Photo: แสงทองเฮอริเทจ
เพราะไม่อยากให้มรดกทางธุรกิจที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าต้องสูญหายไป กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่สาม จึงตัดสินใจกลับมาสู่บ้านเกิดจังหวัด นครพนม ด้วยความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณอันงดงามให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
แม้จะมีโจทย์หินมากมายทั้งความท้าทายในการรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมและการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับความไม่เห็นด้วยจากคนในครอบครัว แต่ด้วยความมุ่งมั่นและความรักที่มีต่อธุรกิจของครอบครัว พร้อมสร้างตำนานบทใหม่ให้คนที่มานครพนมจะต้องแวะมาพักที่โรงแรมของเธอ กรรณิการ์พร้อมที่จะพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเธอสามารถสร้างปาฏิหาริย์ได้
ก่อนจะเหลือแค่ชื่อ
แม้อาชีพวิศวกรจะทำให้ กรรณิการ์ สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แต่ภาพความทรงจำของ โรงแรมแสงทอง (ชื่อเก่า) สถานที่ที่เป็นทั้งบ้านที่เธออาศัยเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความอบอุ่นของครอบครัว และยังเป็นแหล่งรายได้ที่เลี้ยงดูครอบครัวมาหลายชั่วอายุคน
เมื่อเวลาผ่านไปทุกคนเริ่มเติบโต ทั้งตัวกรรณิการ์และพี่น้องต่างแยกย้ายไปทำงานต่างจังหวัด จึงขาดคนมาบริหารดูแลทำให้โรงแรมหยุดให้บริการไปโดยอัตโนมัติร่วม 10 ปี ทุกครั้งที่มีโอกาสได้กลับมาที่นครพนมทำให้กรรณิการ์รู้สึกเสียดายถึงความคลาสสิกของโรงแรม ประมาณช่วงโควิดปีสุดท้ายเธอจึงตัดสินใจที่จะสานต่อธุรกิจโรงแรมของครอบครัวพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรมแสงทองเฮอริเทจ
“เราทำงานที่กรุงเทพฯ ปีหนึ่งจะได้กลับบ้านแค่สองครั้ง มีความรู้สึกว่าอยากกลับมาอยู่บ้านด้วย แล้วก็อยากอนุรักษ์ ของเดิมไว้”
งานช้างที่ต้องฝ่าด่านอรหันต์
ในฐานะผู้นำในการปรับปรุงโรงแรมแห่งนี้ กรรณิการ์บอกว่าเธอพยายามทำทุกอย่างด้วยความรอบคอบ เริ่มตั้งแต่การว่าจ้างสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญ ให้ทำพรีเซ็นต์รูปแบบรวมถึงการจัดทำงบประมาณให้ชัดเจน เพื่อนำทุกอย่างมานำเสนอให้สมาชิกทุกคนได้รับทราบเห็นแผนงานต่างๆ และร่วมกันตัดสินใจให้เห็นเป็นภาพเดียวกันว่าถ้าจะทำต่อหรือไม่ทำ
“ตอนเริ่มปรับปรุงในครอบครัวก็มีคัดค้านบ้าง เพราะบางคนกังวลว่าตอนซ่อมแซมต้องมีการย้ายของในโรงแรมซึ่งมีจำนวนมากมาไว้ในที่โล่งแจ้งอาจทำให้ของหายได้ เราก็พยายามทำทุกอย่างเป็นขั้นตอน ให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวได้รับทราบ”
เปลี่ยนความเก่าให้เป็นความเก๋า
เมื่อทุกคนในครอบครัวเห็นพ้องต้องกันว่าจะรีโนเวทโรงแรมใหม่ กรรณิการ์จึงเดินหน้าต่อทันที โดยที่จะคงเอกลักษณ์ความคลาสสิกสถานที่เก่าไว้ แม้จะมีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญให้ทุบทิ้งและสร้างใหม่ แต่เธอเลือกที่จะปรับปรุงอาคารเดิมให้สวยงามและทันสมัยมากขึ้น โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ของโรงแรมไว้ในลักษณะ "คลาสสิกวินเทจ" ซึ่งผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโคโลเนียลในบางส่วน และในบางห้องยังคงใช้วัสดุเดิมจากยุคสมัยก่อน เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสกับความเก่าแก่ที่ยังคงมีกลิ่นอายความทรงจำของประวัติศาสตร์ไปพร้อมกับความสะดวกสบายในยุคปัจจุบัน
"ตัวเรามองว่าตัวอาคารเองมีเอกลักษณ์อยู่แล้ว รู้สึกว่ามันเสียดายมรดกทางวัฒนธรรมที่เรามีอยู่ เราจึงตัดสินใจปรับปรุงอาคารเดิมให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยรักษาเอกลักษณ์เดิมเอาไว้ให้มากที่สุด อยากให้ลูกค้าที่มาพักรู้สึกเหมือนมาเยี่ยมบ้านญาติ" กรณิการ์กล่าว