TEXT : Neung Cch.
Photo: ก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด
Main Idea
- ทายาทร้าน ก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด รวมพลังนำไอเดียระบบแนวคิดการทำธุรกิจสมัยใหม่ ทุ่มทุนกว่า 10 ล้าน
- ไอเดียบรรเจิดแต่ยังไม่ถูกใจรุ่นเก๋า กลายเป็นความคิดที่ไม่ลงรอยในการทำธุรกิจถึงขนาดทำให้เกือบต้องตัดขาดพ่อลูก
- ผ่านไป 11 ปี ครอบครัวแต้สุวรรณ สามารถยกระดับร้านก๋วยเตี๋ยวเรือบ้านๆ เทียบเท่าราเม็ง เป็นร้านอาหารที่โด่งดังในจังหวัดอุดรธานี กลายเป็นธุรกิจที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัว
(จากซ้าย) พสุธร (อะตอม) พุทธิพงษ์ (เทอร์โบ) พศิน (จูเนียร์)
ใครจะเชื่อว่าคนที่เกลียดการขายก๋วยเตี๋ยวอย่าง พสุธร แต้สุวรรณ (อะตอม) จะกลายเป็นหนึ่งในผู้ที่พาร้านก๋วยเตี๋ยวบ้านๆ ในสวนที่คนอุดรธานีรู้จักในชื่อ ก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด ให้กลายเป็นธุรกิจที่มีการจดทะเบียนการค้าในนาม บริษัท หมี่ขิด นูดเดิล เรสเทอรองต์ จำกัด
กว่าจะถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเขาและฝาแฝด พุทธิพงษ์ (เทอร์โบ) รวมทั้งน้องชาย พศิน (จูเนียร์) ช่วยกันวางระบบแนวคิดการทำธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อให้เป็นก๋วยเตี๋ยวที่แตกต่างจากก๋วยเตี๋ยวทั่วไป ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่า 10 ล้าน ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อยช่วงสิบปีก่อน ความคิดที่ไม่ลงรอยในการทำธุรกิจถึงขนาดทำให้เกือบต้องตัดขาดพ่อลูก
เมื่อเวลาผ่านไป 11 ปี ร้านก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด ไม่เพียงเป็นร้านที่โด่งดังในจังหวัดอุดรธานี ยังกลายเป็นธุรกิจที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัว ที่สำคัญยังกลายเป็นธุรกิจที่หนุ่มอะตอมถึงขั้นหลงใหลและกลายเป็นธุรกิจที่เขารู้สึกรักมาก ถึงขั้นวางแผนเตรียมนำระบบธรรมาภิบาลมาสานต่อธุรกิจครอบครัว
การพลิกโฉมธุรกิจบ้านๆ ให้เป็นระบบนั้นจะยากง่ายอย่างไร วิธีคิดเมื่อต้องมาทำธุรกิจที่ไม่ชอบให้เป็นใช่ได้อย่างไร ลองไปฟังคำตอบจาก พสุธร หนึ่งในผู้พลิกโฉม ร้านก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด
หมี่ขิดที่หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว
“หมี่ขิดมาจากไหน ใช่เส้นก๋วยเตี๋ยวหรือไม่”
นับเป็นประโยคคำถามยอดฮิตที่เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิดต้องเจอ หนุ่มนักบริหารเท้าความให้ฟังถึงที่มาของชื่อร้านว่า ก่อนหน้านี้บ้านของเขาเคยขายของพื้นเมืองมาก่อน แต่พอมาถึงช่วงหนึ่งการขายของพื้นเมืองไม่ค่อยดี พ่อแม่จึงลองนำสูตรก๋วยเตี๋ยวคุณยายมาทำขาย พร้อมกับลงความเห็นเป็นมติเอกฉันท์ว่า จะใช้ชื่อร้านว่า ก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด
“คำว่าหมี่ขิด คือชื่อผ้า ที่เกิดจากผ้าหมี่ ผสม ผ้าขิด การจะได้ผ้าหมี่ขิดออกมาสวยจะต้องใช้วัตถุดิบที่ดี คนทอที่ชำนาญ ซึ่งตรงกับคอนเซปต์ของร้าน ที่อยากใช้วัตถุดิบที่ดีให้กับลูกค้า ใช้ผู้เชี่ยวชาญในการทำก๋วยเตี๋ยวให้ได้รสชาติที่ถูกใจลูกค้า”
แรงบันดาลใจมาจาก Home mart
ก่อนที่จะมาลุยทำร้านก๋วยเตี๋ยวอะตอมเคยทำงานเป็นพนักงานฝ่ายการตลาดบริษัท SCG มีโอกาสได้ไปพบลูกค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายวัสดุก่อสร้างของ Home mart และได้มีการพูดคุยบ่อยครั้งจนกระทั่งพบเห็นวิธีการทำงานที่เป็นระบบ สามารถสร้างรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำ นอกจากนั้นคู่สามีภรรยาที่เป็นตัวแทนจำหน่ายนี้ยังมีเวลาเป็นของตัวเอง ทำให้อะตอมเริ่มคิดถึงอนาคตของตัวเอง
“ตอนเด็กผมอยากเป็นนักบิน ช่วงเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ผมยอมรับเลยว่าเป็นคนที่ไม่เอาธุรกิจที่บ้านเลย ผมรู้สึกอายด้วย จากเคยขายของพื้นเมืองดูใหญ่โต แล้วทำไมต้องมาขายก๋วยเตี๋ยว ตอนนั้นไม่อยากกลับบ้านเลย แต่ความคิดเปลี่ยนตอนไปทำงาน SCG ที่ได้ไปคุยกับเฮียกับซ้อ รู้สึกว่าทำไมพวกเขาหาเงินได้เยอะ สร้างเงินต่อได้เรื่อยๆ หรือแม้แต่พ่อแม่ผมขายก๋วยเตี๋ยวแต่ก็สามารถส่งผมเรียนอินเตอร์ นานาชาติขอนแก่นได้ ตอนนั้นผมอยากมีครอบครัว อยากส่งลูกเรียนอินเตอร์ อยากให้ลูกเป็นเหมือนผม ถ้าเราเป็นพนักงานเราจะมีโอกาสส่งลูกเราได้ไหม จังหวะที่พ่อแม่เรียกให้ไปช่วยขายก๋วยเตี๋ยวที่บ้านจึงตัดสินใจลาออกทันที แม้กำลังจะได้รับการโปรโมทให้เลื่อนตำแหน่งก็ไม่ได้ทำให้ลังเล”
ขายก๋วยเตี๋ยวเรือ ใช้แนวคิดแบบญี่ปุ่น
ทันทีที่กลับอุดรธานีเพื่อมารับไม้ต่อธุรกิจ อะตอมก็เกิดคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมก๋วยเตี๋ยวไทยไม่สามารถดันราคาให้เหมือนร้านราเม็งญี่ปุ่นได้” จากคำถามนี้เขาจึงมีความคิดว่าถ้าลองนำวิธีหรือระบบญี่ปุ่นมาปรับใช้กับที่ร้านเพื่อเพิ่มมูลค่าก๋วยเตี๋ยวเรือ
วิธีแรกคือ ต้องใช้วัตถุดิบที่ดี เลือกจากโรงงานที่สะอาดได้มาตรฐาน GMP แต่แค่นี้ไม่พอสำหรับเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด เมื่อพวกเขาดับเบิ้ลเช็กถึงขนาดขอเข้าไปดูถึงภายในโรงงาน
“ผมจะเป็นแค่ร้านเล็กๆ ผมจะใช้วิธีทำให้เขาเห็นว่าเราเป็นลูกค้าอยู่ด้วยกันยาวๆ ถ้าผมโตเขาก็โตไปด้วย จากวันนั้นที่ผมซื้อลูกชิ้นพริกแค่ 10 กิโลกรัม ตอนนี้ผมซื้อเค้าอาทิตย์หนึ่งไม่ต่ำกว่า 200 กิโลกรัม ล่าสุดเขาเพิ่งแจ้งผมมาว่า ร้านผมซื้อลูกชิ้นกับเขามากเป็นอันดับ 10 ของประเทศไทย ตอนนี้ร้านก๋วยเตี๋ยวผมเปิดเป็นบริษัท หมี่ขิด นูดเดิล เรสเทอรองต์ จำกัด จ่ายภาษีกรมสรรพากรถูกต้อง 100% เป็นเหตุผลว่าทำไมวัตถุดิบผมๆ ต้องซื้อวัตถุดิบกับซัพพลายเออร์ที่น่าเชื่อถือที่ออกใบกำกับภาษีได้”
ร้านเหล้าหรือร้านก๋วยเตี๋ยว
สำหรับวิธีที่สอง อะตอมอธิบายว่าเขาใช้วิธีออกแบบ ตกแต่งร้านให้แตกต่างจากร้านก๋วยเตี๋ยวเรือทั่วๆ ไป คอนเซปต์คือ ให้ลูกค้าเข้าร้านแล้วรู้สึกว้าว พร้อมนำความชอบส่วนตัวมาออกแบบตกแต่งร้านในสไตล์ Industrial loft
“ตอนที่ผมทำร้านใหม่ๆ ลูกค้าส่วนใหญ่จะรู้สึกตะลึงว่า เป็นแค่ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือทำไมต้องทำขนาดนี้ บางคนบอกว่าทำเป็นร้านเหล้าดีกว่าไหม ซึ่งมันตรงกับที่ผมต้องการ เราอยากให้เกิดความแตกต่าง ให้ลูกค้าเข้าร้านแล้วรู้สึกว้าว ผมขายก๋วยเตี๋ยวเรือหมู ราคาเริ่มต้นชามละ 69-149 บาท มีลูกค้ามากินบอกเหมือนทองสมิทธ์ ก็รู้สึกดีใจแต่แอบคิดในใจว่าผมเกิดก่อนแต่แบรนด์ผมอาจไม่ดังในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่คนจะรู้จักในจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น”
จ้างแม่เป็น Audit
ในช่วงแรกของการเปิดร้านอะตอมใช้วิธีโปรโมทให้คนรู้จัก พร้อมกับทำโปรโมชั่นเพื่อดึงลูกค้าเข้าร้าน แต่เขาบอกว่าสิ่งที่จะทำให้ลูกค้ากลับมากินที่ร้านซ้ำอีกคือ การบริการ ทั้งนี้เขาจึงจัดทำตารารางเทรนพนักงานไว้ให้ทุกคนปฏิบัติตามก่อนเริ่มงานในแต่ละวัน เช่น การตรวจเครื่องแต่งกาย นอกจากนี้อะตอมยังได้จ้างคุณแม่เดือนละ 4 พันบาท ให้มาช่วยเป็นฝ่าย audit ร้าน ตั้งแต่พนักงาน รสชาติอาหารอีกด้วย
“ผมขอให้พนักงานเรียกลูกค้าทุกคนว่า คุณลูกค้าเท่านั้น ถึงแม้จะเป็นน้องนักเรียน เพราะเขาคือ คนที่เอาเงินมาให้เรา แค่เขาเข้ามากินร้านเราแปลว่าเขาให้เกียรติเราแล้ว ตอนแรกผมนึกว่าราคา 69 บาท คงมีแต่กลุ่มพนักงาน ครอบครัวที่มาทาน ปรากฏว่า ช่วงบ่ายสามครึ่งถึงหกโมงเย็น เป็นกลุ่มนักเรียนมากินเต็มร้านเลย ยิ่งวันไหนสอบปลายภาค เรียกว่าร้านผมเป็นโรงเรียนขนาดย่อม”
มหากาพย์ ทายาทมาทำธุรกิจ
ถึงแม้จะถูกเรียกตัวมาให้ช่วยร้านก๋วยเตี๋ยวแต่อะตอมบอกว่า การมารับไม้ต่อไม่ใช่เรื่องง่ายกลายเป็นมหากาพย์และเกิดการทะเลาะกันรุนแรงระหว่างพ่อกับลูกถึงขนาดแทบจะตัดพ่อตัดลูกกันเลย
“ตอนนั้นเราขายก๋วยเตี๋ยวอยู่นอกเมือง ผมจะย้ายมาขายในเมืองทำเป็นร้าน Stan alone อยากเปลี่ยนคอนเซปต์ร้านใหม่ ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 10 ล้านบาท คุณพ่อมองว่าทำร้านก๋วยเตี๋ยวจะต้องลงทุนขนาดนี้เลยหรอ ตอนแรกๆ เขาก็ยังไม่เชื่อใจเรา เขาทำแบบนี้มานานแล้วก็ยังส่งพวกผมเรียนโรงเรียนดีๆ ได้
“จริงๆ ตัวผมไม่ค่อยมีปัญหา แต่ฝาแฝดผมเทอร์โบจะชนกับพ่อบ่อยมาก ผมเป็นตัวกลางคอยประนีประนอม ไปคุยกับเทอร์โบว่าบางครั้งจะเปลี่ยนความคิดผู้ใหญ่ทันทีไม่ได้ สิ่งแรกที่เราจะทำคือ เราลงในระบบที่อยู่ร้านเก่าเขาก่อน ลงไปทำให้เขาดู ทำให้เขาเห็นว่าลูกทั้งสามคนเอาร้านอยู่ได้ ตอนนั้นผมใช้เวลาเกือบปี ค่อยๆ เปลี่ยนเช่น นำระบบ POS มาใช้ มีการเปลี่ยนให้พนักงานใส่ยูนิฟอร์ม”
ผ่านไปประมาณปีหนึ่งอะตอมบอกว่า พวกเขาจึงค่อยๆ นำเอาคอนเซปต์การทำร้านก๋วยเตี๋ยวใหม่ไปคุยกับพ่ออีกครั้ง ปรากฏว่าครั้งนี้คุณพ่อเขาซอฟท์ลงมากเพราะเริ่มเห็นสิ่งที่ลูกๆ ทำแล้ว เริ่มเชื่อว่ามีฝีมือ สามารถประคับประคองร้านได้
“เมื่อเขาเปิดใจผมก็เริ่มพูดคอนเซปต์ แต่พ่อผมชอบอะไรที่เป็นรูปธรรม ผมต้องทำเป็นแบบแปลน รายละเอียดค่าใช้จ่าย ต้องทำบัญชีให้เห็น cash flow จะคืนทุนได้ภายในกี่ปี ตอนนั้นสาขาแรกที่เป็น stand alone ที่อยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์อุดร ผมลงทุนหนักจริงประมาณ 10 ล้านต้นๆ มีทั้งหมด 120 ที่นั่ง สุดท้ายคืนทุนได้ภายใน 7-8 ปี”
“ผ่านมา 11 ปีมองย้อนกลับไปก็รูสึกภูมิใจ พอมาวันนี้นั่งคุยเรื่องเก่าๆ รู้สึกขำกัน พ่อบอกดีแล้วที่เปลี่ยนความคิดพ่อ ถ้าไม่ตามเราร้านคงไม่ได้ไกลขนาดนี้ แล้วสิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้มากขึ้นคือ เราไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงมาก สาขาที่สองผมลงทุนประมาณ 2.7 ล้าน มี 50 กว่าที่นั่ง ทำให้คืนทุนได้ไวกว่า เวลาขยายสาขาต่อไปหาสถานที่ง่ายกว่า และรู้สึกว่าบริหารง่ายกว่าด้วย”
ค่อยๆ ใส่สิ่งที่ตัวเองชอบไปในธุรกิจ
แม้การขายก๋วยเตี๋ยวไม่ใช่อาชีพในฝัน แต่เมื่อหนีไม่พ้น วิธีปรับตัวของอะตอมคือ ให้หาสิ่งที่ตัวเองชอบ เอาสิ่งที่ตัวเองชอบมาปรับใช้ใส่เข้าไปกับธุรกิจ
“ช่วงแรกลองหาวิธีเอาความชอบของเราไปสอดแทรกอย่างน้อยสัก 5-10% อย่างผมจบบริหารชอบงานออกแบบ สไตล์ industrial loft ผมก็ออกแบบบรรยากาศร้านเป็น loft industrial ชอบอะไรที่เป็นระบบ เป็นคอนเซปต์ เอาความเป็นระบบมาใช้ ค่อยๆ ทำให้พ่อแม่เห็นสักวัน ความชอบของเราจะเข้าไปปรับในธุรกิจนั้นเรื่อยๆ สุดท้ายธุรกิจที่เราไม่ชอบจะกลายเป็นตัวเรา ตอนนี้กลายเป็นว่าผมรักธุรกิจตัวเองมากเลย”
สูตรบริหารธุรกิจให้สำเร็จสไตล์ก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด หนึ่ง เข้าใจพนักงาน การที่เจ้าของเริ่มลงมือทำเองทุกอย่างทุกแผนก ตั้งแต่เตรียมวัตถุดิบ ล้างจาน ทำบาร์น้ำ เสิร์ฟ เพื่อให้เข้าใจว่าพนักงานแต่ละแผนเขารู้สึกอะไร ต้องการอะไร สอง เข้าใจความต้องการลูกค้า แม้แต่ลูกค้าที่อาจจะเรื่องเยอะ จู้จี้ จะพิจารณาว่าสิ่งที่เขาเยอะคือเรื่องอะไร ถ้าเป็นเรื่องความสะอาด เรื่องมาตรฐาน ต้องทำให้ได้ ถ้าทำได้แล้วลูกค้าคนนั้นมากิน แปลว่าร้านเรา over standard สาม คือ สังคมที่อยู่ เลือกกลุ่มเพื่อนที่คิดบวก พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด แชร์ เรื่องการทำธุรกิจ จะช่วยเติมพลังบวกและความสำเร็จ |
เตรียมลุยเปิดร้านในปั๊มปตท.
ปัจจุบันร้านก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิดจะมีสองสาขาคือสาขาที่เป็น stand alone กับสาขาที่อยู่ในปั๊ม ปตท. และเป้าหมายต่อไปคือ จะเพิ่มร้านในปั๊ม ปตท ตามหัวเมืองใหญ่ในภาคอีสานค่อยต่อไปที่กรุงเทพ
“ผมยังไม่อยากทำแฟรนไชส์ รู้สึกว่าควบคุมยาก เรื่องของน้ำซุป ถ้าทำไม่ดีจะเสียรสชาติ เร็วๆ นี้ผมจะทำเรื่องธรรมมาภิบาล คุยกับที่บ้านด้วย เราไม่ควรทำเรื่องธรรมาภิบาลครอบครัว ตอนธุรกิจโตมากๆ แล้ว ตอนนั้นจะทำยาก แล้วตอนนี้ถึงแม้พี่น้องเราจะรักกัน แต่อนาคตรุ่นลูกพวกเราจะทะเลาะกันไหมไม่มีใครรู้ การมีธรรมมภิบาลครอบครัวก็น่าจะช่วยตรงนี้ได้” หนุ่มอะตอมกล่าวทิ้งท้าย
ก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด
|
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี