ชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ อดีตเจ้าของธุรกิจที่เคยสูญเงินกว่าร้อยล้าน ที่วันนี้กลับมานับ 1 ขายเสื้อแฟชั่นตัวละ 2 หมื่น

TEXT / PHOTO : Surangrak Su.

     สมมติคุณมีเงินอยู่ในบัญชีหลายร้อยล้านบาท มีบริษัทใหญ่โต มีพนักงานหลายร้อยคน แถมเปิด Shop ในห้างอีกหลายสิบแห่ง แต่แล้วจู่ๆ วันหนึ่งทุกอย่างกลับเป็น ศูนย์!!...เหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น คุณจะทำยังไง?

     “ประจักษ์ ตรองตรง” ชายวัยกลางคนคนนี้ คือ ผู้ที่จะมาให้คำตำอบได้ เพราะเขา คือ อดีตเจ้าของธุรกิจร้อยล้านที่ล้มละลายเพราะพิษโควิด สูญเงินกว่าร้อยล้าน พนักงานกว่า 200 คน ร้านสาขาในห้างกว่า 30-40 แห่ง จากธุรกิจแบรนด์เครื่องประดับ, ของตกแต่งบ้าน และสินค้างานปาร์ตี้ ที่วันนี้ลุกขึ้นยืนใหม่อีกครั้ง ด้วยแบรนด์เสื้อผ้า เครื่องประดับแฟชั่นสุดยูนีคไม่เหมือนใคร Pink Pvssy Vintage” ที่มีแค่แบบละ 1 ตัว เน้นทำน้อย แต่ได้มาก เริ่มต้นขายตัวละ 990 ไปจนถึง 20,000 กว่าบาท ที่ขายออกไปแล้วนับไม่ถ้วนในวันนี้

รุ่นแรกสวนลุมไนซ์บาร์ซ่า ก่อนออนไลน์แจ้งเกิด

     ก่อนจะไปฟังเรื่องราวประสบการณ์ของเขา ขอเกริ่นเล่าบูมหลังให้ฟังกันก่อน

     ประจักษ์เล่าว่า เขา คือ อดีตผู้ประกอบการธุรกิจคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ ธุรกิจเติบโตขึ้นมาได้จากสวนลุมไนซ์บาร์ซ่า ตลาดนัดกลางคืนแห่งแรกของไทย แหล่งช้อปปิ้งสุดฮอตของเหล่านักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อสมัยเกือบยี่สิบปีก่อน โดยเริ่มต้นจากร้านขายเสื้อเพนต์เล็กๆ ที่วันหนึ่งอยากหารายได้เพิ่มให้ธุรกิจ จึงไปเดินสำเพ็งเลือกซื้อเครื่องประดับมาจับคู่ขายกับเสื้อเพนต์ ด้วยความเป็นคนชอบช้อปปิ้งและมีเทสต์ดีในการเลือกซื้อสินค้า ทำให้จากของที่คิดจะทำเสริม กลายเป็นสินค้าขายดี ได้รับความนิยมจากลูกค้า จึงทำให้เริ่มเบนเข็มจากเสื้อเพนต์ มาขายเครื่องประดับมากขึ้น

     “ค่าเช่าเดือนละ 7,000 บาท แต่เราขายได้วันละ 15,000 บาท จะไม่รวยได้ยังไง”

     จากสำเพ็ง ก็เริ่มบุกป่าฟ่าดงบินไปหาแหล่งผลิตต้นตอที่เมืองจีนมาขาย จนธุรกิจเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ บวกกับความชำนาญที่มีมากขึ้น จากซื้อมาขายไป จึงเริ่มหันมาผลิตเอง แค่งานแฟร์แรก ก็ขายหมดเกลี้ยงทั้งร้านตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรก ลงทุนครึ่งแสน แต่ได้กลับมา 3-4 เท่า จนทำให้ชื่อของ “Pink Pvssy” เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากเมืองไทย ก็เริ่มออกงานแฟร์ต่างประเทศ เริ่มรับผลิต OEM ให้กับแบรนด์ดังหลายเจ้า จนตกผลึกหันมาลงทุนเปิด Shop สร้างแบรนด์อยู่บนห้างดังของเมืองไทยกว่าหลายสิบแห่ง อาทิ อัมรินทร์ พลาซ่า, เซ็นทรัลเวิล์ด

     จากธุรกิจเครื่องประดับ สินค้าแฟชั่น ก็เริ่มแตกไลน์ทำแบรนด์สินค้างานปาร์ตี้ เทศกาล (Viva Loco) สินค้าตกแต่งบ้าน (Cheap Cheap) มีช้อปทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ รวมๆ แล้วกว่า 40 สาขา มีพนักงานกว่า 200 คน มีเงินอยู่ในบัญชีหลายร้อยล้านบาท ก่อนที่ทุกอย่างจะหายวับไปกับตา…เมื่อเจอโควิด-19 ที่ทุกคนไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้เป็นปกติ ธุรกิจห้างร้านต่างๆ ต้องปิดตัวลงชั่วคราว

ไม่ต้องคิดเยอะ มีอะไร ก็งัดออกมาขาย

      “ตอนนั้นเฉพาะในเมืองไทย เรามีช้อปบนห้าง รวมทุกแบรนด์แล้วประมาณ 30 กว่าสาขาได้ แต่ละสาขาลงทุนประมาณ 10 ล้านบาทได้ ลองคิดดูว่าจะเป็นเงินเท่าไหร่ ไม่แปลกใจที่ทำไมผู้ประกอบการหลายคนที่ยืนอยู่ ณ จุดนี้ ถึงกล้าคิดสั้นกันเยอะ…เพราะเราเองก็เคยมีความรู้สึกแบบนั้น” ประจักษ์ เล่าถึงความรู้สึกในวันที่ต้องสูญเสียทุกอย่างให้ฟัง

     ซึ่งเขาเองก็ไม่ได้ต่างจากคนที่ธุรกิจล้มละลายอื่นๆ ชีวิตเหมือนอยู่ไปวันๆ ไม่อยากทำอะไร กินไม่ลง เอาแต่นอน นั่งซึมอยู่กับตัวเอง แต่สิ่งที่ทำให้ผ่านพ้นมาได้ ก็คือ คนรอบข้าง เพื่อนและครอบครัว ที่คอยให้กำลังใจ คอยถามไถ่ จนทำให้วันหนึ่งสามารถลุกขึ้นมาได้

     “ที่ผ่านมาได้ตอนนั้น เพราะครอบครัว แฟน และเพื่อนเลยนะ ใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะลุกกลับขึ้นมาเริ่มทำอะไรใหม่ เอาจริงๆ ตอนนี้ก็ยังรู้สึกอยู่ มันไม่ได้ง่าย มี 100 แต่จู่ๆ วันหนึ่งตกมา 0 แทบหมดตัวเลย แต่เพราะกำลังใจจากทุกคน คอยมาอยู่ด้วยตลอด คอยถามไถ่ เลยทำให้เราดีขึ้นได้ เอาจริงๆ ตอนพ่อแม่ผมก็เคยล้มละลายมาก่อนเหมือนกันในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เขาเป็นธุรกิจใหญ่กว่าผม สูญเงินไปเยอะกว่า แต่ก็ยังสามารถผ่านมาได้ เลยทำให้คิดได้ว่า สุดท้าย ก็แค่ต้องยอมรับความจริง เพราะถ้าไม่ยอมรับ เราก็แก้ไขอะไรไม่ได้เลย

     “สิ่งแรกที่ผมทำตอนนั้น คือ มีอะไรอยู่ในมือ พอทำอะไรได้บ้าง ลงมือทำหมดทุกอย่าง ยังไม่รู้จะทำอะไร ก็เอาของในบ้านที่เก็บสะสมไว้มาขาย เสื้อผ้า เครื่องประดับ อะไรพอเอามามิกซ์ แอนด์ แมตซ์ กันได้ ก็ลองทำดู ทำเหมือนวันแรกที่เราเริ่มต้นธุรกิจ นั่งขีดๆ เขียนๆ ออกแบบเสื้อผ้าเล่น อยากทำตอนไหนทำ อยากนอนตอนไหนนอน ปรากฏว่าลองทำออกมาขาย เริ่มมีลูกค้าสนใจซื้อ เริ่มขายดี ทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้น เริ่มเห็นแนวทางการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ไม่ต้องใหญ่ ทำไปเล็กๆ แต่มีมูลค่า จนเกิดเป็น “Pink Pvssy Vintage” ขึ้นมา เพิ่งเริ่มต้นมาได้ 2-3 ปี นี่เอง”

ทำน้อย ได้มาก บทเรียนชีวิตที่ได้จากวิกฤต

     หลังวิกฤตโควิด-19 นอกจากรอยแผลและความบอบช้ำที่ฝากไว้แล้ว อย่างที่ประจักษ์เล่าให้ฟังว่า เขาได้มุมมองแนวคิดในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่ไม่ต้องดิ้นรน และเหนื่อยมากเท่ากับเก่า จากการทำธุรกิจแมส เน้นราคาถูก เอาจำนวนเยอะเข้าว่า วันนี้เขามีพนักงานอยู่ในมือราว 10 กว่าคน จากเดิม 200 กว่าคน มีหน้าร้านอีก 5-6 ที่ ทั้งแบรนด์เดิมที่เหลืออยู่ และในแบรนด์เวอร์ใหม่ Pink Pvssy Vintage

     “การกลับมาของ Pink Pvssy Vintage แนวคิดเราเปลี่ยนไปจากเดิมมาก แต่ก่อนเราทำสินค้าแมสมาตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา คือ โครตเหนื่อย เน้นขายปริมาณเยอะๆ เปิดช้อปเยอะๆ เราอยากเป็น Zara อยากเป็น H & M เมืองไทย ก่อนโควิดมา แค่ 3 ปี เราขยายสาขาได้มากกว่า 40 แห่ง แต่วันนี้เราค้นพบว่า เราไม่จำเป็นต้องเหนื่อยแบบนั้นแล้ว ไม่ต้องขายตัดราคา ไม่ต้องทำปริมาณเยอะๆ และไม่จำเป็นต้องขายถูก Pink Pvssy Vintage เลยเป็นแฟชั่นแบบยูนีค เป็นเหมือนงานศิลปะ เหมือนการวาดรูปที่ค่อยๆ ใช้เวลาทำ ทำในสิ่งที่เราสนุก และมีความสุข พอเราอายุเยอะขึ้น ก็จะเริ่มเลือกมากขึ้น หันมาทำงานตามวิชั่นของตัวเอง ไม่ต้องอิงกับตลาดมาก”

     ประจักษ์เล่าว่าในงานแต่ละชิ้นของ Pink Pvssy Vintage จะเต็มไปด้วยไอเดีย และเทคนิคมากมาย ตั้งแต่การเพ้นท์ ปัก ปะ ตัดต่อ ฯลฯ บางตัวใช้เทคนิคเป็นสิบกว่าแบบ โดยใช้เซนส์ในการมิกซ์ แอนด์ แมตซ์ ให้ออกมาลงตัว จึงมีความยากและใช้เวลาในการทำค่อนข้างนาน นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นในการเลือกใช้วัตถุดิบจากเสื้อผ้ามือสอง ซึ่งมีความแปลก หายาก ไม่เหมือนเสื้อผ้ายุคใหม่ ที่สำคัญมีเรื่องของ Sustainable เข้ามาด้วย ทำให้แต่ละแบบ มีแค่อย่างละตัวเท่านั้น ถึงทำแพทเทิร์นคล้ายกัน แต่ก็ออกมาไม่เหมือนกัน