เจาะแนวคิด ทำธุรกิจสีเขียวให้เป็นเงินล้าน อมรพล หุวะนันทน์ CEO ‘moreloop’ แพลตฟอร์มขายผ้าเหลือจากโรงงาน

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • Circular Economy หรือ “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” คือ โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่หลายองค์กรและหลายแบรนด์ธุรกิจต่างหันมาให้ความสำคัญ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ไปจนถึงการสร้างมูลค่าให้ธุรกิจ

 

  • แต่ต้องทำแบบไหนถึงจะเกิดเป็นรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน ธุรกิจไปต่อได้ สิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟู

 

  • วันนี้จะชวนมาดูตัวอย่างการทำธุรกิจที่ทำให้เกิดการนำทรัพยากรมาใช้แบบหมุนเวียน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า และประโยชน์สูงสุด กับ ‘moreloop’ แพลตฟอร์มขายผ้าเกิน หรือ ผ้าเหลือ จากโรงงานต่างๆ ให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง

 

 

     จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ที่นับวันก็ยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมต่างออกมาช่วยกันหาวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ลดความรุนแรงจากผลเสียที่อาจตามมา โดยหลายครั้งอาจนำมาซึ่งแนวคิดนวัตกรรมใหม่ๆ จนเกิดเป็นโอกาสให้กับหลายธุรกิจได้แจ้งเกิด

     ‘moreloop’ แพลตฟอร์มขายผ้าเกิน หรือ “ผ้าเหลือ” จากโรงงานต่างๆ ให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง คือ หนึ่งตัวอย่างธุรกิจที่น่าสนใจที่สามารถใช้โอกาสจากช่องว่างปัญหาที่เกิดขึ้น นำมาสร้างเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ โดยการใช้แนวคิด Circular Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน นำผ้าเหลือคุณภาพดีจากการสั่งผลิตมาเกิน ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งอย่างคุ้มค่า ทำอย่างไรจึงจะหาโอกาสธุรกิจได้แบบนี้บ้าง อมรพล หุวะนันทน์ CEO แห่ง moreloop จะมาถอดความคิดให้ฟัง

Circular Economy โอกาสธุรกิจสายกรีน

ยังมีที่ว่างเหลือกว่า 90%

     “ตั้งแต่หลังสงครามโลกในปี 1950 เป็นต้นมา รายได้ต่อหัวของทุกๆ คนบนโลกดีขึ้น พอไม่มีสงคราม มนุษย์อยู่กันอย่างสงบ จึงมีการผลิตลูกหลานมากขึ้น จากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกเรามีประชากรประมาณ 3,000 ล้านคน แต่ ณ ปัจจุบันเรามีประชากรบนโลกกว่า 8,000 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า การขุดนำทรัพยากรต่างๆ ที่มี เพื่อผลิตเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค จึงเยอะขึ้น โดยที่ผ่านมาจะเป็นลักษณะเศรษฐกิจแบบเส้นตรง คือ “ขุด ผลิต ใช้ ทิ้ง” ไม่มีการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ ทำให้ทรัพยากรร่อยหรอ ขยะเพิ่มมากขึ้น สมดุลในสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปถึงขั้นรุนแรง เราจึงเริ่มหันกลับมามองในระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า “Circular Economy” หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสหภาพยุโรปได้ให้ความหมายไว้ 3 แนวทาง คือ 1.ทำยังไงให้ทรัพยากรอยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 2.ทิ้งให้น้อยที่สุด และ 3.การนำกลับมาหมุนเวียนให้ใช้ได้หลายๆ รอบ

     “จนถึงปัจจุบันนี้แม้เราจะเริ่มหันมามองการใช้อย่างหมุนเวียนกันมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่มีการขุดขึ้นมาใช้กัน เรามีการหมุนเวียนกลับไปเพียงแค่ 9.1% (ข้อมูลจาก : Circularity Gap Report) ที่เหลืออีก 90% คือ ทิ้งหมด ซึ่งหากลองมองในมุมกลับ นำมาคิดเป็นโอกาสในการทำธุรกิจเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน แสดงว่าเรายังเหลือโอกาสมากถึง 90% เพื่อรอให้เข้าไปเติมเต็ม และช่วยแก้ไขปัญหา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกทำในจุดไหน โดยหากคิดเป็นโอกาสในธุรกิจด้านนี้ว่ากันว่ามีมูลค่าถึง 4.5 ล้านล้านเหรียญ เทียบเท่ากับ GDP ประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดรวมกันเดียว ซึ่งหากสามารถทำได้สำเร็จเราจะสามารถจ้างงานเพิ่มขึ้นได้ถึง 60 ล้านอัตราเป็นอย่างน้อย ดังนั้นการลงทุนใน  Circular Economy จึงเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่น่าลงทุนมากที่สุดในยุคนี้ เพราะยังมีโอกาสเหลืออยู่อีกมาก เป็นสิ่งที่ทั่วโลกขาดแคลนและต้องการมากในขณะนี้”

moreloop โมเดล

     1. มองหาช่องว่างโอกาส จากปัญหาที่เกิดขึ้น

     “พูดถึงอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เป็นจุดเริ่มต้นของ moreloop กันบ้าง มีการกล่าวไว้ว่าตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลกเติบโตขึ้นเร็วมาก ทั้งโลกมีการผลิตเสื้อผ้าออกมาที่ 5 หมื่นล้านชิ้น จนปี 2015 มีสถิติการผลิตมากกว่าแสนล้านชิ้น และ ณ ปัจจุบันนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านชิ้น ทั้งที่เรามีประชากรบนโลกอยู่เพียงแค่ 8,000 ล้านคน โดยมีสถิติเปรียบเทียบถึงผลกระทบจากการผลิตสินค้าแฟชั่นเอาไว้มากมาย เช่น 10% จากก๊าซเรือนกระจกมาจากอุตสาหกรรมแฟชั่น, ทุกๆ 1 วินาที มีการเผาเสื้อผ้าที่เหลือเท่ากับรถบรรทุกเลย, น้ำที่ใช้ปลูกฝ้ายสำหรับเสื้อยืด 1 ตัว เท่ากับน้ำดื่ม 3 ปี เป็นต้น โดยจากสถิติ 9.1% ของการหมุนเวียนทรัพยากรนำกลับมาใช้บนโลก อุตสาหกรรมแฟชั่นมีการหมุนเวียนแค่ 1 % เท่านั้น!

     “จากข้อมูลที่เล่ามา ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจอยากช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสิ่งหนึ่งที่เราไปเจอมา ก็คือ ในกระบวนการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีผ้าเหลือที่ไม่ได้ใช้จากการผลิต ซึ่งไม่ใช่เศษผ้า แต่เป็นผ้าคุณภาพดีที่โรงงานมักผลิตมาเกินไว้ 3-5% อยู่แล้วต่อการผลิต ดังนั้นจึงทำให้ปีๆ หนึ่ง มีเศษผ้าเหลือที่ยังไม่ได้ใช้งานในประเทศไทยประมาณ 350,000 ตัน หากนำมาผลิตเสื้อก็จะได้ประมาณ 700 ล้านตัว ซึ่งถ้าทั้งโลกอาจต้องคูณเข้าไปอีก 40-50 เท่า

Secret Tip

     นอกจากผ้า หากใครอยากลองเริ่มทำธุรกิจแบบ Circular Economy ผมอยากให้ลองมองไปในกระบวนการผลิต เส้นทางการเดินทางของวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งอาจเป็นแก้ว, เหล็ก หรือวัสดุอื่นๆ ลองมองดูว่ามีปัญหาหรือช่องว่างตรงไหน ที่เราพอจะนำมาแก้ไข หรือทำให้เกิดกระบวนการหมุนเวียนได้ และจะเกิดขึ้นมาเป็นธุรกิจได้ในรูปแบบใดบ้าง

     2. ต้องทำได้จริง

     “พอเรามองเห็นช่องว่างดังกล่าว จึงเกิดไอเดียอยากเป็นตัวกลางเพื่อนำผ้าเกินเหล่านั้น ส่งต่อให้กับธุรกิจหรือแบรนด์แฟชั่นต่างๆ ได้นำไปใช้ประโยชน์ เพื่อทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นจริงและยั่งยืนได้ เราก็ต้องมาดูก่อนว่าสิ่งนั้นจะสามารถทำเป็นธุรกิจได้จริงไหม มีกำไรได้หรือเปล่า ที่สำคัญ คือ สามารถสเกลอัพต่อไปในอนาคตได้หรือไม่ จะมีแหล่งวัตุดิบต่อเนื่องหรือไม่ เพราะถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่เกิดความยั่งยืน แก้ไขปัญหาไม่ได้จริง

     “โดยสิ่งที่ Moreloop ทำ ทำให้เกิดกระบวนการหมุนเวียนทรัพยากร คือ 1.เราใช้ Waste 100% ที่เหลือตกค้างในโรงงานต่างๆ 2.เราตัดวงจรเพาะปลูก ปั่น ทอ ฟอก ย้อมไปทั้งหมด เพื่อให้เหลือคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาน้อยกว่า 5% ของทั้งกระบวนการผลิตเสื้อผ้า การที่เราตัดวงจร คือ ใช้ของเหลือ ไม่ต้องผลิตใหม่ ทำให้ประหยัดพลังงานไปได้มาก โดยรูปแบบธุรกิจของ moreloop จะมีลักษณะคล้ายกับ Airbnb คือ เป็นตัวกลางรวบรวมของเหลือมาทำให้เกิดประโยชน์ ทั้งต่อฝั่งเจ้าของธุรกิจและลูกค้า Airbnb รวบรวมห้อง เราก็รวบรวมผ้าจากโรงงานผลิตต่างๆ ”

     3. เพิ่มช่องทางหารายได้

     “ปัจจุบันเรามีโรงงานที่มาร่วมกับเรามากกว่า 70 แห่ง มีผ้ามากกว่า 3,000 ชนิด สิ่งที่เราทำ คือ เอาข้อมูลพวกนี้มาใส่บนเว็บไซต์ แต่การรวบรวมอย่างเดียวไม่น่าจะเป็นธุรกิจได้ เราคิดวิธีหารายได้ 3 วิธีจากการรวบรวมผ้า คือ 1) การขายผ้าเป็นวัตถุดิบ ให้คนอยากมาเริ่มต้นธุรกิจ หรือทำโปรเจกต์พิเศษมาซื้อผ้าจากพวกเรา ซึ่งหลายชิ้นเป็นผ้าคุณภาพดีจากแบรนด์ดัง ปัจจุบันเรามีลูกค้าประมาณ 200 เจ้าที่มาใช้ทรัพยากรจากที่เรารวบรวมมา 2) ผลิตสินค้าจากผ้าเหลือภายใต้แบรนด์ moreloop เพื่อขายตรงให้กับลูกค้า หรือรับทำเป็นของชำร่วยให้หน่วยงานและบริษัทต่างๆ และ 3) นำไปใช้ตกแต่งประดับตามอีเวนต์ต่างๆ โดยความพิเศษการซื้อผ้าจากเรามาใช้ คือ เราสามารถบอกลูกค้าได้ว่า ผ้า 1 ชิ้นที่เขาซื้อไปใช้นี้ สามารถช่วยลดการผลิตคาร์บอนไปได้เท่าไหร่ ถ้าเทียบกับการขับรถจะเท่ากับกี่กิโลเมตร”

ผลลัพธ์ความยั่งยืน

     “moreloop เราเริ่มต้นก่อตั้งเมื่อปี 2018 เริ่มต้นจากการระบายผ้าเพียง 600 กิโลกรัม มีสะดุดไปบ้างในช่วงโควิด แต่จนปัจจุบันปี 2022 ที่ผ่านมา เราสามารถระบายผ้าจากของเหลือให้นำกลับเข้าไปใช้หมุนเวียนในระบบได้มากถึง 50,000 กิโลกรัม จนถึงทุกวันนี้ใกล้ถึง 60,000 กิโลกรัมแล้ว หากตีออกมาเป็นตัวเสื้อก็ได้เกิน 3 แสนชิ้นแล้ว นอกจากสามารถช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ การที่เขาได้ใช้ผ้าของเราจะทำให้มีคนเข้าใจและเห็นในสิ่งที่เราทำมากขึ้น ซึ่งหากตีเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่ประหยัดไปได้ จนถึง ณ ตอนนี้ เราทำไปได้กว่า 870,000 คาร์บอน เทียบเท่าการขับรถ 165 รอบโลกทีเดียว”

     เรียบเรียงจาก : งานสัมมนา “เพิ่มศักยภาพ SME ไทย ด้วยแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570)” กรุงเทพฯ

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน