ถอดบทเรียนเจ๊ง จน เจ๋ง ธุรกิจที่ลิขิตเอง จากทายาท ผัดหมี่ไท-ยวน ตรา ป้าแวม

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : ผัดหมี่ไท-ยวน ตราป้าแวม

Main Idea

  • หลายต่อหลายครั้งที่เรามักเห็นการถอดบทเรียนจากคนที่ประสบความสำเร็จระดับร้อยล้านพันล้าน เพื่อใช้เป็นแรงบันดาลใจ ที่หลายคนอาจมองว่าไกลตัว

 

  • วันนี้ SME Thailand Online จะพาไปถอดบทเรียนจาก “วีรวัฒน์ วรนิวัฒน์” หรือ “วอย” คนตัวเล็กๆ ที่มีจิตใจแน่วแน่กับเส้นทางการเป็นเจ้าของกิจการมาตั้งแต่เด็ก จนทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างด้วยตัวเอง

 

  • ทั้งการสร้างโอกาสขายของในห้างสรรพสินค้า รายได้ที่เข้ามาง่ายและหายไปแบบไม่ทันตั้งตัว ความเสียหายของการเปิดบริษัทที่ยังไม่พร้อม หรือแม้แต่การต่อยอดธุรกิจครอบครัว ที่ต้องมีทั้งศึกในและศึกนอก ฯลฯ

 

  • ตำราของเขาที่ได้ลองผิดลองถูก อาจเป็นทางลัดช่วยขจัดผงเข้าตาสำหรับคนที่ผ่านได้เข้ามาอ่าน

 

ตำราบทที่ 1 ขวนขวายให้มากพอ

     เรียกได้ว่าเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยนัก แต่หนุ่มสระบุรีคนนี้ก็คลุกคลีกับการช่วยคุณแม่ขายของชำมาตั้งแต่เด็ก แต่จับผลัดจับพลูไปเรียนคณะรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จบออกมาเลยได้ทำงานด้าน HR สรรหาบุคลากรในบริษัทเครือ CP เมื่อทำงานได้สองปีก็ลาออกไปทำตามความฝัน อยากจะนำผัดหมี่ไท-ยวน ตรา ป้าแวม ของคุณแม่ที่ขายอยู่ที่ตลาดนัด ท่าน้ำบ้านต้นตาล ไปขยายตลาดให้ไกลกว่าเดิม

     “เหตุผลที่วอยตัดสินใจออกเพราะเคยฝันกับตัวเองว่า อยากเป็นเจ้าของธุรกิจอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น อีกอย่างมองว่าผัดหมี่ไท-ยวน ของแม่มีศักยภาพที่จะเติบโตกว่าการขายแค่ที่ตลาดต้นตาล ประมาณปี 2556 จึงเลือกที่จะออกมาลุยขายตามงานอีเว้นต์ แต่พอออกมาขายจริงๆ ทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่คิด บางงานก็ขายไม่ได้เลยขาดทุน งานก็ไม่ได้มีตลอดทั้งปี ทำให้รายได้ไม่เสถียรพอ ทำได้ 9 เดือนก็ตัดสินใจหยุด”

     บทเรียนที่ได้

     “มองย้อนกลับไปก็ยังเลือกที่จะลาออกเหมือนเดิม เพราะมันได้ประสบการณ์บางอย่างว่าสิ่งที่ผิดพลาดคือ เราอาจไม่ได้ขวนขวายที่จะหาตลาดพยายามขายให้ได้มากกว่านั้น พอไปหลายๆ งานขายของไม่ได้เจอความ fail บ่อยๆ ตอนนั้นมันรู้สึกท้อ ล้มเลิกง่ายไป”

ตำราบทที่ 2 ทุกอย่างเป็นเครื่องมือสร้างเงิน

     หลังจากที่ไม่สามารถพาผัดหมี่ไท-ยวน ไปตีตลาดได้สำเร็จ เขาก็หวนกลับไปเป็นพนักงานออฟฟิศอีกครั้งในเครือ SCG แต่ก็ยังไม่ทิ้งความฝันเดิม ยังคงขายของเล็กๆ น้อยตามตลาดนัด อาทิ ไข่ป่าม หรือไขย่างบนกระทงใบตอง รวมทั้งทำธุรกิจอีกหลายอย่างควบคู่กับงานประจำ

     “ตอนนั้นเห็นคนในโรงงานนำผ้าอ้อมเด็กมาขายแล้วดี ตัดสินใจซื้อมาขายบ้างทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าขายที่ไหน ลงทุนไป 4 หมื่นกว่าบาท สุดท้ายก็กลายเป็นสต็อกเหลือเพียบ ก็เลยเบนเข็มไปเปิดร้านนมสดชื่อ The Salary Milk ปรากฏว่าเกินคาดมากๆ เดือนหนึ่งขายได้หลักแสน แต่ทำได้ 7 เดือน พอเข้าหน้าฝนไม่สามารถเป็นเหมือนเดิมได้เลย คนไม่มาเดิน ตัดสินใจปิดร้าน”

     บทเรียนที่ได้

     “การเปิดร้านนมเปิดโลกผมมากในหลายๆ เรื่อง ทั้งการขายสินค้าที่เป็นกระแสจะต้องคอยอัปเดตเทรนด์ปรับปรุงเมนูตลอดเวลา หรือการบริหารจัดการทางการเงิน ต้องแยกกระเป๋าเงินธุรกิจกับกระเป๋าส่วนตัว พอเราไม่แยกก็ไม่รู้รายได้ที่แท้จริง ทำให้มีปัญหา ขาดเงินไปจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าเงินเดือนลูกน้อง สุดท้ายก็ขาดทุน ฉะนั้นสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจคือแยกกระเป๋าธุรกิจกับเงินส่วนตัวออกจากกัน”

ตำราบทที่ 3 ใช้ไอเดียเป็นตัวนำทำเงิน

     แม้จะล้มลุกคลุกคลานแต่ วีรวัฒน์ หาได้หยุดความฝันของการเป็นนักธุรกิจลง ตรงกันข้ามฝันของเขากลับยิ่งใหญ่กว่าเดิม หลังจากเก็บหอมรอบริบกับชีวิตออฟฟิศได้ 4 ปี วอยก็ตัดสินใจลาออกอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการลาออกเพื่อมาเปิดบริษัทของตัวเอง สร้างโรงงาน เตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับการทำธุรกิจอย่างจริงจัง

     บทเรียนที่ได้

     “เป็นความผิดพลาด บทเรียนราคาแพง ย้อนเวลาไปได้จะไม่ทำเลย เปิดบริษัทรับคน 5 คนทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จะให้เขาทำอะไร สิ่งที่จะบอกกับ SME คือ คุณพยายามเริ่มต้นบางสิ่งบางอย่างที่น้อยที่สุดได้ไหม คือบางทีเราฝันใหญ่ แต่บนโลกของการทำธุรกิจจริงๆ การมีพนักงานเยอะแยะ มีออฟฟิศสวยๆ แต่ว่าเราขายไม่ได้เลยก็ไม่ได้ช่วยอะไร

     ในมุมผมคิดว่าควรเริ่มต้นจากไอเดียก่อน ใช้เงินให้น้อยสุด ใช้ทรัพยากรที่มีทำอย่างไรก็ให้ขายของให้ได้ เหมือนกับต้องเรียนรู้การทำการตลาด แต่ตอนนั้นวอยซ์ไม่ได้โฟกัสเลย วอยซ์โฟกัสแต่ว่าเรื่องการผลิต ทำอย่างไรให้ได้มาตรฐาน อย. โฟกัสการจด VAT ทั้งๆ ที่รายได้เข้าบริษัทยังไม่มีเลย เหมือนกับคิดใหญ่ไปแล้ว คือตอนนั้นมาด้วยความมั่นใจ ฝันใหญ่ไฟแรง จนเราไม่ได้มองความจริงตรงหน้า สิ่งสำคัญที่ควรทำก่อนคือ มันขายได้แล้วหรือยัง อันนี้คือสิ่งที่วอยซ์รู้สึกผิดพลาดและเสียเงินกับเรื่องพวกนี้เยอะมาก อย่างเช่น สร้างโรงเรือนก็ประมาณเกือบล้าน เอามาเสียทำ อย. ซื้ออุปกรณ์ประมาณสองแสนบาท คือเหมือนกับว่า เราทำทุกอย่างให้พร้อมก่อน

     แต่ถ้ามองอีกมุม การเตรียมความพร้อมตอนนั้นทำให้วอยซ์ได้รับโอกาสที่บางคนไม่ได้รับเช่น เป็น OTOP 5 ดาว ได้รับคัดเลือกให้ไป pitching ที่ต่างประเทศ ไปออกรายการต่างๆ ก็ได้รับโอกาสจากตรงนี้เหมือนกัน”

ตำราบทที่ 4 อยากเข้าห้างได้ต้องมีตัวช่วย

              พอหลังจากเปิดบริษัท ทำสินค้าได้มาตรฐานต่างๆ จนได้รับการส่งเสริมให้เป็นสินค้า OTOP และเป้าหมายต่อไปคือการนำของไปขายในห้างสรรพสินค้า แต่ทว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับกิจการขนาดเล็ก เพราะด้วยความที่เป็นแบรนด์โนเนมการติดต่อโดยตรงหรือติดต่อผ่านอีเมลอาจไม่เพียงพอ จนกระทั่งได้นำธุรกิจไปเข้าร่วมกิจกรรมของภาครัฐ เช่น สสว. กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพราะภาครัฐจะช่วยเรื่องคอนเน็กชั่นทำให้ได้เจอคู่ค้าง่ายขึ้น

     บทเรียนที่ได้

     “สิ่งนั้นเป็นความสำเร็จแรกที่ทำได้หลังจากออกจากงานประจำ การเข้าร่วมโครงการภาครัฐจะมีส่วนช่วยเราได้ เขาสนับสนุนเราหลายๆ อย่างมาก มันคือ ทำให้เจอลูกค้า คู่ค้า อันนี้คือทำให้เราได้โอกาสดีๆ เข้ามากขึ้น”

ตำราบทที่ 5 ต้องเพิ่มทักษะ พร้อมเสมอกับทุกเหตุการณ์

     หลังจากที่สามารถนำผัดหมี่ขายในห้างสร้างยอดขายได้ถึงปีละ 2 ล้านกว่าบาท เรียกว่าเป็นขวัญและกำลังใจอย่างดีแล้ว แต่ก็ดีใจได้ไม่นาน เมื่อมาเจอกับเหตุการณ์โควิดระบาด คำว่าเกือบล่มจมก็มาเยือนหนุ่มสระบุรี เมื่อห้างปิด รายได้เสริมจากการขายอีเว้นต์ก็หด

     บทเรียนที่ได้

     “ตั้งแต่เกิดโควิดมีความรู้สึกว่าสถานการณ์ต่างๆ มันไม่แน่นอนเลย บางสิ่งบางอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ ยิ่งตอกย้ำว่าเราไม่ควรมีรายได้ทางเดียว หลังจากนั้นผมพาตัวเองมาเรียนรู้ทางออนไลน์ ไปเพิ่มทักษะตัวเองให้หลากหลายรองรับอนาคต  อาทิ ทั้งเรื่องการตลาดออนไลน์ การเป็นนักปิดการขาย อยากให้พัฒนาตัวเอง พยายามเพิ่มทักษะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาให้ทันกับยุคสมัย ทำให้เรามองเห็นโลกได้กว้างขึ้น ได้ทักษะหลายๆ อย่างมากขึ้น แล้วสุดท้าย เวลาเราติดปัญหา ทักษะที่เราเรียนรู้เพิ่มจะช่วยเสริมให้เราอยู่รอด

ตำราบทที่ 6 การทำธุรกิจเหมือนกับการวิ่งมาราธอน

     หลังจากนี้วอยซ์บอกว่าจะพาผัดหมี่ไปขายในห้างสรรพสินค้าอีกครั้ง แต่ไม่อยากผลีผลามเหมือนช่วงวัยรุ่น ไม่อยากประมาท ต้องเตรียมให้พร้อมทั้งเรื่องการผลิต และเรียนรู้การทำธุรกิจที่รอบด้านมากขึ้น เช่น ค่าธรรมเนียมต่างๆ ทางธุรกิจที่ปรับขึ้นลงได้เสมอ

     บทเรียนที่ได้

     “การทำธุรกิจก็เหมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่แค่ทำผัดหมี่ได้ร้อยล้านไม่ได้หมายความว่าวอยซ์สำเร็จแล้ว แต่มันหมายความว่ายังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกปีถัดไปยอดขายจะไปยังไงต่อจะขายได้ร้อยล้านเหมือนเดิมไหม จะเจออะไรที่เราควบคุมไม่ได้ เราจะรักษาร้อยล้านได้ไง”

ตำราบทที่ 7 ทายาทต้องทำใจ ใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

     แม้จะมีเป้าหมายที่อยากจะทำให้ ผัดหมี่ไท-ยวน ตรา ป้าแวม ของที่บ้านเติบโตและมีกระบวนการผลิตที่ดีขึ้น แต่ด้วยความคิดเห็นระหว่างคนสองรุ่น ที่ไม่ลงรอย เพราะผู้เป็นแม่เชื่อในสิ่งที่เขาได้ทำมา ส่วนผู้เป็นลูกก็อยากพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จึงกลายเป็นรอยบาดหมางแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางออก

     “ตอนนั้นคิดอยู่มาถูกทางไหม ไม่อยากทำอะไรยุ่งเกี่ยวกับแม่เลย คิดแบบนั้นเลย แค่ทำอย่างไรให้ขายดีได้ดีกว่านี้ทั้งเรื่องกระบวนการผลิต เรื่องแพ็กเกจจิ้ง เรื่องฉลากที่ได้มาตรฐาน ต้องมีข้อมูลโภชนาการ ต้องมีรายละเอียดส่วนประกอบ ฯลฯ แล้วก็ยังมีปัญหาให้เราแก้อีกไม่เว้นแต่ละวัน แล้วยังมามีเรื่องปวดหัวกับคนในครอบครัวอีก มันเป็นอะไรร้ายแรงพอที่จะชินชากับเรื่องพวกนั้นได้”

     บทเรียนที่ได้

     “ใช้วิธีปล่อยวางกับเรื่องพวกนี้แล้วก็โฟกัสที่เป้าหมาย ถ้าเรากัดไม่ปล่อยไปให้ถึงเป้าหมายเราทำได้สุดท้ายเขาก็จะเปิดใจยอมฟังเราเชื่อเราจากหลักฐานที่มันเกิดขึ้น อย่างตอนที่เราสามารถนำไปเข้าห้างได้ เวลาเราพูดอะไรก็ฟังมากขึ้น”

     นี่คือ ตำราธุรกิจของ ทายาท ผัดหมี่ไท-ยวน ตรา ป้าแวม อาจเป็นเพียงตำราเล่มเล็กๆ แต่ให้สาระไม่น้อย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น