​5 ตัวการความผิดพลาด ฉุดกระแสเงินสดของ SME ให้ติดลบ





 

     ในการดำเนินธุรกิจ สิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือ เรื่องของกระแสเงินสด ซึ่งผู้ประกอบการควรทำการบริหารจัดการและสร้างสมดุลระหว่างเงินที่ไหลเข้าและเงินที่ไหลออกให้ดี อย่างไรก็ตาม ยังมีเจ้าของกิจการอีกไม่น้อยที่ติดอยู่ในกับดัก 5 อย่าง ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดและเป็นตัวการที่จะทำให้สภาพคล่องทางการเงินของ SME ต้องสะดุดและติดลบได้ในท้ายที่สุด มาดูกันว่าปัจจัยเสี่ยงที่พูดถึงนั้นคืออะไรเพื่อเหล่าคนทำธุรกิจจะได้หลีกเลี่ยงและไม่ก้าวพลาดกัน
 

ตัวการที่ 1: ไม่ติดตามค่าใช้จ่าย


     รู้หรือไม่ว่าการละเลยที่จะติดตามหรือทำการเก็บข้อมูลเรื่องของค่าใช้จ่ายเป็นสาเหตุที่จะทำให้ผู้ประกอบการใช้จ่ายมากกว่าที่ควรจะเป็น เช่น หลายต่อหลายรายมักมุ่งไปที่การทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้ลูกค้ามา รวมไปถึงการจ้างพนักงานใหม่เข้ามาช่วยงาน โดยลืมคิดไปว่าสิ่งเหล่านี้นั้นก็มีต้นทุนของตัวเองอยู่ บวกกับการไม่คอยตามเช็กว่าเงินที่เข้าและออกนั้นมีที่มาที่ไปยังไง ซึ่งยิ่งปล่อยทิ้งไว้นานเท่าไร ยิ่งสะสมและทำให้กระแสเงินสดหดตัวลงเรื่อยๆ
 

     วิธีหลีกเลี่ยง: ควรทำการติดตามและประเมินค่าใช้จ่ายทุกอย่างเป็นประจำ แม้เรื่องเล็กๆก็ควรเอาใจใส่ เพื่อทำให้สามารถเห็นภาพทางด้านการเงินที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด
 

ตัวการที่ 2: จำกัดช่องทางการชำระเงินของลูกค้า


     ในหลายๆปีที่ผ่านมารูปแบบการชำระเงินของลูกค้านั้นอาจจะมีอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น การจ่ายเงินสดโดยตรงไปยังเจ้าของสินค้าหรือบริการ หรือโอนผ่านบัญชีธนาคาร ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการหลายรายคิดว่าเพียงแค่ใช้ช่องทางแบบเดิมๆก็ได้เงินจากลูกค้าแล้วเลยไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มรูปแบบการชำระเงินแบบใหม่ที่มีความทันสมัยเข้ามา แต่ความคิดแบบนี้นั้นกลับทำให้หลายคนตกม้าตายมาแล้วนักต่อนัก โดยเฉพาะกับโลกยุคใหม่ที่ลูกค้าต้องการการจ่ายที่ง่าย สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น
 

     วิธีหลีกเลี่ยง: ปัจจุบันมีหลากหลายช่องทางให้ลูกค้าสามารถทำการชำระเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายผ่านออนไลน์หรือ E-payment ต่างๆ รวมไปถึงการใช้ QR Code ซึ่งผู้ประกอบการควรทำการศึกษาและพิจารณาว่ารูปแบบใดที่มีความเหมาะสมกับตัวธุรกิจและสะดวกต่อลูกค้า เพราะหากไม่รู้จักปรับตัวนอกจากจะเสียลูกค้าแล้วกำไรและเงินที่ควรจะได้ก็จะหลุดมือไปด้วยเช่นกัน 

ตัวการที่ 3: ไม่จัดการการจ่ายที่ล่าช้าและใบแจ้งหนี้ที่ค้างชำระ


     เรื่องบางอย่างถ้าปล่อยไว้นานเกินไปโดยที่ไม่ได้รับการแก้ไขอาจเป็นตัวทำลายกระแสเงินสดและธุรกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ลูกค้าทำการชำระเงินล่าช้ากว่ากำหนด หรือบางคนก็ค้างชำระและไม่ยอมจ่ายไปซะดื้อๆ ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายเลือกที่จะรอและไม่เร่งรัดให้ลูกค้าต้องจ่ายเพราะไม่อยากเสียลูกค้าไปยิ่งถ้าเป็นคนคุ้นเคยกันหรือลูกค้าประจำ หลายครั้งการรอเพียงเล็กน้อยอาจได้ผล แต่ยิ่งปล่อยไปนานเท่าไร ยิ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่และทำให้เรื่องการจัดการทางการเงินของเจ้าของธุรกิจนั้นไร้ระบบมากขึ้น
 

     วิธีหลีกเลี่ยง: เพื่อให้ได้รับการชำระเงินตรงตามกำหนดเวลา ผู้ประกอบการควรกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินให้ชัดเจน เช่น ต้องจ่ายเงินล่วงหน้ากี่วัน แบบเต็มราคาหรือครึ่งหนึ่งก่อน มีการกำหนดบทลงโทษหากจ่ายล่าช้า ทำการแจ้งเตือนลูกค้าทันทีเมื่อถึงเวลากำหนดชำระ รวมไปถึงให้สิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าที่จ่ายล่วงหน้า เช่น ให้ส่วนลด ของแถมหรือโปรโมชั่น เป็นต้น
 

ตัวการที่ 4: จัดการเรื่องภาษีอย่างไร้ประสิทธิภาพ


     อีกหนึ่งความผิดพลาดที่ผู้ประกอบการเจอเป็นประจำทุกปีก็คือ เรื่องของการบริหารจัดการภาษีอย่างไม่มีประสิทธิภาพและเป็นระบบเท่าที่ควร เพราะหลายรายมักไม่ทำการประมาณการรายไตรมาสหรือทำการคำนวณภาษีที่จะต้องจ่ายในแต่ละปีให้ถูกต้อง ซึ่งก่อให้เกิดการผันผวนต่อกระแสเงินสดและอาจได้รับบทลงโทษที่ทำให้ธุรกิจเสียหายได้
 

     วิธีหลีกเลี่ยง: ผู้ประกอบการควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลจัดการเรื่องภาษี เพื่อให้การประเมินและการคำนวณเป็นไปอย่างถูกต้องและมีระบบ ถือเป็นการป้องกันไม่ให้กระแสเงินสดต้องได้รับผลกระทบไปด้วยเมื่อถึงคราวที่ต้องยื่นจ่ายภาษี
 

ตัวการที่ 5: ไม่เตรียมเงินสำรอง


     ถึงแม้ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่การขาดการวางแผนด้านการเงินโดยเฉพาะเงินสำรองเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เป็นอีกหนึ่งความผิดพลาดที่สามารถส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดได้ เพราะเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น การดึงเอางบที่ได้ทำการกำหนดไว้แล้วว่าจะใช้ทำอะไร ย่อมทำให้ระบบการเงินเกิดการแปรปรวนและทำให้โครงสร้างที่วางเอาไว้ล้มไม่เป็นท่าได้
 

     วิธีหลีกเลี่ยง: ควรทำการจัดสรรเงินสำรองหรืองบประมาณเพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ให้เป็นสัดส่วน เพราะถ้ามีอะไรเกิดขึ้นผู้ประกอบการก็สามารถนำเงินตรงนี้ไปใช้ได้โดยที่ไม่ต้องดึงเงินส่วนอื่นที่จะกระทบต่อภาพรวมทางการเงินหรือกระแสเงินสดที่ได้รับเข้ามา
  

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน