เป็นที่ทราบกันดีว่าในปี พ.ศ. 2558 นั้นประเทศไทยของเราจะมีส่วนร่วมในการเปิดการค้าเสรีระหว่างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยมีการคาดการณ์กันว่า AEC จะดึงดูดให้เงินทุนโดยตรงจากต่างชาติไหลเข้าประเทศอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะจาก อเมริกาและ ยุโรป
ช่องทางที่ง่ายที่สุดที่บริษัทธุรกิจต่างประเทศจะเริ่มธุรกิจในอาเซียน ก็คือ การหาบริษัทพันธมิตรในอาเซียนที่จะร่วมทุนทำธุรกิจ และเมื่อพูดถึงการร่วมทุนทางธุรกิจสิ่งหนึ่งที่ชาวต่างชาติให้ความสำคัญ ในการพิจารณาที่จะร่วมทุนกับพันธมิตรธุรกิจคือการมีระบบบัญชีที่แสดงสถานะการเงินอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องภาษีอย่างถูกต้อง
เนื่องจากผู้เขียนอยู่ในธุรกิจที่ให้บริการทางบัญชีกับชาวต่างชาติ จึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาว่ามีนักลงทุนเริ่มเข้ามาตั้งธุรกิจในไทยเพื่อรอโอกาสจาก AEC ดังนั้นสิ่งที่ SMEs ไทยต้องเริ่มคิดก้อคือจะตั้งรับกับคู่แข่งหน้าใหม่ๆจำนวนมากที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดอย่างไร และจะหาประโยชน์จากโอกาสการร่วมทุนกับพันธมิตรชาวต่างชาติอย่างไร
ไม่ว่าจะเป็นการชกป้องกันแชมป์หรือการเปิดประตูธุรกิจให้พันธมิตรเข้ามาร่วมทุน สิ่งที่สำคัญที่ต้องเตรียมตัวเสียตั้งแต่วันนี้คือการจัดระบบบัญชีให้เป็นสากลเพราะถ้ารอให้ถึงปี 2558 แล้วค่อยทำเกรงว่ามันจะสายเกินการณ์
เริ่มต้นด้วยการเลือกใช้ระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ที่ไม่แพงและเป็นที่รู้จักในระดับสากล อันได้แก่ QuickBooks, Peachtree, MYOB เป็นต้น เพราะโปรแกรมบัญชีเหล่านี้ได้ถูกออกแบบให้รองรับบัญชีบริหารอยู่แล้วและถ้าจะให้ดีก็ลองพิจารณาว่าจะใช้ version ที่เป็นระบบ online ของเขาเพื่อรองรับการที่ผู้บริหารสามารถเข้าถึงตัวเลขทางบัญชีเพื่อใช้ในการตัดสินใจได้อย่างทันที ไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหนของโลก เมื่อมีระบบบัญชีที่ดีแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการบันทึกข้อมูลที่ดีแบบ ถูกต้อง ครบถ้วน ทันการณ์และประหยัดซึ่งหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทหลังๆจากนี้
ส่วนนักบัญชีที่จะมาทำงานนี้ให้ก้อควรเป็นนักบัญชีรุ่นใหม่ที่เห็นถึงความสำคัญและสามารถทำบัญชีแบบสากลและปิดบัญชีให้ทันการณ์อย่างน้อยเดือนต่อเดือน ถ้าจะให้แนะนำกันจริงๆ อยากจะให้คิดถึงการ outsource งานบัญชีให้กับสำนักงานบัญชีที่เชื่อถือได้ให้มากเข้าไว้
เพราะทุกวันนี้นักบัญชีขาดแคลนเหลือเกิน ถ้าจ้างนักบัญชีภายในจะต้องเจอกับปัญหาการเข้า-ออกบ่อยอันจะทำให้ระบบบัญชีเละเป็นโจ๊ก แต่การ outsource จะทำให้อย่างน้อยก็มีองค์กรที่รับผิดชอบเป็นเจ้าภาพกับงานบัญชีของเราตลอด ส่วนสำนักงานบัญชีที่เชื่อถือได้นั้นลองไปค้นหาจาก Google คำว่า “สำนักงานบัญชีคุณภาพ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า” จะพบรายชื่อของสำนักงานบัญชีที่ได้รับการรับรองคุณภาพ จากกรมฯนี้และลองคุยเปรียบเทียบและตกลงเงื่อนไขกันดู
เมื่อมีโปรแกรมและนักบัญชีที่ดีแล้วเราควรจะได้ผลผลิตที่ดีคือรายงานทางบัญชี ที่สามารถนำมาใช้ในการตัดสินใจเชิงธุรกิจได้
เรื่องของภาษีระบบภาษีธุรกิจก็ต้องศึกษาและปฏิบัติให้ถูกต้องเพราะผู้ร่วมทุนชาวต่างชาติเขาไม่อยากแขวนอยู่บนความเสี่ยง เขาจะเน้นการเสียภาษีให้ถูกต้องแต่อาจจะนำการวางแผนภาษีเข้ามาช่วยให้เสียอย่างประหยัด,
เมื่อชาวต่างชาติเขาคิดจะร่วมทุนสิ่งแรกที่เขาจะถามหาคืองบผู้สอบบัญชีที่รวมเอางบดุลและงบกำไรขาดทุนอยู่ในนั้น เขาก็จะศึกษาข้อมูลและถ้าเห็นว่ามีตัวเลขที่น่าสนใจ น่าร่วมลงทุนเขาก็จะทำการ Due deligenc คือเอานักบัญชีมืออาชีพเข้าม้าตรวจสอบความน่าเชื่อถือของงบการเงิน
เช่น ตรวจดูความมีอยู่จริงของข้อมูล เงินสด เงินฝากธนาคาร ทรัพย์สิน สต๊อคสินค้า ลูกหนี้ ด้วยการขอรายละเอียดจากเราและนำไปสอบยันกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่นกรณี เงินสด สต๊อคสินค้า หรือสินทรัพย์ก้ออาจ จะขอตรวจนับของจริง กรณ๊เงินฝากธนาคารหรือลูกหนี้เขาก็จะทำจดหมายไปยืนยันยอดกับธนาคารหรือลูกหนี้การค้า ดังนั้นจะเห็นได้ว่าระบบบัญชีนั้นต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้จริง จึงจะสอบผ่าน
ส่วนกรณีที่เราบอกว่าไม่คิดจะร่วมทุนกับใคร ก้อไม่ใช่ว่าจะไม่ต้องจัดระบบบัญชีแต่กลับจะต้องจัดหนักเพราะแปลว่าเรากำลังจะต้องสู้กับคู้แข่งทางการค้าโดยจะต้องมีตัวเลขทางบัญชีที่ดีแบบ ไว้ช่วยในการตัดสินใจกำหนดกลยุทธทางการค้า ดังนั้นอย่างที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นก็คือท่านต้องเริ่มจัดระบบบัญชีตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงเพื่อการแข่งขันและโอกาสธุรกิจในยุค AEC