จาก 'ขนมปังให้แฟน' สู่ 'สูตรแชมป์โลก เบื้องหลัง Black Bear Bakery ร้านดังออนไลน์ที่ขายดีไม่แคร์ทำเล

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : Sunun Lorsomsub


     ความรักไม่เพียงเป็นเรื่องสวยงาม แต่ยังแฝงไปด้วยพลังที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้หลายคนสามารถทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นเรื่องง่ายได้ เฉกเช่นเดียวกับเรื่องราวของ ไปรญาวีร์ เดชทวีเหมโรจน์ ที่พลังแห่งความรักทำให้เธอสามารถทำขนมปังหาทานไม่ได้ในเมืองไทยแต่เป็นรสชาติเดียวกับที่แฟนชาวไต้หวันของเธอคุ้นเคย

     ณ จุดนั้นเหมือนกับเป็นจุดประกายที่ทำให้เธอเห็นช่องว่างในตลาดได้ต่อยอดเริ่มต้นทำร้าน Black Bear Bakery ย่านจรัญสนิทวงศ์ ที่แม้ไม่ได้เป็นย่านทำเลทอง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่จะทำให้ร้านนี้ค่อยๆ เติบโต มีคนรู้จักไม่เพียงแต่ในโลกออนไลน์ ยังกลายเป็นขวัญใจที่มีลูกค้าขาประจำอย่าง หมอ พยาบาล ฯลฯ

     วันนี้เธอยินดีมาแชร์ประสบการณ์ในการทำร้านเบเกอรี่ให้ค่อยๆ เติบโตเปรียบเหมือน Snow ball ที่เริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยม้วนโตเป็นลูกใหญ่ขึ้น

 

อร่อยแค่ไหนถึงเปิดร้านได้

     หลายคนคิดว่าการทำอาหารหรือขนมที่ทำให้คนอื่นชิมแล้วอร่อยคงเพียงพอที่จะเป็นร้านทำธุรกิจได้ แต่นั่นไม่ใช่ความคิดของ ไปรญาวีร์ เพราะโดยส่วนตัวเธอคิดว่าความอร่อยเป็นเพียงจุดเริ่มต้น สิ่งสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่ารสชาติอร่อยนั้นคุ้มค่ากับเงินที่พวกเขาจะยอมจ่าย

     “หลายคนพอเอาขนมไปให้คนชิมฟรีพอได้ฟีดแบกว่าอร่อยแล้วลงทุนใหญ่โต ซึ่งการทำให้คนชิมฟรีกับการขายมันไม่เหมือนกัน ดังนั้นก่อนจะเปิดร้านลองเริ่มจากขายในที่ทำงาน หรือรอบๆ บ้านก่อน ว่าเขายอมซื้อไหม” ไปรญาวีร์แนะนำ

     แม้จะได้รับเสียงตอบรับจากคนรอบข้างว่าอร่อยแล้ว แต่ ไปรญาวีร์ ก็ยังไม่หยุดพัฒนาฝีมือ ได้รับคำแนะนำจากพ่อของแฟนได้ไปรู้จักกับเชฟไต้หวันที่ได้แชมป์โลก และได้ไปลงฝึกปรึอฝีมือทำขนมปังกับเชฟเพิ่มเติมจนได้มาเปิดร้านแถวจรัญสนิทวงศ์

 

มีของดี ต้องพรีเซ็นต์ให้เป็น

     ท่ามกลางสมรภูมิร้านเบเกอรี่ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด "Black Bear Bakery" ไม่เพียงสร้างความโดดเด่นจากสูตรขนมปังแชมป์โลก บวกกับตัวขนมปังที่ให้ผิวสัมผัสนุ่มหนึบเพราะทำจากแป้งนำเข้าจากไต้หวันที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างไม่เหมือนใคร แม้จะมั่นใจในตัวสินค้าแต่ทว่าเจ้าของร้านก็ยังแอบหวั่นๆ เพราะถือว่าเป็นแบรนด์น้องใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก และไม่ได้ตั้งอยู่ในทำเลทองหรือห้างสรรพสินค้า

     “ช่วงแรกเปิดร้านยอมรับว่ารู้สึกกดดัน เพราะเราคาดหวังกับมันพอสมควร เรารู้ว่าขนมปังของเรามันแตกต่าง เรารู้ว่ามันดี แต่เราจะนำเสนออย่างไรให้ลูกค้าได้รับรู้ตรงนี้ด้วย”

     เธอจึงให้ความสำคัญกับการทำ Storytelling เพื่อสื่อสารเรื่องราวและความพิเศษของขนมปังให้ลูกค้าได้รับรู้ อย่างไรก็ดีก่อนที่จะทำคอนเทนต์เรื่องเล่านั้น ไปรญาวีร์ แนะนำว่า ต้องมั่นใจก่อนว่าสินค้าของคุณตอบโจทย์ลูกค้า เช่น เป็นขนมปังที่มีเนื้อสัมผัสรสชาติที่ลูกค้าต้องการ สองสินค้าที่เป็นจุดเด่นของคุณสิ่งที่ตลาดต้องการและต้องการในปริมาณมากพอ

 

เล่าเรื่องยังไงให้ยอดขายปัง

     "ผู้คนมักจดจำความรู้สึกได้ดีมากกว่าคำพูด" แนวคิดนี้เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์เรื่องราว (Storytelling) ให้กับสินค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของร้าน Black Bear Bakery ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง"        

     เธอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นร้านเธอคือ เป็นเรื่องราวของขนมปังที่เริ่มต้นจากความรัก ทำให้แฟนทาน เพราะเมืองไทยไม่มีขนมปังแบบนี้ ทำให้ขนมปังของ Black Bear Bakery ไม่ได้เป็นแค่ขนมปังธรรมดา แต่เป็น "ความรู้สึก" ที่ลูกค้าสัมผัสได้

     "การสร้างเรื่องราวต้องสอดคล้องกับธุรกิจ และที่สำคัญคือต้องเป็นเรื่องจริง" เจ้าของร้านเน้นย้ำถึงความสำคัญของการนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับธุรกิจ อีกทั้งยังต้องเป็นเรื่องจริงที่สามารถตรวจสอบได้ในยุคโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจให้กับลูกค้า ซึ่งสามารถสื่อสารเรื่องราวต่าง ได้ทางช่องทางออนไลน์โซเชียลมีเดียถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโต

     "พอลงโซเชียลก็มีสื่อต่างๆ เห็นนำไปลงเผยแพร่ มันก็เป็นคล้ายๆ snow ball มันจะเริ่มจากก้อนเล็กๆ แล้วค่อยม้วนเป็นก้อนใหญ่" นี่คือเครื่องพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของโซเชียลมีเดียในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์

 

ยอดขายไม่คงที่ บทเรียนที่ต้องเรียนรู้

     ไม่มีธุรกิจใดที่ไม่เคยพบกับความล้มเหลว ร้าน Black Bear Bakery ก็เช่นกันโดยเฉพาะกับการรักษายอดขายให้คงที่ เพราะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย อาทิ ทำเลที่ตั้งร้านไม่ได้อยู่ในแหล่งชุมชน ทางร้านจึงต้องหาวิธีที่จะทำให้ลูกค้านึกถึงร้านอยู่เสมอหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาของทางร้านคือ การออกบูธ

     “แม้ว่าการออกบูธจะมีค่าใช้จ่าย แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็คุ้มค่า เพราะบางครั้งลูกค้าอาจจะไม่สะดวกเดินทางมาที่ร้าน แต่เมื่อเราไปออกบูธที่เซ็นทรัลเวสต์เกต พวกเขาที่เคยรู้จักเราอยู่แล้วก็ตั้งใจมาซื้อ เป็นเหมือนการได้โปรโมทไปในตัว เพราะลูกค้าที่เห็นเราเป็นครั้งแรกอาจจะยังไม่ตัดสินใจซื้อ แต่เมื่อพวกเขาได้เห็นเราอีกครั้ง พวกเขาก็จะคุ้นเคยและคุ้นชินกับเรามากขึ้น จนกระทั่งตัดสินใจซื้อ ซึ่งการซื้อซ้ำนั้นสำคัญกับเรามาก

     ขนมปังของเราจึงเน้นทำเหมือนทานกินเอง ใช้เนยแท้ 100% ไม่ใส่สารกันบูด จะตอบโจทย์เทรนด์เรื่องสุขภาพ และกลุ่มลูกค้าประจำของเราที่ส่วนใหญ่เป็นหมอ พยาบาล เภสัชกร เจ้าอาวาส” เจ้าของร้าน Black Bear Bakery กล่าวถึงความท้าทายในการทำธุรกิจที่ต้องเผชิญ และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ช่องทางติดต่อ

Facebook: Black Bear Bakery

Line@: @blackbearbakery

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน