เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

เรียบเรียง : Phan P.


     หากเคยเห็นเค้กที่หน้าตาไม่ธรรมดาแต่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ อย่างเค้กบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบ 3 มิติ หรือเค้กหัวปลาขาด มีโอกาสสูงว่าเค้กเหล่านั้นจะมาจากร้าน “Bob The Baker Boy”

     แม้จะมีเค้กหน้าตาปกติให้เลือกสั่งเช่นกัน แต่เค้กที่ทำให้ร้านนี้เป็นที่รู้จักกลับเป็นเค้กแบบสั่งทำพิเศษสุดแปลกแหวกแนว ที่บางแบบราคาทะลุไปถึงกว่า 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 27,000 บาท) แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงประมาณ 150-300 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งหลายคนก็มองว่าคุ้มค่ากับงานฝีมือและรายละเอียดที่ใส่เข้าไป

     ผู้อยู่เบื้องหลังความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้คือ “เมย์ ฟง” (Mayee Fong) สาววัย 31 ปี ผู้เริ่มต้นจากความรักในการอบขนมจนกลายมาเป็นผู้ประกอบการเต็มตัว

เส้นทางที่ไม่ได้เริ่มต้นจากความฝัน

     เมย์เริ่มหลงใหลในการอบขนมตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี โดยมักจะช่วยแม่ทำอาหารและขนมอยู่เสมอ แต่แม้จะชื่นชอบการทำขนม เธอกลับไม่เคยคิดจะยึดเป็นอาชีพจริงจัง จนกระทั่งรู้สึกว่าการเรียนบัญชีที่มหาวิทยาลัย Nanyang Technological University (NTU) ไม่ใช่เส้นทางที่ใช่สำหรับเธอ จึงตัดสินใจเป็นเด็กฝึกงานในร้านเบเกอรี่แถวบ้าน โดยได้เงินเดือนประมาณ 1,500 ดอลลาร์ฯ และใช้เวลาว่างถึง 3 ปี ในการทดลองสูตรของตัวเอง ทดลองสัดส่วนของเนย แป้ง ไข่ และน้ำตาล ที่พลาดบ้าง สำเร็จบ้าง จนได้สูตรที่ลงตัว

    สุดท้าย เธอก็คิดสูตรเค้กช็อกโกแลตที่ลงตัวและเริ่มขายให้เพื่อนๆ ผ่านเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม และเมื่อได้รับการตอบรับที่ดี ก็ตัดสินใจลาออกจากร้านเบเกอรี่เพื่อเปิดธุรกิจของตัวเองในปี 2016 ภายใต้ชื่อ “Bob The Baker Boy” ซึ่งตั้งตามชื่อของนักแสดงตลกที่เธอชื่นชอบ

จากครัวเล็กๆ สู่ธุรกิจเต็มรูปแบบ

     ช่วงแรกของการเริ่มต้นธุรกิจถือเป็นช่วงที่ท้าทายที่สุดสำหรับเมย์ เธอต้องทำทุกอย่างคนเดียว ตั้งแต่รับออเดอร์ ออกแบบเค้ก ไปจนถึงตอบข้อความลูกค้า บางวันทำงานยาวถึง 16 ชั่วโมง

     ครั้งหนึ่งในช่วงคริสต์มาสปี 2018 เมย์ต้องเผชิญวิกฤตเมื่อเค้กที่เธอออกแบบไว้ไม่สามารถอยู่ทรงได้ และต้องทำใหม่ทั้งหมดในคืนวันคริสต์มาสอีฟ

     แม้จะเจออุปสรรคหนักหนา เมย์ไม่ยอมแพ้ เธอพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง และหันมาเน้นการทำเค้กแบบสั่งตัด เพราะพบว่าไม่มีใครอยากเดินทางไกลมาซื้อเค้กธรรมดาถึงย่าน Yishun ที่เธออาศัยอยู่

     จากลูกค้าเพียงไม่กี่ราย เธอค่อยๆ สร้างฐานลูกค้าประจำจนสามารถรับออเดอร์ได้ถึง 40 ชิ้นต่อสัปดาห์ และตัดสินใจเช่าพื้นที่ขนาด 600 ตารางฟุต พร้อมจ้างพนักงานประจำ 2 คนและเด็กฝึกงานอีก 2 คน

โตสวนกระแสในช่วงโควิด

     แม้โควิด-19 จะทำให้หลายธุรกิจต้องปิดตัว แต่เมย์กลับพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยสูตรคุกกี้ลาวาที่กลายเป็นกระแสไวรัลอย่างไม่คาดคิด จนทีมต้องเริ่มงานตั้งแต่ตี 6 และทำงานกันจนถึงเที่ยงคืน

     เมื่อยอดขายพุ่ง เมย์ก็ขยับขยายอีกครั้ง ย้ายไปยังครัวขนาดใหญ่ขึ้นถึง 3 เท่า พร้อมทีมงานกว่า 30 คน และในเวลาต่อมาก็ย้ายอีกครั้งมายังครัวกลางที่ Pandan Loop

     ปัจจุบัน ธุรกิจของเมย์มียอดขายแตะระดับ 7 หลัก และมีทีมงานกว่า 45 คน พร้อมรับออเดอร์จากลูกค้ารายใหญ่อย่าง Disney, Nestle และ Coach

     แม้ประสบความสำเร็จอย่างมาก เมย์ยังไม่หยุดแสวงหาโอกาสใหม่ๆ โดยในปี 2024 เธอเปิดตัวแบรนด์น้องใหม่ “Pinch Bakehouse” ที่เป็นร้านขนมฮาลาล ตอบโจทย์ลูกค้าที่มีข้อจำกัดด้านอาหาร

     ด้วยแบรนด์ใหม่นี้ เธอสามารถรองรับคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาล โรงเรียน และบริษัทต่างๆ ได้มากขึ้น และยังวางแผนขยายสินค้าของ Bob The Baker Boy ให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้นด้วย

     ที่มา : https://vulcanpost.com/879074/bob-the-baker-boy-singapore/

     Photo Credit : www.facebook.com/bobthebakerboy

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก