ไอเดียเปลี่ยนนวัตกรรมพร้อมใช้ เป็นธุรกิจที่ใช่เติบโตรับเทรนด์การค้าโลก ผ่านมุมมอง ผู้บริหาร สกสว.

TEXT : กองบรรณาธิการ

 Main Idea

  • เพื่อปลดล็อกงานวิจัยที่มักกองอยู่บนหิ้ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำผลงานวิจัยกว่า 300 ผลงาน

 

  • ตอบรับเทรนด์การค้าโลกทั้ง การแพทย์และสุขภาพ เกษตรและอาหารมูลค่าสูง และ Net Zero Emissions

 

  • อาทิ Powco เจลพลังงานรายแรกและรายเดียวของโลกที่ทำจากมะพร้าวน้ำหอมไทย Smart Indoor Plant โปรแกรมไฟสำหรับปลูกพืชอัตโนมัติ ให้ชมฟรีในงาน TRIUP FAIR 2023

 

     งานวิจัยต่อให้ดีแค่ไหน แต่ถ้าอยู่แค่บนหิ้งก็คงไร้ประโยชน์ เพื่อให้งานวิจัยของไทยที่มีมากมายได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยปลดล็อคความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งการต่อยอดการวิจัยและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย

     รศ.ดร.สุดสวาสดิ์​ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบ​วิทยาศาสตร์​ วิจัยและนวัตกรรม​ ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์​ สกสว. เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมา สกสว. ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อน พ.ร.บ. ฉบับนี้ พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีได้ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ประจำปี 2565 (TRIUP Fair 2022)”

     ภายใต้แนวคิด “ปลดล็อคความเป็นเจ้าของผลงานวิจัย สร้างศักยภาพไทยไร้ขีดจำกัด” ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพ.ร.บ.ฯ และเตรียมความพร้อมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ฯ เพื่อสานต่อกิจกรรม และเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนให้เห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ

     สกสว. จึงได้จัดงานต่อเนื่องภายใต้แนวคิด “Journey to Impact : เส้นทางจากงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” โดย สกสว. มองว่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของงานวิจัย ไปจนถึงปลายทาง ต้องใส่ทรัพยากร อาศัยความร่วมมือจากหน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย และต้องทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย

     “การจัดงานในปีนี้จึงมีจุดมุ่งเน้นสำคัญ คือ การเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันวางเป้าหมายร่วมในการผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้ไปสู่การสร้างผลกระทบที่เป็นรูปธรรมใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ เกษตรและอาหารมูลค่าสูง และ Net Zero Emission โดยมีเป้าหมายการทำงานร่วมกันเป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อแสดงให้เห็นว่าเส้นทางการไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจของผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมนั้น จะต้องมีกระบวนการ และมีหน่วยงานที่ต้องเข้ามาหนุนเสริมในแต่ละขั้นตอนอย่างไร และภาพการทำงานใน 3 ประเด็นหลักนี้จะนำไปสู่การขยายโมเดลการทำงานในประเด็นสำคัญอื่น ๆ ของประเทศต่อไป”

นวัตกรรมพร้อมใช้กว่า 300 ผลงาน

     รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดงานครั้งนี้เพื่อให้ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจ หรือมองหาผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะไปช่วยยกระดับธุรกิจ หรือสร้างความแตกต่างเพื่อการแข่งขัน จะได้พบผลงานวิจัยและนวัตกรรมของนักวิจัยและผู้ประกอบการไทยพร้อมใช้จริงกว่า 300 ผลงาน

     นอกจากนี้ภายในงานได้เปิดพื้นที่เพื่อทำ Business Matching ให้มีการเจรจาธุรกิจ/ต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์ สามารถลงทะเบียนจองนัดหมายล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์ www.triupfair.net อีกทั้งมีบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ 1) ทุนวิจัย 2) ระเบียบและมาตรการกลไกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ SME และ Startup เช่น คำปรึกษาจาก อย. กรมทรัพย์สินทางปัญญา องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสถาบันทางการเงินหลายแห่งจะมานำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งอาจจะมีสิทธิ์พิเศษต่าง ๆ ให้แก่ผู้ที่มาร่วมในงาน

     ยังมีเวทีเสวนาให้ความรู้และอัพเดตสถานการณ์ของ 3 ประเด็นหลัก และการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีวิทยากรทั้งในและต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยน ซึ่งทุกกิจกรรมไม่มีค่าใช้จ่าย

งานวิจัยตอบเทรนด์การค้าโลก

     รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ชี้แจงว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการเข้าสู่สังคมสูงวัย เห็นได้ว่าแนวโน้มของประชากรส่วนใหญ่ให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น และมีการแสวงหานวัตกรรมทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น

     งานวิจัยในส่วนที่หนึ่งคือ “การแพทย์และสุขภาพ” ซึ่งประเทศไทยมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพจำนวนมากที่มีศักยภาพ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการนำมาใช้จริง ดังนั้น หากมีการส่งเสริมและผลักดันให้นวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพของไทยได้รับการยอมรับทั้งภายในประเทศและระดับสากล จะช่วยให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์สินค้าและนวัตกรรมด้านการแพทย์จากต่างประเทศ และประเทศสามารถพึ่งพาตนเองในด้านนี้ได้

     ในส่วนที่สองคือ “เกษตรและอาหารมูลค่าสูง” อย่างที่ทราบดีว่าประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ และอยู่ในภูมิประเทศที่เหมาะกับการผลิตของภาคการเกษตร และการสร้างความมั่นคงทางอาหาร แต่แม้ว่าภาคเกษตรจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย แต่ยังพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีการผลิตแบบเดิม ทำให้ผลิตภาพ และประสิทธิภาพไม่สูงมากนัก รวมทั้งยังไม่ได้นำงานวิจัยและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรเท่าไรนัก ซึ่งประเด็นเกษตรและอาหารยังมีช่องว่าง และมีโอกาสในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยยกระดับให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ และสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่อุปทานให้ดียิ่งขึ้น

     ในส่วนที่สาม Net Zero Emissions ประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วน เนื่องจากประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 และการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ไว้ในการประชุม COP26 และผู้เล่นสำคัญที่จะช่วยให้เป้าหมายคือ “ภาคธุรกิจ”  ซึ่งหลายๆ อุตสาหกรรมหันมาปรับตัว และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์มากขึ้น ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้จึงมุ่งเน้นการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะช่วยให้ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ ซึ่งจะมีส่วนทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

จากหิ้งสู่ห้าง

     เพื่อให้เห็นภาพ รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ได้ยกตัวอย่าง การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จดังนี้

     1. Powco เจลพลังงานมะพร้าวน้ำหอม

     ปัจจุบันต้องนำเข้าเจลพลังงานจากสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 99 นักวิจัยจึงคิดพัฒนาเจลพลังงานที่่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค จนได้เป็นนวัตกรรมเจลน้ำมะพร้าวน้ำหอม GI ที่่ได้จากดินทีมีโพแทสเซียมสูงโดยธรรมชาติ ซึ่งเหมาะกับผู้รักการออกกำลังกายและนักกีฬา

     Powco (พาว-โค) เป็นผลิตภัณฑ์เจลพลังงานรายแรกและรายเดียวของโลกที่ทำจากมะพร้าวน้ำหอมไทย และมีการวิจัยในมนุษย์ ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนออกสู่ตลาด ผลงานนี้นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าแล้วยังทำให้เกษตรกรไทยให้มีรายได้้สูงขึ้นจากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้มะพร้าวน้ำหอมอีกด้วย

     2. Smart Indoor Plant--ผลงานของ บริษัท ซีวิค อโกรเทค จำกัด (เครือข่ายของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)

     Smart Indoor Plant โปรแกรมไฟสำหรับปลูกพืชอัตโนมัติ นวัตกรรมทางการเกษตร สำหรับปลูกพืชแบบ Indoor และให้บริการด้านระบบปลูกแบบ Plant Factory with Artificial Lighting อย่างครบวงจร

     3. เมลาโทนินสลีปปิ้งมาส์กจากผลไม้ไทย

     เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหนังที่มีการใช้นาโนเทคโนโลยีในการนำส่งสาระสำคัญเมลาโทนินให้ซึมลึกเข้าสู่ผิวหนัง เมลาโทนินจากธรรมชาติมีความปลอดภัยและมีงานวิจัยสนับสนุนว่าช่วยเกี่ยวกับอาการนอนไม่หลับและมีฤทธิต้านอนุมูลอิสระ ผลิตภัณฑ์เมลาโทนินสลีปปิงมาส์กผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยในอาสาสมัคร พบว่าความปลอดภัย ไม่ระคายเคือง โดยหน่วยงานที่่เป็นที่่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติผลิตโดยโรงงานเครื่องสำอางที่่ได้รับรองคุณภาพและมาตรฐาน (GMP) และเป็นผลงานผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมงานวิจัยจากภูมิปัญญาไทย

3 เทคนิคเปลี่ยนงานวิจัยให้เป็นธุรกิจ

     สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจให้เป็นรูปธรรมนั้น รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ แนะนำว่า

     ประการแรก มองว่า ผลงานวิจัยและนวัตกรรมต้องตอบโจทย์ และตรงกับความต้องการของ Demand

     ประการสอง เป็นปัจจัยด้านความพร้อมทั้งในส่วนของผลงานวิจัยและนวัตกรรม และความพร้อมของผู้ประกอบการ หรือ SME โดยงานวิจัยต้องมีความพร้อมใช้ และขยาย Scale ได้จริง เพราะโลกของธุรกิจต้องมี Speed of time และต้องมีต้นทุนที่เหมาะสมจึงจะแข่งขันได้

     ประการสุดท้าย คือ การได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุน/ผลักดันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยภาครัฐต้องสร้างระบบนิเวศ และกลไกหนุนเสริมให้เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ ทั้งในแง่นโยบาย แหล่งทุน Infrastructure มาตรการจูงใจ กฎระเบียบ รวมถึงการประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักให้ประชาชนเห็นความสำคัญ ภาคเอกชนต้องมีโจทย์ และ Demand ชัดเจน และให้ความเชื่อมั่นกับการใช้ผลงานวิจัยไทย ภาควิชาการต้องทำงานเชื่อมโยงและใกล้ชิดกับภาคเอกชน สร้างผลงานที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน ท้ายสุดภาคประชาชนต้องยอมรับ และให้การสนับสนุนการใช้สินค้านวัตกรรมของไทย เพื่อให้เอกชนและนักวิจัยไทยมีแรงจูงใจสร้างสรรค์และผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมดี ๆ ออกมา

     สำหรับ  SME ที่ต้องการได้งานวิจัยไปทำธุรกิจต้องไม่พลาดงาน TRIUP FAIR 2023 เร่งธุรกิจให้เติบโตด้วยวิจัยและนวัตกรรม 18 - 19 กรกฎาคม 2023 ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น