PHOTO : Hole of Babin
จากเด็กต่างจังหวัด ชีวิตผูกพันกับท้องทุ่ง บทเพลงพื้นบ้าน สิ่งเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นตัวตนของแบรนด์ ‘Hole of Babin’ กระเป๋ารีไซเคิลจากขวดน้ำพลาสติกผลงานสร้างตัวของ เมญ่า-ศุภกฤต พลเสน นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ด้านแฟชั่นดีไซน์ อายุ 19 ปี ที่เริ่มต้นธุรกิจขึ้นมาด้วยความบังเอิญ จากงานโปรเจกต์ส่งครูที่นำไปเผยแพร่เล่นๆ บน TikTok อยู่ดีๆ ก็มีคนเข้ามาดูเกือบครึ่งล้าน กลายเป็นที่มาตัดสินใจสร้างแบรนด์ขึ้นมา
เสกขยะจากขวดน้ำให้กลายเป็นกระเป๋าสุดชิค
เมญ่า วัยรุ่นมากฝันเล่าจุดเริ่มต้นของแบรนด์ให้ฟังว่า ตอนนั้นเธอเรียนแฟชั่นดีไซน์อยู่ ปวช.ปี 3 ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุพรรณบุรี ต้องทำงานโปรเจกต์จบจึงทดลองนำเอาขวดน้ำพลาสติก ซึ่งที่บ้านทำธุรกิจรับซื้อของเก่าอยู่แล้ว จึงมีวัตถุดิบค่อนข้างเยอะ มาทดลองทำเป็นกระเป๋ารีไซเคิลส่งอาจารย์
“จริงๆ ที่มาของแบรนด์ เริ่มต้นมาจากเป็นงานโปรเจกต์จบที่ต้องทำส่งอาจารย์ พอทำเสร็จตอนนั้น เราก็แค่อยากลองเอามาโพสต์โชว์เล่นๆ บนช่องติ๊กต๊อกของตัวเอง ไม่ได้คิดจะทำขาย หรือทำแบรนด์อะไรเลย แต่ปรากฏว่ามีคนสนใจเข้ามาดูเยอะม๊ากกก เราโพสต์ลงกลางคืนก่อนนอน ตื่นเช้ามาคนเข้ามาดูเกือบครึ่งล้านเลย ก็ตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น มีคนทักมาขอซื้อเยอะมาก ก็เลยคุยกับที่บ้าน คุยกับเพื่อนว่าเอายังไงดี ทำขายดีไหม เพราะขั้นตอนค่อนข้างจะยาก และใช้เวลาทำนาน แต่ทุกคนมองว่าเป็นโอกาส ก็เลยเป็นจุดเปลี่ยน ไม่กี่วันต่อมาก็ตัดสินใจเปิดแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาเลย” เมญ่าเล่ายังจำบรรยากาศในวันนั้นได้ดี
ซึ่งแค่เปิดพรีออร์เดอร์ครั้งแรก ยอดจองก็ทะลักเข้ามาถล่มทลาย “45 ใบ” คือ ออร์เดอร์แรกในชีวิต ซึ่งปกติกระเป๋าใบหนึ่งต้องใช้เวลาทำเกือบ 2 อาทิตย์ ในตอนที่ต้องทำส่งอาจารย์ แต่พอต้องมาทำขายจริง ด้วยไฟกำลังแรงเลยทำให้ทำได้สูงสุดถึง 5 ใบต่อวัน โดยมีคุณแม่เข้ามาช่วยเป็นกำลังหนุนสำคัญอีกแรง
เมญ่า อธิบายขั้นตอนการทำกระเป๋า Hole of Babin ที่มีเอกลักษณ์เป็นแผ่นพลาสติกกลมๆ ตามชื่อแบรนด์ hole ที่แปลว่า รู, ทรงกลม ว่าเริ่มต้นจากนำขวดพลาสติกที่ทำความสะอาดแล้วมาตัดให้เป็นแผ่นกลมๆ จากนั้นนำมาพ่นสี โดยมีเคล็ดลับทำให้แผ่นพลาสติกแข็งแรงขึ้น คือ นำมาล่นไฟ จะทำให้พลาสติกหดตัวและแข็งขึ้น เสร็จแล้วจึงนำเจาะรูและนำมาร้อยห่วงโดยกระเป๋า 1 ใบ จะใช้ขวดน้ำพลาสติกประมาณ 5-6 ขวด เท่ากับว่าถ้ายิ่งผลิตกระเป๋าได้มากเท่าไหร่ ก็จะช่วยลดขยะขวดพลาสติกให้ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น แถมยังสร้างมูลค่าได้แบบทวีคูณ จากขยะขวดน้ำพลาสติกกิโลกรัมละไม่กี่บาท สู่กระเป๋ามูลค่าหลักพันกว่าบาทต่อใบได้