SME รู้ยัง! ‘ทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน’ ช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างแต้มต่อธุรกิจได้นะ




Main Idea

 
  • เคยคิดไหมว่า ความสามารถในการหารายได้ การบริหารงานดีเป็นที่เชื่อถือ ที่เรียกว่าค่าความนิยม (Goodwill) รวมทั้งรายชื่อลูกค้า คำสั่งซื้อ คำสั่งผลิต ต่างถือเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน
 
  • แม้บางกิจการอาจเลิกผลิตสินค้าแล้ว แต่ลูกค้าเก่ายังคงต้องสั่งซื้อสินค้านั้น กิจการสามารถนำบัญชีรายชื่อลูกค้าขายต่อให้กับผู้ที่มาซื้อกิจการต่อ
 


 
  • อะไรคือทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน?

     ทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน หรือจับต้องมิได้ (Intangible Assets) เป็นเช่นไร แล้วจะมีมูลค่าได้อย่างไร ถ้าจับต้องไม่ได้ มาเรียนรู้ทรัพย์สินประเภทนี้กัน


     ปกติทรัพย์สินแยกออกเป็นทรัพย์สินที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน ทรัพย์สินที่มีตัวตน ยังแยกออกเป็นทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ และที่เคลื่อนย้ายได้ โดยทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ ก็คือที่ดิน และอาคารนั่นเอง ส่วนทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ ก็ได้แก่ รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม "กฎทุกกฎก็มีข้อยกเว้น" ทรัพย์สินก็อาจมีข้อยกเว้นบ้าง เช่น

1. การสร้างสนามบินกลางทะเล ซึ่งแต่เดิมบริเวณนั้นไม่มี แต่ถมดินขึ้นมา และแปรสภาพเป็นสนามบิน ก็ดูประหนึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายสนามบินมา

2. ในทางตรงกันข้าม เฟอร์นิเจอร์ประเภทบิลท์อิน หรือติดตรึงใช้เฉพาะอาคารหนึ่งๆ ก็อาจถือเป็นส่วนหนึ่งของอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์ทั่วไปที่สามารถเคลื่อนย้ายได้
โดยว่ากันตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 51 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า สินทรัพย์ไม่มีตัวตน หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงินที่สามารถระบุได้และไม่มีกายภาพ ซึ่งต่างจากสินทรัพย์ที่เป็นตัวเงินอันหมายถึง เงินสดหรือสินทรัพย์ที่กิจการจะได้รับเป็นจำนวนที่แน่นอน หรือสามารถทราบได้ และมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ยังได้ขยายความสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอีกว่า รายการที่จะถือเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนได้ต้องสามารถระบุได้ ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการ และต้องก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต




 
  • สินทรัพย์จะเข้าเกณฑ์สามารถระบุได้ตามคำนิยามของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนก็ต่อเมื่อ...

1. สามารถแยกเป็นเอกเทศได้ กล่าวคือ สามารถแยกหรือแบ่งจากกิจการ และสามารถขาย โอน ให้สิทธิ ให้เช่า หรือแลกเปลี่ยนได้อย่างเอกเทศ หรือโดยรวมกับสัญญา สินทรัพย์หรือหนี้สินที่เกี่ยวข้อง หรือ

2. ได้มาจากการทำสัญญาหรือสิทธิทางกฎหมายอื่น ๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าสิทธิเหล่านั้นจะสามารถโอนหรือสามารถแบ่งแยกจากกิจการ หรือจากสิทธิและภาระผูกพันอื่น ๆ
 
  • สินทรัพย์ไม่มีตัวตนแยกออกเป็น สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุการใช้งานจำกัด ได้แก่

1. สิทธิบัตร (Patent) หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มีลักษณะตามที่กำหนดในกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบว่าด้วยสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบ เพื่อให้ได้สิ่งของ เครื่องใช้หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การประดิษฐ์รถยนต์ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หรือการออกแบบขวดบรรจุน้ำดื่ม ขวดบรรจุน้ำอัดลม หรือการออกแบบลวดลายบนจานข้าว ถ้วยกาแฟ ไม่ให้เหมือนของคนอื่น เป็นต้น สิทธิบัตรยังแบ่งย่อยออกเป็น

            1.1 สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention patent) หมายถึง สิทธิในการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือมีการประดิษฐ์ที่ดีกว่าเดิมเกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบ โครงสร้างหรือกลไกของผลิตภัณฑ์กรรมวิธีในการผลิต การรักษาตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตามปกติ สิทธิบัตรการประดิษฐ์มีอายุ 20 ปี นับจากวันที่กิจการขอจดทะเบียน

            1.2 สิทธิบัตรการออกแบบ (Product design patent) หมายถึง สิทธิในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ สิทธิบัตรการออกแบบจะมีอายุ 10 ปี นับจากวันที่ขอรับสิทธิบัตรราคาทุนของสิทธิบัตรได้จากราคาซื้อรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ


2. ลิขสิทธิ์ (Copyrights) หมายถึง สิทธิแต่ผู้เดียวที่กฎหมายรับรองให้ผู้สร้างสรรค์กระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานที่ตนได้ทำขึ้น อันได้แก่ สิทธิที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำออกโฆษณา ไม่ว่าในรูปลักษณะอย่างใดหรือวิธีใด รวมทั้งอนุญาตให้ผู้อื่นนำงานนั้นไปทำเช่นว่านั้นด้วย อายุของลิขสิทธิ์ การคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทยจะกำหนดให้มีอายุการคุ้มครอง 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเสียชีวิต. กรณี เจ้าของ เป็น นิติบุคคล จะเริ่มนับอายุ ตั้งแต่ ผลงานถูกสร้างขึ้นมานับไปอีก 50 ปี หรือ เริ่มนับเมื่อมีการโฆษณาเป็นครั้งแรก แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะเกิดทีหลัง แต่การโฆษณาครั้งแรกนั้นจะต้องเกิดขึ้นภายใน 50 ปี นับตั้งแต่มีการสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้นมา. ถ้าพ้น 50 ปีไปแล้ว โดยที่ยังไม่ได้มีการโฆษณา ถือว่าลิขสิทธิ์หมดอายุ โดยที่การโฆษณาในภายหลัง จะไม่มีผลต่อการนับต่ออายุลิขสิทธิ์อีก. การโฆษณานี้จะต้องเป็นการโฆษณาโดยความยินยอมของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย จึงจะนับเป็นการโฆษณาครั้งแรก ที่ให้เริ่มนับอายุลิขสิทธิ์ได้


3. สิทธิการเช่า (Leasehold) หมายถึง สิทธิที่ได้รับเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่เช่าจากเจ้าของสินทรัพย์โดยตรงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งปกติจะมีระยะเวลานาน โดยผู้ให้เช่าจะได้รับค่าตอบแทนเป็นการแลกเปลี่ยน


4. สัมปทานและการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Franchises and Licensing) หมายถึง สิทธิที่รัฐบาลหรือบุคคลให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเพื่อประกอบกิจการเฉพาะอย่างหรือเป็นตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หมายถึง การที่รัฐบาลมอบสิทธิ ให้เอกชนดำเนินกิจการ บริการสาธารณะ หรือจัดทำประโยชน์เกี่ยวกับ ทรัพยากรธรรมชาติ ภายในระยะเวลาและเงื่อนไข ตามที่รัฐบาลกำหนด เช่น สัมปทานป่าไม้ สัมปทานการเดินรถประจำทาง สัมปทานรถไฟฟ้า สัมปทานทางด่วน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่พบหลักฐาน แน่ชัดว่าเริ่มใช้คำว่า สัมปทาน ตั้งแต่เมื่อใด สันนิษฐานเพียงว่าน่า จะเป็นคำค่อนข้างใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อประมาณไม่เกินร้อยปีมานี้เอง ซึ่งในสมัยโบราณ จะยังไม่มีคำเรียกเฉพาะว่า สัมปทาน แต่จะใช้เรียกแตกต่างกันไปตามการ ให้สัมปทานในกิจการนั้นๆ เช่น สัมปทานป่าไม้ก็จะเรียกว่า “ให้เช่าทำป่าไม้” ส่วนสัมปทานรังนก ก็จะเรียกว่า “ทำอากรรังนก” เป็นต้น ปัจจุบันคำว่า สัมปทาน ถือเป็นคำกลางที่ใช้ได้กับกิจการ หลายประเภท แต่ในบางกรณีก็ยังถือว่าเป็นคำที่ไม่เป็นทางการนัก เช่น ในกฎหมายเกี่ยวกับเหมืองแร่ จะไม่ใช้คำว่า สัมปทาน แต่จะใช้คำเฉพาะ คือ ประทานบัตร ซึ่งหมายถึงหนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อแสดงสิทธิการทำ เหมืองแร่ภายในเขตที่กำหนด


5. รายชื่อลูกค้า (Customer list) เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า เช่น รายชื่อลูกค้า คำสั่งซื้อ คำสั่งผลิต เป็นต้น บางกิจการอาจเลิกผลิตสินค้าแล้ว แต่ลูกค้าเก่ายังคงต้องสั่งซื้อสินค้านั้น กิจการสามารถนำบัญชีรายชื่อลูกค้าขายต่อให้กับผู้ที่มาซื้อกิจการต่อ
 

     สินทรัพย์ที่ไม่จำกัดอายุการใช้งาน เช่น เครื่องหมายการค้าและยี่ห้อการค้า (Trademark and Trade name) หมายถึง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ ซึ่งเครื่องหมายที่ให้ความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 มี 4 ประเภท ดังต่อไปนี้ เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) เครื่องหมายบริการ (Service Mark) เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark) และ เครื่องหมายร่วม (Collective Mark)


6. ค่าความนิยม (Goodwill) หมายถึง คุณค่าที่เกิดขึ้นภายในกิจการนั้นเอง คุณค่าที่เกิดขึ้นจนเป็นค่าความนิยมคือ ความสามารถในการหารายได้ มากกว่ากิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน เกิดจากการมีความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า สถานที่ตั้งกิจการอยู่ในทำเลที่ดี การบริหารงานดีเป็นที่เชื่อถือ ประสิทธิภาพในการผลิตดี ผลประกอบการดี ทำกิจการค้ามานานจนเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป ทำให้เกิดความเชื่อถือและเกิดจากการผูกขาดทำกิจการนั้นแต่เพียงผู้เดียว เป็นต้น เช่น ชาเขียวโออิชิ เป๊ปซี่ ฯลฯ กิจการที่ได้รับความนิยมจะตีราคาค่าความนิยมของตนเองขึ้นมาเป็นตัวเลขเพื่อบันทึกไว้ในบัญชีของกิจการไม่ได้


     ค่าความนิยมจะเกิดขึ้นได้โดยการซื้อกิจการมาและกำหนดค่าความนิยมขึ้นจากการซื้อกิจการนั้นเท่านั้น มูลค่าของค่าความนิยมเกิดจากการจ่ายเงินส่วนหนึ่งเพื่อซื้อกิจการ เงินที่จ่ายเกินไปกว่าทุนของกิจการ (สินทรัพย์ - หนี้สิน) ถือว่าเป็นต้นทุนของค่าความนิยม การจำหน่ายค่าความนิยมออกจากบัญชี เมื่อซื้อกิจการผู้อื่นมาดำเนินงานต่อโดยมีค่าความนิยมและได้บันทึกค่าความนิยมในบัญชีเรียบร้อยแล้ว กิจการจะคงค่าความนิยมไว้ในบัญชีต่อไป โดยถือว่าค่าความนิยมเป็นสินทรัพย์ที่มีอายุไม่จำกัด ตราบใดค่าความนิยมยังคงอยู่และดีขึ้นเรื่อยๆ ให้คงจำนวนค่าความนิยมไว้ในบัญชีตลอดไป แต่เมื่อไหร่เจ้าของกิจการคิดค่าความนิยมเริ่มลดลงอาจเป็นเพราะการบริหารงานเริ่มไม่ดี มีคู่แข่งที่ดีกว่า ฯลฯ เจ้าของกิจการอาจจะประมาณว่าค่าความนิยมจะคงอยู่ได้เพียง 5 ปี ก็ให้จำหน่ายค่าความนิยมออกจากบัญชีภายในเวลา 5 ปี




 
  • สำหรับกรณีการประเมินค่า เช่น การวัดค่าความนิยม แบ่งได้ 2 ประเภท คือ

1. ค่าความนิยมแสดงถึงทรัพยากรที่ไม่มีตัวตน ซึ่งให้ประโยชน์ต่อกิจการในด้านจุดเด่น โดยเฉลี่ยของกิจการเกินระดับปกติในด้านต่าง ๆ เช่น ความชำนาญ ความรอบรู้ทางเทคนิค การบริหารงาน การวิจัยและการส่งเสริมทางด้านการตลาด เช่นร้านตัดผมร้านหนึ่งอาจมีคนเข้าไปใช้สอยมากเป็นพิเศษ จึงมีค่าความนิยมสูงกว่า


2. ค่าความนิยมแสดงถึงกำไรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเกินกว่ากำไรปกติในอนาคต โดยวิธีการกำหนดค่าความนิยมมีหลายวิธี ดังนี้:

            1. ตามข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายกิจการ
            2. ใช้กำไรสุทธิส่วนที่เกินกว่าอัตราปกติเป็นหลัก และคูณกับจำนวนปีที่คาดว่าจะมีกำไรเกินปกติต่อไป
            3. ใช้กำไรสุทธิส่วนที่เกินกว่าอัตราปกติเป็นหลัก และคิดว่าถ้าต้องการให้ได้กำไรเพิ่มขึ้นอีกเท่าจำนวนนี้ จะต้องลงทุนเพิ่มขึ้นอีกเท่าใด


     นี่คือสิ่งที่ SME ต้องพึงเรียนรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน เพราะถึงแม้จับต้องมิได้แต่มีมูลค่าต่อธุรกิจอย่างแน่นอน


ที่มา : ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน

พลิกอุปสรรค สู่ความสำเร็จ สร้างธุรกิจรายได้หลักร้อยล้าน

ทุกย่างก้าวในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเผชิญวิกฤตหรือได้รับโอกาส มุมมองในการบริหารธุรกิจก็เป็นสิ่งสำคัญ และตัวช่วยที่ขาดไม่ได้ในการนำพาธุรกิจพุ่งทะยานสู่รายได้หลักร้อยล้าน คือ เงินทุน พบกับ 4 ธุรกิจ พลิกจากอุปสรรค เป็นสร้างรายได้ทะลุร้อยล้าน