Just In Time ลดสต๊อก ลดเสี่ยง เพิ่มกำไร

TEXT กองบรรณาธิการ
 
 
 
    ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มค้าส่งหรือเทรดดิ้งมักจะมีพฤติกรรมสต๊อกสินค้าไว้จำนวนมาก เนื่องจากการซื้อในปริมาณมากจากผู้ผลิต ผู้ประกอบการอาจจะได้รับข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น ส่วนลดเป็นกรณีพิเศษจากการสั่งสินค้าล็อตใหญ่ แต่สำหรับสถาบันการเงินแล้วการสต๊อกสินค้าจำนวนมากแบงก์ไม่ถือว่าเป็นการสร้าง “วินัยทางการเงิน” ที่ดีและอาจสร้างปัญหากับผู้ประกอบการได้ในภายหลัง 
 
 
สต๊อกสินค้า เพิ่มความเสี่ยง
 
หนึ่งในเหตุผลที่สถาบันการเงินมีความกังวลเมื่อปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคือการนำเงินสินเชื่อนั้นไปใช้ “ผิดวิธี” เช่น นำเงินไปใช้ในเรื่องนอกธุรกิจ โดยพฤติกรรมของผู้ประกอบการที่ธนาคารมักพบเป็นประจำคือการขอสินเชื่อเพื่อสั่งซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากผู้ผลิตมากักตุนไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นวิธีการทำธุรกิจของคนจีนสมัยโบราณที่มีค่านิยมในการทำธุรกิจว่าถ้าลูกค้าต้องการสินค้าต้องหามาให้ได้ทันที เช่นที่เราอาจได้เห็นจากร้านโชห่วยสมัยก่อน
 
 
แต่หากเป็นวิธีการบริหารจัดการธุรกิจสมัยใหม่แล้ว วิธีการดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับ “ต้นทุน” มหาศาล ในการสั่งสินค้าหรือวัตถุดิบเข้ามาเก็บไว้ โดยที่ไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะมีออร์เดอร์จากลูกค้าเข้ามาหรือไม่ ส่วนหนึ่งเพราะผู้ผลิตที่เป็นคู่ค้าอาจต้องการระบายสต๊อกของตัวเองจึงมีการทำโปรโมชั่นลดราคาให้เมื่อสั่งซื้อสินค้าล็อตใหญ่
 
 
นอกเหนือจากความเสี่ยงที่จะไม่สามารถขายสินค้าได้หมดจนเป็นภาระที่ต้องจัดการในอนาคต ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของราคาวัตถุดิบหรือราคาสินค้าที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งราคาในท้องตลาดอาจมีความผันผวนสูง บางครั้งราคาที่เราสั่งสต๊อกเข้ามาเมื่อสามเดือนที่แล้ว เมื่อเวลาผ่านไปราคาอาจจะตกลงทำให้ไม่สามารถขายต่อในราคาตลาดได้อีก
 
 
 
หรือสินค้าประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงในการ “ตกรุ่น” ในเวลารวดเร็ว ถ้าหากสั่งเข้ามาจำนวนมากเกินความต้องการของตลาด อาจทำให้ผู้ประกอบการต้องบันทึกค่าเสื่อมราคาสินค้าลงไปในบัญชี มีผลทำให้งบการเงินออกมา “ขาดทุน” ก็เป็นได้
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานบัญชีใหม่ที่นำมาใช้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บังคับให้ต้องบันทึกกำไรหรือขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าหรือวัตถุดิบที่มีอยู่ในสต๊อกทุกไตรมาสทำให้ผล
 
 
ประกอบการของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อ-ขายสินค้าโภคภัณฑ์อาจเหวี่ยงขึ้นลงตามราคาในตลาดโลก แม้ว่าถ้าราคาตีกลับขึ้นมาก็จะสามารถบันทึกส่วนที่ขาดทุนทางบัญชีกลับมาได้ แต่ก็ไม่คุ้มเสี่ยงที่จะสต๊อกสินค้าจำนวนมาก
 
 
เหตุผลข้อหนึ่งที่เจ้าของกิจการมักจะยกขึ้นมาคือการเกรงใจคู่ค้าที่ส่งสินค้าหรือวัตถุดิบให้ ทำให้ลำบากใจที่จะขอหยุดรับสินค้ามาจำหน่ายชั่วคราว ซึ่งหากมีแนวคิดแบบนี้จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการบริหารจัดการ
 
 
 
แบกรับต้นทุนทางการเงินเพิ่ม
 
นอกจากนี้ ยังสร้างปัญหาเรื่องของต้นทุนการเงินสำหรับธุรกิจค้าส่งหรือเทรดดิ้ง ถ้าหากใช้สินเชื่อหมุนเวียนกับการสั่งสินค้ามาสต๊อกไว้มากๆ โดยที่ไม่สามารถขายกลับออกไปเพื่อนำกระแสเงินสดกลับมาสู่บริษัทได้ ถือว่าเป็นต้นทุนที่สูญเปล่าอย่างมาก ไม่นับการแก้ไขปัญหาของบางรายที่ต้องหันไปกู้เงินนอกระบบมาทีเดียว
 
 
รวมถึงการขาดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อหมุนเวียนในครั้งต่อไป เนื่องจากธนาคารจะนำสินค้าคงค้างมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้แต่ไม่สามารถจะค้ำประกันได้ซ้ำสองครั้งถ้าหากยังไม่ชำระคืนเงินกู้งวดแรก ทำให้ผู้ประกอบการอาจขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว
 
 
การบริหารจัดการเงินสด (Cash Management) ที่ดียังช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงไปได้ด้วย แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ปัญหาที่พบเจอสำหรับเอสเอ็มอีคือขายสินค้าได้จำนวนมากแต่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้หมุนเวียนหรือจ่ายเงินเดือนพนักงาน เนื่องจากมีวันจ่ายเช็คออกไปให้คู่ค้ามากกว่าวันรับเช็คจากคู่ค้า ทำให้กระแสเงินสดไหลเข้าและไหลออกไม่สมดุลกัน  ผลคืองบกระแสเงินสดอาจออกมาติดลบ
 
 
ทั้งนี้ หากสถาบันการเงินตรวจพบพฤติกรรมเหล่านี้จะลดความน่าเชื่อของเจ้าของกิจการลงเนื่องจากทำผิดวินัยทางการเงินที่ดี ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อในครั้งต่อไป
 
 
กรณีศึกษาของบริษัทที่เคยมีปัญหากับการบริหารจัดการต้นทุนของการสต๊อกสินค้านั่นคือ บริษัท แอปเปิล คอมพิวเตอร์ โดยสมัยก่อนบริษัทเคยมีโรงงานผลิตเป็นของตัวเองและมีการเร่งผลิตเพราะได้สั่งซื้อวัตถุดิบเข้ามาจำนวนมากเนื่องจากได้ราคาถูกและตอนนั้นยังไม่มีระบบการจัดจำหน่ายที่ดีพอ ทำให้ต้องผลิตคอมพิวเตอร์แมคอินทอชจำนวนมากมาสต๊อกเก็บไว้ 
 
 
ผลคือต้นทุนการจัดเก็บดูแลรักษาขึ้นมาอยู่ในระดับสูง ขณะที่ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ประกอบกับคู่แข่งมีการผลิตสินค้าอื่นที่ได้รับความนิยมกว่าทำให้แอปเปิลในเวลานั้นต้องสูญเสียอัตราการทำกำไรจำนวนมากและไม่สามารถระบายสินค้าออกได้
 
 
สิ่งที่สตีฟ จอบส์ แก้ไขในเวลานั้นคือ การเชิญ ทิม คุ๊ก ซึ่งเป็นซีอีโอในปัจจุบันมารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) เขาตัดสินใจสั่งปิดโรงงานผลิตและโรงงานสต๊อกสินค้าเพื่อที่จะโอนไลน์ผลิตทั้งหมดไปยัง Out Source ทั้งหมดในประเทศจีน 
 
ผลที่ตามมาคือ แอปเปิลสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้ไม่มีหนี้และมีกระแสเงินสดภายในบริษัทมากกว่างบการคลังของสหรัฐฯ เสียอีก
 
สำหรับผู้ประกอบการ SME สามารถบริหารจัดการต้นทุนสต๊อกสินค้าและวัตถุดิบได้ด้วยแนวคิดที่เรียกว่า Just in Time หรือต้องการเท่าไรรับเท่านั้น ขายเท่านั้น จะเน้นสร้างรอบของการผลิตให้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถรับวัตถุดิบเข้ามาและผลิตออกไปรับกระแสเงินสดเข้ามาให้มีระยะเวลาสั้นที่สุด ขณะเดียวกันสำหรับบริษัทเทรดดิ้งก็สามารถใช้แนวคิดนี้ได้เช่นกัน
 
 
แต่การที่จะนำระบบดังกล่าวมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบจำเป็นที่จะต้องมีการวางระบบโลจิสติกส์ทั้งภายในและภายนอกอย่างเป็นระบบ รวมถึงลงทุนกับระบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่จะประมวลผลระดับของวัตถุดิบให้สอดคล้องกับออร์เดอร์ที่เข้ามาได้อย่างลงตัว 
 
 
สำหรับ SME ที่ต้องการลดต้นทุนในส่วนดังกล่าวจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับระบบการจัดการภายในมากขึ้น เพราะการรักษาวินัยทางการเงินที่ดีรวมถึงการบริหารเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวสูงและสามารถแข่งขันกับใครก็ได้
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน