7 แนวทางรักษาวินัยทางการเงิน

Text : เจษฎา ปุรินทวรกุล
 

 
 
 
                 การเริ่มต้นธุรกิจมักมาพร้อมกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการรายใหม่ๆ มักใช้เวลาในช่วงเดือนแรก เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง หนึ่งในนั้นรวมถึงเรื่องของการใช้จ่าย และเก็บรักษาเงินอย่างเป็นระเบียบ เราอาจคิดวางแผนดำเนินการธุรกิจให้เติบโต ขยายบริษัทให้รุ่งเรืองขึ้นแท่นอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่หากไม่สามารถรักษากระแสเงินสดเอาไว้ เป้าหมายไม่ว่าจะเล็กใหญ่แค่ไหนก็คงอย่าหมายว่าจะเดินไปถึง 

 
                 สิ่งสำคัญคือ นิสัยการใช้เงิน ซึ่งควรได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ยังเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก เพื่อให้มีวินัยในการใช้จ่ายและรู้จักอดออม โดยในระยะยาวจะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ดีต่อไปในอนาคต ทั้งนี้เคล็ดลับการใช้จ่ายเงินในช่วงเริ่มต้นธุรกิจโดยไม่เสียวินัยทางการเงิน มีดังนี้
 
 
1. ทำความเข้าใจเรื่องรายได้ กับกำไร และรู้จักทำบัญชีรับ-จ่าย 
 
                 ท่องไว้เสมอว่า เงินทองนั้นหายาก ดังนั้น พยายามใช้สอยอย่างประหยัด และอย่าเข้าใจผิดว่ารายได้ หมายถึงกำไร ผู้ประกอบการบางคนเข้าใจว่า บริษัทมีรายได้มหาศาล แต่รายได้ไม่ใช่กำไร บางครั้งหักลบต้นทุนกับค่าใช้จ่ายออกมาแล้วเหลือกำไรเพียงส่วนเดียวเท่านั้น 
 
                 เมื่อเข้าใจผิดว่า รายได้มหาศาล พร้อมกับไม่รู้จักทำบัญชี ก็ประมาทพลาดพลั้งต่อไปด้วยการนำเอารายได้ไปใช้จ่ายในเรื่องส่วนตัว หรือใช้จ่ายเกินกำลัง ส่งผลให้ขาดสภาพคล่องและขาดเงินหมุนเวียนทางธุรกิจ สุดท้ายหากไม่กู้ก็ต้องเสียหลัก และอย่างร้ายแรงคือปิดกิจการ
 
 
2. แยกบัญชีเงินส่วนตัวและเงินที่ใช้ทำธุรกิจออกจากกันให้ชัดเจน
 
                 ผู้ประกอบการขนาดเล็กหลายต่อหลายราย ดำเนินธุรกิจไม่รอดเพราะนำเงินส่วนตัวกับเงินในการทำธุรกิจเข้ามาใช้ปะปนกันจนสุดท้ายแยกไม่ออกว่า เงินส่วนไหนเป็นเงินอะไร โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีธุรกิจหลากหลาย เช่น ขายเนื้อสัตว์สดให้กับร้านค้าส่ง พร้อมกับแปรรูปเนื้อสัตว์ไปด้วย ในทางปฏิบัติควรแยกบัญชีให้ชัดเจน เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนและกำไรของแต่ละธุรกิจ ที่สำคัญในแต่ละธุรกิจก็ต้องให้ค่าแรงตัวเองด้วย
 
 
3. เมื่อต้องจ้างพนักงานให้มองไปที่ความคุ้มค่าและคุ้มทุน
 
                 หากต้องจ้างพนักงาน ให้คำนึงถึงคุณภาพและความสามารถ มากกว่าเรื่องของปริมาณ เพราะหากคุณจ้างคนที่ถูกต้อง ขยัน อดทน อาจสามารถทำงานได้เท่ากับคนขี้เกียจรวมกัน 3 คนเลยก็ได้ ดังนั้น พยายามลงทุนในเรื่องการคัดเลือกและสัมภาษณ์พนักงานเข้าทำงานด้วยตัวเอง จะได้รับคนที่ถูกใจมาร่วมงานจริงๆ
 
 
4. ใช้ซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้งานเดินหน้าไปอย่างอัตโนมัติได้
 
                 ไม่จำเป็นที่เราต้องบริหารงานด้วยตัวเองไปซะทุกเรื่อง หากมีซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้เราบริหารจัดการเรื่องราวใดๆ ได้ คุณไม่ควรมองข้ามตัวเลือกเหล่านั้น เพราะสำหรับผู้ประกอบการ เวลาล้วนแต่เป็นเงินเป็นทอง ยกตัวอย่างเช่น ใน สหรัฐอเมริกา มีโปรแกรม MailChimp ที่ช่วยเหลือในด้านการตลาดอีเมล ใช้สำหรับจัดการสมาชิก ส่งอีเมล ช่วยติดตามผล ซึ่งสามารถใช้งานผสานกับโปรแกรมอื่นๆ ได้ เป็นต้น 
ลองใช้เวลาศึกษาดูว่า สิ่งที่เราต้องทำ มีโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์สำเร็จรูปแบบไหนช่วยแบ่งเบาภาระ หรือช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นได้บ้าง ซึ่งบางโปรแกรมอาจต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี ก็ลองหาโปรแกรมที่เปิดให้ใช้งานฟรีมาทดสอบใช้ดูก่อน ในอนาคตหากองค์กรมีการขยับขยายค่อยลงทุนเพิ่มอีกสักนิดก็คงไม่เป็นไร       
 
 
5. ระมัดระวังเรื่องกระแสเงินสดอยู่เสมอ
 
                 ในแต่ละธุรกิจมีรูปแบบการใช้จ่ายรายเดือนที่แตกต่างกันออกไป บางธุรกิจต้องจ่ายเงินในการผลิตสินค้าล่วงหน้า อาจจ่ายครึ่งหนึ่ง อาจจ่ายเต็ม หรืออาจสั่งผลิตในปริมาณที่มากเพื่อให้ต้นทุนต่อชิ้นถูกลง จากนั้นจึงนำสินค้าไปวางจำหน่าย กว่าจะได้เงินกลับคืนมา หรือมีค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ต้องชำระในแต่ละปีในช่วงเดือนใด ก็ต้องพิจารณาและทำบัญชีให้รอบคอบ เพื่อให้แน่ใจว่าในแต่ละเดือนมีเงินเพียงพอในการชำระค่าต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เช่น เงินเดือน ค่าเช่าสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าธรรมเนียมต่างๆ ฯลฯ
 
 
6. การจ่ายเงินในการลงทุนทุกบาท ควรวัดผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ได้  
 
                 เหมือนที่กล่าวไว้ตามข้างต้นว่า เงินทองนั้นหายาก ดังนั้น พยายามใช้สอยอย่างประหยัด นอกจากนั้น ควรเพิ่มไปอีกนิดว่า การใช้เงินทุกบาทในการทำธุรกิจ ควรคิดก่อนใช้ คิดว่าใช้ไปเพื่ออะไร ซื้ออุปกรณ์หรือลงทุนไปแล้วจะได้อะไรตอบแทนกลับมา เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการใช้จ่าย และทำให้เงินที่จ่ายไปเกิดประโยชน์ต่อองค์กรอย่างสูงสุด
 
 
7. อดออมและลงทุน
 
                 สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจคือ ต้องไม่ลืมอดออมเงิน ดังนั้น ควรกันเงินที่เป็นกำไรไว้ส่วนหนึ่ง อาจเก็บไว้ที่ธนาคารหรือนำไปลงทุนในส่วนที่ไม่เสี่ยงต่อการขาดทุน เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ถอนออกมาใช้จ่ายได้ทัน อีกส่วนควรนำไปลงทุนตามความเหมาะสม เพื่อให้กำไรงอกเงยขึ้นมา การลงทุนนั้นดีกว่าเก็บเงินไว้เปล่าๆ เปรียบเสมือนการใช้ “เงิน” ให้ทำงานแทนเรา อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาช่องทางการลงทุนให้ดีก่อน ไม่เช่นนั้นอาจเจ็บตัวได้ง่ายๆ 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน