Better Half Bakehouse ขายครัวซองต์ยังไงให้คืนทุนได้ในปีแรก

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

Main Idea

  • ใครจะมาซื้อขนมของลูก” ประโยคแรกที่พ่อบอกแบบไม่เชิงสนับสนุนแต่ก็ไม่ปฎิเสธ เมื่อ “ออย-น้ำทิพย์ บรรจงชีพ” เอ่ยปากขอทุนเปิดร้าน

 

  • แต่ใครจะคิดว่าแค่เพียงปีแรกร้าน Better Half Bakehouse ของเธอจะสามารถคืนทุนได้แล้ว

 

 

     ยุคหนึ่งที่ครัวซองต์กลายเป็นกระแส eat of the town หากใครอยู่แถวอุดรธานีหรือใกล้เคียงคงรู้จัก Better Half คาเฟ่ที่ขึ้นชื่อเรื่องขนมรูปพระจันทร์เสี้ยว จนมีการพูดปากต่อปากว่า ถ้าไม่มาตั้งแต่เช้าคงไม่มีทางได้ลิ้มลองรสชาติครัวซองต์ที่นี่

     “ใครจะมาซื้อขนมของลูก…”

     ออย-น้ำทิพย์ บรรจงชีพ เล่าให้ฟังเมื่อเธอเอ่ยปากขอทุนเปิดร้านก้อนแรกกับพ่อ หลังจากที่ผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนจนมั่นใจในรสมือตัวเอง เป็นประโยคไม่เชิงสนับสนุน แต่ก็ไม่ได้ปฎิเสธ

     “ตอนเตาอบตัวแรกที่ได้มา ซื้อมาจากเหรียญของพี่สาวบวกกับเงินของตัวเองตอนอยู่ปี 3 ได้ฝึกทำขนมจนถึงปี 4 แล้วหยุดเพราะมีเวลาว่างน้อย จนเมื่อจบได้เรียนทำขนมประเภทเค้ก แต่รู้สึกว่าไม่ใช่แนว จึงเปลี่ยนไปเรียนทำขนมปังแทน จนแน่ใจว่าตัวเองทำได้ จึงขอทุนพ่อเปิดร้าน”

     ยิ่งพ่อพูดแบบไม่ให้ความหวังแล้วมาพบกับคำพูดคนอื่นในทำนองให้ทำใจเพราะไม่มีคนซื้อหรอก ยิ่งทำให้ออยยิ่งอยากทดสอบตัวเอง

     ตอนนั้นสามี บิ๊ก-พงศกร สุทธิตระกูลพร ได้ลาออกจากงานวิศวกรเพราะอยากทำธุรกิจ บิ๊กจะเป็นคนดูงานหน้าบาร์เครื่องดื่ม โดยเฉพาะกาแฟที่เริ่มมาด้วยกันกับขนม ทั้งบิ๊กและออยต่างยังต้องการบริการลูกค้าด้วยตัวเองอยู่ เพราะเชื่อว่าทั้งสองคนยังตอบคำถามลูกค้าได้ดีที่สุด

     “ทุกวันนี้ออยยังทำครัวซองต์ด้วยตัวเองอยู่ โปรดักต์ไม่ได้เยอะแบบอุตสาหกรรม ลูกค้าส่วนมากมาตั้งแต่ตอนเช้าเพราะกลัวหมด จึงทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการบ้าง เพราะการทำขนมแต่ละครั้งใช้เวลาโปรเซสถึง 3 วัน ต้องผสมแป้งไว้ค้างคืน แล้วรีดในวันถัดไป ทิ้งไว้อีกหนึ่งคืน รุ่งเช้าถึงจะเข้าเตาอบได้”

     ออยบอกว่า เคยทำยอดขายครัวซองต์ได้ถึงวันละกว่า 500 ตัว แค่ปีแรกก็คืนทุนแล้วและไม่เคยคาดคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ จุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากทำครัวซองต์เอง เพราะพ่อเป็นคนชอบกิน เคยตั้งข้อสังเกตว่าขนมที่ซื้อมาตัวละแค่ 30-40 บาทนั้น เขาใช้เนยแท้จริงหรือ ถ้าไม่งั้นคงไม่ดีต่อสุขภาพแน่ๆ ประเด็นนี้จึงผลักดันให้ออยหันมาจริงจังกับครัวซองต์และเปิดร้านแบบโฮมเมดร้านเดียวในตอนนั้น ที่มีห้องอบในร้าน ซึ่งลูกค้าสามารถเห็นกระบวนการและมั่นใจในทุกขั้นตอนการผลิต

     “ทุกวันนี้ ออยยังสนุกอยู่กับการทำครัวซองต์อยู่ ลูกค้าประจำของเรายังไม่ไปไหน ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าโปรดักต์ที่เราทำไว้ดี ถือเป็นการตลาดที่ดีที่สุด อนาคตมีแผนขยายการผลิตแต่ต้องคงคุณภาพเดิมอยู่”

     ประโยคท้ายๆ ที่ออยเฉลยความหมายของชื่อร้านให้ฟัง ทำให้ผมยิ่งเข้าใจความรักระหว่างผู้หญิงคนหนึ่งกับขนมที่เธอตั้งใจทำ

     “Better Half ไม่ใช่แค่ความหมายของคู่ชีวิต คือ บิ๊กกับออย แต่เป็นความรักระหว่างออยกับครัวซองต์ด้วย”

     กลิ่นหอมและรสสัมผัสของครัวซองต์ที่นี่ ยิ่งทำให้ผมไม่มีข้อกังขาใดๆ ในคำบอกเล่าจริงใจเหล่านั้นเลย

Better Half Bakehouse

รายละเอียดเพิ่มเติม

https://www.facebook.com/BetterHalfCafe

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำไมบันไดต้องมีแบรนด์? ฟังเฉลยจาก "ลายวิจิตร" ผู้คิดโซลูชั่นบันไดสำเร็จรูป พาธุรกิจโต 10 เท่า

โดยส่วนใหญ่ในธุรกิจ B2B การสร้างแบรนด์ อาจดูไม่ค่อยมีความจำเป็นมากเท่ากับ B2C ที่ขายปลีกโดยตรงถึงผู้บริโภค ยิ่งเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในงานต่างๆ ตัวอย่างเช่น บันได แต่แล้วทำไม? บันได ต้องมีแบรนด์ ไปดูกัน

คำสารภาพจากแม่ค้าประตูน้ำ ยอมออกจาก Comfort zone สู่โลกออนไลน์ เมื่อความสำเร็จเดิมใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ช่วงนี้มักได้ยินเสียงบ่นของพ่อค้าแม่ค้าหนาหูว่า เศรษฐกิจไม่ดีและไม่ใช่เศรษฐกิจไม่ดีแบบธรรมดา แต่เป็นเศรษฐกิจที่แย่สุดๆ รับรู้ได้จากแม่ค้าหลายรายได้โพสต์คลิประบายความในใจจนกลายเป็นไวรัล

บ้านต้นไม้ร้อยหวัน โฮมสเตย์ที่อยากให้คนมาใช้ชีวิตเรียบง่าย กินของพื้นบ้านและนอนฟังสายน้ำ

บ้านพักแนวโฮมสเตย์รักษ์วิถีชุมชน ที่อยากชวนคนให้มาอยู่กับธรรมชาติอย่างเรียบง่าย กินของพื้นบ้านและนอนฟังสายน้ำ รับเฉพาะลูกค้าจองล่วงหน้าเท่านั้น