับเมล็ดของพืชแต่ละชนิด ทำแบบไหนถึงจะคั้นน้ำมันออกมาได้มากที่สุด รักษาสารสำคัญได้มากที่สุด เหล่านี้เป็นต้น

     ถามว่าองค์ความรู้พวกนี้มาจากไหน ผมไม่ได้ไปเรียนรู้เรื่องน้ำมันสกัดจากที่ไหนเลย ถ้าเป็นพวกการสกัดที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ผมก็จะใช้เรียนเพิ่มเติม แต่ในตอนเริ่มต้นผมอาศัยเปิดยูทูบเอา ดูที่ฝรั่งเขาทำ อย่างเรื่องการหีบน้ำมันเมื่อกว่าสิบปีก่อนอาจใหม่สำหรับบ้านเรา แต่จีน อินเดีย หรือฝรั่งเขาทำกันมานานแล้ว รวมถึงอาศัยอ่านจากตำราวิชาการ ผมเองไม่เก่งภาษาอังกฤษ บางอย่างก็ใช้โปรแกรมแปลภาษาจากกูเกิลเอา แปลครั้งแรกอาจจะไม่เข้าใจ ก็จะพยายามทำความเข้าใจ จากนั้นก็ทำสรุปย่อใหม่ ทำสรุปย่อสัก  3 ครั้ง สุดท้ายก็จะเป็นความเข้าใจของเราเอง” เขาบอกเทคนิค

     นอกจากนี้ยังอาศัยการเข้าอบรมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสนใจอย่างต่อเนื่อง เขาบอกว่าผลลัพธ์จากการเรียนรู้วิธีนี้ไม่ใช่แค่องค์ความรู้ที่จะได้ แต่ยังรวมถึง “คอนเน็กชัน” ดังคำกล่าวที่ว่า “รู้อะไรไม่สู้ รู้จักกัน”  เพราะนั่นทำให้เขาสามารถมีที่ปรึกษาดีๆ ในเรื่องที่ไม่เข้าใจได้อย่างง่ายดายด้วย

     จากความเชี่ยวชาญที่สะสม และการเรียนรู้ที่ไม่หยุดหย่อน ทำให้ธุรกิจเล็กๆ ค่อยๆ เติบโตขึ้น จากผลิตน้ำมันส่งอาจารย์แพทย์แผนไทย ก็ขยายมาส่งโรงงานผลิตอาหารเสริม ตลอดจนแพทย์และโรงพยาบาลชั้นนำในเวลาต่อมา

เปลี่ยนกลยุทธ์สู่การพัฒนาแบรนด์ของตัวเอง

     จุดแข็งของเขาก็คือการผลิตน้ำมันสกัด ที่มีการทดสอบคุณภาพ  มีบทวิเคราะห์ และมาตรฐานรองรับ แต่กลับต้องเจอกับอุปสรรคครั้งใหม่ เมื่อคู่แข่งรายเล็กเข้ามาในตลาดมากขึ้น และขายตัดราคาที่ต่างกันมหาศาล

     “ตอนนั้นผมผลิตน้ำมันได้สูงสุดแค่เดือนละประมาณ 500 กิโลกรัม ซึ่งส่งให้ลูกค้าของเราก็ไม่เหลือแล้ว ตอนหลังพบว่ามีรายย่อยเข้ามาทำมากขึ้น ซึ่งช่องว่างระหว่างราคาของเขากับผมต่างกันมาก ของผมขายกิโลละพันบาท แต่ของคนอื่นขายแค่ 200-300 บาท กลายเป็นว่าลูกค้ามาซื้อผมเพื่อหวังเอาเอกสารไปสวมน้ำมันจากคนอื่น ผมเลยปรับธุรกิจมาทำโรงงานน้ำมันสกัดบรรจุซอฟท์เจลแคปซูลของเราเอง เป็นกลุ่มอาหารเสริมเป็นหลัก โดยเรามีบริษัท อโรร่า ออยล์ ผลิตวัตถุดิบน้ำมันสกัด ส่วน บริษัท แอดแคปซูล จำกัด ทำหน้าที่พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกมา”

     โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการขออย.อีกนับสิบตัว เพื่อรอทยอยออกสู่ตลาดหลังจากนี้ โดยมีผลิตภัณฑ์ไฮไลท์ คือน้ำมันสกัดจากดอกดาวเรือง และผลิตภัณฑ์กลุ่มกัญชาที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา หลังจากธุรกิจต้องหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากความผิดพลาดจากการสั่งเครื่องจักรจีนมาขยายโรงงาน และถูกหลอกขายเครื่องจักรเก่ามาให้ จนวันนี้เขากลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง และยังเชื่อมั่นว่า อนาคตของตลาดน้ำมันสกัดจะยังคงสดใสเสมอ

     “ตอนนี้ธุรกิจเรารันได้แล้ว รอแค่ผลิตภัณฑ์ได้ใบอนุญาต ธุรกิจก็จะไปต่อได้ โดยเป้าหมายคือ การพัฒนาสินค้าในแบรนด์ตัวเอง ที่เป็นสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ ยา และสมุนไพร เนื่องจากเราส่งผลิตภัณฑ์ให้กับทางคุณหมอและโรงพยาบาลใช้กันอยู่แล้ว ผมเองก็มีความตั้งใจว่า อยากจะทำสินค้าที่คนป่วย และคนไทยเข้าถึงได้ ในราคาที่สมเหตุสมผล คนทานแล้วมีผลลัพธ์ที่ดีไม่ใช่ผลข้างเคียง

     "ผมเชื่อว่า ธุรกิจนี้ยังมีโอกาสอยู่เยอะมาก อย่างบ้านเราเองมีข้อได้เปรียบเรื่องการท่องเที่ยว อาหารเราก็ไม่ได้น้อยหน้าประเทศใด ดังนั้นเราต้องทำเรื่องพวกนี้แฝงไปกับการท่องเที่ยว ผมมองว่า ถ้าเราทำส่งออกมันจะได้แค่คนเดียว แต่ถ้าเราดึงคนเข้ามาในประเทศผ่านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทุกคนจะได้หมด ไม่ว่าจะ โรงแรม คนขายผลิตภัณฑ์ คนขายอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว กระทั่งชาวบ้านในฐานะคนปลูกวัตถุดิบก็จะได้ด้วย” เขาบอกความคาดหวังในตอนท้าย

     และนี่คือ เรื่องราวของเด็กช่างที่พัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญของตัวเองไม่หยุดนิ่ง จนแจ้งเกิดธุรกิจที่ยังมีอนาคตสดใสในวันนี้

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น