สูตรลับคืนทุนใน 150 วัน “มีเดียมนมสด” จากร้านนมเล็กๆ ในอุบลฯ สู่แบรนด์ดาวรุ่งแห่งภาคอีสาน

Text: Neung Cch.

Photo: มีเดียมนมสด


     ในวันที่ธุรกิจมากมายยังลังเลที่จะเริ่มต้น ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ร้านนมเล็กๆ ใจกลางเมืองอุบลฯ แห่งนี้ กลับเลือก ลงมือทำทันที โดยมีเป้าหมายแสนธรรมดา ขายได้วันละ 7,000 บาทก็นับว่าประสบความสำเร็จแล้ว

     แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันแรกคือยอดขายทะลุ 40,000 บาท และภายในเวลาเพียง 150 วัน ร้านนี้คืนทุน

     นี่คือเรื่องราวของ “มีเดียมนมสด” ร้านนมโลเคชันกลางเมืองเก่า ที่ไม่มีหน้าร้านในห้าง ไม่มีแคมเปญการตลาดอลังการ และไม่ได้เริ่มจากการเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงใดๆ ในโลกออนไลน์

     สิ่งที่ทำให้ร้านนี้โตเร็ว กลับเป็นองค์ประกอบธุรกิจที่แสนเรียบง่ายแต่แม่นยำ ทั้งการเลือกโลเคชันอย่างมีกลยุทธ์ การเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในพื้นที่ การบริหารต้นทุนอย่างมีวินัย และความกล้าในการเร่งขยายธุรกิจในจังหวะที่ใช่

     เพื่อหาคำตอบเราชวน ขจีนิจ วิตตะ ผู้ก่อตั้งร้าน มีเดียมนมสด มานั่งเล่าเบื้องหลังเส้นทางที่ไม่ง่าย แต่น่าจดจำนี้

จากคำถามเล่นๆ ที่เปลี่ยนเป็นธุรกิจจริงจัง

     “ทำไมคนอุบลฯ ต้องกินแต่แหนมเนือง?”

      คำถามที่ฟังดูเล่นๆ กลับเป็นจุดเปลี่ยนจริงจังให้ ขจีนิจ หันมามองตลาดของหวานและเครื่องดื่มในบ้านเกิดอย่างจริงจัง “ตอนนั้นกระแสร้านหนึ่ง นม นัว ที่บรรทัดทองกำลังดัง แต่เรารู้สึกว่าอุบลฯ ยังไม่มีร้านนมที่เป็นจุดเช็กอินของคนรุ่นใหม่?”

     ขจีนิจจึงตัดสินใจเปลี่ยนจาก “ไม่มี” ให้กลายเป็น “มี” ด้วยการรีแบรนด์ร้านกาแฟเก่าชื่อ “มีเดียม” ที่คนในพื้นที่รู้จักดี ให้กลายเป็น “มีเดียมนมสด” เวอร์ชันใหม่—ที่ยังรักษาความคุ้นเคยไว้ แต่ตอบโจทย์เทรนด์คนรุ่นใหม่

 

ขจีนิจ วิตตะ ผู้ก่อตั้งร้าน มีเดียมนมสด

โลเคชันไม่ใช่แค่ทำเล แต่คือจุดยุทธศาสตร์

     เธอเลือกเปิดร้านบริเวณหัวมุมเมืองเก่าอุบลฯ ซึ่งแม้จะไม่ใช่พื้นที่ค้าขายระดับพรีเมียม แต่กลับเป็นย่านที่ผู้คนในชุมชนคุ้นเคย มีที่จอดรถสะดวก และมีความคลาสสิกในตัว

      กลยุทธ์นี้เน้นเจาะกลุ่มคนในพื้นที่จริง ไม่แข่งกับเชนใหญ่ในห้าง แต่เลือกเป็น “คาเฟ่นมของชุมชน” ที่เข้าถึงง่าย แต่มีภาพลักษณ์สดใหม่สำหรับวัยรุ่น

เปิดวันแรก ยอดทะลุเป้าเกือบ 6 เท่า

     ขจีนิจตั้งเป้าแค่ “วันละ 7,000 บาทก็คุ้มแล้ว” แต่วันแรกที่เปิดร้านกลับทำยอดได้เกือบ 40,000 บาท ความสำเร็จนี้ไม่ได้มาจากการโฆษณาออนไลน์แพงๆ แต่เป็นเพราะ

     - ป้ายไวนิลหน้าร้านที่ออกแบบให้ดึงดูดทำเลที่คนเดินผ่านทุกวัน

     - ความแปลกใหม่ของร้านนมในย่านที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน

     ผลลัพธ์คือ “ลูกค้าแน่นจนต้องเพิ่มพนักงานทันที”

     แต่ความสำเร็จก็พาความเครียดมาด้วย “ลูกค้าต้องรอนานมาก เราบริการไม่ทัน เป็นวันที่ทั้งดีใจและเครียดในเวลาเดียวกัน” เธอเล่า

ขายดีเกินคาดจน “เครียดจนอ้วก” ต้องเร่งสร้างครัวกลาง

     ยอดขายที่พุ่งอย่างต่อเนื่องทำให้ร้านคืนทุนในเวลาเพียง 5 เดือน เธอจึงตัดสินใจ สร้างครัวกลาง เพื่อควบคุมมาตรฐาน และเตรียมรองรับการขยายแฟรนไชส์ แต่การตัดสินใจครั้งนั้น กลายเป็นจุดเครียดที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

     “ยังไม่มีสูตรที่ลงตัว ครัวกลางก็ยังไม่เสร็จ แต่มีคนมาขอซื้อแฟรนไชส์แล้ว เราดีใจแต่ก็อ้วกเลยค่ะ เพราะยังไม่พร้อมจริงๆ”

     เธอจึงต้องเร่งหาจุดผิดพลาดพร้อมพัฒนาสูตรซิกเนเจอร์ เช่น สเลอร์ปี้นมสด (49 บาท) บาร์บัสเตอร์โทสต์ (150 บาท) เมนูกิมมิกหมุนเวียนอย่าง ไอศกรีมทอด และ หมูปิ้งบอยแบนด์ ทุกเมนูเกิดจากการทดลองซ้ำๆ ในเวลาจำกัด เพื่อให้พร้อมรับการขยายธุรกิจ

     การมีครัวกลางไม่เพียงทำให้ร้านได้มาตรฐาน เธอบอกว่ายังช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบอีกด้วย

ลูกค้ากลายเป็นแฟรนไชส์ซี

    ไม่ต้องทำการตลาดมากนัก เพราะ 2 แฟรนไชส์แรกของร้านใน ศรีสะเกษ และ นครพนม เกิดขึ้นจากลูกค้าที่มากินขนมแล้ว “อินกับแบรนด์” จนตัดสินใจลงทุน ผลคือทั้ง 2 สาขาทำยอดขายดีต่อเนื่อง จนขจีนิจวางเป้าหมายต่อไปคือ เปิดสาขาเองที่ร้อยเอ็ด เพื่อสร้างความแข็งแรงในภาคอีสานก่อนจะไปไกลกว่านั้น

    “จังหวัดเล็กๆ โอกาสยังเยอะ เพราะคู่แข่งยังไม่แน่น”

เข้าใจลูกค้าแบบเจาะลึก = ขายได้ระยะยาว

    ขจีนิจสังเกตว่า ลูกค้ายุคนี้ไม่เหมือนตอนที่เธอเคยเปิดร้านขนมที่ศาลายาเมื่อ 7 ปีก่อน

    “ตอนนั้นคือลูกค้านักศึกษา เดี๋ยวนี้คือครอบครัว วัยทำงาน และวัยรุ่นที่เสพ TikTok หนักมาก” ร้านจึงต้อง ตั้งราคาสมดุล เช่น ขนมปังเริ่มต้น 25–30 บาท เพื่อให้คนรู้สึกว่า เข้าถึงง่าย แต่ไม่ทำลายคุณค่าแบรนด์

กลยุทธ์การตลาดเรียบง่ายแต่ทรงพลัง

    หนึ่งในสูตรลับของ “มีเดียมนมสด” คือการใช้ TikTok เป็นเครื่องมือสำคัญ “เราไม่ได้จ้างรีวิวให้ดัง เราจ้างให้ ติดอยู่ในระบบเสิร์ช ตลอดเวลา” โดยเฉพาะช่วงหยุดยาว สงกรานต์ หรือปีใหม่ เธอจะวางไทม์ไลน์ลงรีวิวก่อนวันหยุด 1–2 วัน

    “ถ้าลงคลิปวันที่ 11-12 เมษา พอยอดวิวเริ่มขึ้น ลูกค้าก็แห่มาร้านช่วงวันหยุดทันที ยอดขายเพิ่ม 30% เลยค่ะ"

    นี่คือตัวอย่างของการใช้ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคจริง ผสานกับการตลาดดิจิทัลแบบแม่นยำ

สูตรคืนทุนใน 150 วัน: ไม่ใช่เวทมนตร์ แต่คือการวางแผน

     ขจีนิจสรุปหัวใจสำคัญที่ทำให้ร้านคืนทุนภายใน 5 เดือนว่า มี 6 ข้อหลัก:

     - ลงทุนอย่างพอดี – ใช้อุปกรณ์เท่าที่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย

     - ตั้งราคาสมเหตุสมผล – สมดุลระหว่างต้นทุนกับกำลังซื้อในพื้นที่

     - ทำตลาดเชิงพื้นที่ – ป้ายไวนิลก็ทรงพลัง ถ้าเจาะถูกจุด

     - บริการให้ทัน – เพิ่มทีมทันทีเมื่อยอดพุ่ง ป้องกันเสียลูกค้า

     - ใส่ใจรายละเอียด – เช่น การติดแอร์เพื่อดูแลทั้งลูกค้าและอุปกรณ์

     - สร้างทีมที่เติบโตด้วยกัน – ใช้โมเดลหุ้น 10% กับพนักงานที่ไว้ใจ

     เธอเสริมว่า “ไม่ใช่ทุกคนจะเหมาะกับการเป็นหุ้นส่วน” ทีมต้องมีวิสัยทัศน์ตรงกัน และโตทันจังหวะธุรกิจ

เป้าหมายต่อไป: ครองใจทั้งภาคอีสาน

     ปัจจุบันร้านมีแผนกำลังรีโนเวตเพื่อให้ทันเทรนด์ใหม่ “ทั้งวัยรุ่นที่ชอบถ่ายลง TikTok และครอบครัวที่อยากได้นั่งสบาย” พร้อมพัฒนาเมนูใหม่ และโมเดลแฟรนไชส์ที่มั่นคง เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

    ไม่ใช่ทุกวันที่การตั้งคำถามธรรมดาอย่าง “ทำไมอุบลต้องกินแต่แหนมเนือง?” จะนำไปสู่คำตอบธุรกิจที่พลิกเกมแบบนี้ แต่ในวันที่เศรษฐกิจยังไม่สดใส “มีเดียมนมสด” พิสูจน์แล้วว่า ความกล้า เรียนรู้เร็ว และลงมืออย่างมีแผน—ยังเป็นสูตรสำเร็จที่ใช้ได้เสมอ

     ข้อมูลติดต่อ

     Facebook https://www.facebook.com/mediummilk

     โทรศัพท์  082 861 4943

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Pacha Mail ไอเดียสุดฮีลใจของนักศึกษา ที่เปิดรับสมัครเขียนจดหมายถึงคนแปลกหน้า

Pacha.mail คือโปรเจกต์เล็กๆ ของใบไผ่-ฉลองรัตน์ รัตนฟองแก้ว ที่เลือก "เขียนจดหมาย" ส่งกลอนที่แต่งเองให้คนเปลกหน้า แม้เธอไม่ได้ตั้งต้นทำเพื่อธุรกิจ เพียงแค่อยากส่งต่อพลังบวก แต่ใครจะไปคิดว่ามีคนที่อยากรับจดหมายและสมัครสมาชิกเพื่อรับจดหมายจากเธอทุกเดือน

แพงเกินเอื้อม เลยต้องทำเอง! Sonogo Design แบรนด์โคมไฟ ของนักศึกษาวัย 20 ปีที่เรียนรู้ด้วยเองจากยูทูป

เคยไหมที่เจอของแต่งบ้านสวยๆ แต่ต้องวางกลับลงไปเพราะราคาสูงเกินไป?  โจวี ลิม นักศึกษาวัย 20 ปี เป็นหนึ่งในนั้น เขาจึงตัดสินใจลงทุนซื้อเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และเริ่มต้นออกแบบโคมไฟเองจากห้องนอน จนกลายเป็นแบรนด์โคมไฟ Sonogo Design

Pet Project เปลี่ยน Waste ให้เป็นขนมสัตว์เลี้ยงแสนรัก ไอเดียเพิ่มมูลค่าของสาวนักการตลาด

เพราะรักสัตว์เหมือนลูก “หยง–จิณห์นิภา พลธนะวสิทธิ์” จึงใส่ใจเลือกอาหารให้เสมอ เมื่อมีโอกาสเริ่มธุรกิจเธอจึงสร้างแบรนด์ Pet Project ขนมสัตว์เลี้ยงจากเศษวัตถุดิบธรรมชาติในโรงเชือด โดยปัจจุบันมียอดขายหลักพันชิ้น ใช้วัตถุดิบกว่า 300-400 กก.ต่อเดือน