จับสัญญาณ “ไพรเวท อิควิตี้ ฟันด์” แหล่งทุนผู้ประกอบการ

 

 
  ไพรเวท อิควิตี้ ฟันด์ (Private Equity Fund) เป็นกองทุนที่ระดมเงินทุนจากผู้ลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนบำนาญ บริษัทประกัน หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ แล้วไปลงทุนในกิจการที่มีศักยภาพเติบโต โดยใส่ทรัพยากรทั้งเงินทุนและบุคลากรเข้าไปพัฒนาจนมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อขายทำกำไรต่อไป ตัวอย่างผู้จัดการกองทุนไพรเวท อิควิตี้ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้แก่ TPG, The Blackstone Group, Kohlberg Kravis Roberts (KKR) หรือ 3i Group
 
กลยุทธ์การลงทุนของกองทุนไพรเวท อิควิตี้ จะลงทุนในช่วงต่างๆ ของวงจรธุรกิจ เริ่มตั้งแต่ช่วงที่มีแค่แนวคิดหรือไอเดีย รอการพัฒนาเป็นสินค้าและบริการ ช่วงจัดตั้งบริษัทเพื่อเริ่มผลิตสินค้าและทำการตลาด หรือช่วงขยายกิจการ การลงทุนในช่วงนี้นิยมเรียกกันว่า “เวนเจอร์ แคปปิตอล” ซึ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะยังไม่รู้ว่าธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นจะประสบความ สำเร็จหรือไม่  
 
กองทุนไพรเวท อิควิตี้ ยังอาจเข้าไปซื้อกิจการที่ดำเนินงานมาระยะหนึ่งจนมีข้อมูลทางการเงินให้ได้วิเคราะห์กัน  โดยมีวัตถุประสงค์เป็นแหล่งทุนเพื่อขยายกิจการให้ใหญ่โตขึ้น หรือช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดีขึ้น นิยมเรียกการลงทุนในช่วงนี้ว่าบายเอาต์ (Buyout)
 
กองทุนไพรเวท อิควิตี้ สามารถขายกิจการ (Exit) ผ่านการขายหุ้นไอพีโอ หรือหุ้นเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การทำธุรกรรมซื้อขาย หรือการควบรวมกิจการ รวมทั้งการขายให้แก่ไพรเวท อิควิตี้ ฟันด์ รายอื่น 
 
จากบทวิเคราะห์ของแมคเคนซี่ พบว่าสัดส่วนการลงทุนของกองทุนไพรเวท อิควิตี้ ในเอเชียกำลังเพิ่มขึ้น ณ ขณะนี้กองทุนไพรเวท อิควิตี้ กำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการที่ตั้งอยู่ในจีนและอินเดีย  
 
ขณะที่ภาครัฐจีนสนับสนุนการลงทุนในกิจการประเภทกรีน เทคโนโลยี (Green Technology) อนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายของเงินลงทุนเครื่องจักรที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาหักลดหย่อนภาษี ยกเว้นภาษีเงินได้จากโครงการที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พลังงานและน้ำเป็นระยะเวลา 3 ปี 
 
มาที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับ 4 ของโลก และอันดับ 1 ในเอเชียที่มีกองทุนไพรเวท อิควิตี้มากที่สุดนั้น พบว่ามีจุดเด่นดังนี้ 1.ตลาดทุนอยู่ในระดับที่พัฒนาแล้วสามารถรองรับการขายหุ้นออกของกองทุนไพร อิควิตี้ได้ 2.มาตรฐานการคุ้มครองผู้ลงทุนและธรรมาภิบาล หรือ CG อยู่ในระดับสูง และ 3.มีความพร้อมทางด้านทรัพยากรบุคคล มีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการ และภาครัฐยังมีบทบาทในการเป็นผู้ร่วมลงทุนในกิจการใหม่ๆ 
 
นอกจากนี้ สิงคโปร์สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนไพรเวท อิควิตี้ ในประเทศ เช่น ทำข้อตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศต่างๆ กว่า 60 ประเทศ คิดอัตราภาษี 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับเงินได้จากการบริหารกองทุน (Corporate Income Tax ปกติ 17 เปอร์เซ็นต์) ยกเว้นภาษีเงินได้ให้กองทุนภายใต้โครงการ Enhanced-Tier Fund Tax Incentive Scheme ในช่วงปี 2552-2557 นอกจากนี้ ผู้ลงทุนในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจสามารถนำเงินลงทุนมาหักลดหย่อนรายได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินลงทุน    
        
ส่วนมาเลเซียสนับสนุนการลงทุนในเวนเจอร์ แคปปิตอล โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในช่วงที่ธุรกิจรอการพัฒนาเป็นสินค้าและบริการ ช่วงจัดตั้งบริษัทเพื่อเริ่มผลิตสินค้าและทำการตลาด ข้างต้น คือ ตัวอย่างความสำเร็จและการสนับสนุนกองทุนไพรเวท อิควิตี้ สำหรับประเทศไทย ยังมีอีกหลายอย่างที่เราต้องช่วยกันพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงระบบกฎหมายและภาษี การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความพร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจ การสนับสนุนให้ประชาชนเป็นผู้ประกอบการ เพื่อสร้างกิจการในประเทศให้มีความแข็งแกร่งพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ต่อไป
 
ดร.อุตตม สาวนายน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยพรอสเพอริตี้ แอ็ดไวซอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่บริหารกองทุนไพรเวท อิควิตี้ ได้สะท้อนถึงกองทุนไพรเวท อิควิตี้ที่จัดตั้งโดยคนไทยและระดมเงินทุนจากนักลงทุนในประเทศว่า ยังอยู่ใน ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น หรือเรียกได้ว่าเป็น “ต้นกล้าที่เพิ่งเกิด” โดยมีสาเหตุหลักๆ มาจาก 2 ประเด็นดังนี้ 
 
ประเด็นแรก วัฒนธรรมของธุรกิจไทยที่ยังเน้นความเป็นเจ้าของและไม่พร้อมจะแบ่ง (หุ้น) ให้ใครหรือรับไม่ได้หากต้องให้คนอื่นเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่สูง หรือประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ ประเด็นที่สอง เป็นความเคยชินกับการอาศัยแหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์มากเกินไป
 
อย่างไรก็ตาม ดร.อุตตม มองว่าจากนี้ไปเริ่มมีความหวังมากขึ้น เมื่อเจ้าของธุรกิจส่งไม้ต่อการบริหารงานไปสู่เจเนอเรชั่นที่ 2-3 ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดใหม่ๆ หลังจากได้ไปพบเห็น มีประสบการณ์จากการทำงาน หรือจากการศึกษาในต่างประเทศ จึงเชื่อว่าทายาทนักธุรกิจในรุ่นนี้เริ่มยอมรับหากกองทุนไพรเวท อิควิตี้เข้ามาร่วมลงทุน
 
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีทายาทนักธุรกิจบางกลุ่มเริ่มรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งบริษัทขึ้นมาหลังจากที่แสวงหาประสบการณ์ในการเป็นลูกจ้างมาแล้วระดับหนึ่ง เช่น กลุ่มที่จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรม และแพทย์ เป็นต้น  ซึ่งในอนาคตจึงมีโอกาสที่กองทุนไพรเวท อิควิตี้จะเป็นที่ยอมรับจากเจ้าของธุรกิจมากขึ้น และถือเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบรรดากองทุนไพรเวท อิควิตี้ในต่างประเทศ ให้หันมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นด้วย
 
สำหรับธุรกิจที่กองทุนไพรเวท อิควิตี้ทั่วโลกสนใจลงทุน ดร.อุตตม กล่าวว่า จะต้องเป็นธุรกิจที่โดดเด่นและแข็งแรง หรือไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ นอกจากนี้ จะต้องเป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งมี 3 กลุ่มประกอบด้วย
 
1.ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร รวมถึงธุรกิจที่ต่อยอดจากอาหาร เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับภาชนะหรือแพ็กเกจจิ้ง ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจด้านดูแลสุขภาพ และโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นลำดับขั้นของประชากรที่เริ่มมีกำลังซื้อสูงขึ้นหรือมีเงินมากขึ้น
 
2.ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเมืองใหญ่ๆ และตามหัวเมืองต่างๆ ที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ซึ่งเมื่อเมืองมีขนาดใหญ่ขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือที่อยู่อาศัยและไลฟ์สไตล์ของคนก็เริ่มเปลี่ยนไป เน้นความสะดวกสบายของการเดินทางมาทำงาน จึงนิยมซื้อคอนโดมิเนียม ทั้งเพื่ออยู่อาศัยและบางคนยังมองเห็นโอกาสการลงทุนจึงซื้อเพื่อเก็งกำไรด้วย
 
3.กลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวไปยังประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนด้วยกัน
    
 

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน