​เปิดมาตรการแบงก์ ช่วยผู้ประกอบการใต้ประสบภัยพายุ “ปาบึก”





 

     ตามที่หลายจังหวัดของพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ปาบึก” ซึ่งจะมีผลให้เกิดอุทกภัย ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน และส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจในภาคใต้ได้รับความเสียหาย สถาบันการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ ต่างพากันทยอยออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
 

Development Bank ออกมาตรการพักหนี้ คู่เติมทุนฟื้นฟูธุรกิจ
 

     ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) ออก 2 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่จะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในครั้งนี้  ได้แก่
 

    1.มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term loan) พักชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ส่วนสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note: P/N) ออกมาตรการช่วยเหลือพักชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน
 

     2.มาตรการ วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ลูกค้าธนาคารที่ได้รับความเสียหาย มีเงินทุน นำไปฟื้นฟูและหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งมีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 0.415% ต่อเดือน ตลอดอายุสัญญา
 

     โดยวงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อราย ดังนี้

     1.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้วงเงินกู้ไม่เกิน 5 แสนบาท

     2.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท 

     3.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติมากกว่า 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท

     ทั้งนี้ รวมวงเงินเดิมแล้วไม่เกิน 15 ล้านบาท ส่วนหลักประกันให้พิจารณาหลักประกันเดิมก่อน และสามารถใช้หลักประกัน บสย. ค้ำประกัน เฉพาะมาตรการที่เพิ่มไม่เกิน 2 ล้านบาท
 

     นอกจากนั้น สำหรับ SME ที่ต้องการเงินทุนเพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจหลังภัยพิบัติผ่านไปแล้ว ธนาคารได้เตรียมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษไว้รองรับ  สำหรับใช้ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ และหมุนเวียน  เช่น  สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan)  ครอบคลุมสนับสนุนกลุ่มเกษตรแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยว/ท่องเที่ยวชุมชน ผู้ประกอบการใหม่ มีนวัตกรรม  กลุ่มค้าส่งค้าปลีก ร้านโชห่วย ร้านค้าชุมชน  ร้านธงฟ้า  ผู้ประกอบการค้าสินค้าเกษตร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ บุคคลธรรมดาปีที่ 1-3  เพียง 0.42% ต่อเดือน และนิติบุคคล จะมีอัตราดอกเบี้ยถูกลงไปอีก ปีที่ 1-3 เพียง 0.25% ต่อเดือน
 

     อีกทั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ธนาคารพร้อมให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม ‘SME D Bank’ แอปพลิเคชัน สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ทุกเวลา ทุกสถานที่  ภายใต้รหัส 24x7 หมายถึง ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วัน  ทำงานควบคู่กับหน่วยบริการเคลื่อนที่รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SME ไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น  เมื่อผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ จากนั้นภายใน 3 วัน เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ  เพื่อนัดหมายให้หน่วยรถม้าเติมทุนฯ  เข้าไปพบ เพื่อขอดูข้อมูลเชิงประจักษ์การดำเนินธุรกิจจริง สามารถรู้ผลการพิจารณาสินเชื่อได้ใน 7 วัน ขณะเดียวกัน พนักงานของธนาคาร ทำงานภายใต้รหัส 8-8-7 หมายถึง 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม (8:00-20:00 น.) ตลอด 7 วัน อีกทั้ง ได้เปิด “ศูนย์บริหารรถม้าเติมทุน” (Operation Center) ที่ชั้น 11 สำนักงานใหญ่ SME Development Bank ทำหน้าที่ติดตามการทำงานของหน่วยรถม้าเติมทุนฯ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามเป้าหมายที่วางไว้
 

EXIM BANK ออกมาตรการขยายเวลาชำระคืนเงินกู้ ลดอัตราดอกเบี้ย และพักชำระหนี้
 

     ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติพายุโซนร้อนปาบึก ในภาคใต้ทั้งทางตรง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางตรงครอบคลุมถึงผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ พื้นที่ของโรงงานและบริษัท รวมทั้งสินค้าที่ผลิตแล้วได้รับความเสียหาย ไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายหรือส่งออกได้ และทางอ้อม ที่ประสบปัญหาโรงงานผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ของผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือผู้ซื้อหลักอยู่ในพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติและผู้ประกอบการไม่สามารถจำหน่ายสินค้าให้กับรายอื่นทดแทนได้ รวมทั้งผู้ประกอบการประสบปัญหาทางการคมนาคม ทำให้ไม่สามารถส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อหรือไม่สามารถรับวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์เพื่อมาผลิตสินค้าได้ จะได้รับความช่วยเหลือด้านสินเชื่อ ทั้งขยายระยะเวลา ลดอัตราดอกเบี้ย และพักชำระหนี้ โดยแบ่งเป็น 3 มาตรการ
 

มาตรการที่ 1 ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางตรง

     สินเชื่อหมุนเวียน 

     • พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุด 6 เดือน

     • ขยายระยะเวลาให้ต่ออายุตั๋วสัญญาใช้เงินเกินเทอมที่ธนาคารอนุมัติ โดยรวมกับอายุตั๋วเดิมแล้วไม่เกิน 360 วัน

     • ลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อหมุนเวียนลง 1% เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน แล้วแต่ผลกระทบของลูกค้า
 

     เงินกู้ระยะยาว

     • พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุด 6 เดือน

     • ลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน แล้วแต่ผลกระทบของลูกค้า
 

     มาตรการที่ 2 ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม

 
     สินเชื่อหมุนเวียน 

     • พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุด 6 เดือน

     • ขยายระยะเวลาให้ต่ออายุตั๋วสัญญาใช้เงินเกินเทอมที่ธนาคารอนุมัติ โดยรวมกับอายุตั๋วเดิมแล้วไม่เกิน 180 วัน

     • ลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อหมุนเวียนลง 1% เป็นระยะเวลา 6 เดือน
 

     เงินกู้ระยะยาว

     • พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุด 6 เดือน

     • ลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน
 

     มาตรการที่ 3 ช่วยเหลือลูกค้ารายเดิมและลูกค้ารายใหม่
 

     ยื่นขอเงินกู้เพื่อซื้อหรือซ่อมแซม เครื่องจักร/อาคารโรงงาน ที่ได้รับความเสียหาย

     • ระยะเวลา 5 ปี (Grace Period ไม่เกิน 1 ปี)

     • อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ในปีแรก

     • ยื่นขอสินเชื่อภายในเดือนกันยายน 2562 
 
 
ไทยพาณิชย์ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในพื้นที่ประสบภัยจากพายุปาบึก
 

     ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกมาตรการพิเศษบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระและคลายความกังวลใจ โดยมีรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือลูกค้าดังนี้  
 

     ลูกค้าบุคคล ได้แก่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล พิจารณามอบความช่วยเหลือ ได้แก่ 1) พักชำระหนี้เป็นเวลาสูงสุด 3 เดือน สำหรับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภทดังกล่าวข้างต้น   2) ลดดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับช่วงพักชำระหนี้สูงสุด 50-100% แล้วแต่ประเภทของสินเชื่อ 3) ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสำหรับลูกค้าสินเชื่อบุคคล 2 เดือน ลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ 3 เดือน และสำหรับลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสูงสุดไม่เกิน 5 ปี
 

     ลูกค้าธุรกิจรายย่อย (SSME) ธนาคารได้ออกมาตรการพิเศษเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ดังนี้ 1) พักชำระหนี้เป็นเวลาสูงสุด 3 เดือน   2) ลดดอกเบี้ยช่วงพักชำระหนี้สูงสุด 100%   3) ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี
 

     ลูกค้าธุรกิจผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ธนาคารมอบความช่วยเหลือให้ทั้งผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางตรง คือ สถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยและทรัพย์สินของกิจการได้รับความเสียหาย และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม คือ สถานประกอบการตั้งอยู่นอกพื้นที่ แต่มีคู่ค้าอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยส่งผลให้ธุรกิจของลูกค้าไม่สามารถดำเนินการตามปกติได้ ธนาคารจะให้ความช่วยเหลือผ่าน 5 มาตรการหลัก ได้แก่ 1) พักชำระเงินต้น (Grace Period) สูงสุดนาน 6 เดือน  2) พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่เกิน 3 เดือน  3) ยกเว้นการเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระ (คิดอัตราดอกเบี้ยปกติ) สำหรับการผิดนัดชำระ ไม่เกิน 30 วัน  4) เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20 %ของวงเงิน Working Capital เดิมและไม่เกิน 10 ลบ.  5) วงเงินกู้สำหรับปรับปรุง ซ่อมแซมหรือซื้อทดแทนทรัพย์สินของกิจการที่เสียหายสูงสุด   20% ของวงเงินรวมเดิม สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี   
 

     สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารฯ พร้อมจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งพิจารณาตามผลกระทบที่เกิดขึ้นของลูกค้าแต่ละราย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าอย่างทันท่วงที โดยลูกค้าสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้าของธนาคารฯ
    

     สำหรับความช่วยเหลือเพื่อร่วมบรรเทาทุกข์ให้กับผู้เดือดร้อน เพื่อเป็นการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในเบื้องต้นธนาคารฯ ได้เชิญชวนพนักงานร่วมเป็นอาสาสมัครจัดถุงยังชีพประทานของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จำนวน 5,800ชุด และจัดเตรียมถุงยังชีพเพิ่มเติมอีกจำนวน 2,000 ถุง เพื่อส่งมอบแก่กองทัพอากาศ กองทัพเรือ และกองทัพบก เพื่อเตรียมไปใช้บรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนภาคใต้ที่ประสบภัย ต่อไป             
 

     นอกจากนี้ธนาคารได้เชิญชวนคนไทยร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือ ผ่านทางบัญชีเดินสะพัด ชื่อบัญชี “มูลนิธิสยามกัมมาจล-ไทยพาณิชย์ เพื่อผู้ประสบภัย” เลขที่บัญชี 111-3-90911-5 สาขารัชโยธิน สามารถบริจาคได้ที่สาขา เครื่อง ATM และ SCB Easy
 

กสิกรไทย ส่งมาตรการด่วน! ช่วยชาวใต้ฝ่าพิษปาบึก 
 

     ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารที่อาศัยหรือดำเนินธุรกิจอยู่ในพื้นที่จังหวัดดังกล่าว รวมถึงคู่ค้าของลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าให้สามารถฟื้นตัวได้เร็วและดำเนินธุรกิจต่อไปได้
           

     มาตรการการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจ  ด้วยการพักชำระเงินต้นนานสูงสุด 6 เดือน และธนาคารพร้อมสนับสนุนวงเงินเพื่อซ่อมแซมสถานประกอบการ หรือฟื้นฟูกิจการ โดยพักชำระเงินต้นนานสูงสุด6 เดือน ระยะเวลากู้สูงสุด 5 ปี  
           

     มาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด คือ พักชำระเงินต้นนานสูงสุด 6 เดือน และสำหรับลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารพร้อมสนับสนุนวงเงินกู้ใหม่เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โดยพักชำระเงินต้นนานสูงสุด 6 เดือน นอกจากนี้ลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารช่วยลดยอดผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 50% เป็นระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน รวมถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมและเบี้ยปรับล่าช้า


     ลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับมาตรการช่วยเหลือได้ที่ K-Contact  Center 02 888 8888 ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2562


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: FINANCE

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้

ฟังผู้บริหาร บสย. แนะ SME เสริมสภาพคล่อง เข้าถึงสินเชื่อในระบบ

ในยุคที่เศรษฐกิจผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต่างต้องการ “เงินทุน” ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน แต่ “การเข้าถึงสินเชื่อในระบบ” ยังเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการ ทางออกหนึ่งคือการหันไปหา “เงินกู้นอกระบบ”