ภาษีที่ SMEs จำเป็นต้องจ่าย

 

 
]
เขียน ศิวะ แนวโนนทัน
 
 
การประกอบธุรกิจในรูปแบบ SMEs มีได้ทั้งบุคคลธรรมดาและในรูปแบบบริษัท เรื่องทางภาษีจึงมีความแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดา หรือบริษัท ล้วนแต่เป็นหน่วยภาษีที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ บทความนี้จึงอยากนำเสนอภาระภาษีแบบบอกเล่าสู่กันฟังอย่างง่ายๆในเรื่องที่ผู้ประกอบการควรต้องรู้กันครับ 
 
บุคคลธรรมดา (คนธรรมดาทั่วไป/คณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล) ที่ประกอบธุรกิจในรูป SMEs นั้น เงินได้ที่ได้รับจะเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจ 40(8) จะต้องนำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับมาคำนวณเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่11) พ.ศ.2502 ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือจะขอหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร อีกทั้งสามารถหักค่าลดหย่อนต่างๆที่มี ได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 47 ได้อีกด้วย
 
เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว SMEs ที่มีเงินได้สุทธิต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า (อัตราภาษีร้อยละ0-37) และยังต้องเสียภาษีเงินได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมินทั้งหมดที่ไม่ได้หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน โดยไม่คำนึงว่าในการประกอบกิจการในปีนั้นๆ จะมีกำไรหรือขาดทุนและตามมาตรา 48 (2) แห่งประมวลรัษฎากรและจัดทำบัญชีตามที่กฎหมายกำหนด
 
ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัท (บริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล) โดยส่วนมากเสียภาษีจากฐานกำไรสุทธิ จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการ (ดูจากหนังสือก่อตั้งของบริษัทว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไร) โดยการนำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะบัญชีนั้นมารวมคำนวณหากำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 และยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี  
 
ประเด็นทางภาษีเงินได้นิติบุคคลเนื่องจากว่า บัญชีเป็นหัวใจการบันทึกรายรับ/รายได้และรายจ่าย การเสียภาษีต้องอาศัยบัญชีในการเสียภาษี แต่อย่างไรก็ตามการบัญชีทั่วไปไม่สามารถเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถูกต้อง ต้องมีการปรับปรุงตามประมวลรัษฎากรตามมาตรา 65 ทวิและมาตรา65 ตรี เสียก่อนจึงจะยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 
 
ซึ่งบัญชีที่ผ่านการปรับปรุงตามกฎหมายภาษีเรียกว่า บัญชีภาษีอากร เนื่องจากการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลคิดจาก รายได้-รายจ่าย=กำไรสุทธิ รายจ่ายที่นำมาหักออกจากรายได้ต้องเป็นรายจ่ายตามบัญชีภาษีอากร รายจ่ายทางบัญชีภาษีอากรที่เป็นปัญหาอยู่เนืองๆคือ รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน, รายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยการไม่มีการจ่ายจริง, ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถือว่าเป็นรายจ่ายของบริษัท, การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ต่อแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวนักบัญชีต้องศึกษาแนวทางจากข้อหารือของกรมสรรพกรตามแต่ละปีและเข้าอบรมสม่ำเสมอกับกรมสรรพกรเพื่อการทำบัญชีและเสียภาษีให้ถูกต้อง
 
สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา/บริษัทนั้นถ้ารายรับถึง1,800,000 บาท ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้นๆ โดยต้องออกใบกำกับให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการจะออกให้บุคคลอื่นไม่ได้ 
 
เรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ที่ต้องพึงระมัดระวังคือข้อบกพร่องของใบกับกับภาษี เช่น ใบกำกับภาษีปลอม ใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออก ใบกำกับภาษีที่มีรายการไม่ครบถ้วนในสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด  เพราะในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ใบกำกับภาษี (ใบกำกับภาษีขาย, ใบกำกับภาษีซื้อ, ใบเพิ่มหนี้, ใบลดหนี้) ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ว่าการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคิดจากภาษีขาย-ภาษีซื้อ (เป็นภาษีที่ผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอื่นเรียกเก็บจากท่านในกรณีที่ท่านไปซื้อสินค้าหรือไปใช้บริการ) ถ้าเป็นภาษีซื้อต้องห้ามจะนำมาหักออกภาษีขายไม่ได้ทำให้ตัวผู้ประกอบการเองไม่สามารถผลักภาระภาษีตัวนี้ออกจากสินค้าหรือบริการของท่านได้
 
หรือกล่าวอีกอย่างคือ ภาษีซื้อจมอยู่ในสินค้าหรือบริการของท่านทำให้มีต้นทุนมากกว่าผู้ประกอบการอื่นสินค้าหรือบริการจึงแพงแข่งขันในทางการค้าลำบาก และแถมยังมีโทษทางกฎหมายภาษีในเรื่องเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ทำให้เสียเวลาต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอย่างไม่จำเป็น 
 
ทางแก้ปัญหา คือ ตรวจสอบคู่ค้าของผู้ประกอบการ ว่าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีหรือไม่  นอกจากนี้ต้องเช็คด้วยว่าใบกำกับภาษีที่ได้รับมามีข้อความครบถ้วนในส่วนสาระสำคัญตามที่กฎหมายภาษีกำหนดหรือไม่   
 
นอกจากนี้การทำการค้าการให้บริการมีการใช้ Internet ในการให้บริการที่เราเรียกว่า E-commerce การที่ลูกค้าของท่านสั่งซื้อหรือทำสัญญาผ่านจอคอมพิวเตอร์ย่อมมีผลต่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าของตนเองและออกใบกำกับภาษี รวมทั้งมีหน้าที่จัดทำบัญชี 
 
ดังนั้นผู้ทำบัญชีต้องมีความชัดเจนของ Tax point หรือจุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในการขายสินค้า (ทั่วไป,สินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อ, โดยมีการตั้งตัวแทนเพื่อขาย, สินค้าโดยส่งออก) การให้บริการ (ทั่วไป ตามสัญญากำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของบริการที่ทำ เป็นต้น)
 
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย อาจเกิดได้แก่การจ่ายเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดา และการจ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามหนังสือสัญญาต่างๆ อาทิ สัญญาเช่า สัญญาจ้างเหมา สัญญาบริการ สัญญาซื้อขาย  เป็นต้น 
 
ปัญหาที่มักพบคือเมื่อผู้จ่ายเงินยื่นแบบแสดงรายการ หัก ณ ที่จ่ายแล้ว มาพบภายหลังว่ากรอกรายการต่างๆในแบบที่ยื่นดังกล่าวไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้จ่ายเงินและผู้ถูกหักภาษี ทางแก้ คือ ต้อง ขอแก้ไขรายการในแบบที่ได้ยื่นไว้แล้วนั้น  โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการปฏิบัติงานกรรมวิธีการยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 23 มีนาคม 2553
 
เรื่องที่ได้นำเสนอในบทความเป็นประเด็นทางภาษีที่พบได้ตลอดในการทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็น SMEs หรือธุรกิจขนาใหญ่ ฉะนั้นต้องมีการบริหารเรื่องภาษีควบคู่ไปด้วยตลอดเวลา เพราะอย่าลืมว่ารายได้ของรัฐบาลนั้นส่วนใหญ่มาจากภาษีของคนในชาติและภาษีประเภทต่างๆ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องยื่นแบบกลางปีและสิ้นปี ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต้องนำส่งทุกเดือน จะเห็นได้ว่าถ้าขาดภาษีรัฐจะลำบากในเมื่อภาษีมาจากเงินของเราๆก็ต้องรู้จักการบริหารภาษีเพื่อการเสียภาษีที่ถูกต้องและประหยัดสำหรับธุรกิจของผู้ประกอบการเอง
 

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน