Text/ Photo : Surangrak Su.
“เอากาแฟใต้..มาปลูกทางเหนือ..บ้าหรือเปล่า?”
นี่คงเป็นความรู้สึกที่หลายคนคิดอยู่ในใจ เมื่อเห็น บี๋ - ร.ต. จีรศักดิ์ จูเปาะ ชายหนุ่มชาติพันธุ์แห่งบ้านห้วยน้ำมา ดอยช้าง จ.เชียงราย นำมาส่งเสริมชาวบ้านให้หันมาปลูกกาแฟโรบัสต้ากันมากขึ้นเมื่อเกือบสิบปีก่อน เนื่องจากมีความแข็งแรง ทนทาน มากกว่าสายพันธุ์อาราบิก้าที่เดิมนิยมปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากผลกระทบภาวะโลกร้อน (Climate Change) ทำให้ผลผลิตที่ได้แต่ละปีลดปริมาณลงเรื่อยๆ
ในวันที่ใครๆ ก็ไม่เอาด้วย จีรศักดิ์ตัดสินใจลงมือปลูกต้นกล้ากาแฟกว่าแสนต้นที่เตรียมไว้ บนที่ดินกว่า 200 ไร่ ด้วยตัวเอง หลายปีผ่านไปสิ่งที่ตั้งใจไว้ก็สัมฤทธิ์ผล กาแฟโรบัสต้าที่นำมาปลูกเริ่มออกดอกผล ขายได้ราคาดีแทบไม่ต่างจากพันธุ์อราบิก้า เพราะการดูแลใส่ใจอย่างดี ชาวบ้านเริ่มมองเห็นถึงความเป็นไปได้ ทำให้ปัจจุบันพื้นที่บนดอยช้างเริ่มเต็มไปด้วยต้นกาแฟโรบัสต้าที่มีความแข็งแรง ทนทาน ให้ผลผลิตดี โดยมี YaYo (หญ่าโย) ฟาร์มและร้านกาแฟที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ดูแล เป็นศูนย์กลางให้ความรู้ ควบคู่กับการพัฒนากาแฟโรบัสต้าให้ดียิ่งๆ ขึ้น
Q : ช่วยเล่าที่มาการนำโรบัสต้า ซึ่งเป็นกาแฟที่นิยมปลูกทางใต้ มาบุกเบิกปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะบนดอยช้างให้ฟังหน่อย
จุดเริ่มต้นมาจากเมื่อเกือบสิบปีก่อน ผมกลับมาอยู่บ้านและแต่งงาน หมู่บ้านผมชื่อว่า “ห้วยน้ำมา” เป็นหมู่บ้านเล็กๆ บนดอยช้าง มีแค่ 50 ครอบครัว เป็นพื้นที่ราบ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 560-600 เมตร ทำให้ไม่สามารถปลูกกาแฟอาราบิก้าได้เหมือนกับพื้นที่สูงบนยอดดอย การเพาะปลูกส่วนใหญ่ที่ทำได้ คือ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งต้องใช้ยาฆ่าแมลงเยอะ เกือบทุกปีจะมีคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 3-5 คนเป็นอย่างน้อย จากการป่วยสะสมที่ใช้สารเคมีเยอะ
เลยทำให้เกิดความคิดว่าเราอยากช่วยเปลี่ยนแปลงพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาให้ดีขึ้น จึงคุยกันกับภรรยา (คุณสุกัญญา บีซีทู) ซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านดอยช้าง เป็นพื้นที่สูง ครอบครัวทำไร่กาแฟอาราบิก้า ว่าถ้าที่นี่ปลูกอาราบิก้าไม่ได้ งั้นลองปลูกกาแฟโรบัสต้าไหม เพราะไม่ต้องอยู่ในพื้นที่สูงก็ปลูกได้ ในตอนนั้นเราเริ่มมองเห็นแนวโน้มภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้อาราบิก้าเดิมที่ปลูกอยู่ให้ผลผลิตน้อยลงเรื่อยๆ บอกตรงๆ ว่ามีแต่คนไม่เชื่อว่าจะทำได้ ผมลงทุนเพาะต้นกล้าไว้เกือบแสนต้น เพื่อให้ชาวบ้านเอาไปทดลองปลูก ปรากฏว่าไม่มีใครสนใจเลย ด้วยความเสียดายต้นกล้าที่เพาะไว้ ผมเลยหาซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อเอามาทำเอง รวมแล้วปลูกไปเกือบ 200 ไร่ได้ หลายปีผ่านไปต้นกาแฟเริ่มให้ผลผลิตออกมา แล้วเราก็สามารถขายได้จริง ทำให้ตอนนี้ผมไม่ต้องพูดอะไร พอชาวบ้านเห็นว่าทำแล้วมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ เขาก็จะทำตามเอง
Q : นอกจากช่วยชาวบ้านให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งรายได้และสุขภาพ คุณมองว่าโรบัสต้า คือ หนทางไปต่อให้กับวงการกาแฟไทยหรือเปล่า
ใช่ครับ ผมมองทิศทางของโลกว่าคงไม่มีโอกาสที่อุณหภูมิจะเย็นลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งการปลูกอาราบิก้าต้องถูกควบคุมด้วยปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะต้องปลูกอยู่ในพื้นที่สูง ทำให้ผลผลิตที่ได้น้อยอยู่แล้ว ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะอากาศที่ร้อนขึ้น ผมจึงมองว่าโรบัสต้า คือ หนทางไปต่อให้กับกาแฟไทยได้ เพราะลองมองดูในกลไกตลาดโลก
ทุกวันนี้การบริโภคกาแฟโรบัสต้าก็เพิ่มมากขึ้นด้วย เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว อัตราการบริโภคระหว่างโรบัสต้ากับอาราบิก้า คือ 60 : 40 แต่ ณ วันนี้เปลี่ยนเป็น 80 : 20 แล้ว ไม่ใช่เพราะคนต้องการกินโรบัสต้ามากกว่า แต่เพราะเราปลูกอาราบิก้าได้น้อยลง เพราะฉะนั้นจะต้องทำยังไง เพื่อหากาแฟคุณภาพมาทดแทนอาราบิก้าให้ได้ เลยมีการส่งเสริมการปลูกกาแฟโรบัสต้าคุณภาพที่เรียกว่า “Fine Robusta” หรือ โรบัสต้าคุณภาพสูง ถ้าเทียบกับอาราบิก้า ก็คือ การทำกาแฟ Specialty Coffee นั่นเอง
Q : การปลูกกาแฟโรบัสต้าทางภาคเหนือ ได้เปรียบ หรือแตกต่างจากการปลูกในพื้นที่อื่นอย่างไร
ความโชคดีของการปลูกกาแฟทางเหนือ คือ เรามีสกิลและฝีมือ มีความละเมียดละไมจากการทำอาราบิก้าอยู่แล้ว พอมาทำโรบัสต้า เขาก็ทำแบบเดียวกัน เริ่มตั้งแต่การเก็บเมล็ดที่ดี เมล็ดที่สุกทั้งหมด การโปรเซสที่สะอาด เลยทำกลิ่นและรสชาติออกมาได้ดี ทำให้ ณ วันนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่กาแฟสเปรย์ดราย (กาแฟผงสำเร็จรูป) เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เราสามารถเอาโรบัสต้ามาดริปกินแบบอาราบิก้าได้เลย
Q : จากการพัฒนาคุณภาพการปลูกกาแฟโรบัสต้าขึ้นมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรขึ้นมาบ้าง
สมัยหนึ่งราคากาแฟอาราบิก้าที่เป็นผลเชอรี่สดจะตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท ในขณะที่กาแฟโรบัสต้าขายได้ราคากิโลกรัมละ 10-15 บาท แต่ ณ วันนี้ราคาของอาราบิก้าขยับขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 35-40 บาท โรบัสต้าก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 35-40 บาทเหมือนกัน คือ เท่ากัน แต่ถ้าเปรียบเทียบผลผลิตต่อต้นต่อปี อาราบิก้า 1 ต้นจะได้ผลผลิตประมาณ 20 กก. ในขณะที่โรบัสต้าให้ผลผลิตต่อต้นสูงถึง 40-60 กก. หลายเท่าตัวเลย นอกจากนี้โรบัสต้ายังสามารถทนแล้งกว่าได้ดีกว่า ไม่ต้องอยู่ในพื้นที่สูงมาก ก็สามารถปลูกได้ ตอนปลูกอาราบิก้า เราอาจช่วยพี่น้องบนดอยได้สัก 10% เพราะถูกจำกัดด้วยระดับความสูง แต่ถ้าเป็นโรบัสต้า เราอาจช่วยได้มากถึง 90% เลยก็ได้ เพราะพื้นที่ราบตรงไหนที่ไม่ได้ปลูกพืชอื่น เราสามารถเอากาแฟโรบัสต้าไปปลูกเสริมได้
Q : นอกจากเป็นบุคคลแรกๆ ที่บุกเบิกนำโรบัสต้ามาปลูกบนดอยช้างแล้ว อยากให้พูดถึงตัวธุรกิจแบรนด์กาแฟและร้านที่ชื่อ “YaYo” (หญาโย่) หน่อย
จริงๆ แล้วพื้นที่ตรงนี้เป็นของครอบครัวภรรยาผม ซึ่งเป็น 1 ใน 40 ครอบครัวยุคแรกๆ ที่มีการปลูกกาแฟบนดอยช้าง เราเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2 ที่มารับช่วงต่อ โดยมองกันว่าการจะทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นมาได้จริงๆ เราต้องทำให้เป็นไฟนอลโปรดักต์ให้ได้ เพื่อเป็นมรดกตกทอดทั้งเรื่ององค์ความรู้ก็ดี การทำเกษตร และวัฒนธรรมก็ดี เราเลยกลับมาที่การสร้างแบรนด์ร่วมกับคนในชุมชน โดย หญ่าโย แปลว่า “สุภาพบุรุษ” เป็นภาษาอาข่า ซึ่งเราเอามาจากคาแรกเตอร์ของกาแฟที่ปลูกในดอยช้างที่ส่วนใหญ่มีความเป็นนัตตี้ โกโก้ ช็อกโกแลต ดาร์กช็อก ค่อนข้างสูง มีบอดี้ที่สตรอง หนักแน่น นุ่มนวล
แต่อีกนัยยะแฝง คือ เรื่องความยุติธรรม ความเป็นสุภาพบุรุษในที่นี้มาจาก 3 เรื่อง คือ 1.ความยุติธรรมกับเกษตรกร ราคาขายที่ไม่เอาเปรียบ การส่งเสริมให้องค์ความรู้ใหม่ๆ 2.ความยุติธรรมกับลูกค้า ได้ดื่มกาแฟที่มีคุณภาพ อร่อย สะอาด ปลอดภัย และ 3. ความยุติธรรมต่อสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดของเราเอง และเกษตกรในเครือข่ายจะไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมปลูกต้นไม้ร่วมกับการปลูกกาแฟ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น และยังเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย เช่น อโวคาโด้, แมคคาดีเมีย ทั้งสามส่วนนี้ คือ องค์ประกอบสำคัญที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนร่วมกัน จริงๆ ช่วงแรกค่อนข้างติดขัดเหมือนกัน เพราะที่บนดอยเอาไปขอเครดิตไม่ได้ ไม่มีหลักทรัพย์ แต่โชคดีที่ตอนนั้นได้ SME D Bank ช่วยแนะนำ บสย.ให้ เป็นผู้ค้ำประกัน เราเลยนำมาต่อยอดได้
Q : ได้ข่าวว่าคุณมีการนำนวัตกรรมมาใช้พัฒนากาแฟ เพื่อเพิ่มมูลค่า จนอาจเรียกว่าเป็น “กาแฟโลกใหม่” ได้เลย?
ตอนนี้เรามีการพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น เป็นโปรเจกต์ที่เรียกว่า “7 Day” เป็นแนวคิดมาจากภรรยาผม ที่คิดอยากดื่มรสชาติกาแฟในแต่ละวันไม่ซ้ำกัน โดยทำงานร่วมกับนักวิจัยในการนำยีสต์ในพื้นที่มาเพาะเลี้ยง เพื่อดึงกลิ่น รสชาติที่โดดเด่นของกาแฟนั้นๆ ออกมา โดยปกติรสชาติของกาแฟจะขึ้นอยู่กับ 1.สายพันธุ์ 2.พื้นที่ปลูก 3.การโปรเซส การนำยีสต์มาใช้ก็อยู่ในกระบวนการนี้
ยกตัวอย่างเช่น สมมติถ้าเป็น Monday ในกาแฟดอยช้างอาจมีจุลินทรีย์ล้านตัว คาแรกเตอร์ที่โดดเด่น คือ มีความเป็นดาร์กช็อก, นัตตี้, คาราเมล แต่อาจมีจุลินทรีย์ที่มีกลิ่นผลไม้สีเหลือง เช่น มะม่วง, สับปะรด, กล้วย สัก 4-5 ตัวก็ได้ เราก็ดึงตัวนั้นออกมาแล้วใช้ยีสต์มาเพาะเลี้ยง เพื่อดึงคาแรกเตอร์ออกมา เป็นมิติใหม่ของกาแฟในไทยเลย และหนึ่งในวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตที่อาราบิก้าจะลดลงเรื่อยๆ โดยราคาขั้นต่ำที่เราทำได้ตอนนี้ คือ 800 บาท/กก. สำหรับกาแฟสารนะหรือกาแฟดิบ ยังไม่ได้นำไปคั่ว
Q : มองภาพอนาคตของกาแฟไทยไว้อย่างไรบ้าง
ผมมองว่าจุดเด่นของวงการกาแฟบ้านเรา คือ เราเป็นประเทศที่ทุกกระบวนการผลิตกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ เกษตรกรเจ้าของสวน, โรงคั่ว, ร้านกาแฟ และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถติดต่อถึงกันได้โดยตรง แต่ประเทศอื่นทำได้ยากกว่า อย่างเกาหลีเป็นประเทศที่มีการกินกาแฟเยอะ แต่ปลูกไม่ได้ เขาไม่สามารถติดต่อไปยังโรงคั่วได้โดยตรงว่า ทำไมกาแฟล็อตนี้ถึงคัปปิ้งแล้วไม่อร่อย เพราะโรงคั่วก็ไม่รู้จะไปถามใคร ก็ต้องติดต่อไปถึงประเทศต้นทางที่นำเข้ามา แต่ของบ้านเราสามารถทำได้เลย ทุกส่วนสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้หมด สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้ นี่คือ ส่วนสำคัญที่จะทำให้เราพัฒนาการทำกาแฟได้ไกลกว่าในหลายๆ ประเทศ และเป็นเหตุผลว่าทำไมธุรกิจกาแฟไทย ถึงโตได้แบบก้าวกระโดด ตั้งแต่เราเริ่มหันมาพัฒนาคุณภาพกาแฟแบบจริงจังมากขึ้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี