กสิกรไทย เปิดเกมรุกปี 62 ผนวกไอที-ดาต้า-คน-พันธมิตร ตั้งเป้าสู่ธนาคารอัจฉริยะ







     เมื่อวันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันมาทำปริมาณธุรกรรมบนโลกดิจิทัลบนโมบายแบงกิ้งสูงถึง 74% และซื้อสินค้าออนไลน์ 48.5% กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยท้าทายสถาบันการเงิน ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกสิกรไทย จึงเดินหน้าประกาศทิศทางของธุรกิจภายในงาน “A YEAR OF i – Kbank Vision 2019” ภายใต้การนำของ 5 ผู้นำใน 5 บทบาท เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันและโลกที่เปลี่ยน





Integrate - รวมพลังเพื่อเติบโต ดันรายย่อยโต 9-12% เอสเอ็มอีเติบโต 2-4%
 
               
     พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2562 ภารกิจสำคัญขับเคลื่อนธนาคารกสิกรไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ได้แก่
           

     ผนึกพันธมิตรแพลตฟอร์มขยายฐานลูกค้า เพื่อจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูกค้าในทุกมิติ พร้อมรองรับลูกค้าทั้งบนแพลตฟอร์มของธนาคารเอง ผ่าน K PLUS และเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่น ทั้งในโลกโซเชียล แชท ชอปปิ้ง การเดินทาง ฯลฯ โดยธนาคารจะผสานความร่วมมือกับพันธมิตรสร้างประสบการณ์บริการที่ราบรื่นไร้รอยต่อ ช่วยให้เข้าถึงลูกค้าในทุกช่วงจังหวะชีวิต และทำความเข้าใจลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง
               

     เดินหน้าธุรกิจเพื่อหารายได้ใหม่ โดยจะเดินหน้าแผนธุรกิจในการสร้างรายได้จากการให้สินเชื่อลูกค้าบุคคลที่มีจำนวนผู้กู้ยืมในตลาดนี้ประมาณ 31.3 ล้านราย ซึ่งปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 7% และตั้งเป้าหมายจะดันส่วนแบ่งตลาดเป็น 16% โดยการผนึกพันธมิตรแพลตฟอร์มชั้นนำเพื่อไปอยู่ในที่ที่ลูกค้าอยู่ ช่วยให้สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจลูกค้า วิเคราะห์ความต้องการสินเชื่อและศักยภาพที่จะชำระคืน แล้วส่งข้อเสนอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อสร้างรายได้ใหม่ชดเชยการลดลงของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย จากการยกเลิกค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางดิจิทัลและการชะลอตัวของธุรกิจประกัน
               

     บริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำสินทรัพย์ที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการปรับพอร์ตเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น การปรับปรุงกระบวนการติดตามหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างเหมาะสมต่ออัตราการฟื้นตัวของสินเชื่อ
               

     พัชร กล่าวว่า ภายใต้แนวทางที่ธนาคารกสิกรไทยจะเดินหน้า โดยมีฐานข้อมูลมาช่วยในการลดต้นทุน วิเคราะห์หาบริการที่ตรงใจลูกค้า พร้อมการบูรณาการทุกมิติของทีมงานและการสร้างพันธมิตรกับภายนอก เชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินปี 2562 ที่วางไว้ ด้วยอัตราการเติบโตของเงินให้สินเชื่อรวม 5-7% โดยสินเชื่อธุรกิจบรรษัทเติบโต 3-5% สินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโต 2-4% และสินเชื่อลูกค้ารายย่อยเติบโต 9-12% อัตราส่วนผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ 3.3-3.5% อัตราการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย -5% ถึง -7% และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม 3.3-3.7%พร้อมแข่งขันและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 



Insight นำบิ๊กดาต้า เจาะลึกเสนอบริการแบบรู้ใจรายคน 
 
               
     เพื่อให้รู้ใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารเดินหน้าเพิ่มศักยภาพด้าน Analytics ในการแปลงข้อมูลมาเป็น insight พร้อมบริการที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล ดังนี้
               

     สร้างประสบการณ์ที่สะดวกไร้รอยต่อ ทุกที่ ทุกเวลา (Frictionless, Anywhere, Anytime) โดยการนำเทคโนโลยี ผสานกับศักยภาพด้าน Data Analytics ช่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการให้ชีวิตลูกค้าง่ายกว่าเดิม เช่น เพียงแค่ใบหน้าก็สามารถเปิดบัญชีได้โดยไม่ต้องไปสาขา แค่ใช้เสียงก็สามารถจ่ายเงินได้โดยไม่ต้องพกกระเป๋าเงิน หรือการถอนเงินโดยไม่ต้องใช้บัตรหรือโทรศัพท์มือถือ
               

     ตอบสนองลูกค้าได้เฉพาะเจาะจง และเข้าถึงทุกคน จากการที่รู้จักและเข้าใจลูกค้ามากขึ้น ทำให้ธนาคารเสนอบริการที่ตรงใจมากขึ้นและสามารถขยายการให้บริการไปสู่ฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้นได้ โดยช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่ม Unbanked และ Underbanked ที่มีการเดินบัญชีผ่านธนาคารน้อย หรือไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ที่สม่ำเสมอ
               

     บริการที่กระชับ อัตโนมัติ และใช้เอกสารน้อย  การก้าวเข้าสู่การเป็น Data-Driven Bank อย่างเต็มตัว ช่วยลดภาระให้แก่ลูกค้าในการยื่นเอกสาร ธนาคารให้ความสำคัญสูงสุดต่อการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า ลูกค้าจะได้รับความสะดวก ปลอดภัย ธนาคารกสิกรไทยได้สร้างความพร้อมใน 4 ด้าน ได้แก่ 
ด้านข้อมูล ให้ทุกฝ่ายงานในองค์กรสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น


     ด้านเทคโนโลยี  ได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอย่างก้าวกระโดด


     ด้านบุคลากร ปัจจุบันได้พัฒนาบุคลากรด้าน Business Analytics ไปแล้วกว่า 500 คน และ Machine Learning Analytics จำนวน 284 คน


     ด้านวัฒนธรรมองค์กรแห่งการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เป็นการผสานความฉลาดของคนเข้ากับเทคโนโลยี (Augmented Intelligence) เพื่อไปสู่การเป็นธนาคารอัจฉริยะ (Cognitive Banking) และในด้านกระบวนการทำงาน  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลและบริการลูกค้าให้ดียิ่งกว่าเดิมธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างการทำงานภายใน 3 ด้าน ได้แก่ กลุ่มงานด้านการขายและบริการ ที่มุ่งตอบโจทย์ลูกค้าแบบรายบุคคล (Segment of One) กลุ่มงานยุทธศาสตร์ ที่มุ่งเน้นด้านการนำข้อมูลมาสร้างประโยชน์ให้แก่ธนาคาร และกลุ่มงานด้านผลิตภัณฑ์ ที่มุ่งนำเสนอนวัตกรรมบริการที่ตอบโจทย์ตรงใจ
           

     ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายปี 2562 ของ Data-Driven Lending เป็นวงเงิน 30,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายการนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจจนสร้างรายได้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด
 




Incorporate ปรากฏการณ์ความร่วมมือ เป็นหนึ่งในอาเซียน
 
               
     ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ จะมีบริการทางเงินใหม่ๆ อาทิ การต่อยอดโครงการพร้อมเพย์ สู่การให้บริการคิวอาร์โค้ดมาตรฐานไทยในประเทศ CLMV+3 จะทำให้สามารถสแกนชำระเงินนอกประเทศได้ผ่านแอป โมบาย แบงกิ้ง ของธนาคารไทยทุกธนาคาร และบริการร้านค้าสแกนคิวอาร์โค้ดของลูกค้าผู้ชำระเงิน (B Scan C) ที่จะช่วยให้การชำระเงินสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
               

     โครงการ Thailand Blockchain Community Initiative เริ่มให้บริการด้านหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) โดยมีสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศ 22 ธนาคาร กลุ่มภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ 7 กลุ่มเข้าร่วม คาดว่าในปีนี้จะมียอดธุรกรรมประมาณ 40,000 รายการ และจะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดธุรกรรมในปีต่อไปเติบโตแบบก้าวกระโดด นอกจากนี้ จะมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปต่อยอดสู่บริการรับรองเอกสารทางการศึกษา (E-Transcript) ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจ เพิ่มความสะดวก ให้แก่นิสิต นักศึกษาที่จบใหม่ รวมทั้งบุคคลที่ต้องการหาตำแหน่งงานและองค์กรที่กำลังเปิดรับบุคลากร
               

     โครงการ National Digital ID (NDID) ที่ลูกค้าสามารถยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ ช่วยให้เปิดบัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องไปแสดงตนที่สาขา การขอสินเชื่อและการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ทางออนไลน์ รวมทั้งโครงการเอทีเอ็มสีขาว (White-Label ATMs) ที่จะช่วยให้ธนาคารบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น ตอกย้ำความก้าวหน้าของระบบธนาคารไทยที่อยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน


     “ธนาคารของไทยได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบและบริการเพื่อยกระดับการให้บริการของสถาบันการเงินในประเทศไทยให้อยู่ระดับแนวหน้าในอาเซียน หลายบริการได้พัฒนาเทียบเท่าประเทศชั้นนำของโลก นำไปสู่ประโยชน์สูงสุดของลูกค้า ซึ่งก็มีการปรับตัวเข้าสู่บริการในยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง และเอื้อให้เศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างมั่นคงและยั่งยืนเช่นกัน” ปรีดี กล่าว
     

   
   
Ignite – จุดประกายตั้งเป้าตลาดต่างแดน โตกว่า 8 เท่าใน 3 ปี 
 
               
     พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในยุคที่เรียกว่า “เศรษฐกิจผสานมิติ (Augmented Economy)” คือ เศรษฐกิจที่มีผลการเชื่อมต่อโลกออนไลน์และออฟไลน์อย่างผสมผสานกลมกลืน ทุกธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องใช้ทักษะความชำนาญต่อพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นต้น ธนาคารกสิกรไทยจึงปรับแนวคิด 3 ด้าน ได้แก่
 

      Beyond Frontier คือ มองถึงโอกาสในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CCLMVI (จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูง คาดว่าภายในปี 2573 กลุ่มประเทศ CCLMVI จะมีจีดีพีรวมอยู่ที่ 28.64 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทยถึง 41 เท่า และมีประชากรรวมมากกว่าไทยถึง 28 เท่า
 

     Beyond Banking มองโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นและวางเป้าหมายที่จะอยู่ในทุกๆ ช่องทางที่ลูกค้าใช้ชีวิต
 

      Beyond Competition คือ มองหาโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ ทั้งฟินเทค สตาร์ทอัพ ข้ามประเทศ ข้ามอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการให้บริการของธนาคารและเสริมศักยภาพให้ธุรกิจไทยสามารถเข้าสู่ตลาด CCLMVI ได้


ทุ่มทุนกว่า 8,000 ล้านบาท ตั้ง KVision เข้าถึงผู้บริโภคใน CCLMVI ด้วย 3 กลยุทธ์
 
               
      นอกจากนี้ธนาคารกสิกรไทยตั้งบริษัท KVision ขึ้นมาเพื่อแสวงหาเทคโนโลยีและลงทุนในฟินเทค หรือ สตาร์ทอัพ ด้วยเงินลงทุนกว่า 8 พันล้านบาท โดย KVision ได้จัดตั้ง Innovation Lab ขึ้น ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อิสราเอล จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อเฟ้นหา Innovation, Tech Partner, และ Tech Talent ใหม่ๆ เพื่อนำมาสนับสนุนการพัฒนาบริการของธนาคารใน CCLMVI ควบคู่กับแสวงหาเทคโนโลยีที่ช่วยต่อยอดธุรกิจให้ลูกค้าไทยเข้าสู่ตลาดใหม่ที่ไร้พรมแดน
 
               
     ธนาคารกสิกรไทยจะเชื่อมโยงลูกค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคใน CCLMVI ได้ด้วย 3 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่

   
     1) ให้คำแนะนำและเชื่อมโยงพันธมิตรในท้องถิ่น (Local Partnership & Insight) ให้กับลูกค้าจากช่องทางและพันธมิตรที่มีอยู่ครบทุกประเทศ ทำให้เข้าใจบริบทของการทำธุรกิจในแต่ละประเทศ


      2) ให้บริการทางการเงินเพื่อเชื่อมโยงการค้าระหว่างลูกค้ากับคู่ค้า (Cross-Border Value Chain Solution)ในต้นปีนี้ธนาคารจะเริ่มให้บริการ Solution ดังกล่าวในลาวและกัมพูชาก่อน โดยการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยให้การชำระค่าสินค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ


     3) สร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาค (Single Regional Payment Platform) เพื่อสร้างความสะดวกสบายและเข้าถึงผู้บริโภครายย่อยในภูมิภาคผ่านแพลตฟอร์มของธนาคาร
 

     ปัจจุบันธนาคารได้เริ่มแผนการดังกล่าวจากโครงการ “QR KBank” แอปฯ กระเป๋าเงินออนไลน์สำหรับชาวเวียงจันทน์ใน สปป.ลาว ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวกสบายโดยไม่ใช้เงินสด สนองนโยบายรัฐบาล สปป.ลาว นำร่องให้บริการที่ตลาดหนองจัน หรือ “ตลาดขัวดิน” เป็นพื้นที่แรก


     “ปี 2562 นี้ จะมีธุรกรรมผ่าน “QR KBank” ประมาณ 2 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 36,000 ล้านกีบหรือประมาณ 115 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาคช่วยให้ธนาคารเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้จ่ายด้วยระบบดิจิทัล (Digital Spender) ในลาวอีกด้วย พร้อมตั้งเป้าหมายขยายการให้บริการและเชื่อมต่อแพลตฟอร์มเข้าด้วยกันทั่ว CCLMVI ในอนาคต” พิพิธ กล่าว
               
 
 

Innovative – นำนวัตกรรมการเงิน ชู KBTG บริษัทไอทีอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
               
     เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เชื่อว่าการผนวกประสบการณ์ของพนักงานธนาคาร เข้ากับความชาญฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ จะเพิ่มศักยภาพได้นำแนวคิด Augmented Intelligence (AI) มาใช้ขับเคลื่อนองค์กร เพื่อสร้าง ธนาคารอัจฉริยะ (Cognitive Banking) เน้นบริการ 3 ด้านคือ บริการที่ฉลาด รู้ใจ (Highly Intelligence) บริการที่ปรับรูปแบบตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้า (Highly Adaptive) และเข้าใจ รู้ใจ ลูกค้าแต่ละคนอย่างลึกซึ้ง (Highly Personalized)
               

     นอกจากนี้ KBTG นำเทคโนโลยีมาลดต้นทุนเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ และประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าที่กว้างขวางขึ้น ก่อให้เกิดการนำเสนอสินเชื่อรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลให้กับลูกค้ากลุ่ม Underbanked ที่ในอดีตไม่สามารถรับบริการสินเชื่อจากธนาคารได้เพราะขาดคุณสมบัติ เช่น การเดินบัญชีไม่เพียงพอ หรือไม่มีรายได้ที่สม่ำเสมอ
               

     รวมทั้งธนาคารจะทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพ หรือองค์กรธุรกิจชั้นนำ ผ่านนวัตกรรมแห่งความร่วมมือ 3 รูปแบบ ได้แก่ Open Banking API ความสามารถในการต่อเชื่อมบริการของธนาคารให้แก่พันธมิตรโดยสะดวกและปลอดภัย K PLUS Business Platform การสร้างความหมายใหม่ของ K PLUS จากการเป็นธนาคารบนโทรศัพท์มือถือไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจที่พันธมิตรสามารถนำไปต่อยอดสร้างบริการแบบดิจิทัล โดยการประยุกต์ใช้คุณสมบัติที่มีอยู่แล้วอย่างเต็มศักยภาพ Innovation Sandbox คือ สนามทดลองเพื่อรองรับการทดสอบไอเดียทางนวัตกรรมใหม่ๆ ของพันธมิตรโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ ได้อย่างประหยัดและรวดเร็ว


     “วิสัยทัศน์ทั้งหมดจะเป็นจริงได้ก็ด้วยศักยภาพทางเทคโนโลยีและบุคลากร ปีนี้เริ่มจากงบลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และบุคลากร กว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อให้สู่เป้าหมายการพัฒนา KBTG ไปสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนแกนเทคโนโลยีของโลกมาสู่ประเทศไทยภายในปี 2565” เรืองโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
 

 ​www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน