พลิกธุรกิจยอดขายโต 300% ด้วยพลังแพ็กเกจจิ้ง “ Jello​ Boom”

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • ความคิดที่ว่าสินค้าดีจนคนร้องว้าว จะมัดใจให้ลูกค้าซื้อสินค้าได้นั้น อาจไม่ใช่แค่ความเชื่อที่ผิด แต่ยังทำให้พลาดโอกาสทางธุรกิจอีกด้วย

 

  • ดังกรณีของเจ้าของแบรนด์ วุ้นระเบิด ไหวตัวทัน เปลี่ยนความคิดเพิ่มความสำคัญกับแพ็กเกจจิ้ง 50% พอๆ กับการผลิตสินค้า เปลี่ยนแบรนด์ใหม่เป็น Jello​ Boom ผลก็คือยอดขายที่โตขึ้นถึง 300%

 

     ในการผลิตสินค้าคุณให้ความสำคัญกับแพ็กเกจจิ้งกันมากน้อยแค่ไหน?

     ถ้ายังเข้าใจว่าแพ็กเกจจิ้งเป็นแค่สิ่งสวยงามภายนอกแค่นั้น คงต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ เพราะแพ็กเกจจิ้งมีพลังแฝงที่มากกว่านั้น ถ้าคุณไม่ใส่ใจมันอาจทำให้คุณพลาดโอกาสทองทางการค้าได้ เหมือนกับ Jello Boom ผลิตภัณฑ์จากบริษัท วีที สวีท แอนด์ ฟู้ด อินโนเทค จำกัด ของสองเพื่อนสนิท “รสรินทร์ รุจนานนท์” และ “สันต์อาวี กรรณล้วน” ที่ใช้ความรู้และนวัตกรรมสามารถแปลงโฉมวุ้นธรรมดาๆ ให้เป็นเจลลี่ระเบิดบุก​สอดไส้​น้ำผลไม้แท้​  สินค้าที่มีทั้งความต่าง ความว้ าว แปลกใหม่ ที่ทั้งคู่คิดว่าคงเพียงพอที่จะทำให้ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค กระทั่งได้ไปออกบูธงานแสดงสินค้าจึงได้คำตอบที่แท้จริงว่า แค่ผลิตภัณฑ์ดีอย่างเดียวไม่พอที่จะสร้างยอดขายได้ แพ็กเกจจิ้งต่างหากที่จะเป็นตัวเปิดโอกาสสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ ที่ทั้งคู่ได้มาแชร์ไอเดียดีๆ ในงาน Propak Asia 2023 ถึงพลังของแพ็กเกจจิ้ง พลิกธุรกิจให้โตได้อย่างไร

คุณภาพทำให้คนซื้อซ้ำ แต่บรรจุภัณฑ์ทำให้คนเปิดใจซื้อ

     สองสาวจากแบรนด์ Jello Boom เปิดใจว่า ตอนเริ่มทำธุรกิจนั้นพวกเธอไม่ได้สนใจเรื่องแพ็กเกจจิ้งเลย โดยมองว่าบรรจุภัณฑ์เป็นเหมือนของภายนอกที่ใช้ห่อหุ้มสินค้าเท่านั้น จึงเน้นโฟกัสที่การผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพ กระทั่งได้ไปออกบูธงานแสดงสินค้า ปรากฏว่าลูกค้าเดินผ่านบูธโดยไม่หยุดลองสินค้าเลย ในขณะที่ถ้าพวกเธอออกไปยืนหน้าบูธคอยแนะนำสินค้า ลูกค้าถึงให้ความสนใจ ยอมทดลองและเมื่อได้ลองแล้วพร้อมตัดสินใจซื้อ

     “ถือว่าได้เป็นการเรียนรู้ไปในตัว เดิมเราสนใจแต่พัฒนาผลิตภัณฑ์คิดว่าของดีแล้วคนจะซื้อเอง ทำให้ต้องกลับมาคิด สินค้าเราดีแต่ทำไมไปต่อไม่ได้ เพราะมันมีคำถามเกิดขึ้นหลายๆ อย่างในใจผู้บริโภค เช่น สินค้านี้ปลอดภัยไหม แพ็กเกจจิ้งไม่สวยซื้อไปฝากแล้วคนรับจะรู้สึกอย่างไร ทั้งๆ ที่ Value สินค้าเหมือนกัน ฯลฯ ต้องยอมรับว่าตอนนั้นเราลืมมองในมุมกลับว่า เวลาเราไปซื้อของ เราเองยังสนใจเรื่องเหล่านี้ ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร”

แพ็กเกจจิ้ง การลงทุนที่คุ้มค่า?

     ถึงแม้จะรับรู้ว่าแพ็กเกจจิ้งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค แต่เจ้าของแบรนด์ Jello Boom คงเหมือนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายๆ รายที่ครุ่นคิดว่า หากลงทุนทำแพ็กเกจจิ้งจะคุ้มไหม หรือว่าควรรอให้ธุรกิจเติบโตกว่านี้อีกสักหน่อย แต่ในท้ายที่สุดพวกเธอก็เดินหน้าทำบรรจุภัณฑ์

     “เหมือนหลายๆ อย่าง ทำให้เราตัดสินใจลงทุนทำแพ็กเกจจิ้ง อย่างแรกคือ เราเชื่อมั่นในตัวสินค้าที่เรามีการทดสอบตลาดแล้วว่าคนกินแล้วว้าว แต่เมื่อการทำสินค้าแบบเดิมไปต่อไม่ได้เราก็ต้องยอมพัฒนา เราเชื่อมั่นในตัวสินค้าว่ามันจะเติบโตได้ เราก็เลยยอมลงทุน จังหวะที่ Jello Boom เปิดตัวคือ ตอนปลายปี 2020 เป็นช่วงที่โควิดระบาดหนักมาก เราพัฒนาเสร็จจะรอให้โควิดหายก็รอไม่ได้ ตอนนั้นก็เลยต้องขายทางตลาดออนไลน์เพิ่มไปด้วย ซึ่งถ้าเป็นสินค้าตัวเดิมที่ยังไม่ได้ลงทุนทำแพ็กเก็จจิ้งใหม่คงไปขายออนไลน์ไม่ได้แน่นอน เพราะคงไม่มีใครเชื่อมั่น แต่ปรับแพ็กเกิจจิ้งแล้วยอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า”

ไม่มีแพ็กเกจจิ้ง ทิ้งโอกาสทอง

     เพราะความจริงแล้วแพ็กเกจจิ้งไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ ข้อมูลของสินค้า ทั้งวันหมดอายุ การมีเครื่องหมาย อย. ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยสร้างโอกาสทางการค้า

     “ตอนช่วงแรกก็ถือว่าเสียโอกาสไปหลายอย่างนะ ถ้าสินค้ายังไม่มีแพ็กเกจจิ้งเหมือนขาดความพร้อมพอที่จะวาง shelf  หรือกระจายสินค้าทำให้เข้าไปขายของในห้างสรรพสินค้าลำบาก ถึงเข้าได้แต่อาจเป็นแค่การฝากขาย นอกจากนี้แพ็กเกจจิ้ง มยังมีประโยชน์ช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์ได้ เช่น ถ้ามีการปิดซีล ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนอุณหภูมิที่เหมาะสมก็ทำให้อายุสินค้านานขึ้น ทำให้มีเวลาขายนานขึ้นและเข้าห้างง่ายขึ้นด้วย เพราะถ้าสินค้าเก็บได้แค่ 3-4 วันก็คงไม่มีใครอยากนำไปขาย ตอนนี้เราได้เข้าร่วมโครงการ tops ท้องถิ่น ที่เป็นการซื้อขาด​ไม่ใช่เพียงการฝากขายเท่านั้น เมื่อปลายปี​ 2022​​ เราได้เข้าร่วมโครงการ​ Tops​ ท้องถิ่น​ ซึ่งนำสินค้า​ SME​ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าวางขายใน​ Tops​ โดยเป็นการขายขาดไม่ใช่การฝากขาย​ ซึ่งทำให้เรามียอดขายเติบโต​ 300% ตอนนี้ทางผู้บริหารของ Tops ท้องถิ่น แจ้งว่าเราเป็น top seller ด้วย" 

     ไม่เพียงเท่านี้สองเพื่อนซี้ยังบอกว่าเมื่อสินค้าดีมีแพ็กเกจจิ้งเด่นช่วยทำให้สินค้าไปต่อได้อีกไกล โดยผลิตภัณฑ์ของพวกเธอได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้แบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จัก และไปเข้าตาหน่วยงานภาครัฐนำแบรนด์ของเธอไปลงเว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ - DITP ทำให้ชาวต่างชาติได้รู้จัก

     "เราจะเป็นแบบนี้ไม่ได้เลย ถ้าเรายังยึดติดกับแพ็กเกจจิ้งเดิม ในขณะที่การลงทุนกับตัวแพ็กเกจจิ้งมันจะเป็นตัวเปิดทางให้เราไปต่อได้ ปัจจุบันเราก็ส่งออกไปฮ่องกง สิงคโปร์”

เทคนิคออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้สะดุด

     ความเชี่ยวชาญของคนเราแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป แต่ถ้าบอกว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เชี่ยวชาญเรื่องการผลิตสินค้าก็คงไม่ผิดนัก เหมือนกับเจ้าของแบรนด์วุ้นระเบิดที่ยอมรับว่าพวกเธอก็ไม่ถนัดเรื่องการออกแบบแพ็กเกจจิ้ง จึงใช้วิธีหาพาร์ทเนอร์ช่วย แต่ทั้งนี้เจ้าของธุรกิจต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย

     “ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้เก่งทุกอย่าง ถ้าให้พัฒนาสินค้าเราไม่ห่วงเลย แต่แพ็กเกจจิ้งต้องหา outsource หาคนช่วย พาร์ทเนอร์เป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับการทำธุรกิจสำหรับคนตัวเล็กๆ ใครเจ๋งตรงไหนเดินไปหาเพื่อมาเติมเต็มเรา แต่เมื่อเขามาช่วยแล้วไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของดีไซเนอร์คนเดียว มันเป็นหน้าที่ของเราด้วย แม้เราไม่ถนัด อย่างน้อยเอาตัวตนของเราไปให้เขารู้ ต้องให้เขาเข้าใจสินค้าและเข้าใจว่าเราต้องการสื่อสารอะไรออกไป แพ็กเกจจิ้งที่ดีนอจากความสวยงามแล้วต้องสื่อสารให้ได้ว่า สิ่งที่อยู่ในซองหรือสินค้านั้นคืออะไร”

     “เราอยากให้สินค้าเราเป็น Must-buy item เวลาไปเที่ยวต่างประเทศญี่ปุ่น ทำไมต้องซื้อขนมอันนี้กลับมา เพราะว่าแพ็กเกจจิ้งเขาสวย แต่ถ้าสวยแล้วไม่อร่อย กลับไปเราไม่ซื้อซ้ำแล้ว แต่ถ้าสวยด้วยอร่อยด้วยคนก็ซื้อซ้ำ เราอยากเป็นแบบนี้เป็นตัวแทนของประเทศไทย ถ้าพูดถึงเจลลี่ระเบิดนึกถึงเมืองไทย อันนี้คือความฝันเป็นความภูมิใจของเรา”

     ถ้าคุณภาพทำให้คนซื้อซ้ำ ต้องไม่ลืมว่าบรรจุภัณฑ์ทำให้คนเปิดใจซื้อ

Jello Boom

https://www.facebook.com/jelloboom

โทร 061 625 2535

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

มิติใหม่ร้านอาหารไทย! Mr.Kanso ธุรกิจบาร์อาหารกระป๋อง จากญี่ปุ่นสู่สาขาแรกในไทยที่สงขลา

เรื่องราวของ Mr.Kanso บาร์อาหารกระป๋องจากญี่ปุ่นที่ เอก-เศรษฐกรณ์ รัตนาชัยโรจน์ หนุ่มสงขลาได้ชิมแล้วถูกปากถึงขั้นขอซื้อลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่น ซึ่งต้องใช้ลูกตื้อเป็นเวลา 3 ปี กว่าเจ้าของจะใจอ่อนยอมให้นำเข้ามาเปิดที่สงขลาบ้านเกิด

เจนลูกสาวป้าดำ คาเฟ่ที่จัดจ้านที่สุดในย่านแบริ่ง กาแฟ เบเกอรี และเล่าเรื่องแบรนด์

ถ้าพูดถึงคาเฟ่ชื่อดังย่านแบริ่ง หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ “เจนลูกสาวป้าดำ” คาเฟ่ชื่อแปลก แต่กลับสร้างการจดจำให้แก่ลูกค้าที่มาเยือนรวมอยู่ด้วยแน่นอน

House of Gems BKK จากพนักงานโรงแรมสู่คุณแม่ฟูลไทม์ที่ปั้นแบรนด์เครื่องประดับจากน้ำนมแม่

เพราะตัดสินใจออกมาจากงานโรงแรมเพื่อเลี้ยงลูก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ House of Gems BKK ที่บิ้ว-กัลยา อภิชัยกุล ใช้น้ำนมแม่มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นเครื่องประดับจากน้ำนมที่ทั้งสวยและทัชใจคุณแม่หลายคน เป็นธุรกิจใหม่ของคุณแม่ฟูลไทม์