TEXT : กองบรรณาธิการ
Main Idea
- Mr. Gernot Ringling กรรมการผู้จัดการ Messe Düsseldorf Asia แนะปัจจัยที่จะส่งผลต่อการผลิตบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ในอนาคต
- ชี้ความต้องการบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 503.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2570
เพราะบรรจุภัณฑ์นั้นเกี่ยวข้องกับแทบทุกสินค้าไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 503.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2570 ผ่านมุมมองของ Mr. Gernot Ringling, Managing Director, Messe Dusseldorf Asia ที่มีประสบการณ์ในการจัดงานแสดงสินค้าระดับโลกมากมาย รวมทั้งงานแสดงสินค้าทางด้านบรรจุภัณฑ์, การพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกอย่าง อย่าง PACK PRINT INTERNATIONAL, CORRUTEC ASIA 2023 มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านนี้ พร้อมแนะปัจจัยที่จะส่งผลต่อการผลิตบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ในอนาคตที่ผู้ประกอบการ SME สามารถนำไปปรับใช้ในธุรกิจได้
Q: ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ผู้ประกอบการ SME ควรตระหนักถึงเรื่องใดบ้างเพื่อทำให้ธุรกิจแข่งขันได้
ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก การทำความเข้าใจเทรนด์ของโลกและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี จึงไม่ได้เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ SME เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งจำเป็นเชิงกลยุทธ์สำหรับทุกบริษัท
ถ้าพูดถึงปัจจุบันเป็นยุคที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญเรื่องของความยั่งยืน ฉะนั้นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่เทรนด์ที่มาเร็วไปเร็ว แต่นับว่าเป็นอนาคตด้วย นอกจากนี้ การเพิ่มโซลูชั่นประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้าจะกลายเป็นกุญแจสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำให้บรรจุภัณฑ์มีความอัจฉริยะ เกิดลูกเล่นใหม่ๆ เช่น การใช้ AR สร้างโลกเสมือนจริง หรือการใช้ QR Code เป็นต้น รวมถึงการพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดของเสีย และการลดการใช้พลังงาน จะยังคงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงเป้าหมายของอุตสาหกรรมทั้งในด้านของนวัตกรรมและการมีความรับผิดชอบที่ต้องก้าวไปข้างหน้าได้อย่างพร้อมเพรียงกัน
Q: ปัจจัยใดบ้างที่จะส่งผลต่อการผลิตบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ในอนาคต
ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปมีปัจจัยหลายประการที่สามารถจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์นี้ได้ เช่น
ประการแรก เรื่องของความยั่งยืนจะยังคงเป็นเทรนด์หลักที่มาแรง โดยเน้นไปที่โซลูชั่นของการรีไซเคิลได้ ใช้ซ้ำได้ และย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นทางเลือกของอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งจะได้รับแรงผลักดันจากทั้งความต้องการของผู้บริโภคและแรงกดดันทางด้านของกฎระเบียบ
ประการที่สอง บรรจุภัณฑ์ที่ต้องทั้งแข็งแรงทนทานต่อการขนส่งและยังต้องสวยงามน่าดึงดูดใจได้ในคราวเดียวกัน เพื่อตอบโจทย์การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ที่เห็นได้จากแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ทั้งหลาย เช่น Amazon นอกจากมีการใช้วัสดุรักษ์โลกมากขึ้น แล้วยังมีการใช้วัสดุที่ทนทานต่อการขนส่ง เช่น กล่องกระดาษลูกฟูก
ประการที่สาม ความก้าวหน้า เช่น ด้าน AI, IoT และการพิมพ์ดิจิทัลนั้น ไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้อยู่ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน
ประการที่สี่ พฤติกรรมของผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ เช่น ประเทศไทย ที่ซื้อของผ่านมือถือได้กลายมาเป็นบรรทัดฐาน เข้ามามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านบรรจุภัณฑ์
ประการที่ห้า การเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญด้วยเช่นกัน โดยกฎระเบียบเหล่านี้ควบคู่ไปกับเรื่องของนวัตกรรมด้านวัสดุ จะเป็นตัวกำหนดกระบวนทัศน์ใหม่ในด้านของความแข็งแรง น้ำหนัก และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของบรรจุภัณฑ์ในอนาคต
ประการที่หก การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับต้นทุนการผลิตและกลยุทธ์ได้นั้น ยังต้องมีการมุ่งเน้นไปถึงเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยอีกด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีความต้องการโซลูชั่นบรรจุภัณฑ์ที่ถูกสุขลักษณะเพิ่มมากขึ้น
ประการที่เจ็ด การตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนต่างๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม หรือยารักษาโรค จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยภาคส่วนเหล่านี้ไม่เพียงแค่แสวงหาโซลูชั่นบรรจุภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวขับเคลื่อนและเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดเทคนิคการพิมพ์และการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อให้บรรลุถึงสิ่งที่กล่าวมานี้ได้ จำเป็นต้องอาศัยความมุ่งมั่นของทั้งอุตสาหกรรมในด้านนวัตกรรม ความสามารถในการปรับตัว และการมองไปข้างหน้าอย่างมีวิสัยทัศน์นั่นเอง
Q: แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร?
เมื่อเปรียบเทียบกับในเอเชีย อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ของไทยนั้นอยู่บนเส้นทางที่น่าประทับใจ มีความโดดเด่นในหลายๆ เรื่อง เช่น ในเรื่องวิธีแก้ปัญหาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแน่นอนว่าอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ของไทยนั้นอยู่ในสถานะที่ดีที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการนี้ได้
นอกจากนี้ เมื่อคลื่นของโลกดิจิทัลและระบบอัตโนมัติอัจฉริยะกำลังแผ่ขยายไปทั่วภูมิภาคเอเชีย และประเทศไทยเองก็อยู่ในระดับแถวหน้า การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้อย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรม เช่น การพิมพ์ดิจิทัล โซลูชั่นบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ รวมถึงระบบการจัดการที่ขับเคลื่อนด้วย AI ทำให้ประเทศไทยอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องในการแข่งขันและสร้างสรรค์นวัตกรรม
ทั้งนี้ยังมีความร่วมมือกันในหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งความร่วมมือในการจัดงาน PACK PRINT INTERNATIONAL และ CorruTec ASIA ที่มีสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย สมาคมการพิมพ์ไทย และสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย รวมถึงการจัดงาน PACK PRINT INTERNATIONAL และ CorruTec ASIA 2023 ระหว่างวันที่ 20-23 กันยายนนั้น นั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความร่วมมือและแนวทางการทำงานแบบบูรณาการได้เป็นอย่างดี
Q: ในงาน PACK PRINT INTERNATIONAL และ CorruTec ASIA 2023 ปีนี้ผู้ประกอบการในประเทศไทยจะได้เห็นอะไรที่แตกต่างหรือพิเศษจากปีก่อนๆ หรือไม่?
สำหรับมหกรรมอีเวนท์ที่จะจัดขึ้นในเอเชียครั้งนี้นั้น ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายและประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำใครที่ได้รับการคัดสรรมาอย่างดี มีอยู่หลายส่วนด้วยกัน อาทิ
• #Greenzone ถือเป็นไฮไลท์หลักของงานในปีนี้ ‘ที่จะนำเสนอเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์จากพืชไปจนถึงโซลูชั่นที่ทำให้ไม่มีของเสีย หรือ Zero Waste ทั้งนี้ ความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 503.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2570 นั้น ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ควบคู่ไปกับความสำคัญของการปฏิบัติตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนและนโยบายด้านความยั่งยืนของรัฐบาล เช่น BCG (Bio-Circular-Green) จะเป็นโอกาสที่ดีในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย นอกจากนี้ การที่มีผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ในประเทศและระดับภูมิภาคจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หันมาให้ความสำคัญกับหลักการ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) รวมถึง Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น ยังเป็นปัจจัยหนุนให้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกเข้ามามีบทบาทสำคัญ เนื่องจากสามารถรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น
• เทคโนโลยีและนวัตกรรม : การแสดงเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลสุดล้ำ ไปจนถึงโซลูชั่นบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ และด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เช่น AI และระบบการจัดการอัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน
• ไฮไลท์กิจกรรม : เช่น งานประกาศรางวัล Asian Packaging Excellence Awards 2023 ครั้งที่ 20 รวมถึงงานสัมมนาให้ความรู้อีกมากมายอาทิ
- การประชุม World Print & Communication Forum:- การประชุมหัวข้อ SUSTAINOVATION PACKAGING: กุญแจสู่การใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน [ภาษาไทย]
- สัมมนาหัวข้อเมกะเทรนด์แห่งโลกบรรจุภัณฑ์: โอกาสและรูปแบบการใช้งานล่าสุดของสินค้า FMCG ด้วยบรรจุภัณฑ์แบบ Molded Fiber [ภาษาอังกฤษ]
-งานประชุม SHIFT23 Asian Packaging Conference [ภาษาอังกฤษ]
- สัมมนาหัวข้อการพัฒนาการประกันคุณภาพด้วยการทดสอบบรรจุภัณฑ์กระดาษ [ไทย]
- งานประชุม Outside the Box: กลยุทธ์นอกกล่อง พาธุรกิจนอกกรอบ [ไทย]
- การประชุมระดับภูมิภาค เรื่อง “การแสวงหาความยั่งยืนและความท้าทายที่อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ต้องเผชิญ” [อังกฤษ]
- สัมมนาหัวข้อความยั่งยืนและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของบรรจุภัณฑ์ [ไทย]
งาน PACK PRINT INTERNATIONAL และ CorruTec ASIA 2023 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี