​บสย.ปรับโฉมใหม่ ไม่ใช่แค่ค้ำประกัน แต่วิเคราะห์สินเชื่อได้ด้วย





               

     ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเพียงไม่กี่วัน ในแวดวงผู้ประกอบการ SME ที่ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ คงได้เห็นข่าวแถลงผลการประกอบการของบสย.หรือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมในปีที่ผ่านมา ว่าสามารถสร้างตัวเลขช่วยเหลือ SME ได้อย่างน่าพอใจ โดยสามารถค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SME ไปได้มากกว่า 88,878 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อกว่า 77,862 ราย พร้อมประกาศเปิดตัว MD คนใหม่ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร ที่มาจากสถาบันการเงินระดับประเทศเช่นกัน
               

     ในเนื้อหาข่าวมีจุดน่าสนใจหลายประเด็นด้วยกัน เช่น โครงการรักพี่วิน โครงการต่อเนื่องมาโครงการ ฮัก TAXI ที่จับมือร่วมกับธพว. (ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) เพื่อช่วยค้ำประกันในการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มวินมอเตอร์ไซต์ในกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงพนักงานส่งเอกสาร และพนักงานส่งด่วนต่างๆ ได้นำมาใช้ปรับปรุงสภาพรถจักรยานยนต์ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ การคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจอยู่ต่างแดนให้สามารถขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ไปจนถึงกลุ่มคนเคยล้มที่เคยทำธุรกิจผิดพลาดมาก่อน ให้มีโอกาสครั้งที่สองกลับมาแก้ตัวอีกครั้งให้ได้รับเงินทุนที่เพิ่มมากขึ้น จากโครงการเดิมของภาครัฐที่มีอยู่


     แต่มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นรูปแบบการทำงานโฉมใหม่ของบสย.ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น นั่นคือ การทำงานแบบบูรณาการที่ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เพื่อค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SME เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเพิ่มในส่วนของการช่วยวิเคราะห์สินเชื่อเบื้องต้นให้กับ SME ที่ต้องการขอยื่นกู้ด้วย ไปจนถึงแนวคิดการออกสินเชื่อพร้อมค้ำในอนาคต นับเป็นมิติใหม่ของการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับ SME ได้มากขึ้น
    

           

     “จากตัวเลขยอดค้ำประกัน 88,878 ล้านบาทที่ทำไว้ในปีที่แล้ว ในปีนี้เราตั้งเป้าอยู่ที่ 107,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย หากเรายังรบด้วยเครื่องยนต์เดิม เราไม่สามารถที่จะไปถึงได้แน่นอน สิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำอยู่ตอนนี้ คือ ลดการพึ่งพาจากภาครัฐ ซึ่งหากจะทำได้เราต้องมีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยหากจะสร้างผลิตภัณฑ์อะไรขึ้นมาสักอย่าง เราต้องคำนึงถึงพันธมิตรจากสถาบันการเงินต่างๆ ที่ทำงานร่วมกันว่า สิ่งที่เราคิดออกมานั้นสอดคล้องกับพอร์ตของเขาหรือไม่


     “และอีกสิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำ คือ การเป็น one stop service จากเดิมเมื่อก่อนเวลาลูกค้าเดินมาหาเรา เราก็จะแนะนำให้เขาไปติดต่อที่แบงก์มาก่อน เพราะบสย.จะค้ำประกันสินเชื่อได้ ลูกค้าต้องมีการติดต่อขอสินเชื่อกับแบงก์มาก่อน แต่วันนี้เราจะทำการวิเคราะห์เบื้องต้นให้เขาก่อน ว่าหากเขาสนใจที่จะขอสินเชื่อของแต่ละแบงก์เขาต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ผ่านเกณฑ์ที่แต่ละแบงก์วางไว้ไหม ขาดเหลืออะไร เป็นการช่วยลดการทำงานของแบงก์ อีกทั้งยังก่อให้เกิดความรวดเร็วกับลูกค้า ทำให้สามารถประเมินตนเองได้ในเบื้องต้น รวมถึงยังช่วยลดการถูกปฏิเสธจากแบงก์เนื่องจากเราช่วยสแกนให้แล้วรอบหนึ่ง โดยในอนาคตอาจคิดค้นเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาเป็นสินเชื่อพร้อมค้ำ โดยทำงานร่วมกับธนาคารพันธมิตรต่างๆ เรียกว่ามาหาเราที่เดียว ก็สามารถยื่นเรื่องขอกู้ได้เลย ถึงแม้สุดท้ายการตัดสินใจจะเป็นของแบงก์นั้นๆ แต่อย่างน้อยการที่เขามาหาเรา ก็เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ตัวเองได้มากขึ้น เพราะเรามองเห็นว่ายังมีกลุ่มลูกค้าอีกมากที่มีศักยภาพ แต่อาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของแบงก์ จึงทำให้ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ เช่น กลุ่มลูกค้ารายย่อย ลูกค้าที่เคยล้ม ลูกค้ารายใหญ่แต่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้นบสย.เราจึงอาสาที่จะเข้ามาช่วยดูแลลูกค้าเหล่านี้”ดร.รักษ์ กล่าว


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน