พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

Text: Neung Cch.

Photo: อภิบาลบ่อพลับ


     เป้าหมายของการทำธุรกิจของหลายๆ คนอาจเป็นเรื่องรายได้

     แต่สำหรับบางคนเป้าหมายของการทำธุรกิจอาจมีมากกว่านั้น

     ดังเช่น ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล Co-founder บริษัท ขุน อภิบาล จำกัด ที่มีเป้าหมายของการสร้างแบรนด์ อภิบาลบ่อพลับ เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ ที่อยากให้ธุรกิจนี้เป็นจุดศูนย์รวมญาติพี่น้องของครอบครัวที่ได้มาจอยกันจากที่เคยแยกย้ายไป และทำให้ธุรกิจแห่งนี้ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นอย่างจังหวัดสงขลา ก่อนที่จะไปสู่เป้าหมายใหญ่คือพาแบรนด์นี้ไปในเวทีระดับโลก ภายใต้ความร่วมแรงร่วมใจของญาติพี่น้อง 5 ครอบครัว ภารกิจนี้จะยากง่ายเพียงใดไปติดตามพร้อมๆ กัน

ฟื้นตำรายา 150 ปี สู่การอภิบาล ปกป้อง รักษา

     จากที่ได้ชื่อพระราชทานว่าขุนอภิบาลบ่อพลับ ซึ่งมีหน้าที่ช่วยรักษาคน จึงไม่แปลกที่ทวดของต๊อกจะมีตำรายา แต่ที่น่าอัศจรรย์คือตำรากว่า 150 ปีที่เก็บรักษาไว้อย่างดี จู่ๆ ก็ถูกค้นพบอีกครั้งโดยบังเอิญเมื่อพวกเขาทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ในช่วงโควิด

     ซึ่งการค้นพบตำรานี้เหมือนจุดประกายความคิดว่า เรื่องราวของ 'อภิบาลบ่อพลับ' ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพของคนในพื้นที่สงขลา แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำ หลายคนแม้แต่คนในพื้นที่สงขลาก็ยังไม่รู้จัก คำถามเหล่านี้ผลักดันให้พวกเขาอยากสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมนี้ต่อไป

     “การแพทย์สมัยใหม่มันดีแหละ แต่การแพทย์สมัยเก่าก็ไม่ได้แย่เสมอไป สมัยนี้คนมองหา Alternative medicine หรือว่า wellness ในชีวิตประจำวันที่ไม่ต้องเป็น medical ก็ได้ เราก็เลยรู้สึกว่าเราอยากลองพาคนข้ามกาลเวลาไปรู้จักสมุนไพรไทยจริงๆ โดยที่ราคาไม่ต้องสูงเวอร์ เป็นราคาที่เหมาะสม รวมทั้งเราไม่ได้มองแค่ประเทศไทยเท่านั้น เราอยากส่งต่อภูมิปัญญานี้ไปให้คนทั้งโลกได้รับรู้” ปานชาติ กล่าว

จากตำราสู่ผลิตภัณฑ์ ยาดม สูตรเทพประสิทธิ์

     แม้จะมีขุมทรัพย์ล้ำค่าอย่างตำราอยู่ในมือ แต่การเปลี่ยนตำราโบราณให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับยุคสมัยที่ทุกคนสามารถใช้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ประการแรกคือ สมุนไพรบางชนิดที่เคยใช้กันในอดีต บางอย่างก็หายากหรืออาจจะผิดกฎหมายไปแล้ว ประการที่สองสูตรยาสมัยก่อนนั้นถูกบันทึกไว้ในรูปแบบกลอนหรือร้อยแก้วเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ ดังนั้นต้องการอาศัยการตีความที่เข้าใจภาษาอย่างถ่องแท้แล้ว การนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จริงต้องอาศัยความรู้ด้านอื่นๆ อาท ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาร่วมด้วย เป็นต้น

     "ทำไมเราถึงเลือกยาดมเป็นผลิตภัณฑ์แรก? เพราะยาดมเป็นสิ่งที่คนคุ้นเคยและใช้งานง่าย นอกจากนี้ สูตรเทพประสิทธิ์ยังมีส่วนผสมที่ช่วยให้รู้สึกสดชื่นและผ่อนคลาย ซึ่งสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันที่ต้องการดูแลสุขภาพมากขึ้น สูตรเทพประสิทธิ์ไม่ใช่แค่ยาดมธรรมดา แต่เป็นการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาไทยกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เราใส่ใจในทุกขั้นตอนของการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" ปีรัชด์ อธิบาย

สูตรลับแห่งความผ่อนคลาย

     ถ้าพูดถึงยาดมในเมืองไทยนั้นมีมากมายหลายแบรนด์ ส่วนใหญ่จะขายกันในราคาเริ่มต้นประมาณ 30 บาท ซึ่งต่างจากของออภิบาลบ่อพลับที่เริ่มต้น 95 บาท ทำให้มีหลายคนที่อาจสงสัยว่าทำไมยาดมจากสงขลานี้มีราคาสูงกว่าแบรนด์ทั่วไป ซึ่งในประเด็นนี้ ปีรัชด์ ให้คำตอบว่าเป็นเพราะ แบรนด์อภิบาลบ่อพลับใส่ใจในทุกรายละเอียด ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบอย่างพิถีพิถัน ไปจนถึงกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เมื่อเปิดตลับยาดม คุณจะได้สัมผัสกลิ่นหอมสดชื่นของส้ม แทนที่จะเป็นกลิ่นสมุนไพรทั่วไป นั่นเป็นเพราะเราใช้ 'น้ำมันหอมระเหยเกรดสปา' ที่มีความบริสุทธิ์สูงกว่าทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายและมีคุณค่ามากขึ้น

     "เรายอมลงทุนที่จะใช้วัตถุดิบที่ดี เป็นแผนระยะยาวในอนาคตตั้งใจให้แบรนด์อภิบาลไม่ได้ดูแลในเรื่อง product อย่างเดียว ตั้งใจให้มันอยูในรูปแบบของ service ด้วย service ก็อาจมีเรื่องของร้านนวดในก้าวต่อไป"

(จากซ้าย) ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล Co-founder บริษัท ขุน อภิบาล จำกัด

พลิกตำราโบราณสู่แบรนด์ดังในชั่วข้ามคืน

     สำหรับในแง่การตลาดนั้นทายาทอภิบาลบ่อพลับบอกว่ามีเน้นทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งในวันเปิดร้านได้รับความสนใจจากสื่อชั้นนำอย่าง ททท., บางกอกโพสต์ และมติชนออนไลน์

     “วันงานก็มีหลายคนที่มาถามว่าขุนอภิบาลบ่อพลับคืออะไร ผมก็ได้เล่าเรื่องแล้วมีคนพูดตามว่าขุนอภิบาลบ่อพลับคืออะไร แค่นั้นรู้สึกว่าเราสำเร็จใน step แรกที่เราพาคนให้มารู้จักกับ ขุนอภิบาลบ่อพลับได้ หลังจากนั้นมียอดสั่งซื้อจาก ททท 500 กว่ากระปุก แม้ไม่ใช่จำนวนเยอะแต่เรารู้สึกได้ฟีดแบบจากที่เป็น public จริงๆ รวมทั้งมีคนที่ทำงาน product design ที่เห็นยาดมเราแล้วอยากมาทำงานร่วมกับเรา”

     นอกจากนี้ปีรัชด์ ยังบอกว่าอีกหนึ่งความภูมิใจสำหรับเขาคือ มีน้องที่เรียนจบจากจุฬาฯ และมาขอร่วมงานกับเขาโดยที่เขาเชื่อว่าแบรนด์นี้จะทำให้เขาได้ใช้ความสามารถช่วยกันพัฒนาให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นดีขึ้น

     "ความภูมิใจของเราคือการที่แบรนด์สามารถดูแลตัวเองได้ตั้งแต่เริ่มต้น และยังดึงดูดคนเก่งๆ กลับมาพัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน”

จิ๊กซอร์ชีวิต ถนน 5 เลนสู่หนึ่งความสำเร็จทางธุรกิจ

     อย่างไรก็ดีอภิบาลบ่อพลับคือการรวมตัวกันของ 5 ครอบครัวเพื่อร่วมกันสานต่อธุรกิจ ในแง่หนึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบคือ รวมคนเก่งในทุกแขนงทุกศาสตร์มาช่วยกันทำธุรกิจ แต่ในอีกแง่หนี่งก็มีความท้าทายทั้งในเรื่องเจนเนอเรชั่นที่แต่ละคนมีมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน การทำงานร่วมกันจึงเป็นเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ การพูดคุยกันในครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะเมื่อต้องตัดสินใจทางธุรกิจร่วมกันเป็นเหมือนอุปสรรคให้ต้องผ่านไปให้ได้

     สำหรับปัญหาเรื่องนี้ปานชาติ บอกว่าวิธีการจัดการของเขาคือ "เรารู้ว่าทุกคนต้องการสร้างอะไรสักอย่างเพื่อให้เป็น legacy ของครอบครัว ทุกอย่างที่ทุกคนคิดมาต่างหวังดีอยู่แล้วแหละ ดังนั้นสำหรับเราคิดว่าสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นธุรกิจครอบครัวคือ ใช้การฟังให้มากขึ้น และความสำเร็จในทางธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีถนนเลนเดียว แต่ละคนอาจสร้างเลนถนนของตนเองก็ได้แต่สุดท้ายก็มาบรรจบกัน”

     ขณะที่ปีรัชด์เองก็เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าวพร้อมกับเสริมว่า “จริงๆ แล้วธุรกิจกับหุ้นส่วนที่ทะเลาะกันหลักๆ น่าจะเป็นเพราะไม่ค่อยสื่อสารกันหรือสื่อสารแล้วไม่ค่อยเคลียร์กัน ฉะนั้นเวลามีปัญหาอยากให้รีบสื่อสารกันให้เคลียร์ การมีทีมงานที่ร่วมกันแบ่งปันสื่อสารกันได้เป็นอย่างดี ทำให้เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เหมือนการสร้างบ้านหลังใหญ่ เราต้องมีรากฐานที่แข็งแรงเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต"

จาก Local สู่ Global

     ในยุคที่ผู้คนดูแลสุขภาพมากขึ้นส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรโลกมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ และยังเติบโตขึ้นปีละ 8-10% ทางผู้บริหารของอภิบาลบ่อพลับจึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจของเขา ที่มีเป้าหมายจะพาแบรนด์ไปสู่อินเตอร์ภายในปี 2030 โดยจะเน้นการเติบโตได้แบบยั่งยืนที่เริ่มจากเติบโตในชุมชน แล้วค่อยขยายไปสู่ระดับประเทศ

     “ผมมองว่าการขายของได้ไม่ใช่เรื่องที่สำเร็จที่สุด แต่การสร้างโครงสร้างรองรับยอดขายที่มันโตขึ้นมองว่าเป็นเรื่องที่มันยากกว่า” ปีรัชด์ กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลติดต่อ : เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/ApibanAPB

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

House of Gems BKK จากพนักงานโรงแรมสู่คุณแม่ฟูลไทม์ที่ปั้นแบรนด์เครื่องประดับจากน้ำนมแม่

เพราะตัดสินใจออกมาจากงานโรงแรมเพื่อเลี้ยงลูก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ House of Gems BKK ที่บิ้ว-กัลยา อภิชัยกุล ใช้น้ำนมแม่มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นเครื่องประดับจากน้ำนมที่ทั้งสวยและทัชใจคุณแม่หลายคน เป็นธุรกิจใหม่ของคุณแม่ฟูลไทม์

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย