“เกียรติชาย ไมตรีวงษ์” ผอ.อบก. ชวนคุยเรื่อง “คาร์บอนเครดิต” โอกาสและความท้าทายที่ SME ต้องรู้!

TEXT : จีราวัฒน์ คงแก้ว

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

     การเจอกันของ SME Thailand กับ “เกียรติชาย ไมตรีวงษ์” ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. (TGO) เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศขององค์กรธุรกิจ กระแสร้อนที่ทั่วโลกกำลังตระหนักถึง ซึ่งเอสเอ็มอีอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เหมือนความกดดันที่กำลังเกิดกับบริษัทขนาดใหญ่อยู่ในขณะนี้ แต่รู้หรือไม่ว่า ความกดดันนี้กำลังไหลหลั่งมาสู่เอสเอ็มอี ขณะเดียวกันก็มีโอกาสดีๆ ซ่อนอยู่ โดยเฉพาะกับอาวุธใหม่ที่ชื่อ “คาร์บอนเครดิต” ที่เอสเอ็มอีก็สร้างได้

เมื่อธุรกิจไม่ได้แค่แสวงหากำไร แต่ต้องรับผิดชอบต่อโลกด้วย

     ในวันนี้ทั่วโลกต่างเรียกร้องให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของโลกและสิ่งแวดล้อม ทวงถามความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจ ที่ทั้งใช้ทรัพยากรและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปทำลายชั้นบรรยากาศของโลก จากสินค้าที่เคยใส่ใจแค่คุณประโยชน์พื้นฐาน เริ่มถูกถามไถ่ถึง “คาร์บอนฟุตปริ้นท์” หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมา ตั้งแต่ต้นทางการผลิตสินค้านั้นๆ ไปจนถึงมือผู้บริโภค ทั่วโลกไม่เพิกเฉยต่อคนที่ปล่อยคาร์บอนในระดับสูงอีกต่อไป และต่างมีพันธกิจยิ่งใหญ่ร่วมกันที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตัวเองให้เป็น “ศูนย์” (Net Zero)

     กระทบถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งภาคผลิต อุตสาหกรรม บริการ ฯลฯ ขณะที่เอสเอ็มอีเองที่เป็นห่วงโซ่ของธุรกิจใหญ่ ก็ได้รับผลกระทบนี้ตามไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้  

     “เอสเอ็มอีที่จะได้รับผลกระทบก็คือกลุ่มที่เป็น Supply Chin ของบริษัทใหญ่ ที่อาจจะเจอกับ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) พวกนี้จะกระทบก่อนเพราะผูกอยู่กับบริษัทเหล่านั้น รวมถึงเอสเอ็มอีภาคบริการ ที่ต้องเตรียมตัวรับข้อกำหนดใหม่ๆ อย่าง กลุ่มโรงแรม  ท่องเที่ยว  ธุรกิจจัดประชุมสัมมนา รวมถึงการค้าและโลจิสติกส์ต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากลูกค้าเกิดความต้องการที่เปลี่ยนไป ขณะที่บางบริษัทที่มีกำไร ก็เริ่มมองถึงจิตสำนึกว่า อยากทำธุรกิจให้ดูดี และรองรับพวกกฎหมายต่างๆ ในอนาคต ก็ตั้งเป้าที่จะลดการปลดปล่อยคาร์บอนของตัวเอง กลุ่มนี้ถ้าทำก่อน เขาก็จะเป็นผู้นำ และสามารถเข้าสู่ตลาดได้เร็วกว่า ส่วนเอสเอ็มอี ยิ่งบริษัทใหญ่เขาปรับเร็วมาก ก็จะมากำหนดให้เราเปลี่ยน เพราะเราเป็นคนจัดหาวัตถุดิบให้เขา ขนส่ง ทำโออีเอ็ม ทำชิ้นส่วนให้เขา ซึ่งบริษัทใหญ่บริษัทหนึ่ง มีบริษัทเล็กๆ เป็นร้อยใน Supply Chin เรื่องนี้ก็เลยส่งผลกระทบกับเอ็มอีตามไปด้วย”

ถ้าทำเองไม่ได้ “ความดี” มีขาย อยากได้ก็ซื้อเอา

    แม้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกจะถูกพูดถึงกันทั่วโลก และส่งแรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะทำกันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ ที่ยังต้องขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโต เลี่ยงไม่ได้ที่จะทำอะไรกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม แม้จะพยายามลดแต่ก็คงชดเชยกันได้ไม่หมด

     ขณะที่คนอีกฝั่ง อาจไม่มีเงิน ไม่มีทรัพยากร แต่มีโครงการดีๆ ที่พร้อมช่วยโลกและสิ่งแวดล้อมอยู่ เพื่อสร้างสมดุลของคนสองฝั่ง เลยเป็นที่มาของกลไก “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) ซึ่งหมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ คาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิทธิดังกล่าวสามารถ “ซื้อขาย” และ “แลกเปลี่ยน” กันได้

     ทำความเข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนคนที่ทำบาป ไปซื้อความดีจากคนที่ทำดี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรตนเอง หรือ ชดเชย (Offset) บาปที่ได้ทำไว้กับโลกและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

     “คาร์บอนเครดิต มันเป็นเรื่องของความสบายใจ เราทำในสิ่งที่ไม่สบายใจ คือปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเยอะในแต่ละปี ก็ไปซื้อเครดิตมาชดเชย ซึ่งคุณค่ามันเกิด และเกิดจากความต้องการ ไม่ใช่จากการตั้งราคาเท่านั้นเท่านี้ เพราะฉะนั้นคาร์บอนเครดิต เป็นเหมือนมุมที่จะหลอกล่อให้มนุษย์เราปรับพฤติกรรมเพื่อมาทำความดี และมีผลประโยชน์กลับคืนไปยังเขาด้วย” ผอ.อบก. อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ

     ทั้งนี้ตลาดคาร์บอนในประเทศไทยยังเป็นภาคสมัครใจอยู่ เป็นการดำเนินการขององค์กรที่มีเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยยังไม่มีกฎหมายมาบังคับ และการจะได้มาซึ่ง คาร์บอนเครดิต นั้นจะต้องมีการรับรองโดย อบก. ซึ่งมีหน้าที่เป็นหน่วยวิเคราะห์ กลั่นกรอง และรับรองโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจในประเทศไทย

     ปัจจุบันมีโครงการที่ขึ้นทะเบียนกับ อบก.แล้ว 355 โครงการ โดยเป็นโครงการประเภท พลังงานทดแทน การจัดการของเสีย และการปลูกป่า เป็นต้น  ในจำนวนนี้มี 150 โครงการ ที่ได้รับคาร์บอนเครดิตแล้ว สามารถรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 16 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า (tCO2eq) ขณะที่ราคาซื้อขายสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท ต่อตัน ต่ำสุดประมาณ 20 บาทต่อตัน ขึ้นกับต้นทุนการทำและความพอใจของทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย

เป็น SME ก็มีคาร์บอนเครดิตกับเขาได้

     หลายคนอาจคิดว่า คาร์บอนเครดิต เป็นเรื่องของบริษัทใหญ่ แต่รู้หรือไม่ว่านี่เป็นโอกาสของเอสเอ็มอีได้เช่นกัน  ผอ.อบก. บอกเราว่า เอสเอ็มอี ก็มีสิทธิ์ที่จะทำโครงการคาร์บอนเครดิตได้ เพราะเป็นองค์กรเล็กที่ไม่ถูกควบคุม หลักการเดียวกับประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่บริษัทใหญ่จะมาทำเครดิตไม่ได้ เพราะว่ามีการปลดปล่อยคาร์บอนมากอยู่แล้ว จึงทำได้เพียงลดการปลดปล่อยของตัวเองมากกว่า

     ตัวอย่างโครงการที่เอสเอ็มอีทำได้ก็เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมการผลิต การใช้พลังงานในองค์กร การขนส่ง การเกษตร และการจัดการของเสีย เป็นต้น

     “เอสเอ็มอีที่อยากทำเรื่องพวกนี้ อยากให้เข้ามาศึกษาเงื่อนไขของโครงการที่สามารถทำเครดิตได้ โดยเรามีโครงการอยู่ 53 แบบ สามารถมาดูเมนูได้เลยว่า แบบนี้ทำได้ แบบนี้ประหยัดพลังงาน ฯลฯ รวมถึงจะมีวิธีทำบอกให้ด้วย เช่น ถ้าจะทำโปรเจ็กต์ป่า จะต้องมีที่ 10 ไร่ขึ้นไป โดยแต่ละโปรเจ็กต์จะมีวิธีการแตกต่างกันไป เช่น พลังงานทดแทน โซลาร์เซลล์ เกษตร การจัดการของเสีย  ฯลฯ ซึ่งเราจะไกด์ไลน์ให้เลยว่า คุณจะได้เครดิตอย่างไร เรียกว่ามีสูตรให้เลย ฉะนั้นให้เริ่มจากไปดู เมนูทำดี ที่สามารถขอการรับรองได้ จากนั้นก็มาขึ้นทะเบียนกับเรา”

     ท่ามกลางการทำธุรกิจในโลกที่ท้าทาย นักต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกบอกเราว่า เอสเอ็มอีต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ไปทำตัวเองให้ดี โดยเริ่มจากทำเรื่องที่ง่ายๆ วิน-วิน กับตัวเองก่อน เช่น พลังงานทดแทน อย่างการทำเรื่องของโซลาร์เซลล์ การใช้รถไฟฟ้าในการขนส่ง เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันมีการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหลายๆ ฝ่าย ขณะที่พลังงานและโลจิสติกส์ ก็มีความสำคัญต่อการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีอย่างมากเช่นกัน   

     “วันนี้ถ้าคุณทำโซลาร์เซลล์  สถาบันการเงินให้กู้มาทำได้ ถ้าคุณเปลี่ยนรถใหม่เป็นรถอีวี ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เรียกว่าแค่นี้ก็คุ้มแล้ว มัน วิน-วิน ถัดไปก็มาดูว่า เรามีการใช้พลังงานมากแค่ไหน มีอะไรที่ยังไม่ประหยัด ก็เปลี่ยนมาใช้ของที่ช่วยประหยัดพลังงาน พยายามใช้เซอร์คูล่าคอนเซ็ปต์มาจับ คือใช้ของให้ยาวขึ้น เวสต์น้อยลง ซื้อให้น้อยที่สุด แล้วที่เหลือมันจะเริ่มง่ายขึ้นเอง ทำแค่นี้ไปก่อน ไม่ต้องคิดเยอะ เพราะการลงทุนตรงนี้คุ้มแล้ว

     "พอทำแบบนี้ได้ ตัวคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของเราก็จะลดลงเอง ในที่สุดบริษัทใหญ่ที่เขาเคยซื้อกับเรา ในอนาคตเขาจะต้องกำหนดให้เราประเมินคาร์บอนฟุตปริ้นท์ด้วย แต่เราสามารถเริ่มทำตอนนี้ได้เลย ไม่ต้องไปรอให้เขาประกาศ ซึ่งพอเราทำอย่างนี้เราอาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ก็สามารถขอราคาที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทใหญ่ได้ เพราะเขาต้องจ่ายเพิ่มอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องทำดีก่อน”

     และนี่คือ ความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของบ้านเรา แม้วันนี้จะยังไม่มีกฎหมายออกมาบังคับ ทว่าการได้เริ่ม “ทำดี” ก่อน ย่อมได้เปรียบกว่า ทั้งยังเป็นโอกาสใหม่ๆ ให้กับตัวธุรกิจ เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน และมีส่วนช่วยรักษาโลกใบนี้ให้งดงามไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของเราด้วย  

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น