3 Big Map พาธุรกิจ SME เข้มแข็ง จาก กร สุริยพันธุ์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีจ. สงขลา

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : เจษฎา ยอดสุรางค์

Main Idea

  • 3 เรื่อง คือ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนวัตกรรม การตลาด และการเข้าถึงช่องทางทางการเงิน

 

  • เป็นสิ่งที่ กร สุริยพันธุ์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจ.สงขลา แนะให้ SME ต้องโฟกัสเพื่อความเข้มแข็งของธุรกิจ

 

     ถ้าพูดถึงจังหวัดเศรษฐกิจในภาคใต้หลายคนคงนึกถึงภูเก็ต หรือ กระบี่ แต่หลังจากที่โควิดเริ่มจางหายไป จังหวัดที่มาแรงทำ GDP ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้คือ จังหวัดสงชลา เนื่องจากไม่ได้เน้นการท่องเที่ยวร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีธุรกิจที่น่าสนใจอาทิ ยาง ถุงมือ การส่งออกเกษตร ฯลฯ

     แม้ตัวเลข GDP จะดีแต่การทำธุรกิจโดยรวมของ SME ก็ยังมีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องการเงินซึ่งถือเป็นปัญหาหลักสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในจังหวัดสงขลา ฉะนั้นถ้า SME อยากเข้มแข็งควรต้องโฟกัสเรื่องใดลองไปฟังคำแนะนำจาก กร สุริยพันธุ์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดสงขลา

Q : ในฐานะประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีสงขลา คุณกรมีนโยบายหลักๆ ที่โฟกัสเพื่อพัฒนา SME คืออะไร?

     จากที่ผมทำงานสมาพันธ์ฯ มา ปีนี้เป็นปีที่ 6 โดย 4 ปีแรกเป็นกรรมการต่อจากนั้นก็เป็นประธานฯ ซึ่งปีนี้เป็นประธานเริ่มเข้าปีที่ 3 แล้ว ผมโฟกัสอยู่ 3 เรื่องหลักๆ เรียกว่า 3 บิ๊กแมพ

     เรื่องแรก คือ เรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนวัตกรรม เพราะว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นการยกระดับตัวสินค้า การมีนวัตกรรมมันช่วยให้สินค้ามีความน่าสนใจ ช่วยให้ขายได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์มันจะเหมือนๆ กันหมด แต่ถ้าเรามีนวัตกรรมทำให้มีความแตกต่าง นอกจากนี้ก็จะช่วยอัพสกิล รีสกิลของผู้ประกอบการไปในตัวด้วย ซึ่งเรามีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นสสว. อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ในการให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการของภาครัฐได้ฟรีหรือว่าอาจจะใช้ในราคาที่ต่ำ

     เรื่องที่ 2 มาร์เก็ตติ้ง ต่อให้สินค้าดีแทบตายสุดท้ายขายไม่ได้ก็เท่านั้น เราจึงพยายามเชื่อมโยงช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นต่างประเทศหรือในประเทศ การจัดอีเวนต์แมทชิ่ง การจัดอีเวนต์แสดงสินค้าให้กับผู้ประกอบการ ก็เป็นสิ่งที่เราทำกันอยู่

     เรื่องที่ 3 การเข้าถึงช่องทางทางการเงิน เพราะว่าเอสเอ็มอีเจะเข้าถึงข้อมูลช้ากว่าผู้ประกอบการที่เป็นภาคอุตสาหกรรม หรือกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในหอการค้า เมื่อเข้าถึงข้อมูลช้ากว่าก็อาจไม่ทันปีงบประมาณของภาครัฐ  

     นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่เราทำเป็นประจำทุกๆ เดือน หรือทุกๆ ไตรมาสคือ จะมีมีตติ้งเพื่อรับฟังเสียงเอสเอ็มอีแต่ละคลัสเตอร์ให้ได้ข้อมูลจริงๆ จากผู้ประกอบการ พร้อมกับมีการเชิญทางอุตสาหกรรมจังหวัด หรือว่านายกเทศบาล เข้ามานั่งฟังด้วย โดยเราจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อม นำฟีดแบคจากผู้ประกอบการส่งไปยังหน่วยงานที่ช่วยแก้ปัญหาเขาได้

Q : มองศักยภาพของผู้ประกอบการในสงขลาเป็นอย่างไรบ้าง

     คือศักยภาพของผู้ประกอบการในจังหวัดสงขลา ถ้าตอนก่อนโควิด GDP เราเป็นอันดับ 3 ของภาคใต้รองจากภูเก็ตและกระบี่ แต่พอช่วงโควิดเราขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เพราะว่าเราไม่ได้เน้นการท่องเที่ยวร้อยเปอร์เซ็นต์ สงขลาเองที่ GDP สูงเพราะว่าเรามีอุตสาหกรรมยาง ถุงมือ การทำเกษตรเพื่อส่งออก เลยทำให้จังหวัดพยุง GDP ได้

 Q : ความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในจังหวัดสงขลา

     เรามองว่าจุดแข็งหนึ่งของสงขลาหรือหาดใหญ่คือ เรามีการค้าชายแดน แล้วเราเป็นเมืองที่ใหญ่ มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว แล้วผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในจังหวัดสงขลาส่วนใหญ่ก็เป็นภาคบริการ ค้าปลีกค้าส่ง ก็ทำให้การคึกคักและผู้ประกอบการก็สามารถแข่งขันได้อยู่

Q : การดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์ฯ 3 ปี คุณกรเห็นการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเอสเอ็มอีจ.สงขลา เป็นอย่างไรบ้าง

    เรียกได้ว่าพอรับตำแหน่งก็โควิดเลย เราเห็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ประกอบการมากขึ้น แล้วก็ทางหน่วยงานภาคภาคเอกชนที่เป็นภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นสมาพันธ์หอการค้า สภาอุตสาหกรรมหรือองค์กรต่างๆ เรามีการมองทิศทางที่เป็นทิศทางเดียวกันมากขึ้น เพราะว่าเจเนอเรชั่นที่ขึ้นมาเป็นนายกหรือเป็นประธาน เป็นเจเนอเรชั่นที่ไล่กันแล้ว เราก็จะบอกเสมอเลยว่าจริงๆ แล้ว ผมเข้ามาทำตรงนี้ผมไม่ต้องการได้หน้า ผมทำเพื่อผู้ประกอบการ ปัจจุบันนี้เรามีการรวมตัวของ 19 องค์กรที่อยู่ในจังหวัดสงขลาประชุมกันทุกเดือน ก็ถือว่าเข้มแข็งมากตอนนี้

Q : ปัญหาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จ. สงขลาส่วนใหญ่เป็นเรื่องอะไร

    ปัญหาหลักๆ ที่เจอ เรื่องการเงิน จะเห็นว่าอันดับแรกเลยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะติดในเรื่องของเครดิตบูโร อันดับสอง ก็จะเป็นเรื่องของศักยภาพในการผ่อนชำระไม่ถึง อันที่ 3 เป็นวัตถุประสงค์ในการขอกู้เงินไม่ชัดเจน แล้วก็ในเรื่องของการตลาด คืออย่างที่บอก ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มักขายของกันเองเฉพาะในจังหวัด ไม่ได้ค้าขายกับคนข้างนอก

     ในการทำตลาดคุณต้องมองภาพรวม ไม่ใช่มองแค่ในจังหวัด ยกตัวอย่างถ้าคุณเป็นร้านอาหาร การพีอาร์ต้องทำให้คนรับรู้ระดับประเทศไม่ใช่แค่ในจังหวัด แม้สงขลามีทะเลแต่ทะเลก็สวยสู้อันดามันไม่ได้ มีภูเขาก็ไม่เหมือนภาคเหนือ แต่ว่าในเรื่องของอาหารและวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายในเรื่องของอาหารเราไม่เป็นสองรองใคร เรียกได้ว่ามาสงขลากินอาหารไม่ซ้ำร้านแน่นอน

Q : ทางสมาพันธ์ฯ มีแนวทางหรือวิธีการเข้าไปช่วยผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง

     เราก็มีดีลกับทางแบงก์ชาติ แล้วก็ทางเอสเอ็มอีแบงก์ ยกตัวอย่างเราได้คุยกับทางแบงก์ชาติว่าจะจัดอีเว้นต์ตรวจสุขภาพทางการเงิน โดยมีเจ้าหน้าที่จากแบงก์ช่วยตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของผู้ประกอบการว่ามีจุดไหนที่ต้องปรับ ถ้าผู้ประกอบการรู้ตัวว่าเขาอ่อนเรื่องอะไร เขาจะได้ไปเติมเรื่องนั้น ที่ผ่านมาเคยเจอว่าผู้ประกอบการเอางบการเงินไปยื่นแบงก์แล้วปรากฏว่าสกอริ่งไม่ถึง ก็พยายามให้ความรู้กับผู้ประกอบการ พยายามช่วยให้เขาปรับตัวเรื่องของดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งด้วย

Q : คุณเอาประสบการณ์ในการเป็นผู้บริหารบริษัท เทพไทย โปรดัคท์ จำกัด มาไกด์บ้างไหม

     ใช่ครับเป็นประสบการณ์บวกฟีดแบค แต่ก็ต้องดูปัญหาเป็นเรื่องๆ ไป คืออย่างผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง ก็ปัญหาแบบหนึ่ง ร้านอาหารก็ปัญหาแบบหนึ่ง โลจิสติกส์ก็ปัญหาแบบหนึ่ง ซึ่งนโยบายภาครัฐที่ผ่านมาออกแบบคอมมอน หมายถึงว่าออกให้เอสเอ็มอี เหมือนกันหมดเลย แต่ละเซกชั่นไม่เหมือนกัน ปัญหาของเขาไม่เหมือนกัน

     อีกเรื่องหนึ่งคือ เอสเอ็มอีส่วนมากก็เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งการเป็นบุคคลธรรมดาเวลาจะไปดิล จะไปขอเครดิตเทอมจากภาครัฐก็ยาก ต่างจากการเป็นนิติบุคคลสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจตัวเอง แต่ว่าค่าใช้จ่ายในการเป็นนิติบุคคลก็มีมากว่า ฉะนั้นข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การที่เราจะไปบอกว่าคุณต้องเป็นนิติบุคคล อาจจะต้องดูความพร้อมของผู้ประกอบการด้วย อย่างร้านอาหาร เขาขายทุกวันเขาก็มีกำไรส่วนหนึ่งแล้ว อยู่ดีๆ จะให้เขาเป็นนิติบุคคล เขาก็ต้องมานั่งขายก๋วยเตี๋ยวชามนึงวันนี้ขายได้กี่ชาม บะหมี่ต้นทุนเท่าไหร่ กำไรขาดทุนเท่าไหร่ต่อเดือน ก็อาจจะไม่มีความพร้อมขนาดนั้น

Q : วันนี้ในฐานะประธานสมาพันธ์มีอะไรอยากบอกถึงเอสเอ็มอี

     คืออย่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เราก็มีทางหน่วยงานภาครัฐ และมีการเชื่อมโยง แล้วก็สิ่งหนึ่ง ที่อยากจะให้เขาเข้ามาอยู่ในสมาพันธ์เอสเอ็มอี เข้ามาเป็นสมาชิกของเรา คือการเข้าถึงแหล่งข้อมูล เราเข้าไปถึงก่อนเราก็มีโอกาสก่อน ไม่มีโอกาสที่ไหนมาเคาะประตูเรียกเรา เราต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในเส้นทางที่โอกาสมันวิ่งเข้ามา ในแชนแนลของสมาพันธ์เอสเอ็มอี เราก็จะรวบรวมข้อมูล เรื่องของโอกาสดีๆนโยบายภาครัฐ หรือปัญหาต่างๆของผู้ประกอบการ เข้าไว้ด้วยกัน เอสเอ็มอีในแต่ละจังหวัดถ้าต้องการเป็นสมาชิกก็สามารถที่จะติดต่อสมาพันธ์ในแต่ละจังหวัดได้เลย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น