TEXT : Neung Cch.
PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์
“ถ้าบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดีแล้วเราหยุดตามเศรษฐกิจก็หมายความว่าเราถอยหลัง ดังนั้นในขณะที่หลายคนอาจหยุดแต่ผมกำลังจะออกโปรดักส์ใหม่ 3-4 ตัว”
นี่คือ แนวคิดของ หนุ่ม-ธนจักร เมืองจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยกซด 1988 จำกัด เจ้าของแบรนด์ “ยกซด” แจ่วฮ้อนกึ่งสำเร็จรูปที่เจ้าตัวตัดสินใจจะเดินหน้าสวนกระแสเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ด้วยการเปิดตัวสินค้าใหม่อีก 3-4-รายการ อาทิ ซอสผัดกะเพรา ซอสผัดกระเทียมพริกไทย ซอสผัดไทย
นอกจากเป็นหนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจแล้ว เส้นทางการทำธุรกิจ “ยกซด” ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่น่าสนใจให้ผู้ประกอบการ SME ได้เรียนรู้และลองนำไปปรับใช้ ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจที่ไม่มีความรู้ การเอาชนะอุปสรรค ไปจนถึงการต่อยอดธุรกิจที่มีทรัพยากรจำกัดให้เติบโต
รู้ข้อมูล...รู้ทางรวย!
หนุ่มมหาสารคาม เล่าให้ SME Thailand ฟังว่า ทุกครั้งก่อนที่จะเริ่มธุรกิจสิ่งแรกที่ตัวเขาทำคือ การใช้เวลาในการหาข้อมูลก่อนเสมอ อย่างเช่น ก่อนเปิดร้านอาหาร ไปใช้เวลาอยู่บริเวณที่จะเปิดร้านเป็นอาทิตย์ ตั้งแต่เช้ายันค่ำ เพื่อสังเกตดูพฤติกรรมกลุ่มคนที่อยู่แถวนั้น ว่าสอดคล้องกับสิ่งที่จะขายไหม มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หรือเดินแจกใบปลิวให้กับกลุ่มลูกค้าที่อยู่คอนโนมิเนียมกว่า 800 ห้องที่ติดกับร้านอาหารเขา เพื่อพยายามเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้ทำความรู้จักลูกค้าในเบื้องต้น เพราะยิ่งได้ข้อมูลลูกค้ามากเท่าไหร่ ก็จะทำให้มีข้อมูลประกอบการทำธุรกิจหลายๆ อย่าง อาทิ การตั้งราคาอาหารที่เหมาะสม
อย่ากลัวที่จะเรียนรู้
เพราะบางครั้งโอกาสก็ไม่มีให้เลือกมากนัก เหมือนกับตอนที่หนุ่มต้องมารับผิดชอบดูแลร้านอาหารทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้เรื่องอาหารเลยสักนิด แต่ด้วยความคิดที่ต้องการเอาชนะความท้าทาย ฉะนั้นถ้าจะทำให้ธุรกิจนี้รอดได้ สิ่งที่เขาไม่รู้คือ สิ่งที่เราต้องเข้าไปเรียรู้ อาทิ อาศัยป้าแม่ครัวเป็นคุณครูสอนวิชาทำอาหารให้ หรืออย่างตอนที่ตัดสินใจทำร้านแจ่วฮ้อน ก็เริ่มศึกษาหาความรู้ว่าแจ่วฮ้อน เรียนผิดเรียนถูก ทดลองทำ ฟังเสียงลูกค้าจนได้ผลเป็นที่พอใจ
ขายของให้ลูกค้า ไม่ใช่ขายของให้ตัวเอง
หลายครั้งที่คนทำธุรกิจมักพยายามที่จะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า เหมือนกับหนุ่มมหาสารคามคนนี้ ตอนที่เปิดร้านแจ่วฮ้อนช่วงแรกๆ เขาคิดว่าวัตถุดิบอย่างโบโหระพาที่ใส่ไปในน้ำซุปนั้นช่วยทำให้แจ่วฮ้อนมันหอม แต่จากการที่เขาสังเกตพบว่าทำไมน้ำซุปในหม้อถึงเหลือเยอะมาก ท้ายที่สุดจากการสังเกตและฟังเสียงลูกค้าจึงทราบต้นเหตุมจากใบโหระพา จึงตัดสินใจเอาวัตถุดิบนี้ออกจากน้ำซุป ปรากฏว่าทุกอย่างดีขึ้น จากตรงนี้ทำให้เขาเรียนรู้ว่า ต้องฟังเสียงลูกค้าเยอะๆ เพราะว่าเราไม่ได้ขายของให้ตัวเอง แต่เราขายของให้กับลูกค้า
ร่างกาย คือ ต้นทุนที่ต้องรักษา
จากการบุกเบิกร้านอาหารที่ใกล้เจ๊งให้กลับมาเกิดใหม่ ทำให้เขาใช้ร่างกายหนักมาก ต้องเดินทั้งวัน ทั้งเสิร์ฟอาหาร แจกใบปลิว จนกระทั่งวันหนึ่งที่ร่างกายส่งสัญญาณฟ้องเจ้าของร่าง ไม่สามารถเดินได้เพราะเจ็บขาจนต้องพักรักษาตัวเกือบสองปี เงินที่หาหมาได้จากการทำร้านอาหารหมดไปกับการรักษาตัว ซึ่งผ่านไปสองปีอาการยังไม่สู้ดีขึ้น
ด้วยเลือดนักสู้ทำให้เขาต้องฮึดสู้ลุกขึ้นยืนให้ได้ เพราะการนอนป่วยบนเตียงทำให้ขาเริ่มลีบ จึงกัดฟันใช้ไม้เท้าพยุงตัวเองขึ้นเดินแม้จะเจ็บแต่ก็พยายามที่จะใช้ร่างกายเพื่อไม่ให้ขาลีบ กอปรกับการหาสาเหตุอาการป่วยเจอจนทำให้ร่างกายค่อยๆ กลับมาดีขึ้น
จนกระทั่งกลับมาแข็งแรงและเริ่มไปทำร้านน้ำปั่นจนขายแฟรนไชส์เก็บเงินได้อีกครั้งไปเปิดร้านอาหารที่สีลม แต่ต้องแลกด้วยการตื่นแต่เช้าเพื่อใช้เวลาอยู่บนท้องถนน ทำให้คิดได้ว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ จึงตัดสินใจขายร้านทิ้งและไปลงหลักปักฐานที่ต่างจังหวัดคือ ฉะเชิงเทราเพื่อได้มีเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนมากขึ้น
อดทนรอคอย…กล้ายอมรับผลที่จะเกิดขึ้น
เมื่อมาเปิดร้านอาหารแจ่วฮ้อนที่ฉะเชิงเทรา เขามองว่าการจะทำให้น้ำจิ้มแจ่วฮ้อนเป็นที่รู้จักในวงกว้างได้รวดเร็วจะต้องสร้างโรงงาน จึงตัดสินใจขายร้านอาหารเพื่อจะสร้างโรงงาน แต่ทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่คิดเมื่อร้านอาหารกว่า 3 ไร่โดนโกงทำให้เขาหมดตัว
เมื่อสิ่งที่คิดไว้ไม่เป็นไปตามแผน เขาก็บอกว่าต้องยอมรับมันให้ได้ ควรตระหนักไว้เสมอว่าในระหว่างเส้นทางที่เดินไปมีอุปสรรคเยอะมากที่จะเข้ามาบั่นทอน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ต้องเชื่อมั่นในตัวโปรดักส์ เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ เส้นทางที่กำลังจะก้าวเดิน เพื่อจะไปต่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งมันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในเร็ววัน ต้องใช้เวลาเป็นปี สองปี หรือมากกว่านั้นก็ต้องยอมรับมันให้ได้
“ผมมองว่ามันเป็นเรื่องเรื่องธรรมชาติ จะต้องยอมรับ ต้องทำใจแล้วก็ยอมรับมันแล้วก็ อ๋อมันก็ต้องพอแล้วเรายอมรับมันแล้วเราก็ มามองตัวเราว่าเออถ้ามันเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เราพยายามล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาให้เร็วที่สุดดีกว่าดีกว่าที่จะไปโทษตัวเองหรือว่า ไปโทษคนอื่น น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว”