“นิรันดร์ พวงหรีดรักษ์โลก” พลิกขาลง “ธุรกิจโรงทอผ้า” สู่แบรนด์น้องใหม่สุดเจิดจ้า เพิ่มมูลค่าได้แบบยั่งยืน

Text: VaViz

Photo: NIRAN


     เมื่อธุรกิจโรงงานทอผ้าดิบที่ดำเนินการมาราว 30 ปี ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ของการเป็น “ธุรกิจขาลง” หรือ “Sunset Industry” ไม่ว่าจะเพราะด้วยปัญหาเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลก กำลังซื้อลงลด หรือการแย่งชิงตีตลาดและห้ำหั่นราคาของคู่แข่งจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน อินเดีย และเวียดนาม ที่สะเทือนการส่งออก ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจที่กินสัดส่วนอยู่ถึง 70% ก็ตามที ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ อรนภัส บุญอนันตพัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 2 แห่งบริษัท บุญเจริญการทอ จำกัด ต้องการสร้างจุดเปลี่ยน หาจุดบอด และอุดช่องว่างในตลาด เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง  

      “จะทำอย่างไรให้โรงงานทอผ้าที่ได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจ Sunset ซึ่งเติบโตได้ค่อนข้างยากในบ้านเรา มีโอกาสกลับสู่แสงหรือเป็น Sunrise Biz ได้อีกครั้ง คือโจทย์ที่เราต้องคิด เพราะในหลายธุรกิจผ้าตอนนี้ไม่โดนเพื่อนบ้านตีตลาด ก็เป็นธุรกิจที่ค่อนข้าง Red Ocean”

COVID-19 พลิกแสงริบหรี่ สู่แสงแห่งธุรกิจใหม่  

“การบริจาคผ้าห่อศพเป็นอะไรที่คนมองข้ามได้ง่าย

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นช่วง COVID-19 หรือไม่ก็ตาม

ความขาดแคลนตรงนี้ยังมีอยู่เสมอ”

     แม้ทางโรงทอผ้าจะมีการปรับตัวเองในระดับหนึ่งแล้ว เช่น มีการพัฒนาเทคนิคพิเศษในการทอผ้ามากขึ้น เช่น เคลือบกันน้ำ เคลือบกันแบคทีเรีย เคลือบกันเชื้อรา เคลือบกันยูวี หรือเสริมคุณสมบัติกันไฟเข้าไปในเนื้อผ้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และตอบโจทย์อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การเกษตรและการแพทย์ รวมถึงมีบริการรับแก้ไขปัญหาผ้า เช่น เสริมเนื้อผ้าที่ลูกค้าซื้อของจีนที่บางให้แข็งหรือหนาขึ้น แต่ทว่าการเติบโตยังไม่เข้าตาผู้เข้ามารับไม้ต่อรายนี้มากนัก จึงเป็นที่มาของการต่อยอดนำผ้าดิบของโรงงานมาจับจีบจัดทรงเป็น “พวงหรีดผ้าดิบ” ที่ใช้แล้วไม่ต้องทิ้งให้สูญเปล่าเป็นขยะ แต่สามารถบริจาคมอบต่อให้วัด โรงพยาบาล หรือมูลนิธิต่างๆ นำไปใช้ห่อศพได้

     “COVID-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของทั้งโรงทอผ้าและการเกิดแบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า “นิรันดร์ พวงหรีดรักษ์โลก” ที่มาจากการเห็นว่า เป็นช่วงที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและผ้าห่อศพและถุงห่อศพขาดแคลน จึงจุดประกายเราว่า ผ้าที่ทางกู้ภัยใช้ห่อร่างนั้น เป็นผ้าดิบที่เราทำได้ ตอนแรกเลยสร้างเพจที่ชื่อว่าห่มบุญขึ้นมาก่อน เพื่อขายและเป็นสะพานบุญในการนำผ้าห่อศพและถุงใส่ศพไปบริจาคให้กู้ภัยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย”

     และด้วยเสียงตอบรับที่ดี เนื่องจากคนเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่สามารถทำบุญได้แค่กดสั่งของบริจาคจากที่บ้าน โดยไม่ต้องออกไปไหน อรนภัส จึงเห็นว่า ตลาดนี้เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการที่จะเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้เล่น จึงขยับสู่การสร้างแบรนด์ในเวลาต่อมา ซึ่งมีอายุได้เกือบ 2 ปีในปัจจุบัน

สังเคราะห์แสง สร้างแบรนด์ให้แตกต่าง  

“การที่เรามีคลังข้อมูลในหัวเยอะ เวลาที่มันถึงเวลา มันจะจับแพะชนแกะในหัวเราได้

ไอเดียบางอย่างไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องมาจากธุรกิจที่เราทำอยู่

เราจึงควรเล็งเห็นถึงคุณค่าของการมีความรู้ทั่วไปในหลายๆ ธุรกิจ

เพราะเราไม่มีวันรู้เลยว่า ข้อมูลแต่ละอย่างที่เราได้มา จะกลายมาเป็นประโยชน์ของเราวันไหน”

     เพราะอยากทำให้รักษ์โลกมากขึ้น ใช้งานได้นานขึ้น และมีประโยชน์มากที่สุด ก่อนที่จะนำไปเผา ผู้ก่อตั้งแบรนด์คนนี้ จึงคิดต่อว่า จะยืดวงจรชีวิตของผ้าห่อศพอย่างไรให้ไม่สั้นแค่ว่า ทอเป็นผ้าดิบออกมา ใช้ห่อร่างเสร็จแล้วจบ

     “แม้ว่าผ้าดิบจะมีความแข็งกว่าผ้าปกติที่ใช้ทำเสื้อผ้า แต่เราสามารถนำเทคนิคในการจับจีบผ้ามาประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการดูพวก Fabric Origami เช่น ของทางโรงแรมที่จะเอาผ้าขนหนูมาพับเป็นรูปร่างต่างๆ บวกกับการรณรงค์ไม่ใช้พวงหรีดดั้งเดิมที่เป็นดอกไม้ เพราะว่าเป็นขยะและเป็นภาระให้วัด ดังนั้น พวงหรีดของเราที่นอกจากจะออกแบบให้สวยงามพอๆ กับดอกไม้แล้ว ยังทำแค่ดึงหมุดที่กลัดออกก็สามารถนำไปบริจาคต่อหรือใช้งานได้เลย”

     นอกจากนี้ การรู้ถึง Feedback ลูกค้าที่ชอบบริจาคและเห็นผลแบบจับต้องได้ ช่วยสร้างความแตกต่างให้แบรนด์ฉีกตัวจากแบรนด์พวงหรีดอื่นๆ ที่มีคอนเซ็ปต์ด้านการทำบุญเหมือนกัน  

     “สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ คือ การบริจาคอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าเป็นไปได้เราเลือกที่จะบริจาคแบบไม่เป็นจำนวนเงิน แต่บริจาคเป็นสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่นับเป็นชิ้นๆ ได้เลยแทน เพื่อให้ผู้รับบริจาคไม่สามารถนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และรู้สึกได้จริงๆ ว่า ของเหล่านั้นสามารถนำไปใช้ได้เลยทันที ซึ่งแบรนด์ของเราจะระบุเลยว่า พวงหรีดราคานี้มีผ้าห่อศพกี่ผืนให้ลูกค้าเห็นเป็นรูปธรรมได้ว่า สามารถเอาไปช่วยได้กี่ศพ กี่ราย”

      โดยความยากในการที่จะพลิกธุรกิจขาลงให้ฟื้นตัวกลับขึ้นมานั้น อรนภัส บอกว่าอยู่ที่การต้องคิดนอกกรอบ ซึ่งถือว่ายากมากๆ สำหรับคนที่คลุกคลีกับธุรกิจโรงทอผ้านี้มาตั้งแต่เล็กจนโต ไปจนถึงการพูดคุยกับรุ่นบุกเบิกรวมถึงพนักงานให้เปิดใจและพร้อมเดินไปกับโปรเจกต์ใหม่ครั้งนี้

      “ด้วยความที่เราวนเวียนกับโรงทอผ้ามาตั้งแต่เด็ก ทำให้กลายเป็นความเคยชิน ที่เรานึกออกไปจากกรอบไม่ได้ว่า เราทำอะไรมากกว่านั้นได้ เพราะถ้าย้อนกลับไป เราไม่เคยคิดเลยว่าจะมาทำธุรกิจพวงหรีด ซึ่งดูไม่เกี่ยวกันเลยโดยสิ้นเชิง และยิ่งเป็นอะไรที่ใหม่มากๆ การทำให้คุณพ่อคุณแม่และคนในบริษัทซื้อไอเดียนี้ได้ ต้องอาศัยการอธิบาย การโน้มน้าว การให้ข้อมูลด้านตัวเลขและสถิติ และการศึกษาถึงโอกาสและความเป็นไปได้อย่างจริงจัง รวมถึงมีแผนการทำงาน การลงทุน และงบประมาณที่ชัดเจน”

“ความภาคภูมิใจ” แสงอันยิ่งใหญ่ที่พนักงานต้องการ

“คนกลุ่มนี้ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองไปเลยว่า

การที่เราทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจและได้เห็นถึงความสำเร็จของสิ่งที่เขาทำ

เขาจึงเลือกที่จะอยู่ต่อ แม้ที่อื่นจะให้รายได้สูงกว่าก็ตาม”

     การมี “Sense of Ownership” หรือความรู้สึกเป็นเจ้าของในตัวพนักงานได้เปลี่ยนมุมมองของ อรนภัส ไปอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยรับรู้มาว่า ยิ่งเป็นธุรกิจ Sunset คนยิ่งอยากลาออก แต่ปรากฏว่า เมื่อพวกเขารับรู้ได้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นสร้างผลกระทบเชิงบวกได้มากแค่ไหน จนเกิดเป็นความภาคภูมิใจก็ยิ่งอยากอยู่ต่อไปกับองค์กร

     “พอเราเห็น Feedback ดีๆ เราก็อยากจะเอามาให้เขาดู เพราะเขาเป็นคนหนึ่งในกระบวนการ ถ้าเราไม่มีเขา แบรนด์ก็ไม่สำเร็จมาจนทุกวันนี้ ซึ่งทำให้เขารู้สึกว่าเขามี Sense of Ownership เขาเป็นหนึ่งในความสำเร็จ เราแค่แชร์ให้เขารู้ว่า ในสิ่งที่เขาทำมันมี Impact อะไร แค่นี้ก็ทำให้เขารู้สึกว่าเขาอยากจะมีส่วนร่วม รู้สึกว่าการกระทำทุกๆ อย่างของเขามันมี Impact จริงๆ”

     จากวันที่พนักงานมีแต่ความเศร้าสร้อยที่ได้เห็นโรงงานทอผ้าอื่นๆ ทยอยปิดตัวไป และทำงานเดิมๆ กันไปเรื่อยๆ แต่เมื่อได้เห็นว่า สิ่งที่เขาทำนั้นมีคุณค่าอย่างไร สังคมหรือโซเชียลมีเดียมีการรับรู้มากแค่ไหน บรรยากาศในการทำงานก็เปลี่ยนไปและเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น  

     “ทุกวันนี้เขามีกำลังใจและมีไอเดียมานำเสนอเรามากขึ้นโดยที่เราไม่ต้องบอก เช่น ลองทำแบบนี้ไหม ลองใช้วัสดุนี้ไหม เพื่อลดต้นทุนของพวงหรีด จากเดิมที่เราต้องเป็นคนบอก ยิ่งในโรงทอผ้าที่ผ่านมาเรื่องนี้เกิดขึ้นน้อยมาก ที่อยู่ดีๆ จะมีพนักงานมานำเสนอว่าจะช่วยเราอย่างไรบ้าง หรือมีความคิดที่จะพัฒนาและลองทำอะไร แต่พอมีธุรกิจใหม่ที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นมาบ้างก็สามารถสร้างความภาคภูมิใจ ความครื้นเครง และความแตกต่างได้อย่างชัดเจน”

     แม้เจ้าของแบรนด์คนเก่งคนนี้จะบอกว่า “นิรันดร์ พวงหรีดรักษ์โลก” ไม่ใช่แสงที่ใหญ่บิ๊กเบิ้มจนพลิกชีวิตโรงทอผ้าได้แบบสุดๆ แต่ก็ถือว่าเป็นแสงกลางๆ ที่ทำให้คนที่รู้สึกว่าไม่มีทางโตต่อไปแล้วได้เห็นเป็นตัวอย่างว่าเป็นไปได้ และยังเป็นแสงที่คอยสาดส่องให้หัวใจของพนักงานและผู้บริหารในบริษัทมีความกระชุ่มกระชวยและพร้อมที่จะทำงานอย่างภาคภูมิใจในทุกวัน

“ถ้าวันนั้นเราย่อท้อ วันนี้ก็ไม่มีแบรนด์นิรันดร์ออกมาเหมือนกัน

ถ้าวันนั้น เรายอมรับว่าเราแพ้แล้ว มันก็คือแพ้แล้ว

แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องมีความหวัง ถึงแม้หลายคนจะบอกว่า มันคือความหวังลมๆ แล้งๆ

เรากลับมองว่า มันเป็นกำลังใจที่ทำให้เรามีแรงค้นหาต่อไปเรื่อยๆ มากกว่า

นั่นเพราะมันไม่สำคัญเลยว่า เราจะลองผิดลองถูกอีก 10 ครั้ง

แต่ถ้าเป็น 1 ครั้ง ที่มัน Jackpot มันก็เป็น 1 ครั้งนี้แหละที่คนจะจดจำเราตลอดไป”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ร.ต. จีรศักดิ์ จูเปาะ สุภาพบุรุษกาแฟ ผู้บุกเบิกโรบัสต้าบนดอยช้าง ปูอนาคตธุรกิจกาแฟไทย ในวันที่โลกร้อนขึ้น

เรื่องราวของ บี๋ - ร.ต. จีรศักดิ์ จูเปาะ ชายหนุ่มชาติพันธุ์แห่งบ้านห้วยน้ำมา ดอยช้าง จ.เชียงราย ที่เอากาแฟใต้มาปลูกทางเหนือ ทำให้ปัจจุบันพื้นที่บนดอยช้างเริ่มเต็มไปด้วยต้นกาแฟโรบัสต้า

จาก “เนื้อแคมป์ไฟ” สู่ “ลื้อมันรั้น” ชาเก๊กฮวยคราฟท์บาร์เจ้าแรกในไทย เพราะกล้ารั้นถึงได้ปัง!

ม่ใช่ทุกแบรนด์จะเกิดจากประโยคเรียบง่ายแต่ทรงพลังของคนรุ่นก่อน "ลื้อมันรั้น ก็ไปทำเอง"  คำพูดของอาม่าที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์  "ลื้อมันรั้น" ชาเก๊กฮวยคราฟท์บาร์เจ้าแรกในไทย