ม.หอการค้าไทย เผยดัชนี SME ไตรมาส 2 ปรับลดลงทุกด้าน



Main Idea
 
 
  • ดัชนี SME ประจำไตรมาสที่ 2/2562 ปรับตัวลดลงทุกด้าน ทั้งสถานการณ์ทางธุรกิจ ความสามารถในการทำธุรกิจ ความยั่งยืนของธุรกิจ ไปจนถึงความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งคาดว่าในไตรมาสที่ 3 จะยังคงลดลงต่อเนื่อง 
 
  • มีความหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล คือ มาตรการกระตุ้นการบริโภคและลงทุนภายในประเทศ รวมถึงมาตรการเกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรประสบภัยแล้ง จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศปรับตัวดีขึ้นได้



     ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ  ม.หอการค้าไทย ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เผยผลสำรวจดัชนี SMEs ประจำไตรมาส 2/2562 ปรับลดลงทุกด้าน ทั้งสถานการณ์ธุรกิจ  ความสามารถในการทำธุรกิจ  ความยั่งยืนของธุรกิจ  และความสามารถในการแข่งขัน เชื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น 
 




     จากการสำรวจ 1,239 ตัวอย่างทั่วประเทศ ผ่าน 3 ดัชนี ได้แก่ 1. ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs (SMEs Situation Index) 2. ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ (SMEs Competency Index) และ 3. ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ SMEs (SMEs Sustainability Index) นำมาประมวลให้เห็นถึงดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs (SMEs Competitiveness Index) 
 


     ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ไตรมาส 2/2562 อยู่ที่ 42.7  ปรับตัวลด 1.0 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (1/2562)  และคาดไตรมาส 3/2562 จะอยู่ที่ 41.9



     โดยในธุรกิจการผลิต ในทุกอุตสาหกรรม ยกเว้นธุรกิจสิ่งทองและแฟชั่นมีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 1 แทบทั้งสิ้น




   ซึ่งธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกก็มีการปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน




ส่วนทางด้านของธุรกิจบริการประเภทการท่องเที่ยวและสันทนาการมีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ซึ่งยังเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันถึงแม้จะชะลอตัวก็ตาม ส่วนธุรกิจอื่นๆ ในภาคบริการยังคงปรับตัวลดลง





     ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าทุกภาคธุรกิจยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
 


     ด้านดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ไตรมาสที่ 2/2562 อยู่ที่ระดับ 48.8 ปรับตัวลดลง 1.1 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ประเมินจากต้นทุนและกำไรสะสม รวมถึงความสามารถในการทำกำไร ซึ่งองค์ประกอบที่ทำให้มีการปรับตัวลงมากที่สุด คือ เรื่องของความสัมพันธ์กับลูกค้า โดยลูกค้าไม่ค่อยซื้อสินค้าและบริการมากเท่าช่วงที่ผ่านมา






  โดยเฉพาะภาคค้าส่งที่มีสัญญาณของการชะลอตัวชัดเจน แต่ภาคค้าปลีกยังคงประคองตัวไปได้ โดยเฉพาะโมเดิร์นเทรด



    ในขณะที่ภาคบริการด้านธุรกิจอาหาร ท่องเที่ยวและสันทนาการแม้จะยังดำเนินธุรกิจไปได้แต่ก็มีสัญญาณการปรับตัวลดลง
 


     ด้านดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ ไตรมาสที่ 2/2562 อยู่ที่ระดับ 51.8 ปรับตัวลดลง 0.7  จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดไตรมาส 3/2562 จะอยู่ที่ 50.8 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังคงเชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
 

     ผศ.ดร.ธนวรรธน์  กล่าวต่อว่า จาก 3 ดัชนีข้างต้น นำมาสู่ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SME ไตรมาสที่ 2/2562 พบว่า อยู่ที่ระดับ 47.8 ปรับตัวลดลง 0.9 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดว่าในไตรมาสที่ 3/2562 จะอยู่ที่ระดับ 46.9
 

     ผลสำรวจดังกล่าว ดำเนินการก่อนที่รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าการคาดการณ์ดัชนีธุรกิจ SME ในไตรมาสที่ 3/2562 จะปรับตัวลดลงอีกในทุกด้าน
 



     สถานการณ์เช่นนี้ SME ไทยจึงต้องการความช่วยเหลือ สนับสนุนหรือพัฒนากิจการจากภาครัฐ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจ  ด้านการท่องเที่ยว เช่น ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ กระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว อนุรักษ์ธรรมชาติ  ด้านสินเชื่อ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย และการสนับสนุนเงินกู้ ส่งเสริมความสามารถในการลงทุนการทำธุรกิจ และด้านสินค้าและบริการ เช่น สนับสนุนสินค้าไทย เพิ่มการพัฒนาการ ผลิตสินค้าในชุมชน สนับสนุนเงินลงทุน และขยายแหล่งส่งออกสินค้า
 

     ดังนั้น เมื่อรัฐบาลประกาศใช้เม็ดเงินจำนวน 316,813 ล้านบาทใน 3 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการเกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรประสบภัยแล้งออกมา จึงเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อม  ไม่ว่าจะเป็นช่วยให้คนมีรายได้และเพิ่มการใช้จ่ายมากขึ้น  นักท่องเที่ยวมากขึ้น ธุรกิจมีสภาพคล่องและรายได้มากขึ้น  ต้นทุนธุรกิจลดลงจากภาระอัตราดอกเบี้ยลดลง ทำให้ท้ายที่สุดแล้วสถานการณ์ของ SME ไทยขยับปรับดีขึ้น
 

     อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางส่วนยังมีความกังวลว่ามาตรการกระตุ้นดังกล่าวจะไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวให้ดีขึ้นเท่าที่คาดการณ์ เพราะเป็นมาตรการช่วยเฉพาะบางกลุ่ม ไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ รวมถึงขั้นตอนการใช้งบประมาณอาจไม่ถึงมือกลุ่มเป้าหมาย และในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้การใช้จ่ายของประชาชนไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากอย่างที่คิด รวมถึงยังไม่แน่ใจสถานการณ์ในอนาคตต่อไปอีกด้วย
 

     พงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ SME D Bank  กล่าวว่า ธนาคารมีกระบวนการพัฒนาผู้ประกอบการคู่กับการให้เงินกู้ เช่น  การจัดอบรม จับคู่ธุรกิจ ช่วยขยายตลาด และต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทำให้ลูกค้า ธพว. มีศักยภาพ สามารถปรับตัวทันโลกธุรกิจยุคใหม่  ดังนั้น ธนาคารจะเดินหน้าแนวทางพัฒนาผู้ประกอบการต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการมีภูมิคุ้มกันทางธุรกิจ ลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ควบคู่กับเติมทุนด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สร้างโอกาสนำไปใช้เสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงธุรกิจ หรือเป็นทุนหมุนเวียน ช่วยให้ศักยภาพ  สามารถปรับตัวก้าวข้ามอุปสรรคที่เกิดขึ้นได้  
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน