วีรเวช ศุภวัฒน์ ลุงวัยเกษียณ ผู้พลิกสินค้าเกษตรถูกเททิ้งข้างถนน สู่สินค้าขึ้นห้างฯ ทำรายได้ชุมชนปีละ 10 ล้าน

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • “กุ๊บไต” บริษัทสินค้าเกษตรแปรรูป จ.แม่ฮ่องสอน ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชุมชน เปลี่ยนจากสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ถูกเททิ้งข้างถนน สู่แบรนด์ขึ้นห้าง สร้างมูลค่าเพิ่มหลายเท่าตัว

 

  • ใครจะคิดว่าจากแผนหลังเกษียณที่อยากใช้ชีวิตพักผ่อนอย่างสงบ จะทำให้ “วีรเวช ศุภวัฒน์” หรือคนในพื้นที่เรียกกันติดปากว่า “คุณลุง” จะค้นพบเส้นทางใหม่ในการทำธุรกิจ ที่ไม่ได้นึกถึงแค่ตัวเอง แต่กลับมีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยพี่น้องเกษตรกรด้วย

 

     ถ้าวันหนึ่งชีวิตต้องย่างเข้าสู่วัยเกษียณ คุณคิดว่าอยากจะทำอะไร?

     แต่สำหรับ “วีรเวช ศุภวัฒน์” ชายวัย 65 ปี อดีตเจ้าของธุรกิจดีลเลอร์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และศูนย์บริการซ่อมรถยนต์แบรนด์ดังในกรุงเทพฯ กลับเลือกไปใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ในเมืองสงบอย่าง “แม่ฮ่องสอน” เมืองสามหมอกที่ผู้คนอยู่กันเรียบง่าย ถ้อยทีถ้อยอาศัย ตั้งแต่เมื่อราวสิบกว่าปีก่อน

     การมาเยือนของเขาครั้งนั้น กลับไม่ได้ไปพักผ่อนอย่างที่คิดไว้ แต่กลับเป็นการค้นพบเส้นทางใหม่ในการทำงาน และธุรกิจเล็กๆ ร่วมกับชาวบ้าน ด้วยการแปรรูปสินค้าเกษตรราคาตกต่ำให้กลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมา สร้างมาตรฐานจนสามารถส่งขายขึ้นห้างได้ ทำรายได้หลายสิบล้านบาทต่อปี ภายใต้แบรนด์ “กุ๊บไต” ที่แปลว่า งอบ หรือ หมวกของชาวไทยใหญ่

เพราะชีวิตไม่ได้จบลง แค่หลังเกษียณ

     “จริงๆ แล้วความตั้งใจที่อยากย้ายมาอยู่แม่ฮ่องสอน สมัยเมื่อสิบกว่าปีก่อน ก็คือ ชอบธรรมชาติ วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนที่นี่ เลยอยากมาชีวิตหลังเกษียณที่นี่ ตอนนั้นอายุ 55 ปีได้ มาอยู่ตอนปี 2556 แต่กลายเป็นว่าพอเราได้เข้ามาอยู่จริงๆ ได้มาคลุกคลีกับชาวบ้าน ทำให้ได้มองเห็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรในพื้นที่ ก็คือ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำขายไม่ได้ราคา โดยเฉพาะ กระเทียม ที่เคยเห็นเป็นข่าวชาวบ้านเอามาเททิ้งหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ทำให้คิดว่าเราจะอยู่เฉยๆ ต่อไปคงไม่ได้ เลยลองไปพูดคุยกับชาวบ้าน และรวมตัวกัน โดยจัดตั้งเป็นบริษัทเล็กๆ ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อแปรรูปสินค้าเกษตร ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมา” วีรเวชเล่าที่มาของธุรกิจหลังวัยเกษียณให้ฟัง

     บริษัท กุ๊บไต จำกัด ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2557 มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งขึ้นมา เพื่อช่วยกระจายสินค้าจากเกษตรกรในพื้นที่สู่ตลาดโมเดิร์นเทรดให้ได้ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ

เปลี่ยนผลผลิตถูกเททิ้งข้างถนน สู่สินค้าติดแบรนด์ขึ้นห้างฯ

     สิ่งที่วีรเวชนำเข้ามาใช้แก้ไขปัญหา ก็คือ สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการ “แปรรูปผลิตภัณฑ์” แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้นได้ ต้อง

     1.เริ่มจากการผลิตวัตถุดิบที่ดีออกมาก่อน เขาจึงริเริ่มโครงการส่งเสริมผู้ปลูกกระเทียมด้วยจำนวนสมาชิกเริ่มต้น 13 ราย โดยการสร้างระบบมาตรฐานการปลูกแบบ GAP (Good Agricultural Practice) ที่ปลอดภัยจากสารเคมี ดีต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูก นอกจากนี้ยังสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าด้วยการนำเทคโนโลยีสืบค้นย้อนกลับด้วย QR Code มาใช้ จนปัจจุบันสามารถช่วยเหลือสมาชิกได้แล้วมากกว่า 200 ราย

     2.เมื่อได้ผลผลิตที่ดีแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การหาตลาดรองรับ วีรเวชได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้งด้วยตัวเอง เพื่อติดต่อกับโมเดิร์นเทรดยักษ์ใหญ่หลายเจ้า จนในที่สุดความพยายามของเขาก็สัมฤทธิ์ผล ไม่เพียงได้รับการตอบรับที่ดีจากโมเดิร์นเทรด แต่ยังรวมไปถึงร้านค้าชั้นนำ และร้านสะดวกซื้อด้วย โดยจำหน่ายในรูปแบบของการนำกระเทียมสดมาตกแต่งมัดรวมให้อยู่ในลักษณะกระเช้าของขวัญ นอกจากนั้นยังมีกระเทียมแกะกลีบ แกะเปลือก เนยกระเทียม กระเทียมเจียวและรูปแบบอื่นๆ ในแพ็กเกจจิ้งสวยงาม เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วย

     “จุดมุ่งหมายที่เราสร้างแบรนด์ กุ๊บไต ขึ้นมา ก็เพื่อต้องการรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรในพื้นที่โดยให้ราคาเป็นธรรม แล้วนำมาแปรรูปอยู่ในบรรจุภัณฑ์สะอาด สะดวก สวยงาม ปลอดภัย ผมจึงจัดสร้างโรงงานมาตรฐาน GMP และมาตรฐาน อย. ส่วนกำลังผลิต เราก็ตั้งใจเลยว่าต้องเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้มีแรงงานทั้งหมดกว่า 20 คนแล้ว”

ปั้นแบรนด์ สร้างภาพจำ “คุณลุง”

     ย้อนไปในช่วงเมื่อสิบกว่าปีก่อน สมัยที่ย้ายมาอยู่ที่แม่ฮ่องสอนใหม่ๆ ด้วยบุคลิกเป็นคนใจดี วีรเวชจึงถูกคนในพื้นที่เรียกติดปากว่า “คุณลุง” อยู่บ่อยๆ

     หลังจากสินค้าจากกระเทียมเริ่มประสบความสำเร็จ ได้รับผลการตอบรับที่ดี 3-4 ปีต่อมา วีรเวชจึงเริ่มมองไปถึงผลผลิตการเกษตรตัวอื่นๆ ที่โดดเด่นของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จนมาพบเข้ากับ “ถั่วลายเสือ” ซูเปอร์ถั่วที่คุณประโยชน์มากมี ซึ่งชาวเผ่าลีซูนิยมปลูกและได้ผลผลิตดีมาก แต่ตลาดส่วนใหญ่ที่นำไปวางขายจะจำกัดเฉพาะในพื้นที่ โดยนิยมทำเป็นถั่วคั่วเกลือ แต่ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้ดีนัก จึงทำให้เกิดเชื้อราง่าย อายุการเก็บรักษาสั้น

     ทำให้วีรเวชนำมาต่อยอดพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพการผลิต และแพ็กเกจจิ้งใหม่ จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายจากถั่วลายเสือ อาทิ ถั่วลายเสือคั่ว, ถั่วเสือสามหมอก, น้ำมันถั่วลายเสือ นอกจากนั้นยังมี ถั่วเหลืองคั่ว ข้าวแข่ หรือป๊อปคอร์นไทใหญ่ โดยตั้งชื่อแบรนด์ขึ้นมาใหม่ว่า “ถั่วคุณลุง” ตามชื่อที่คนชอบเรียกกัน จนนำมาต่อยอดสู่อีกหลายแบรนด์ในชื่อคุณลุง ได้แก่ “กุงคุณลุง” แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์แห่งใหม่ของแม่ฮ่องสอน ที่มีทั้งคาเฟ่ ร้านอาหาร และที่พักสุดฮิปอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดย “กุง” เป็นภาษาท้องถิ่น แปลว่า เนินเตี้ยๆ Ice’Bean (ไอซึบีน) By กุงคุณลุง” ไอศกรีมรสชาติต่างๆ ที่ใช้ถั่วลายเสือเป็นส่วนผสม เป็นต้น

ภาพฝันที่ (ยิ่งกว่า) เป็นจริง

     จากภาพของชายที่อยากหาพื้นที่ใช้ชีวิตอย่างสงบในวัยเกษียณ ใครเลยจะคิดว่าอยู่ดีๆ วันหนึ่งจะกลายมาเป็นกำลังคนสำคัญเพื่อขับเคลื่อนช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ แถมยังสร้างแบรนด์ สร้างผลิตภัณฑ์ รวมถึงแตกไลน์ธุรกิจขึ้นอีกมากมาย จนอาจเรียกว่าเป็นอีกหนึ่งโลโก้ประจำจังหวัดที่ใครเห็นก็จดจำได้ไปแล้ว ภาพชีวิตในวันนี้ของวีรเวชจึงอาจไม่ใช่อย่างที่เคยฝันไว้ แต่กลับเกินจริง หรือมากกว่าที่เขาคิดไว้ด้วยซ้ำก็ได้

     โดยทุกวันนี้บริษัท กุ๊บไต จำกัด และแบรนด์ต่างๆ ในเครือ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวแม่ฮ่องสอนรับซื้อกระเทียมสดได้สูงถึงปีละ 120 ตัน, ถั่วลายเสือและถั่วเหลืองประมาณ 10 ตัน คิดเป็นรายได้กระจายสู่เกษตรกรในท้องถิ่นกว่า 8-10 ล้านบาทต่อปีทีเดียว แถมยังมีการทำธุรกิจภายใต้แนวคิด Zero Waste เพื่อคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจเกษตรอีกด้วย

     “ผมก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าตัวเองจะมาถึงวันนี้ได้ เพราะไม่เคยมีพื้นฐานทำอาชีพเกษตรมาก่อน สิ่งที่ทำให้ทำได้สำเร็จ ก็คือ การไม่หยุดเรียนรู้ อีกสิ่งที่สำคัญ คือ การมีพันธมิตรที่ดี ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือแบงค์ อย่าง SME D Bank ก็มีส่วนช่วยเราหลายครั้งในการขยายกำลังการผลิต หรือแม้แต่ในช่วงโควิด-19 ที่ขาดสภาพคล่อง ถือเป็นสิ่งจำเป็นมากในการทำธุรกิจที่ต้องมีพาร์ทเนอร์ที่ดี รวมถึงเกษตรกรในแม่ฮ่องสอนเองด้วยที่เป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีของเรามาตลอดเช่นกัน” วีรเวช หรือ คุณลุง กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข

บริษัท กุ๊บไต จำกัด

โทร. 0819875943

FB:Garliko

FB:กุงคุณลุง

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น