5 ธุรกิจอาหารยุคใหม่ เสริมแกร่งได้ด้วยนวัตกรรม


 




     นับวันการแข่งขันทางธุรกิจยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ดูเหมือนว่าทางออกเดียวที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเอาชนะในเกมการแข่งขันนี้ได้ คือ การต้องทำให้ตัวเองแข็งแกร่งและยืนอยู่เหนือคู่แข่งที่มี โดยใช้อาวุธสำคัญอย่าง “นวัตกรรม” มาช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงส่งมอบอาวุธลับนี้ให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตอาหาร ผ่านโครงการ “K SME Good to GREAT คอร์สอัพธุรกิจเก่งให้แกร่ง” ด้วยการติวเข้มเพื่อสร้างผู้ประกอบการต้นแบบที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้จากงานวิจัยและนวัตกรรม

       
        

     จากการดำเนินโครงการ K SME Good to GREAT ธุรกิจผลิตอาหาร สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของธนาคารกสิกรไทยที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ SME  โดยใช้นวัตกรรมและงานวิจัยมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพราะเรื่องดังกล่าวกลายเป็นความจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการในยุคนี้ก็ว่าได้ ซึ่งหาก SME ยังคงอยู่แบบเดิมๆ โดยไม่สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ  โอกาสที่จะสูญเสียตลาดให้กับคู่แข่งก็มีมาก แต่หากมีการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยปรับปรุงพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของตัวสินค้า แพ็กเกจจิ้ง หรือกระบวนการทำงาน ย่อมนำมาซึ่งขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น
   
          
  
     “จริงๆ แล้ว นวัตกรรม คือ การใส่สิ่งใหม่เข้าไปในชุดความคิดเดิม ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างและมีประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ทำให้สามารถเติบโตไปได้อย่างมั่นคง ซึ่งโครงการ K SME Good to GREAT ที่ธนาคารกสิกรไทยจัดขึ้นนั้น จึงเป็นเหมือนทางลัดที่ทำให้ SME เข้าใกล้กับนวัตกรรมและงานวิจัยได้ง่ายขึ้น ผ่านรูปแบบของการอบรมเชิงลึกที่เห็นผลลัพธ์จริงๆ ไม่ใช่ได้แค่ความรู้หรือแนวคิด แล้วต้องกลับไปหาวิธีการทำต่อเอาเอง แต่ผู้ประกอบการที่ผ่าน การอบรมในโครงการนี้ จะได้รับความรู้และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญแบบตัวต่อตัว ทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมให้เป็นจริงได้ และอีกสิ่งที่ผู้ประกอบการได้มาโดยเป็นผลพลอยได้จากโครงการนี้ นั่นคือ เน็ตเวิร์กที่เกิดขึ้น ซึ่งการที่ทุกคนอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารเหมือนกัน ย่อมมีความรู้แตกต่างกันไป สามารถจะช่วยเหลือสนับสนุนกันได้”
               

     นับได้ว่าโครงการ K SME Good to GREAT เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของธนาคารกสิกรไทยที่เกิดขึ้น สามารถช่วยสนับสนุนและเป็นประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ SME ได้อย่างแท้จริงทั้งที่เป็นลูกค้าและไม่ใช่ลูกค้าของธนาคาร และจะเป็นแนวทางที่ธนาคารกสิกรไทยใช้เดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนและอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตลอดไป


 

โฉมหน้า 5 ธุรกิจอาหารสุดแกร่งจากโครงการ K SME Good to GREAT


     โครงการ K SME Good to GREAT ธุรกิจผลิตอาหาร เริ่มต้นขึ้นจากผู้ประกอบการจำนวน 321 คนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังสัมมนา ถูกคัดเลือกจนเหลือเพียง 54 บริษัท เพื่อเข้าอบรมสัมมนาเชิงลึก 4 วัน กับผู้เชี่ยวชาญตัวจริงที่จะมาให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และผ่านการคัดกรองจนเหลือบริษัทสนใจเข้ายื่นเสนอโครงการาแข่งขันทั้งสิ้น 22 บริษัท จากนั้นได้คัดเลือกรอบแรกเหลือ 11 บริษัท จนมาถึงรอบสุดท้ายได้คัดเหลือ 5 บริษัทผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งที่สุด พร้อมรับเงินรางวัลรายละ 100,000 บาท รวมทั้งถูกยกให้เป็นต้นแบบของธุรกิจอาหารยุคใหม่ที่สามารถสร้างความสำเร็จได้ด้วยพลังของนวัตกรรม
                 

โกลบอล พาร์ทเนอร์ อินเตอร์ฟู้ด : พลิกโฉมมะม่วงให้กลายเป็นท็อปปิ้งผลไม้ส่งออก


     จากผู้ส่งออกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ที่เจอปัญหามะม่วงกว่า 70% ถูกคัดตกเกรด เนื่องจากผิวไม่สวย ทำให้ สุรวิชญ์ ทิพยารมณ์ ผู้บริหารของบริษัท โกลบอล พาร์ทเนอร์ อินเตอร์ฟู้ด จำกัด เริ่มมองหาทางออกให้กับมะม่วงตกเกรดด้วยการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และต้องการให้สินค้าสามารถกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของคนทั่วโลกได้ สุรวิชญ์จึงสนใจโครงการ K SME Good to GREAT ด้วยความที่ชื่อโครงการเหมือนกับหนังสือที่ชื่นชอบและคิดว่ากสิกรน่าจะสามารถพาตนเองไปสู่สิ่งที่ดีได้ นอกจากนี้ ด้วยความที่นวัตกรรมเป็นเรื่องใหม่ ต้องมีการลองผิดลองถูกและธนาคารมีทุนในการสนับสนุน ทำให้สุรวิชญ์ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ และในที่สุดก็เกิดเป็นท็อปปิ้งมะม่วงน้ำดอกไม้เจ้าแรกของโลก 





     “เราเลือกทำเป็นท็อปปิ้งมะม่วงน้ำดอกไม้ เพราะนำมาประยุกต์ได้หลายอย่าง เบเกอรี่ก็ได้ อาหารไทยก็ได้ เราเลือกใช้และสื่อสารด้วยมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เท่านั้น เพราะเราอยากส่งมอบคุณค่าจากผืนแผ่นดินไทย นวัตกรรมทุกวันนี้สำคัญมาก เราอยู่ในโลกทุนนิยม เจ้าใหญ่ได้เปรียบ SME เล็กๆ อย่างเราต้องเริ่มมองหาโอกาสจากน่านน้ำตื้นๆ ที่เจ้าใหญ่เข้ามาไม่ได้ เราต้องแปลงร่างตัวเองเป็นปลาตีนที่สามารถสะเทิ้นน้ำ สะเทิ้นบกได้ด้วยนวัตกรรม เราจึงกล้าใช้มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เพราะเจ้าใหญ่เขาไม่ทำ เพราะไม่คุ้มในเชิง Mass แต่เราเล็ก เราวางตัวเองให้มีความเฉพาะ เราจึงต้องหาผู้เชี่ยวชาญที่สามารถช่วยพัฒนาไอเดียของเราให้เกิดเป็นจริงในเชิงพาณิชย์ได้ โดยโครงการนี้ได้เชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัย มีการสนับสนุนองค์ความรู้และเงินทุน ทำให้เราตัดสินใจง่ายมากในการเข้าร่วมโครงการนี้”
 

เซฟ ไลฟ์ โปรดักส์ ผงปั่นสมูตตี้ นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าเกษตรอินทรี 


     ไร่รื่นรมย์ คือฟาร์มเกษตรอินทรี ฟาร์มสเตย์และศูนย์การเรียนรู้ในจังหวัดเชียงราย โดย วิลาสินี กิตะพาณิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งไร่รื่นรมย์และผู้บริหารบริษัท เซฟ ไลฟ์ โปรดักส์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า ด้วยความต้องการจะต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของตนเอง จึงสนใจโครงการ K SME Good to GREAT เพราะต้องการหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแปรรูปให้กับพืชผลของทางไร่รื่นรมย์ จนในที่สุดก็กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ อย่าง ผงปั่นสมูตตี้ออแกนิกส์





      “ที่ผ่านมาเราได้ลองปลูก Italian Kale มีการขายสดและแปรรูปบดเป็นผง ซึ่งเราอยากจะต่อยอดพืชเศรษฐกิจอื่น เช่น กล้วย โดยคิดว่าจะสามารถทำเป็นผง เก็บได้นานขึ้นไหม หรือทำเป็นโปรไบโอติก เป็นสินค้าที่เติมน้ำแล้วชงทานได้เลย เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ แต่เราเองยังไม่มีองค์ความรู้เรื่องนี้มากนัก โดยทางโครงการสามารถเข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องของเทคโนโลยีได้ มีนักวิจัยที่สามารถจับคู่กับสิ่งที่เรามีได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่ได้รับจากโครงการ ไม่ใช่แค่ความรู้ แต่มีทั้งการได้เพื่อนใหม่ มีการจัดแคมป์ให้มาเจอกัน มีกิจกรรม เราได้แลกเปลี่ยนมุมมองที่แต่ละคนมี ช่วยเปิดมุมมองของเราให้กว้างมากขึ้น
 

เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ ทะเลแปรรูปพร้อมบริโภคเชิงนวัตกรรม

  
     เมื่อฐานการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร เริ่มมีการย้ายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทำให้หลายๆ ธุรกิจเริ่มปรับตัว หนึ่งในนั้นคือ สุเทพ ไชยธานี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็งแปรรูป และทำการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยกล่าวว่า ทางออกหนึ่งของปัญหานี้ คือต้องต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงนวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ และโครงการ K SME Good to GREAT ก็เข้ามาตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี
 




      “ความรู้ที่ได้รับจากโครงการ การได้เจอนักวิจัยตัวจริง การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การได้รับการสนับสนุนจากทางธนาคารและการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน ทำให้เราสามารถที่จะพัฒนาสินค้าและเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการนำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้นั้นประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ใช้ในกระบวนการผลิตและการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ เพราะตราบใดที่เรายังหาความต่างหรือจุดขายไม่ได้ การทำธุรกิจก็จะเป็นเรื่องที่ยาก โดยทางแบรนด์ของเราได้เลือกสรรนวัตกรรมเข้ามาใช้สำหรับแปรรูปอาหารทะเลอบแห้งและย่างจนสุก เพื่อให้มีคุณภาพดีมากขึ้น เนื้อสัมผัสนุ่มมากขึ้น มีการวิเคราะห์คุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น เพื่อตอบโจทย์ให้กับผู้บริโภคในตลาด”
 

พี.พี.เอ็น.ฟู้ดส์ : น้ำพริกสำเร็จรูปแบบมินิ ทางเลือกใหม่ผู้บริโภค


     ขณะที่ ธนาวัฒน์ โพธิ์เผื่อนน้อย กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.พี.เอ็น.ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำพริกสำเร็จรูปแบบมินิแบรนด์รุ่งเจริญ บอกว่า ด้วยความต้องการที่จะขยายตลาดและหาช่องทางใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ รวมไปถึงองค์ความรู้ต่างๆเพื่อนำมาปรับใช้ในการเสริมสร้างศักยภาพให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งโครงการ K SME Good to GREAT ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ได้





     “องค์ความรู้ที่ได้จากโครงการสามารถยกระดับเอสเอ็มอีที่มีความเก่งอยู่แล้วให้ไปต่อได้ในอีกระดับ อีกทั้งยังเป็นตัวจุดประกายไอเดียต่างๆ มีโอกาสสร้างคอนเน็กชันและได้รับคำแนะนำจากนักธุรกิจรุ่นพี่ ทำให้รู้ว่าเราควรที่จะดำเนินธุรกิจต่อยังไงและจะต้องระมัดระวังยังไง ที่สำคัญได้รู้ว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เป็นสิ่งที่ SME ต้องมี ไม่ว่าจะทำสินค้าอะไร เราไม่สามารถอยู่อย่างเดิมได้ จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจมีโอกาสการเติบโตมากขึ้น และเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง รวมไปถึงสามารถนำเสนอสินค้าใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกหรือตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการที่เราทำผลิตภัณฑ์น้ำพริกของเราออกมาให้สามารถรับประทานได้แบบพอดีมื้อ หรือเป็นน้ำพริกแบบมินินั้น ก็เป็นอีกวิธีของการหยิบเอานวัตกรรมมาเล่นกับตัวบรรจุภัณฑ์ ซึ่งช่วยสร้างความแปลกใหม่ ความแตกต่างให้กับตลาดและเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค”    
 

อินเซ็ค โปรตีน : ขนมขบเคี้ยวเสริมโปรตีนจากจิ้งหรีด


      แมลง คือ แหล่งโปรตีนชั้นยอด ถึงขนาดยกให้เป็น Superfood สุดยอดอาหารที่มีประโยชน์มากมาย แต่ด้วยรูปลักษณ์ภายนอก ทำให้หลายคนไม่กล้าลิ้มลอง ด้วยเหตุนี้ อิทธิกร เทพมณี - ณัฐกร อรุณานนท์ชัย สองผู้บริหารแห่งบริษัท อินเซ็ค โปรตีน จำกัด จึงตั้งโจทย์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดในรูปแบบของขนมอบกรอบเสริมโปรตีนจากจิ้งหรีด และผงจิ้งหรีดสำหรับนำไปผสมอาหาร แต่การเปลี่ยนงานวิจัยให้เป็นสินค้าระดับอุตสาหกรรมที่มีความเป็นแมสไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุนี้ จึงได้เข้าร่วมโครงการ K SME Good to GREAT เพื่อค้นหารูปแบบวิธีการผลิตที่เหมาะสม จนสามารถประสบความสำเร็จ พร้อมออกสู่ตลาดได้ในเร็ววันนี้





     “ด้วยโจทย์ที่เป็นปัญหาหลัก คือ รูปลักษณ์ภายนอกที่เป็นสาเหตุให้คนไม่ยอมกิน เราจึงคิดว่าการแปรรูปทำเป็นสแน็ค คือ คำตอบที่ดีที่สุด จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ออกมาสู่ตลาด การได้เข้าร่วมครั้งนี้ทำให้เราได้มีโอกาสเจอกับนักวิจัยต่างๆ ทำให้ได้รับคำปรึกษาดีๆ ช่วยแก้ไขปัญหาที่พบ รวมถึงได้พบกับพี่ๆ เพื่อนๆ ผู้ประกอบการในแวดวงธุรกิจอาหารด้านต่างๆ ที่ช่วยแสดงความคิดเห็นและให้ข้อแนะนำดีๆ ทำให้เราได้เห็นภาพของตัวธุรกิจได้ชัดเจนขึ้นในมุมมองที่กว้างขึ้น นอกจากนี้ ยังมีรางวัลเป็นเงินทุนสนับสนุนให้ได้นำไปใช้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นด้วย ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ที่สำคัญเราเชื่อว่า ถ้าวันนี้เรามีนวัตกรรม จะสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้อยู่เสมอ และจากสิ่งที่หลายคนอาจมองว่าไม่มีค่า ก็ทำให้กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้”





     จาก 5 ผู้ประกอบการต้นแบบจากโครงการ K SME Good to GREAT สะท้อนมุมมองที่เริ่มเปลี่ยนไปของผู้ประกอบการ SME ทำให้เห็นว่าวันนี้นวัตกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นกับการทำธุรกิจในยุคนี้มากขนาดไหน และ SME จะอยู่แบบเดิมๆ อีกต่อไปไม่ได้แล้ว ถ้าวันนี้คุณเริ่มต้นด้วยคำว่านวัตกรรมได้ ความสำเร็จในอนาคตอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม และโครงการ K SME Good to GREAT ของธนาคารกสิกรไทยก็พร้อมที่จะนำพาผู้ประกอบการ SME ไทยก้าวไปบนเส้นทางนวัตกรรม



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้

ฟังผู้บริหาร บสย. แนะ SME เสริมสภาพคล่อง เข้าถึงสินเชื่อในระบบ

ในยุคที่เศรษฐกิจผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต่างต้องการ “เงินทุน” ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน แต่ “การเข้าถึงสินเชื่อในระบบ” ยังเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการ ทางออกหนึ่งคือการหันไปหา “เงินกู้นอกระบบ”