ชี้ทางออกบอกความหวัง ‘ตลาดเพื่อการลงทุน’ ในวันเศรษฐกิจโลกชะลอตัว




Main Idea
 
 
  • เศรษฐกิจโลกช่วงกลางปี 2562 มีแนวโน้มชะลอตัวลง สาเหตุจากสถานการณ์การคลังของประเทศต่างๆ และความไม่แน่นอนด้านเสถียรภาพทางการเมือง และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และค่าเงินที่ผันผวน
 
  • ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีและเหมาะกับการลงทุนในขณะนี้ ได้แก่ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มวัสดุการผลิต กลุ่มพลังงาน และกลุ่มเทคโนโลยี
 
  • แม้เศรษฐกิจโดยรวมในตลาดโลกจะชะลอตัวลง แต่กลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชียกลับเป็นประเทศที่น่าลงทุน




     ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เผยผลการวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกช่วงกลางปี 2562 ชี้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวเล็กน้อยสู่ระดับการขยายตัว 2.9 เปอร์เซ็นต์ จาก 3.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2561 โดยคาดการณ์อัตราเติบโตของผลกำไรทั่วโลกสิ้นปี 2562 ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าระดับประมาณการในครั้งก่อนเล็กน้อย ด้วยปัจจัยสถานการณ์การคลังของบางภูมิภาค ความไม่แน่นอนด้านภูมิศาสตร์การเมือง รวมถึงปัจจัยสำคัญอย่างความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่จะมีสัญญาณบวกและไต่ระดับขึ้นที่ 11 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2563 ด้านค่าเงินสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในภาพรวม ขณะที่ค่าเงินบาทไทยมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับแข็งค่าในระยะปานกลาง ซึ่งคาดว่าโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในกรอบ 31.20 – 31.50 ไปจนถึงช่วงกลางปี 63  





     ขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วงที่ยังเติบโตแต่โตน้อยลงเช่นนี้ นักวิเคราะห์ของซิตี้จึงมีมุมมองเป็นบวกต่อ 4 กลุ่มหุ้นวัฏจักร ได้แก่ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มวัสดุการผลิต กลุ่มพลังงาน และกลุ่มเทคโนโลยี ที่ได้แรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ หรือคอมโมดิตี้ ยังทำผลงานได้เป็นที่น่าจับตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับน้ำมัน และน้ำมันดิบที่มีอุปสงค์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์แตะ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และมีแนวโน้มทะลุ 78 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนทองคำยังเป็นที่ต้องการของตลาด และมีกรอบมูลค่าราว 1,300 – 1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี


     ทั้งนี้ การลงทุนปี 2562 ยังคงมีความท้าทายสูง โดยนักลงทุนควรติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ความไม่แน่นอนระหว่างสหรัฐ ตะวันออกกลางและเกาหลีเหนือ ข้อตกลงเบร็กซิท (Brexit) การเลือกตั้งในภูมิภาค และนโยบายงบการคลังของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้อัตราการลงทุนทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม ที่ตลาดมีความเคลื่อนไหวน้อยที่สุดในรอบปี
 




แนะทุ่มการลงทุนในตลาดเกิดใหม่


     ทั้งนี้สำหรับเศรษฐกิจระดับภูมิภาคคาดว่ากลุ่มตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มเติบโต 4.3 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2562 ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 4.6 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2563 ในทางกลับกัน ด้านตลาดพัฒนาแล้วมีแนวโน้มการเติบโตชะลอตัวลงเล็กน้อยแตะระดับ 1.8 เปอร์เซ็นต์ และ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ จากผลกระทบของนโยบายระหว่างประเทศความตึงเครียดทางการค้าของประเทศยักษ์ใหญ่ การชะลอตัวของตลาดแรงงาน และราคาสาธารณูปโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น


     นักกลยุทธ์จึงแนะนำนักลงทุนให้น้ำหนักในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะเอเชีย เช่น ตราสารทุนในหุ้นวัฏจักรกลุ่มการสื่อสาร สุขภาพ และวัสดุการผลิต ตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงตราสารหนี้เอกชนสหรัฐฯ ระดับน่าลงทุน (US Investment Grade) ตลอดจนกระจายพอร์ตการลงทุนในกองทุนผสมที่มีการลงทุนในทองคำ และน้ำมัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ในระยะยาว ท่ามกลางสภาวะผันผวน นอกจากนี้ควรเฝ้าติดตามประเด็นสำคัญ อาทิ ความไม่แน่นอนด้านการเมืองในแต่ละภูมิภาค สงครามการค้า และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงตึงเครียด การเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงิน  และการปรับตัวของค่าเงินทั่วโลก  
 




จับตาค่าเงินผันผวน


     สำหรับค่าเงินยังคงมีความผันผวนสูง และต้องจับตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากผลของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทยอยหมดลง ตลอดจนการส่งสัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่พร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินเมื่อจำเป็น ทำให้ค่าเงินสกุลอื่นมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ ได้แก่ เยนญี่ปุ่น (JPY) หยวนจีน (CNY) ดอลลาร์แคนาดา (CAD) รวมถึงเงินบาท ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงปลายปี 2562 คาดว่า FED จะยังคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงช่วงกลางปี 2563 ซึ่งเปลี่ยนไปจากที่คาดการณ์เมื่อต้นปีว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) และญี่ปุ่น (BoJ) ที่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0 เปอร์เซ็นต์ และ -0.1 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ไปจนถึงช่วงกลางปี 2563
 




ค่าเงินบาทส่งผลเศรษฐกิจไทยชะลอการเติบโต
               

     ด้านเศรษฐกิจไทย ธนาคารฯ ได้ปรับลดประมาณการเติบโตมาอยู่ที่ 3.3 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2562 โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง มาจากการชะลอการลงทุนภาคไตรมาสที่ 1 โดยคาดว่าปี 2563 มีโอกาสฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 3.7 เปอร์เซ็นต์ ในครึ่งปีหลัง 2562 คาดการณ์ว่าการส่งออก และการท่องเที่ยว ยังมีโอกาสขยายตัวในระดับที่ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่ค่าเงินบาทไทย มีแนวโน้มอยู่ในระดับที่แข็งค่าไปจนถึงช่วงต้นปี 2563 โดยคาดว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในกรอบ 31.20 – 31.50 และยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ระดับค่าเงินบาทปัจจุบัน ที่แข็งค่าอยู่ในระดับ 30.60 - 30.70 ที่ได้รับอานิสงส์ส่วนหนึ่งมาจากเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น จะคงอยู่ได้นานหรือไม่ ทั้งนี้เพราะรายได้จากต่างประเทศจากการส่งออก และการท่องเที่ยวยังไม่ได้ดีขึ้นชัดเจน
 

     ที่มา : ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน