​บสย. ภารกิจท้าทายในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง







     หากให้นึกถึงหน่วยงานที่ช่วยเหลือสนับสนุน SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเอ่ยถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอย่าง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ตลอดกว่า 26 ปีที่ผ่านมานับแต่การก่อตั้ง (ปี 2535) พวกเขาได้เข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ SME แล้วคิดเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อมากกว่า 700,000 ล้านบาท และช่วยเหลือ SME ไปแล้วกว่า 4.5 แสนราย
               

     ทำให้ บสย.ในวันนี้กลายเป็นแหล่งพึ่งพิงของ SME ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ภายใต้นโยบายการสนับสนุนของรัฐ ทว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจซึ่งรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี บสย.เองหนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายนี้ ด้วยการต้องปรับตัวและก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ขณะเดียวกันยังคงยึดมั่นในพันธกิจ การเป็นสถาบันหลักในการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ SME ไทย เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
 

ปรับตัวให้เร็วก้าวทันทุกการเปลี่ยนแปลง
               

     “ในโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร บสย. ซึ่งเป็นสถาบันค้ำประกันสินเชื่อแห่งเดียวในประเทศไทย จะยังคงภารกิจการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อให้ SME มีเงินทุนอย่างเพียงพอที่จะนำไปต่อยอดธุรกิจหรือใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ เพราะในทุกการเปลี่ยนแปลงนั้น SME ก็ยังคงต้องอาศัยเงินทุนเป็นสำคัญ” นิภารัตน์ พิสิฐพิทยเสรี รักษาการแทนผู้จัดการทั่วไป บสย. บอกวิสัยทัศน์ขององค์กรที่พร้อมปลดล็อกอุปสรรคทางการเงินให้แก่ SME ตลอดที่ผ่านมา
               

     ทว่าอย่างไรก็ดี บสย.เป็นองค์กรที่อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ระหว่างสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อเอง และภาคธุรกิจ SME ซึ่งพวกเขาต่างอยู่ระหว่างการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นั่นจึงเป็นที่มาของการปรับแนวทางการทำงานครั้งใหม่เพื่อก้าวให้ทันคลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้


     “วันนี้เราต้องมองไปข้างหน้าด้วยความเข้าใจ เพราะธนาคารเปลี่ยน SME เปลี่ยน ทุกคนต่างกำลังปรับตัวและแน่นอนว่าเราเองก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน อย่างธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนทั้งการออกผลิตภัณฑ์ และวิธีการอนุมัติสินเชื่อที่ใช้ข้อมูล (Data Base) เข้ามาช่วยมากขึ้นเพื่อให้สามารถแข่งขันได้และตอบสนองลูกค้าได้มากขึ้น ทาง บสย.เอง เราก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน โดยปรับโมเดลการทำงานให้รวดเร็วขึ้นตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การออกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับวิธีการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร วิธีการพิจารณาการค้ำประกันสินเชื่อ และการให้บริการตามความต้องการของลูกค้า” ผู้บริหาร บสย.บอกกับเรา
 




ไม่มีหลักประกัน” ปัญหาคู่ SME ในทุกยุค
               

     หากมองถึงปัญหาใหญ่ของ SME ตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและมองต่อไปในอนาคต ผู้บริหาร บสย.บอกเราว่า หนีไม่พ้นเรื่องการเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รายงานตัวเลข SME ในปัจจุบันว่า มีราวๆ 4 ล้านราย ซึ่งต่างก็มีข้อจำกัดเดียวกันที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ นั่นคือการไม่มีหลักประกัน ซึ่งนี่นับเป็นปัญหาสากลของ SME ทั่วโลกเลยก็ว่าได้
               

     นิภารัตน์ขยายความถึงเรื่องนี้ว่า เทคโนโลยีอาจจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในด้านการผลิต การตลาด รวมไปถึงปัญหาด้านบริหารจัดการให้แก่ SME ได้ แต่ปัญหาเรื่องการไม่มีหลักประกัน ยังช่วยได้น้อยมาก สาเหตุมาจากธนาคารพาณิชย์เองจะต้องคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงเพื่อความมั่นคงของธนาคารเองด้วย ทำให้สุดท้ายแล้วการใช้หลักประกันเป็นเครื่องมือในการปล่อยสินเชื่อจึงยังคงมีความจำเป็นอยู่
               

     ท่ามกลางการปรับตัวที่นอกจากจะต้องใช้เครื่องมือทำงานควบคู่ไปกับธนาคารแล้ว สิ่งสำคัญคือเครื่องมือที่ บสย.ใช้นั้นจะต้องมีความแม่นยำ ขณะเดียวกันการให้บริการลูกค้ายังต้องมีความรวดเร็วเพื่อเท่าทันกับโลกยุคใหม่ด้วย


     “วันนี้มีสิ่งที่เรามองไปข้างหน้าเพื่อช่วยสนับสนุน SME ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต นั่นคือ บสย. อยู่ระหว่างการจัดเก็บข้อมูลของ SME ที่หวังจะให้เป็นฐานข้อมูลกลางและธนาคารสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการพิจารณาการให้สินเชื่อ SME ได้ โดยธนาคารจะสามารถแยกแยะลูกค้า SME แต่ละรายให้ชัดเจนมากขึ้น มองเห็นถึงความแตกต่างของลูกค้าได้ดีขึ้นด้วย
               

     “เราคิดว่าการจัดเก็บข้อมูลคุณลักษณะของลูกค้า SME นั้น จะเป็นประโยชน์กับลูกค้า SME เองในแง่ลูกค้าจะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น เพราะธนาคารจะมีความมั่นใจและสามารถให้วงเงินสินเชื่อได้มากขึ้น และต่อไปเมื่อธนาคารสามารถแยกแยะคุณลักษณะของลูกค้า SME ได้ชัดเจน การคิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่มีคุณภาพดีก็ควรจะแตกต่างจากกลุ่มที่มีคุณภาพด้อยลงมาด้วย จากปัจจุบันที่ธนาคารจะมองลูกค้า SME เป็นเหมือนๆ กันหมดคือ เป็นสีเทาๆ เหมือนกันทั้งหมด และใช้อัตราดอกเบี้ยเดียวกันทั้งหมด ดังนั้น เมื่อมีข้อมูลเหล่านี้แล้วเชื่อว่า SME จะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง” เธอบอกเรื่องใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
               

     นิภารัตน์บอกอีกว่า ในการทำงานของ บสย.ที่ผ่านมานั้น เกิดจากการวางแผน และปรับโมเดลหลายๆ อย่างที่มาจากการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ทำให้รู้ว่า SME เริ่มจากคนที่ยังไม่แข็งแรง จึงไม่ควรที่จะนำภาระทางการเงินไปทับถมพวกเขา แต่ควรจะให้ความรู้ไปพร้อมๆ กับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อให้เขาสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ตลอดรอดฝั่ง หรือกรณีเกิดปัญหาทางการเงิน ก็จะปรับบทบาทเป็นที่ปรึกษาช่วยแนะหาทางออก เพื่อประคับประคองให้ SMEสามารถดำเนินธุรกิจของตัวเองต่อไปได้
               

     “เพราะการช่วยเหลือ SME ที่เกิดปัญหา เราไม่ได้ช่วยเฉพาะรายที่มีปัญหาเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการช่วยในภาพรวมของ SME ทั้งประเทศอีกด้วย ขณะเดียวกันเรามองตัวเองเปรียบเสมือนเรือ ที่เมื่อ SME มาลงเรือของเราแล้ว หากสามารถพาเขาข้ามคลองขึ้นฝั่งไปได้ นับเป็นพันรายต่อปีที่พวกเขาสามารถเติบโต แข็งแรง และไม่จำเป็นต้องใช้บริการของ บสย.อีก นั่นถือว่าประสบความสำเร็จแล้วสำหรับ บสย. เพราะพวกเขาเหล่านี้ถือว่าเป็นกำลังหลักของประเทศ เป็นนักธุรกิจที่เป็นทรัพย์สินของชาติในอนาคตต่อไป”
 




SME เพิ่มทักษะ-เรียนรู้-ปรับตัวเร็ว สู้อนาคต
               

     ในโลกยุคใหม่ที่ทุกคนต่างต้องปรับตัวเองเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน บสย.เองไม่พ้นที่จะต้องปรับตัวให้ก้าวทันตามยุคสมัย ในฐานะที่คลุกคลีกับ SME มายาวนาน รับรู้เห็นปัญหาและพัฒนาการของ SME มาต่อเนื่องนั้น นิภารัตน์แนะนำว่า SME ไทยต้องปรับตัวให้เร็ว ก้าวให้ทันเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาปะทะตัวให้ได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นทั้งโอกาสและทำให้ SME เสียโอกาสได้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้น SME ก็ควรตั้งหลักให้นิ่งก่อนรับมือคลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้
               

     “ในโลกปัจจุบันเรามีข้อมูลมากมายมหาศาล ทำให้คนที่มีความคิด มีโอกาสมากกว่าสมัยก่อน แต่ด้วยข้อมูลที่มากมายนี้เอง สิ่งที่ SME ต้องทำคือ การเรียนรู้อย่างมหาศาลด้วย ซึ่งหากทำได้ก็จะสามารถเติบโตไปได้อย่างรวดเร็ว ชนิดที่อาจจะนึกไม่ถึงเลยก็ได้”


     นิภารัตน์บอกเพิ่มเติมว่า ยังมีสิ่งท้าทายที่เป็นหัวใจของ SME ในโลกยุคใหม่ นั่นคือ ความมีวินัย โดยเฉพาะด้านการบริหารการเงิน ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจจะกล้าได้กล้าเสีย ซึ่งถือเป็นเรื่องดีในการคิดสิ่งใหม่ๆ การเปิดตลาดใหม่ๆ แต่อาจขาดความระมัดระวังในการใช้เงินทุน ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจนำมาสู่การเกิดปัญหาสภาพคล่อง และนำเงินมาใช้หนี้ไม่ทัน ดังนั้น SME ควรต้องตระหนักในเรื่องนี้ด้วย


     โลกอนาคตไม่ใช่สิ่งน่ากลัว ขอแค่ SME ปรับตัวให้เร็วเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยหนึ่งหัวใจสำคัญคือ...ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่ผู้บริหาร บสย.กล่าวทิ้งท้ายไว้
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน