โมเดลธุรกิจรถบัสออนทัวร์ Bake by Feel ขายพิซซ่า ขนมปัง ตามฟีล ขับไปเรื่อยๆ แต่มีคนรอซื้อเพี้ยบ!

TEXT : Nitta Su.

PHOTO : Bake by Feel

Main Idea

  • Bake by Feel คือ ชื่อของร้านพิซซ่าและขนมปังขายอยู่บนรถมินิบัส กำลังฮอตในภาคอีสานขณะนี้ โดยตระเวนขายไปเรื่อยๆ ตามจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าแวะจอดที่ไหน ก็มีแต่ลูกค้าแย่งกันซื้อ เป็นโมเดลธุรกิจสุดแหวกไม่เหมือนใคร

 

  • โมเดลธุรกิจว่าเจ๋งแล้ว แนวคิดในการทำธุรกิจยิ่งเจ๋งกว่า เพราะมีความเชื่อในสัญชาตญาณ และการลงมือทำ มากกว่าทฤษฎีในตำรา หากทำเต็มที่แล้ว สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็จะเกิดขึ้นเอง

 

 

     มีคนกล่าวไว้อยู่บ่อยๆ ว่า ทฤษฎีในตำรา กับภาคปฏิบัติในชีวิตจริง มักจะไม่เหมือนกัน…

     จากแค่ความต้องการที่อยากหัดลองทำขนมปังเพิ่ม ใครจะคิดว่าอยู่ดีๆ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ เมย์-ผอบพร และ โอ๊ต-วิทวัส เจริญจิระภักดี สองสามีภรรยาเจ้าของร้านคาเฟ่เล็กๆ แห่งเมืองเขมราฐ จ.อุบลราชธานี ที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยการขายขนมปังออนไลน์ในช่วงโควิด-19 มาก่อน ได้ค้นพบเส้นทางการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่ไม่เหมือนใคร ใช่แล้วแหละ เรากำลังพูดถึง Bake by Feel รถบัสขายพิซซ่าและขนมปังแห่งแดนอีสาน ที่ไม่ว่าปักหมุดลงจอดป้ายไหน ก็มีแต่ลูกค้าเข้ามาต่อคิวซื้อไม่ขาด

ทำตามฟีล

     “จริงๆ เราแค่เริ่มต้นจากอยากทดลองทำขนมปังเพิ่มให้มากขึ้น เท่านั้นเลย ซึ่งถ้ายังขายอยู่ที่เดิม กลุ่มลูกค้าเดิม คนกินเท่าเดิม ไม่มีทางที่เราจะขายได้หมด” เมย์เกริ่นจุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่ทำให้คิดอยากขนอุปกรณ์ทำขนมปังและพิซซ่าขึ้นรถไปขาย

     ย้อนไปเมื่อ 4 ปีก่อนช่วงที่โควิด-19 กำลังเริ่มเข้ามาระบาดในเมืองไทย เมย์และโอ๊ตมีอาชีพเป็นนักวาดภาพฟรีแลนซ์ ทำงานเกี่ยวกับด้านศิลปะมาตลอด จนกระทั่งเจอกับวิกฤตโลกระบาดที่ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง ทำให้ขาดรายได้เป็นระยะเวลานาน ไม่มีงาน ไม่มีเงิน สิ่งเดียวที่คิดว่าน่าจะพอทดลองทำได้ ก็คือ ขนมปังที่ชอบกิน เพราะอย่างน้อยๆ ไม่รู้จะเริ่มจากอะไร ก็ลองเริ่มจากสิ่งที่ชอบไปก่อน

     “ตอนนั้นเราแทบจะไม่มีรายได้เข้ามาเลย บ้านก็เพิ่งผ่อน งานก็หยุดชะงัก แย่ถึงขนาดที่ว่าเคยคุยเล่นกับแฟนว่า ถ้าแย่แบบนี้ต่อไป ต้องมีใครคนใดคนหนึ่งเสียสละไปติดโควิดเพื่อเอาเงินประกัน จนคิดว่าปล่อยต่อไปแบบนี้ ไม่น่าไหว งั้นมาลองทำอะไรขายกัน ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี แต่เราเป็นคนชอบกินขนมปัง เลยลองหัดทำตามยูทูบ ลงทุนซื้อหม้อทอดไฟฟ้ามาหนึ่งใบ แล้วก็ทำเลย เริ่มจากไปโพสต์ขายในกลุ่มศิลปากร มาร์เก็ต ก่อน ขนมปังของเราเป็นขนมปังคลีนเพื่อสุขภาพ คนค่อนข้างให้ความสนใจ ลองขายมาเรื่อยๆ จนเริ่มซื้ออุปกรณ์เพิ่มได้ และก็เริ่มเปิดเป็นคาเฟ่เล็กๆ ขึ้นมา จากขนมปังก็เริ่มทำพิซซ่าขายด้วย

     “พอได้ลองทำมาเรื่อยๆ ก็ทำให้รู้ว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราชอบทำ และอยากทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่กว่าจะทำออกมาได้ ไม่ง่ายเลย ขนมปังเป็นหลักวิทยาศาสตร์ เต็มไปด้วยทฤษฎีมากมาย การทำตามสูตรเป๊ะๆ โดยไม่ดูอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น อากาศ อุณหภูมิ ไม่มีทางที่จะทำได้สำเร็จ ซึ่งเราก็เคยพังมาแล้ว ก็เลยคิดขึ้นมาว่า นอกจากใช้ทฤษฎีแล้ว เราต้องใช้ความรู้สึกด้วย เลยกลายเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ Bake by Feel เบเกอรีที่ทำจากความรู้สึก”

ไปตามฟีล…Bake On The Bus

     เมื่อเปลี่ยนจากอาร์ติสวาดรูป มาเป็นคนทำเบเกอรีโฮมเมด เมย์เริ่มรู้สึกสนุกและอยากจริงจังกับการทำขนมปังมากขึ้น พื้นที่ขายหน้าร้านอย่างเดียว จึงอาจไม่เพียงพอให้เธอได้ทดลองทำสิ่งที่ชอบ รถบัสวินเทจคันเก่งที่ซื้อมาเก็บสะสมไว้ จึงแปลงร่างกลายเป็นร้านเคลื่อนที่ จุดหมายแรกที่เมย์และโอ๊ตเริ่มออกทัวร์ทดลอง ก็คือ งานเทศกาลดนตรี จ.สกลนคร

     “ตอนนั้นลงทุนบิวอินกันเองเลย ถอดเบาะ ถอดน็อต ขนเตา อุปกรณ์ครัวขึ้นไปทำเลย ทริปแรกที่เราลองไป คือ เทศกาลดนตรีที่สกลนคร จริงๆ ตอนนั้นงานมีแค่ 2 วัน แต่เราคิดว่ากล่าวจะไปถึงสกลได้ ระยะทางค่อนข้างไกล และเราก็ไม่ได้อยากขายแค่นักท่องเที่ยวในงานเทศกาล แต่อยากขายปกติทั่วไปให้กับคนในพื้นที่ต่างๆ พองานจบเลยตัดสินใจกันว่าจะลองอยู่สกลกันต่ออีกสักหน่อย และก็ไปโพสต์ในกลุ่มสกลนครว่าเราเป็นรถขายบัสพิซซ่ากับขนมปังนะ ออนทัวร์มาจากอุบลฯ เราอยากหาพาร์ทเนอร์ให้ที่จอดและก็เสียบไฟ โดยเราจะช่วยใช้จ่าย ก็มีคนมาชวนและให้ความสนใจเยอะมาก พอไปลองจอดขายได้รับผลตอบรับดีมาก จากตั้งใจจะอยู่ต่อแค่ 2 วัน กลายเป็นออร์เดอร์ล้น ทำให้ต้องอยู่นานถึง 7 วัน แต่ตอนนั้นยังไม่มีการจัดการที่ดี ลูกค้ามาสั่งออร์เดอร์ เราก็จดๆ ไว้ จนลืมไปว่าของที่สต็อกไว้จะพอถึงออร์เดอร์สุดท้ายไหม ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงๆ ลูกค้ามารอตั้งแต่หกโมงเย็น จนถึงสี่ทุ่ม เรากลับไปมีของให้ รู้สึกผิดมาก แต่พอกลับไปรอบหลัง เขาก็ยังกลับมาสั่งอีก เลยรู้สึกปลดล็อกที่เขาให้อภัยเรา”

     จากการออกทัวร์ครั้งแรกที่ได้ผลลัพธ์ดีเกินคาด เมย์และโอ๊ตเริ่มหันมาวางแผนโมเดลธุรกิจใหม่ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยรูปแบบ คือ ในแต่ละทริปจะเลือกปักหมุดที่จังหวัดต้นทางไว้ก่อนอย่างน้อยหนึ่งจังหวัด จากนั้นจึงค่อยเดินทางต่อไปเรื่อยๆ ในจังหวัดใกล้เคียง โดยแต่ละครั้งหากเป็นจังหวัดใหม่ที่ยังไม่เคยไป จะมีการโพสต์ที่หน้าเพจร้าน หรือในกลุ่มของจังหวัดนั้นๆ เพื่อหาพาร์ทเนอร์ให้ที่จอด ขณะเดียวกันก็ประชาสัมพันธ์บอกลูกค้าให้รู้ล่วงหน้าด้วย โดยใช้เวลาจอดขายอยู่ในแต่ละจังหวัดประมาณ 6-7 วัน

     “แต่ก่อนช่วงแรกที่ยังไม่ได้เอาลูกไปด้วย เราจะไปออกทริป 15 วัน และ 15 วันอยู่บ้าน แต่ตอนนี้ลูกเริ่มโตขึ้น คนโต 4 ขวบ คนเล็ก 2 ขวบ เราพาเขาไปได้ด้วย ก็เลยเริ่มออกทัวร์ได้นานขึ้น 2-3 เดือนต่อทริป แล้วค่อยกลับบ้านที่อุบลฯ ครั้งหนึ่ง พาร์ทเนอร์ที่เราไปจอดด้วยมีตั้งแต่ร้านกาแฟ, หมูกระทะ, ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งพอเป็นพาร์ทเนอร์กันครั้งหนึ่งแล้ว ต่อไปก็เหมือนเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องกันไปเลย กลับมาครั้งหน้า เราก็กลับมาจอดที่เดิมอีก โดยแต่ละวันจะเริ่มเปิดขายตั้งแต่ 3 โมงเย็น ไปจนถึง 3 ทุ่ม เราจะให้ลูกค้าโทรหรือทักเข้ามาสั่งไว้ล่วงหน้าที่เพจ พอถึงเวลาก็ค่อยมารับ

     “ขนมปังแต่ละวันเราจะทำไว้ไม่เหมือนกัน แล้วแต่วัตุดิบ และความอยากทำในวันนั้นว่าอยากจะทำอะไรออกมาขาย อาทิ เพรทเซล, ซาวโดวจ์, เบเกิล ราคาเริ่มตั้งแต่ 65-300 บาท แล้วแต่ชนิด อย่างซาวโดวจ์ เป็นขนมปังธรรมชาติ ใช้เวลาทำนาน เฉพาะเลี้ยงยีสต์ก็ราว 14 วัน อบอีก 2 วัน ก็จะแพงหน่อย ถ้าเป็นพิซซ่าจะเริ่มต้นที่ถาดละ 189-399 บาท ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ โดยลูกค้าสามารถครีเอทหน้าและออฟชั่นได้เองเลยว่าอยากใส่อะไร เราจะทำตัวแป้งและซอสไว้ให้

     “ข้อดีของการทำธุรกิจรูปแบบนี้ ก็คือ พอเป็นลักษณะออนทัวร์ ลูกค้าไม่สามารถกินได้ทุกวัน พอเรากลับไปทีหนึ่ง เขาก็จะเฝ้ารอ และยินดีที่จะซื้อตลอดระยะเวลาที่เราอยู่ที่นั้น เพราะกว่าเราจะกลับไปอีกครั้งก็ต้องรอนาน  บางคนถึงกับซื้อแช่ช่องฟรีซตุนไว้เลย ก็มี อย่างพวกพิซซ่า เพราะเก็บไว้ได้ แต่สิ่งสำคัญจะทำให้เขารู้สึกแบบนั้นได้ ของราต้องมีคุณภาพ ต้องทำให้ดีก่อน เขาถึงจะเป็นลูกค้าครั้งต่อไป” คู่รักเจ้าของร้านรถบัสพิซซ่า และขนมปังออนทัวร์กล่าว

ได้ฟีล ได้ Friend

     จริงอยู่ เป้าหมายหลักของการทำธุรกิจ ก็คือ รายได้ แต่สำหรับเมย์และโอ๊ตแล้ว พวกเขารู้สึกว่าทุกวันนี้สิ่งที่ได้นั้นมากกว่านั้น นอกจากเงินที่มาจุนเจือครอบครัว พวกเขายังได้มิตรภาพดีๆ จากเพื่อนพาร์ทเนอร์และลูกค้าในแต่ละจังหวัดด้วย

     “จำได้เลยครั้งแรกๆ หลังกลับจากที่ไปสกลครั้งแรก และทริปต่อไปเราวางไว้ว่าอยากไปนครพนม แต่ที่นั่นเราไม่รู้จักใครเลย ไม่ได้เข้ากลุ่มของจังหวัดด้วย ก็เลยโพสต์ในเพจร้านบอกลูกค้าว่าให้ช่วยแชร์ต่อๆ กันไปด้วยนะว่าเรากำลังจะไปขาย หรือใครสนใจอยากมาร่วมแจมเป็นพาร์ทเนอร์ด้วย ก็แจ้งมาได้ ปรากฏว่ามีคนแชร์ต่อๆ กันไป 200 กว่าแชร์เลย หลายคนที่อยู่สกล ก็ช่วยบอกต่อเพื่อนๆ ที่อยู่นครพนมว่าให้ไปอุดหนุน เรารู้สึกดีมากๆ หรืออย่างพาร์ทเนอร์ในแต่ละจังหวัดก็เหมือนกัน การกลับไปแต่ละครั้งก็เหมือนเราได้ไปเยี่ยมญาติ เยี่ยมเพื่อน พอจบทริปก็ไปเที่ยวด้วยกันทีหนึ่ง ซึ่งวัตถุประสงค์ของเราจริงๆ ก็เป็นแบบนั้น เราไม่ได้อยากขายแล้วจบไป แต่อยากไปรู้จักคนที่นั่น อยากไปเป็นส่วนหนึ่ง อยากไปใช้ชีวิตอยู่

     “การทำธุรกิจรูปแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะได้อยู่ฝ่ายเดียว หลายร้านที่เราไปขอจอดด้วย ก็ได้ประโยชน์เช่นกัน บางร้านยอดขายเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าในช่วงที่เราไป เพราะเราขายแค่ขนมปัง และพิซซ่า ไม่ได้ขายเครื่องดื่ม เลยช่วยทำให้เขาขายดีไปด้วย เวลาเราไป เหมือนเป็นงานอีเวนต์พิเศษของร้านเขาไปเลย” เมย์กล่าว

เรื่องของฟิว (เจอร์)

     ปัจจุบัน รถบัส Bake by Feel ยังออนทัวร์วิ่งไปจอดขายอยู่ในเฉพาะโซนภาคอีสานเกือบทั้งหมด แต่เมย์เล่าว่าในอนาคตอันใกล้เธอวางแผนไว้ว่าอยากข้ามภาค และขยายไปยังที่อื่นให้มากขึ้น รวมไปถึงอาจเพิ่มจำนวนรถบัสขึ้นมาอีกคันหนึ่งด้วย

     “แต่ก่อนตอนที่ยังไม่ได้พาลูกมาด้วย เราจะขายอยู่เฉพาะในโซนภาคอีสาน ไม่ได้ไปไกลมาก เพราะต้องขับรถกันเองด้วย แต่ตอนนี้ที่เราพาเด็กๆ ไปด้วยกันได้ ทำให้เราอยากลองขยายโซนออกไปให้ไกลขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะอยากพาลูกเที่ยวด้วย เรามองว่าเป็นช่วงโอกาสที่ดีที่ตอนนี้จะได้เดินทางไปด้วยกัน เพราะพอโตขึ้นกว่านี้เขาก็จะไปทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจและชอบ แต่คงต้องวางแผนให้มากขึ้นกว่าเดิม ถ้าไกลขึ้น อาจต้องจ้างรถสไลด์ใส่ไป เพราะขับเองคงไม่ไหว

     “นอกจากข้ามภาค อนาคต ถ้ามีโอกาสเราอยากเพิ่มรถบัสขึ้นมาอีกคัน ทำแยกกันไปเลย คันหนึ่งทำขนมปัง คันหนึ่งทำพิซซ่า และก็หาคนมาทำเพิ่ม จะได้ไม่ต้องแย่งเตากัน แย่งพื้นที่กัน แต่จะได้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แค่คิดเอาไว้ เพราะทุกวันนี้มาได้ถึงตรงนี้ ก็เกินกว่าที่เราคิดไว้แล้ว เราไม่เคยคาดหวัง หรือวาดภาพธุรกิจมาก่อนว่าจะต้องออกมาเป็นแบบนี้ แค่ทำตามโอกาสที่เข้ามา และเริ่มจากสิ่งที่มีอยู่ ไม่เกินตัว และทำในสิ่งที่ทำได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็จะเกิดขึ้นเอง เราเชื่อแบบนี้กันมาตลอด เหมือนกับชื่อแบรนด์ “Bake by Feel” ที่ตอนแรกอาจหมายถึงแค่การทำขนมปัง แต่พอเวลาผ่านไป เรารู้สึกว่าคำนี้มันชัดเจนกับเรามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่คาดหวัง แค่ทำให้เต็มที่ก็พอ” เมย์และโอ๊ตฝากทิ้งท้ายเอาไว้

Bake by Feel

https://www.facebook.com/bakeonbus

โทร. 096 149 4945

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น