การค้าโลกชะลอตัว! ส่งผลดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนก.ค.หดตัวร้อยละ 3.23




Main Idea
 
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2562 หดตัวลงร้อยละ 3.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง
 
  • ในขณะที่อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่ การกลั่นและการผสมสุรา เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน น้ำมันปาล์ม เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
 
  • เชื่อมาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะเริ่มในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และสร้างแรงส่ง ให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 และปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้น



     สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2562 หดตัวลงร้อยละ 3.23 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง


     อิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)  เปิดเผยว่า  ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2562 หดตัวร้อยละ 3.23 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน   โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนกรกฎาคม 2562 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ยาง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง ยกเว้นน้ำมันปิโตรเลียมที่มีการซ่อมบำรุงโรงกลั่น  ในขณะที่อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่ การกลั่นและการผสมสุรา เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน น้ำมันปาล์ม เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
               





     โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวในเดือนกรกฎาคม ได้แก่
 


     การกลั่นและการผสมสุรา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 72.01 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการได้ทำการตลาดโดยได้ปรับภาพลักษณ์ของสินค้าและการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งมีการตอบรับที่ดีทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น


     เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.66 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากตลาดในประเทศที่มีความต้องการสินค้าต่อเนื่อง รวมถึงตลาดส่งออกได้รับคำสั่งซื้อจากประเทศ CLMV โดยเฉพาะประเทศเวียดนามและเมียนมาร์





     น้ำมันปาล์ม 
ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.72 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบ ที่เพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและส่งออกตามปริมาณผลปาล์มที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B20 เพื่อลดสต้อกน้ำมันปาล์มและดึงราคาปาล์มให้สูงขึ้น






     เฟอร์นิเจอร์
ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.91 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนทำด้วยไม้ โดยได้เร่งผลิตและส่งมอบตามคำสั่งซื้อของลูกค้าต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา


     เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นน้ำแร่ เนื่องจากผู้ประกอบการได้ขยายตลาดในทุกช่องทางจัดจำหน่าย รวมถึงการปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภคมากขึ้น
               



      ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิต เดือนสิงหาคม 2562 ประกอบด้วย การชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน รวมถึงประเทศอื่น ๆ ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุด เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งจีนและสหรัฐมีการประกาศขึ้นภาษีรอบใหม่อีก
มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบหักทองเดือนกรกฎาคม 2562 กลับมาขยายตัวร้อยละ 8.3 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับภาคอุตสาหกรรม  ในช่วงเวลาข้างหน้า
               

     มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 วงเงิน 316,813 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 1.มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้าน 2. มาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2562 และเกษตรกรรายย่อย และ 3. มาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 เป็นต้นไป จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และสร้างแรงส่ง (Momentum) ให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 และปี 2563 ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น
               

     และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 102.9 เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. 2562 ที่อยู่ระดับ 101.3 เพราะผู้ประกอบการคาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศนั่นเอง



               
                ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
 
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน