KICKIN' Thailand ธุรกิจก้านไม้หอมสุดลักชูฯ เริ่มต้นโดยเด็กมัธยมที่ปันกำไร 50% ช่วยเหลือสังคม

TEXT : Yuwadi.s

PHOTO: สุนันท์ ล้อสมทรัพย์


     เพราะอายุไม่ใช่สิ่งที่จะบ่งบอกว่าคุณควรเริ่มต้นธุรกิจตอนไหน แม้แต่ผู้พันแซนเดอร์สยังประสบความสำเร็จได้ในวัย 60 ปี แล้วทำไมเด็กอายุ 13 ปีจะลุกขึ้นมาทำธุรกิจไม่ได้! นี่คือเส้นทางธุรกิจของ  กิ๊ก-อมรรัตน์ พรหมพิชิต ที่เธอเริ่มต้นทำธุรกิจครั้งแรกในวัย 13 ปีกับธุรกิจพรีออเดอร์สินค้าจากเกาหลี จากนั้นใช้เงินเก็บต่อยอดสู่การเล่นหุ้นจนถึงการปั้นแบรนด์เครื่องหอมสุดลักชูรี่ “KICKIN' Thailand” ตอนที่เธออายุ 17 ปี แถมยังมีลูกค้าให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญเบื้องหลังของแบรนด์ยังเป็นธุรกิจกึ่งเพื่อสังคม โดยเธอปันผลกำไรกว่า 50% ในการบริจาคด้วย

เมื่อเด็กมัธยมอยากทำธุรกิจ

     กิ๊กเล่าให้ฟังว่าตอนที่เธอยังเด็ก เธออยู่ในครอบครัวคนจีนและคลุกคลีกับการทำธุรกิจมาตั้งแต่วัยประถม ทำให้เธอในวัย 13 ปีอยากลองทำธุรกิจของตัวเอง

     “ตอนเด็กๆ ที่บ้านชอบให้ช่วยงานตั้งแต่ประถม ครอบครัวกิ๊กเป็นครอบครัวคนจีน กลับมาบ้านหลังเลิกเรียนเราก็ช่วยที่บ้านขายของ คุยกับลูกค้า เราคุ้นชินกับสิ่งนี้ จนเราเข้าม.1 ไปเรียนต่างจังหวัดแล้วอยู่หอ เราไม่ได้มีการเลิกเรียนมาช่วยที่บ้านอีก รู้สึกชีวิตแปลกๆ แล้วเรามีความฝัน อยากทำธุรกิจ ให้ชีวิตมีอิสรภาพเพื่อจะได้ไปช่วยเหลือสังคม เราเลยคิดว่าถ้าเราไม่เริ่มทำธุรกิจตั้งแต่เด็กๆ พอยิ่งโตไปเวลาในการช่วยเหลือสังคมมันยิ่งน้อยไปอีก ไม่สำคัญว่าอายุเท่าไหร่ ถ้าเราอยากทำก็เริ่มได้เลย ทีนี้ตอนเราอายุ 13 ปี เราเริ่มทำธุรกิจพรีออเดอร์ของจากเกาหลีมาขายที่ไทย เรามีฐานลูกค้าเยอะมากในตอนนั้น ก็มีเงินเก็บประมาณหนึ่ง จนเราจะเข้าม.4 ไม่ได้ทำต่อ เราก็เอาเงินเทรดหุ้น จนมีเงินมาอีกก้อนหนึ่ง แล้วเราก็พบว่าเราอยากทำแบรนด์พวกเครื่องหอม เพราะเราเป็นคนชอบพวกน้ำหอม เครื่องหอมมากๆ มันช่วยเรื่องอารมณ์ สุขภาพจิต”

     โดยเธอมองเห็น Pain point จากเครื่องหอมที่เธอเคยใช้มา ทำให้เธอหยิบเอาจุดเหล่านี้มาสร้างเป็นแบรนด์ของเธอและใส่ความชอบลงไป ทั้งคุณภาพของสินค้ารวมไปถึงการดีไซน์แพ็คเกจจิ้ง

     “เราเคยไปซื้อก้านไม้หอม แล้ววางไว้ในห้อง หวังว่ามันจะหอมเหมือนเวลาเราไปเดินตามห้าง ปรากฎว่าวันหนึ่งผ่านไป ไม่ได้กลิ่นเลย ไม่มีความหอมเลย งั้นไม่เป็นไร แบรนด์นี้อาจจะพลาด ก็ลองอีก มันก็ไม่ได้หอมนานอีก แพ็คเกจจิ้งก็ไม่สวย เราเลยเจอปัญหาว่ามันหอมไม่นาน แพ็คเกจจิ้งไม่สวย เราเลยลองหาโรงงานแล้วไปได้โรงงานที่ใหญ่ติดท็อป3ของประเทศ เราเลยเลือกทำกับที่นี่ เน้นเรื่องคุณภาพ มีการเทสสูตรเป็นร้อยกว่าจะได้ทำ ใช้เวลาในการเทสสูตรประมาณ 2 ปี เริ่มคิดตอนม.4 แต่ได้ขายตอนม.6”

     สำหรับจุดเด่นของแบรนด์ KICKIN' อยู่ที่กลิ่นหอม เป็นกลิ่นที่ทางแบรนด์คิดค้นเอง ได้ออกมาเป็นกลิ่นเรื่องราวของป่าใน 4 ช่วงเวลาแตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับแพ็คเกจจิ้งที่ดึงเอานักวาดมาดีไซน์ให้กลายเป็นแพ็คเกจจิ้งที่สวยงาม สามารถตกแต่งบ้านได้ด้วย

    “เราอยากให้มันหอมจริงๆ และส่วนตัวเราชอบเข้าป่า เรารู้สึกว่าเวลาที่เราเข้าป่ามันสันโดษ ได้อยู่คนเดียวแล้วเวลาออกมามันมีเอเนอจี้ มีชีวิตชีวา และคำว่าชีวิตชีวานี่แหละคือ KICKIN' เราอยากให้คนที่ใช้มีชีวิตชีวา ที่นี้เราก็ได้คอนเซปต์ว่าป่ามี 4 ช่วงเวลา ป่ายามเช้าจะมีความเฟรช สดชื่น ป่าช่วงสายจะแนวฟรุตตี้ มีความหวานสดใส ป่าช่วงเย็นจะรีแลกซ์ ผ่อนคลาย ป่ายามค่ำคืนจะมีความลึกลับน่าค้นหา แล้วตัวเราเป็นคนชอบอาร์ตด้วย เราเลยเอามาผสมผสาน เราชอบนักวาดคนหนึ่งที่เขาวาดปกให้แฮรี่พอตเตอร์ด้วย เราเลยพยายามดึงตัวเขามาวาดรูปแพ็คเกจจิ้งให้เรา เล่าเรื่องธรรมชาติ เราอยากทำให้แบรนด์เราตกแต่งบ้านได้ด้วย เป็นของที่วางในบ้านแล้วมันสวย เราเลยเอาดอกไม้มาใส่ในก้านไม้หอมด้วย ส่วนแพ็คเกจจิ้งก็จะต่างกันในแต่ละกลิ่นให้ตรงตามคอนเซปต์”

เน้นการรักษาลูกค้าเก่าด้วย Customer Loyalty

     กลยุทธ์การทำการตลาดของแบรนด์ เธอให้คนที่มีประสบการณ์มาช่วยปั้นแบรนด์ในช่วงเริ่มต้นด้วยการจ้างเอเจนซี่ที่มีประสบการณ์

     “จริงๆ แล้วกิ๊กเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ศึกษาเรื่องการทำการตลาด เพราะเราสนใจด้านนี้ แต่เรามองว่าการที่เราจะเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เวลาที่เราจะมาล้มลุกคลุกคลาน ค่อยๆ เรียนรู้ แต่เราต้องหาคนที่มีประสบการณ์มาช่วย เราหาเอเจนซี่มา 20 เจ้า กางมาเลย แต่ละเจ้าผลงานเป็นยังไง สไตล์การทำงานเป็นยังไง ปรากฎว่าใน 20 เจ้า เราเจอแค่ 1 เจ้าที่เราชอบมาก เขาอยู่ในตลาดดิจิทัลเอเจนซี่ตั้งแต่สมัยที่คนยังไม่ค่อยทำกัน เขาก็ช่วยเราวางแผน ทำแคมเปญ ยิงโฆษณา จนมาช่วงหลังเราก็เริ่มทำเอง”

     หลังจากที่แบรนด์เริ่มอยู่ตัว กิ๊กได้ลองดูข้อมูลก็พบว่าลูกค้าของแบรนด์ 80% คือลูกค้าเก่า ทำให้เธอเน้นการทำกลยุทธ์ที่ช่วยรักษาฐานลูกค้า ทำให้ลูกค้าประทับใจอย่างต่อเนื่อง

     “เราค้นพบว่าลูกค้าเรา 80% คือลูกค้าเก่า งั้นเรารู้สึกว่าการยิงแอดไม่ได้จำเป็น เราเลยเปลี่ยนสไตล์เป็นยิงแอดน้อยลงและโพสต์สร้างเอนเกจมากขึ้น เรารักษาลูกค้าที่มี Loyalty เราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มาก แอดมินจะต้องเขียนโน้ตว่าลูกค้าแต่ละคนชื่ออะไร ถ้าลูกค้าทักมาต้องจำชื่อลูกค้าได้ ต้องทักลูกค้าเป็นยังไงบ้างคะ รับแบบเดิมไหมคะ ส่งที่อยู่เดิมไหมคะ ทำให้ความสัมพันธ์กับลูกค้าค่อนข้างดี พอเป็นแบบนี้เราไม่ต้องลงกับการตลาดเยอะเลย”

     อีกหนึ่งเรื่องสำคัญของแบรนด์คือการที่แบรนด์ทำธุรกิจกึ่งเพื่อสังคม โดยมีการแบ่งกำไรกว่า 50% เพื่อบริจาคและช่วยเหลือสังคม

     “แบรนด์เราเหมือนเป็นกึ่งๆ Social Enterprise เราเอาไปบริจาคแต่เราไม่ได้ประกาศบอกสื่อหรืออะไร เรารู้สึกว่าในเมื่อสิ่งที่เราทำมันดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศ เรารู้อยู่แล้วว่ามันดี เราอยากทำอะไรที่ให้คุณค่าและพัฒนาสังคมนั่นคือเป้าหมายของเรา”

     โดยเธอได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญว่าการทำธุรกิจ สินค้าต้องดีมีคุณภาพ อย่าคิดว่าจะทำธุรกิจเพราะว่าจะรวยเพียงเท่านั้น จะทำให้ธุรกิจที่ทำไม่ยั่งยืน

     “สินค้าต้องดี ถ้าสินค้าไม่ดี อย่าส่งต่อให้ผู้บริโภคเพราะเขาจะซื้อเราแค่ครั้งเดียว แล้วการทำธุรกิจอย่าคิดว่าทำเพราะรวย คนที่คิดทำเพราะรวย มันไม่มีทางรวย คนที่ให้คุณค่ากับตลาดหรือให้คุณค่ากับลูกค้าต่างหากที่ทำแล้วจะไปรอด การทำธุรกิจต้องทำแบบยั่งยืน อย่าหวังอะไรทางลัดหรือขายอะไรที่ไม่ดี ตั้งใจผลิตสินค้าออกมาให้ดี ทำการตลาดให้ดี เพราะการตลาดคือตัวที่พูดแทนเราว่าสินค้าเราดียังไง”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

House of Gems BKK จากพนักงานโรงแรมสู่คุณแม่ฟูลไทม์ที่ปั้นแบรนด์เครื่องประดับจากน้ำนมแม่

เพราะตัดสินใจออกมาจากงานโรงแรมเพื่อเลี้ยงลูก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ House of Gems BKK ที่บิ้ว-กัลยา อภิชัยกุล ใช้น้ำนมแม่มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นเครื่องประดับจากน้ำนมที่ทั้งสวยและทัชใจคุณแม่หลายคน เป็นธุรกิจใหม่ของคุณแม่ฟูลไทม์

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว