UOB แนะธุรกิจไทยปรับเกมรุก รับมือภาษีสหรัฐ ด้วยกลยุทธ์ดิจิทัล ความยั่งยืน และการขยายตลาดอาเซียน

     ผลสำรวจ UOB Business Outlook Study 2025 เผยให้เห็นแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจไทยท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ผันผวน โดยเฉพาะผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา และความไม่แน่นอนในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

     การสำรวจดังกล่าวจัดขึ้นในเดือนมกราคม 2568 และมีการสัมภาษณ์เชิงลึกเพิ่มเติมในเดือนเมษายน พบว่า แม้ภาคธุรกิจไทยจะดำเนินการด้วยความระมัดระวัง แต่ยังคงแสดงศักยภาพในการปรับตัวผ่านการขยายโอกาสในภูมิภาคอาเซียน การเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และการมุ่งสู่ความยั่งยืน

     รายงานระบุว่า หลังการประกาศมาตรการภาษีของสหรัฐฯ มากกว่าร้อยละ 90 ของธุรกิจไทยคาดว่าจะเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ขณะเดียวกัน ร้อยละ 68 เตรียมปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วขึ้น และร้อยละ 60 ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีมาตรการภาษีเป็นตัวเร่งสำคัญ

    วีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ Deputy CEO &  Wholesale Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ผลสำรวจ UOB Business Outlook Study ประจำปี 2568 สะท้อนถึงความสามารถของภาคธุรกิจไทยในการปรับตัวต่อความท้าทายระดับโลก ด้วยการมองหาโอกาสใหม่ในระดับภูมิภาค การประยุกต์ใช้เครื่องมือดิจิทัล และการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ล้วนเป็นแนวทางที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในภาคธุรกิจในระยะยาว อย่างมั่นคง ธนาคารยูโอบีพร้อมสนับสนุนภาคธุรกิจไทยอย่างเต็มที่ ด้วยโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์ ความเชี่ยวชาญในตลาดภายในประเทศ และเครือข่ายที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน”

     ด้าน สถิตย์ แถลงสัตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ เสริมว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มสำคัญที่ภาคธุรกิจไทยควรเร่งปรับตัว เพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงและผลักดันศักยภาพใหม่ในยุคที่บริบททางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

1. ภาษีสหรัฐฯ กดดันความเชื่อมั่น จุดประกายแผนปรับตัว

     ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจไทยปรับลดลงจากร้อยละ 58 ในปี 2567 เหลือร้อยละ 52 หลังการประกาศมาตรการภาษีนำเข้า โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่แสดงความกังวลอย่างชัดเจน

     ปัจจัยสำคัญที่สร้างแรงกดดันคือ ต้นทุนการดำเนินงานและเงินเฟ้อ โดยร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น และร้อยละ 57 คาดว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัว กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์และธุรกิจบริการ

     แนวทางสำคัญที่ภาคธุรกิจเริ่มดำเนินการ ได้แก่

     - การลดต้นทุน ธุรกิจ 3 ใน 5 โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ซึ่งร้อยละ 67 ได้ดำเนินมาตรการควบคุมค่าใช้จ่าย

     - การเพิ่มรายได้ ผ่านการขยายฐานลูกค้าใหม่ และการร่วมมือเชิงกลยุทธ์

     - การมองหาการสนับสนุน ธุรกิจให้ความสำคัญกับความช่วยเหลือทางการเงิน (ร้อยละ 92) การสนับสนุนด้านการค้าและซัพพลายเชน (ร้อยละ 65) และการฝึกอบรมหรือคำปรึกษาเชิงลึก (ร้อยละ 50)

2. ซัพพลายเชนผันผวน ดันธุรกิจหันสู่ตลาดภูมิภาค

     ร้อยละ 90 ของธุรกิจไทยมุ่งเน้นการจัดการห่วงโซ่อุปทาน แต่ผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ ทำให้ความท้าทายทวีความรุนแรง โดยร้อยละ 80 คาดว่าจะเผชิญแรงกดดันเพิ่มจากเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

     แนวทางที่ได้รับความนิยม ได้แก่

     - การวิเคราะห์ข้อมูล: ธุรกิจ 4 ใน 10 ราย นำการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้เพื่อการตัดสินใจที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งกลายเป็นกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2024 แซงหน้ากลยุทธ์การกระจายความเสี่ยง

     - การค้าภายในภูมิภาคอาเซียน: ธุรกิจเปลี่ยนไปใช้ทางเลือกในภูมิภาคมากขึ้น ส่งผลให้การค้าภายในภูมิภาคเติบโต

     - ความต้องการสนับสนุน: ธุรกิจมองหามาตรการจูงใจทางภาษี การเข้าถึงเทคโนโลยี และการฝึกอบรมแรงงาน

3. เร่งเปลี่ยนผ่านดิจิทัล เสริมศักยภาพองค์กร

     การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นกลยุทธ์สำคัญ โดยเกือบร้อยละ 40 ของธุรกิจไทยได้นำเทคโนโลยีมาใช้เต็มรูปแบบแล้ว และร้อยละ 68 มีแผนเร่งการเปลี่ยนผ่านต่อไป โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง

     ประโยชน์ที่เห็นได้ชัด ได้แก่

     - การสื่อสารกับลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

     - การขยายตลาดได้รวดเร็วขึ้น

     - การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ตรงจุด

     อย่างไรก็ตาม อุปสรรคยังคงอยู่ ทั้งเรื่อง ความปลอดภัยไซเบอร์ ต้นทุน และความเสี่ยงด้านข้อมูล ซึ่งเป็นเหตุให้ภาคธุรกิจต้องการการสนับสนุนด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและการฝึกอบรมเฉพาะทาง

4. ขยายสู่ต่างประเทศ เน้นตลาดอาเซียนเป็นเป้าหมายหลัก

     ธุรกิจไทยเกือบร้อยละ 90 มีแผนขยายสู่ตลาดต่างประเทศ โดยมากกว่าร้อยละ 50 คาดว่าจะเร่งดำเนินการหลังประกาศภาษี

     ประเทศที่ถูกจับตามากที่สุด ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม จีนและเอเชียเหนือ เป็นลำดับถัดไป

     แรงผลักดันสำคัญคือการเติบโตของรายได้ แม้จะยังมีข้อจำกัดด้านฐานลูกค้าและความเข้าใจตลาด ทำให้ภาคธุรกิจต้องการ  ข้อมูลเชิงลึกเฉพาะประเทศ การสนับสนุนทางการเงิน เครือข่ายพันธมิตรเพื่อสร้างโอกาสตลาดข้ามพรมแดน

5. ปัญหาแรงงานยังเป็นโจทย์ใหญ่ของธุรกิจไทย

     ธุรกิจไทยร้อยละ 50 เผชิญปัญหาด้านแรงงาน โดยเฉพาะเรื่องค่าตอบแทนและความยืดหยุ่นการทำงาน ซึ่งยิ่งรุนแรงขึ้นจากความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ และการเข้ามาของเทคโนโลยีอย่าง AI

     เกือบร้อยละ 40 ของธุรกิจมีปัญหาในการรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ แนวทางในการรับมือ ได้แก่

     - การเพิ่มค่าตอบแทน

     - การนำระบบดิจิทัลมาปรับใช้

     - การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน

     - การสลับบทบาทหน้าที่ภายในองค์กร

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ถึงเวลา Influencer ต้องเตรียมตัว วางแผนภาษีให้ดี ก่อนโดนเบี้ยปรับหนักเป็น 2 เท่า!!

ได้เวลามาอัปเดตภาษี Influencer ล่าสุด จะได้รู้ว่า ต้องวางแผนอย่างไร และคำนวณได้ด้วยตัวเองว่า จะต้องเสียภาษีเท่าไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่จะพาเสียชื่อและภาพลักษณ์แบบที่ไม่น่าจะเกิดได้ในภายหลัง

Virtual Bank มาแล้ว!  โอกาสทอง SME หรือแค่กระแส?  เจาะนวัตกรรมการเงิน บทเรียนจากต่างประเทศ

พาคุณเจาะลึกว่า Virtual Bank คืออะไร ทำไมถึงสำคัญกับ SME และบทเรียนจากต่างประเทศที่เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส พร้อมกลยุทธ์ให้ SME เตรียมตัวคว้าโอกาสทองนี้ก่อนใคร!

ธุรกิจใช้รถผิดวิธี ต้นทุนบานไม่รู้ตัว ปลดล็อกต้นทุนแฝง พร้อมกลยุทธ์คุมงบแบบมือโปร

รถแค่ 1 คันในบริษัทอาจดูไม่ใช่ต้นทุนใหญ่อะไรนัก...แต่ในความจริง มันอาจกำลังกัดกินกำไรคุณอยู่ทุกเดือน  นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของคนขับรถ แต่มันคือวิกฤตของเจ้าของธุรกิจ เราเลยจะมาแนะนำ 3 กลยุทธ์ปิดจุดรั่ว สร้างกำไรจากรถทุกคัน