จาก “เนื้อแคมป์ไฟ” สู่ “ลื้อมันรั้น” ชาเก๊กฮวยคราฟท์บาร์เจ้าแรกในไทย เพราะกล้ารั้นถึงได้ปัง!

Text : Ratchanee P.


     ไม่ใช่ทุกคนจะกล้าลุกจากเก้าอี้ผู้บริหารเพื่อมาทำธุรกิจของตัวเอง และไม่ใช่ทุกแบรนด์จะเกิดจากประโยคเรียบง่ายแต่ทรงพลังของคนรุ่นก่อน "ลื้อมันรั้น ก็ไปทำเอง"  คำพูดของอาม่าที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์  "ลื้อมันรั้น" ชาเก๊กฮวยคราฟท์บาร์เจ้าแรกในไทย ของ มณเฑียร ศิริพงศ์ปรีดา

      จากการเปิดร้าน "เนื้อแคมป์ไฟ" ที่แม้จะเริ่มต้นด้วยไอเดียสุดเจ๋ง แต่ก็ต้องผ่านบทเรียนราคาแพง สู่การสร้างแบรนด์เครื่องดื่มที่ท้าทายทุกกฎเกณฑ์แบบดั้งเดิม ลื้อมันรั้นไม่ใช่แค่ชื่อชาเก๊กฮวย แต่คือแนวคิดของการกล้าที่จะทำในสิ่งที่ต่าง กล้าที่จะฝ่าฝัน และกล้าที่จะสร้างสิ่งใหม่

     มาฟังเรื่องราวการเปลี่ยนความทรงจำวัยเด็กให้กลายเป็นแบรนด์ที่สะท้อนตัวตนของผู้ที่ไม่หยุดรั้น และเรียนรู้จากบทเรียนของนักสร้างแบรนด์ตัวจริงที่ไม่กลัวความล้มเหลว เพราะเขารู้ว่า "กล้ารั้น แล้วรวย"

เริ่มต้นจากเนื้อแคมป์ไฟ

     การเริ่มต้นธุรกิจมักเต็มไปด้วยความท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อเลือกที่จะทิ้งงานประจำที่มั่นคง แต่สำหรับ มณเฑียร ศิริพงศ์ปรีดา การก้าวออกจากบทบาทมนุษย์เงินเดือน ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนอาชีพ แต่เป็นการสร้างความฝันร่วมกับลูกชายที่อยากเปิดร้านอาหาร หลังจากที่น้องฟิจิ-กฤตภาส ศิริพงศ์ปรีดา ผู้มีใจรักในการทำอาหาร มีโอกาสร่วมรายการมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ ซีซั่น 2

     “จริงๆ ผมเป็นพนักงานประจำมาก่อน ทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งก็มั่นคงดี แต่เวลาส่วนใหญ่หายไปกับการทำงาน ไม่มีเวลาให้ลูกเลย วันหนึ่งลูกไปแข่งรายการ รายการมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ แล้วบอกว่าอยากเปิดร้านอาหารให้ที่บ้านภูมิใจ ตอนนั้นก็แค่คิดจะสอนลูก เป็นโค้ชให้กับลูก เลยตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อมาอยู่กับลูกและทำร้านอาหารด้วยกัน”  

     ธุรกิจแรกของครอบครัวจึงเริ่มต้นด้วย "เนื้อแคมป์ไฟ" ร้านอาหารที่เปิดตัวด้วยคอนเซ็ปต์น่าสนใจ แต่ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ซึ่งมณเฑียรยอมรับว่าการเริ่มทำธุรกิจร้านอาหารจริงๆ นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยแม้ว่าตัวเขาจะมีประสบการณ์ในการตลาด แต่เมื่อมาลงสนามธุรกิจอาหารจริงๆ ความรู้ด้านการตลาดอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ

     “ทุกคนคิดว่ามันง่าย แต่จริงๆ มันไม่ง่ายเลย การทำร้านอาหารคือคุณต้องลงแรงเต็มที่ เพราะการทำแบรนด์ต้องสร้างให้แข็งแรงจากรากฐานก่อน และเจ้าของต้องรู้จริง ตอนเปิดใหม่ๆ เริ่มมีชื่อเสียงก็มีพื้นที่ห้างมาติดต่อเรา เลยตัดสินใจเปิดพร้อมกันทีเดียว 5 สาขาในวันเดียวกัน คิดใหญ่มาก แต่ไปไม่รอด นอกจากนี้ เมื่อเปิดสาขาแรกที่สุขุมวิท 23 ก็มาเปิดสาขาที่ 2 ปรีดี พนมยงค์ 26 เชื่อไหม ไม่มีลูกค้าเลย เราแต่งร้านสไตล์คาเฟ่ คนขับรถผ่านไปผ่านมาคิดว่าคือออฟฟิศหรือร้านกาแฟ ไม่กล้าเข้า เพราะทำในสิ่งที่เราชอบ แต่ไม่ได้มองว่าทำธุรกิจอาหารต้องทำให้ลูกค้าชอบ สุดท้ายต้องค่อยๆ เรียนรู้ว่ามันต้องมีจุดดึงดูด ต้องทำให้ชัดเจนว่านี่คือร้านอาหาร”

มณเฑียร ย้ำว่า “สิ่งสำคัญที่สุดในธุรกิจร้านอาหารไม่ใช่แค่เมนู แต่คือทีมงานและการบริการ” การเข้าใจสิ่งนี้ทำให้เขาปรับตัวและพัฒนาแบรนด์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

จากเรื่องราวของเขา ทำให้เห็นว่าการทำธุรกิจร้านอาหารไม่ใช่แค่การเสิร์ฟอาหารอร่อย แต่ต้องเข้าใจการบริหารทั้งทีมงานและแบรนด์อย่างลึกซึ้ง สิ่งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่มณเฑียรได้เรียนรู้จากการออกจากกรอบงานประจำมาสู่โลกของผู้ประกอบการ จนปัจจุบันเนื้อแคมป์ไฟมีถึง 5 สาขา และต่อยอดธุรกิจสู่ “ลื้อมันรั้น” ชาเก๊กฮวยคราฟท์บาร์เจ้าแรกในไทย

จากครัวอาม่าสู่ ชาเก๊กฮวยคราฟท์บาร์ “ลื้อมันรั้น”  

     การสร้างแบรนด์ “ลื้อมันรั้น” ไม่ได้เป็นเพียงการทำธุรกิจ แต่คือการนำความทรงจำในวัยเด็กให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยเขาเติบโตมาในครอบครัวคนจีนย่านบ้านหม้อ ซึ่งเก๊กฮวยถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในบ้าน อาม่าของเขามักต้มเก๊กฮวยให้ดื่มเสมอ เป็นรสชาติที่เข้มข้น หอมสดชื่น แต่ในวันนี้เก๊กฮวยที่ขายในท้องตลาดนั้นเปลี่ยนไปมาก กลายเป็นน้ำหวานที่เจือจาง ไม่ได้มีเอกลักษณ์เหมือนในอดีต ทำให้เขาเริ่มคิดว่าทำไมไม่ลองนำรสชาติในความทรงจำนี้กลับมาอีกครั้งในรูปแบบที่เหมาะกับยุคสมัย

     การสร้างแบรนด์ “ลื้อมันรั้น” จึงไม่ใช่แค่การขายเครื่องดื่ม แต่เป็นการท้าทายกรอบความคิดแบบเดิมๆ มณเฑียรบอกว่า ชื่อนี้มีนัยยะซ่อนอยู่ นั่นคือ “รั้นแล้วรวย” ไม่ได้หมายถึงความดื้อดึงอย่างเดียว แต่คือการกล้าที่จะคิดต่าง กล้าที่จะฝัน และที่จะกล้าทำสิ่งใหม่ๆ

     “ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมา สังเกตว่าหลายคนมักเดินตามแบบแผนเดิมๆ ทำในสิ่งที่คนอื่นทำอยู่แล้ว จนกลายเป็นการ copy-paste ธุรกิจโดยไม่รู้ตัว และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายธุรกิจถึงไปไม่รอด เพราะเมื่อทุกคนเดินตามกรอบเดียวกัน สุดท้ายก็จะอยู่แค่ตรงนั้น ไม่มีทางไปได้ไกล เลยเชื่อว่า ถ้าเรากล้าคิด กล้าฝัน และกล้ารั้น ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเลือกจะทำตามแบบแผน อยู่ในกรอบเดิมๆ ยังไงก็ไปได้แค่ครึ่งๆ กลางๆ ไม่มีทางไปได้สุด"

     การทำชาเก๊กฮวยคราฟท์บาร์ของเขาจึงไม่ใช่แค่การต้มดอกไม้กับน้ำตาล แต่คือศิลปะของการ “เบลนด์” รสชาติ มณเฑียรเล่าว่าเขาใช้ดอกเก๊กฮวยไทยและจีน เพื่อให้ได้ Aftertaste ที่ซับซ้อนและมีเอกลักษณ์ เหมือนกับการเบลนด์ชาชั้นดี ดอกเก๊กฮวยจากแต่ละพื้นที่จะมีรสชาติและกลิ่นที่แตกต่างกัน การค้นหาสูตรที่ลงตัวจึงต้องใช้เวลาและความอดทน

     ไม่เพียงแต่รักษารสชาติดั้งเดิมเท่านั้น แต่เขายังพัฒนาเมนูใหม่ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับผู้ดื่ม เช่น “เก๊กฮวยส้มยูสุ” ที่ผสมเนื้อส้มแมนดารินแท้กับกลิ่นหอมสดชื่นของยูสุ, “เก๊กฮวยพีช” ที่ให้กลิ่นหอมละมุน และ “เก๊กฮวยชีส” ที่ใช้ชีสสด ตีใหม่ทุกครั้ง พร้อมไข่มุกสูตรโมจิญี่ปุ่นที่ให้เนื้อสัมผัสนุ่มหนึบ แตกต่างจากไข่มุกทั่วไป หรือแม้แต่ “เก๊กฮวยไนโตร” ที่มีฟองนุ่มเหมือนเบียร์ แต่ยังคงเอกลักษณ์ของเก๊กฮวยไว้ ทุกแก้วที่เสิร์ฟจึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องดื่ม แต่คือการบอกเล่าเรื่องราวของการกล้าแตกต่าง

     หากคุณมีโอกาสแวะไปที่หน้าร้าน “ลื้อมันรั้น” อาจได้เห็นภาพอาม่าของมณเฑียรนั่ง Time Machine ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการพาย้อนเวลาไปหารสชาติของเก๊กฮวยแบบโบราณ เหมือนกับการพาผู้ดื่มกลับไปยังร้านขายยาสมัยก่อน ที่ซึ่งเก๊กฮวยยังคงกลิ่นหอมสดชื่นและเต็มไปด้วยคุณค่า  

เรียนรู้ผ่านการออกบูธและฟังเสียงลูกค้า

     อย่างไรก็ตาม การสร้างแบรนด์ “ลื้อมันรั้น” ไม่ใช่แค่การได้สูตรแล้วเปิดร้านในทันที แต่มาจากการค่อยๆ สร้างสรรค์ เรียนรู้ และปรับตัวจากประสบการณ์จริง แบรนด์นี้เริ่มต้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ด้วยความตั้งใจที่จะนำเสนอเครื่องดื่มเก๊กฮวยที่มีคุณภาพสูง แตกต่างจากเก๊กฮวยสำเร็จรูปทั่วไปที่พบได้ตามท้องตลาด มณเฑียร เล่าว่า “เราไม่ได้ทำแบบลวกๆ หรือใช้ผงสำเร็จรูป เรามั่นใจในคุณภาพ และพัฒนาสูตรอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะได้รสชาติที่ลงตัว”

     ตลอดเวลาที่ผ่านมา “ลื้อมันรั้น” มุ่งเน้นการออกบูธเพื่อเข้าถึงลูกค้าโดยตรง ฟังเสียงตอบรับ และปรับปรุงสูตรให้ดียิ่งขึ้น เขามองว่าการทำธุรกิจเครื่องดื่มไม่ใช่แค่การตั้งร้านแล้วรอให้ลูกค้าเข้ามา แต่ต้องรู้จักเลือกสถานที่ขายและเข้าใจกลุ่มเป้าหมายด้วย

     เมื่อถามว่าเขากังวลไหมที่จะโดนกอปปี้ เขาตอบอย่างตรงไปตรงมา “ต้องยอมรับว่ามันเป็นไปได้อยู่แล้ว เพราะนี่คือสินค้าใหม่ที่คนยังไม่คุ้นเคย แต่เป็นความกังวลใจมากกว่า เพราะถ้าใครลองชิมชาเก็กฮวยจากแบรนด์อื่นซึ่งอาจจะทำได้ไม่ดีแล้วไม่ชอบก็อาจจะไม่อยากดื่มอีกเลย ซึ่งจะกลายเป็นเอฟเฟกต์โดมิโนสำหรับแบรนด์ลื้อมันรั้น แต่สุดท้ายก็ต้องทำใจว่า คู่แข่งย่อมเกิดขึ้นเสมอ 

      ดังนั้น “ลื้อมันรั้น” จึงยังคงเน้นการขยายแบบค่อยเป็นค่อยไป มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เขาย้ำว่า “ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะต้องดีในเร็ววัน แต่ขอให้ทุกก้าวของเรามั่นคง และไม่เร่งรีบเกินไป”

ความคิดเห็น-ข้อเท็จจริง จะเชื่ออะไร

     ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมา มณเฑียรเข้าใจดีว่าความสำเร็จไม่ได้มาเพียงแค่มีไอเดียดีหรือผลิตภัณฑ์คุณภาพ แต่ต้องมาพร้อมกับการเตรียมตัวที่ดี ความเข้าใจตลาด และความสามารถในการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีคำแนะนำสำคัญว่า

     “ต้องถามตัวเองก่อนว่า พร้อมหรือยัง เพราะการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย มันต้องใช้ทั้งเวลา พลังงาน และเงินทุน อย่าคิดว่าเปิดร้านแล้วทุกอย่างจะราบรื่น ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทำตัวเลขให้ชัด ดูกระแสเงินสด และประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบ” นี่คือขั้นตอนพื้นฐานที่หลายคนมองข้าม แต่เป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

     นอกจากนี้ มณเฑียรยังเน้นว่า “ต้องแยกให้ออกระหว่าง ‘ความคิดเห็น’ และ ‘ข้อเท็จจริง’” เขาเตือนว่าอย่าตัดสินใจจากคำชมของเพื่อนหรือครอบครัวเพียงอย่างเดียว เพราะพวกเขาอาจไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง ต้องฟังเสียงของตลาด และทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง

     การทำธุรกิจต้องมีพื้นฐานจากข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่ความรู้สึกหรือคำพูดที่ฟังแล้วดี แต่ไม่สะท้อนความจริงของตลาด

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ไม่ต้องลดราคา ก็ขายได้ EP’s Café สงขลา ที่ปั้นเค้ก 13 ชั้นให้ดังไกลถึงเชียงราย

จากร้านเล็กๆ ในสงขลา สู่เค้กโฮมเมดที่คนทั้งประเทศสั่งซื้อ! EP’s Café สอนเราว่าการเล่าเรื่องดีๆ และยึดมั่นในคุณภาพ (สูตร Slow Brand) สามารถสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืนได้ โดยไม่ต้องลดราคา

อยากให้ธุรกิจโตแบบไม่ต้อง “เผาเงิน” ดูวิธีคิด CEO-Canva ที่เปลี่ยนไอเดียเล็กๆ เป็นธุรกิจพันล้าน

ในวันที่ธุรกิจจำนวนมากเทงบโฆษณาเพื่อให้ยอดขายพุ่งเร็วนั้น Canva กลับ “แทบไม่พึ่งโฆษณา” แต่เติบโตสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานกว่า 135 ล้านคน ทำรายได้ 7.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/เดือน ด้วย 4 กลยุทธ์สำคัญ