คุยกับผู้บริหาร ธ.ไทยเครดิตฯ ในวันที่รับพันธกิจยกพ่อค้าแม่ค้าตลาดสดขึ้นสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล

Text : กองบรรณาธิการ
 

               
           
Main Idea
 
  • สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า คนหาเช้ากินค่ำ เรื่องของเทคโนโลยียังเป็นเรื่องไกลตัว และสำคัญน้อยกว่าเรื่องปากท้องของพวกเขา ทว่าเมื่อโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัล แม้แต่ผู้ค้าตลาดสดเองก็ต้องพร้อมที่จะปรับตัวเข้าสู่โลกใบใหม่นี้
 
  • มาฟังวิชั่นของ“รอย ออกุสตินัส กุนารา” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายย่อยและไมโครไฟแนนซ์ ในวันที่ต้องยกระดับกลุ่มลูกค้ารายย่อยขึ้นสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นครั้งแรกของธนาคารฯ เพื่อช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าได้พร้อมรับมือกับวันโลกเปลี่ยน
 
 
               
     วันนี้ภาคธุรกิจการเงินก้าวข้ามจากโลกยุคเก่า เข้าสู่โลกยุคใหม่ที่ชื่อดิจิทัลมาได้ระยะหนึ่งแล้ว สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ที่เปลี่ยนจากโลกใบเก่าเข้าไปอยู่บนโลกออนไลน์ การทำธุรกรรมต่างๆ ที่เคยผูกติดกับสาขาธนาคาร และกระบวนการขั้นตอนแบบเดิมๆ ก็เพิ่มความง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น เมื่อทุกอย่างสามารถจบลงได้แค่ปลายนิ้วคลิก!
               

     ทว่าสำหรับโลกของคนทำธุรกิจ ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถโกดิจิทัลได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย อย่างพ่อค้าแม่ค้า เหล่าคนหาเช้ากินค่ำ ที่เรื่องของเทคโนโลยียังเป็นเรื่องไกลตัว และสำคัญน้อยกว่าเรื่องปากท้อง
               

     และนั่นคือที่มาของพันธกิจใหญ่ในปี 2020 ของ “รอย ออกุสตินัส กุนารา” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายย่อยและไมโครไฟแนนซ์ ที่มีลูกค้าเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าอยู่ถึงประมาณ 2 แสนราย กินส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในกลุ่มนาโนไฟแนนซ์และไมโครไฟแนนซ์ในปัจจุบัน เป้าหมายของเขาคือการนำพาลูกค้ารายย่อยโดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าขึ้นสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลให้ได้ ด้วยเครื่องมือใหม่จากไทยเครดิตฯ ที่กำลังจะเปิดตัวเป็นครั้งแรกในต้นปีหน้า
               




     “เป้าหมายของเราคือการทำให้กลุ่มลูกค้ารายย่อยโดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้า ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารได้มากขึ้น เพราะโดยปกติแล้วกลุ่มนี้เป็นคนหาเช้ากินค่ำ เขาไม่ได้มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ได้มีวินัยทางการเงิน ไม่ได้ทำบัญชี และไม่มีหลักฐานทางการเงินใดๆ ทำให้การจะกู้เงินจากธนาคารต่างๆ ก็จะยากขึ้น เวลาต้องการเงินทุนจึงต้องอาศัยไปกู้ยืมเพื่อนบ้าง ญาติพี่น้องบ้าง หรือกระทั่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ ผมมองว่าในกลุ่มลูกค้ารายย่อย เราไม่ได้แข่งกับธนาคารอื่น แต่กำลังแข่งกับแหล่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งเราต้องการทำให้กลุ่มหนี้นอกระบบลดน้อยลง ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงเงินจากสถาบันการเงินได้มากขึ้น จึงต้องเข้าถึงเขาให้มากขึ้น” รอย บอกพันธกิจของเขา สอดรับกับสโลแกนของธนาคารฯ ที่ว่า  Everyone Matters ใครไม่เห็น เราเห็น
           
  • ปูทางความพร้อม ก่อนนำผู้ค้าตลาดสดขึ้นสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล
               
     ในปีนี้เป็นอีกปีแห่งการทำงานหนักของธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย รอยบอกเราว่า พวกเขาขยายสาขาไปกว่า 500 สาขา ตามเป้าหมาย เพื่อไปตั้งสาขาที่ใกล้กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า โดยวางตัวเองเป็นเหมือนเพื่อนบ้าน ที่ผู้ค้าสามารถเข้ามาหาได้ตลอดเวลา ช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารถตั้งสาขาที่ครอบคลุมกว่า 5 พันตลาดสดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่เปิดประจำไม่รวมกลุ่มตลาดที่เปิดเฉพาะวันหยุดหรือตลาดกลางคืน จากจำนวนตลาดสดทั่วประเทศไทยที่มีอยู่ประมาณ 1 หมื่นแห่ง
               

     เมื่อตกผลึกว่าผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ประสบปัญหาทางด้านการเงิน ส่วนใหญ่มาจากการขาดความรู้ความเข้าใจที่ดี พวกเขาจึงเดินหน้าจัดทำโครงการ “พ่อค้าแม่ค้าพากเพียร  รู้ขยันรู้ออมรู้วินัย” โครงการฝึกอบรมความรู้ทางการเงินพื้นฐานให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ ซึ่งจัดมาแล้ว 3 ปี อบรมพ่อค้าแม่ค้าไปแล้วกว่า 6,000 ราย โดยตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้จะมีผู้เข้าอบรมเพิ่มเป็น 9,000 - 10,000 ราย และวางแผนเพิ่มเป็น 3 เท่าในปี 2563
               

     ในปีนี้ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ยังจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางการเงิน หรือ Thai Credit’s Learning Center เพื่อเป็นศูนย์ที่ส่งเสริมความรู้ทางการเงิน เป็นแรงบันดาลใจ และผลักดันศักยภาพในการประกอบอาชีพของพ่อค้าแม่ค้า สานฝันให้ธุรกิจนาโนและไมโครสามารถเติบโต และต่อยอดไปสู่ธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีได้ โดยเลือกจุดที่ตั้งของศูนย์ฯ ให้อยู่ใกล้ตลาด เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าเข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องทิ้งแผงไปไกลอีกด้วย
               

     วันนี้ใช้กลยุทธ์เข้าถึงลูกค้าผ่านสาขาและศูนย์การเรียนรู้ออฟไลน์ แต่ต้นปีหน้า กลยุทธ์ของพวกเขาจะเปลี่ยนไป เมื่อกำลังจะเคลื่อนทัพสู่โลกดิจิทัล
 
           

 
  • เปลี่ยนโลกผู้ค้าตลาดสด เข้าสู่ยุคดิจิทัลด้วย “ไมโครเพย์”
           

     “จากนี้กลยุทธ์ของเราในการที่จะเข้าถึงลูกค้าให้ครอบคลุมทุกตลาด มองว่าจะไม่ใช่การเปิดสาขาอีกต่อไป แต่คือการใช้ดิจิทัล โดยตลอดทั้งปีนี้เรามีการทำ Digital Journey เส้นทางดิจิทัลของเรา ที่มีการบริหารจัดการให้เป็นเทคโนโลยีมากขึ้น และเรากำลังจะเปิดตัวไมโครเพย์ (Micro Pay) ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ที่บริษัทในกลุ่มของธนาคารเราพัฒนาขึ้นเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าได้ใช้ ซึ่งจะเปิดตัวในต้นปีหน้า” รอยบอก
               

     นวัตกรรมการเงินไมโครเพย์ (Micro Pay) คือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์การทำธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ที่จะเข้ามารองรับการทำธุรกรรมการเงิน ทั้งรับ-โอน-จ่าย และยังเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นพร้อมเพย์อีกด้วย
               

     รอยโชว์หน้าตาของแอปพลิเคชั่นในมือถือที่ถูกออกแบบให้ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน สนองการทำงานของพ่อค้าแม่ค้า ทั้งยังช่วยให้รับเงินง่าย ขายสะดวกไม่สะดุด ไม่ต้องเสียเวลาเก็บเงินหรือทอนเงินจากลูกค้า ขณะที่ลูกค้าเองก็สามารถซื้อของได้สะดวกขึ้นโดยไม่ต้องพกเงินสด แต่ใช้วิธีสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วจ่ายเงินได้ทันที ในส่วนการทำธุรกรรมอื่นๆ เช่น การโอนเงิน จ่ายบิล หรือกระทั่งจ่ายหนี้ของธนาคารไทยเครดิตฯ เองก็ทำได้รวดเร็ว ปลอดภัยขึ้น โดยไม่ต้องทิ้งร้านไปทำธุรกรรมให้เสียเวลา เพราะทุกอย่างสามารถจัดการได้ครบจบในมือถือ
               

     “ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้สำหรับเรื่องดิจิทัลคือ ผู้ค้าทั่วไปมีโมบายล์แบงกิ้ง (Mobile Banking)  เริ่มใช้ดิจิทัลโปรดักต์กันแล้ว แต่ในกลุ่มของพ่อค้าแม่ค้าเขาอาจมีบัญชีธนาคารนะ แต่ไม่มีโมบายล์แบงกิ้งเพราะเขาไม่มีเงิน วันนี้คนไทยมีบัตรเครดิตบัตรเงินสดใช้กันแล้ว แต่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเขาไม่มี เขามีแต่โทรศัพท์ และไม่ได้ไฮเทคสักเท่าไร เราจึงต้องการสร้างสิ่งเหล่านี้ให้กับพ่อค้าแม่ค้า โดยการนำ E-Wallet  ไปช่วยเสริมการทำธุรกิจของเขาให้สะดวกสบายขึ้น และเราให้ใช้ฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียม เพราะจากนี้เราไม่ต้องการเปิดสาขาเพิ่ม แต่เราจะให้พ่อค้าแม่ค้าทุกคนเข้าสู่ดิจิทัลให้มากที่สุด โดยเป้าหมายในปีแรกจะเริ่มจากลูกค้าของเราก่อน เราต้องการให้พ่อค้าแม่ค้า 2 แสนราย ได้เข้ามาใช้” รอยบอกความมุ่งมั่น
                 

     เมื่อถามถึงความพร้อมในการโกดิจิทัลของผู้ค้ารายย่อยในบ้านเรา รอยบอกว่า วันนี้ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย เริ่มใช้ดิจิทัลโซลูชั่นกับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าไปบ้างแล้ว เพื่อให้คุ้นชินกับคำว่าดิจิทัลมากขึ้น โดยเริ่มจากการเก็บหนี้ผ่านแท็บเล็ต


     “ทุกวันนี้เวลาพนักงานไปเก็บเงินจากพ่อค้าแม่ค้า ก็จะมีการใช้แท็บเล็ตให้บริการลูกค้า เพื่อให้พวกเขาได้สัมผัสความเป็นดิจิทัลจากตรงนั้น รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ของเราเพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าสู่ดิจิทัลได้มากขึ้น โดยเรามีการอบรมเตรียมความพร้อมเรื่องของสังคมไร้เงินสด ตลอดจนตัวไมโครเพย์ที่จะนำมาใช้ในปีหน้า เป้าหมายก็เพื่อช่วยให้การทำงานในชีวิตประจำวันของพ่อค้าแม่ค้าเข้าสู่ดิจิทัลให้มากที่สุด” เขาบอก
 
  • ตลาดสินเชื่อรายย่อยในปี 2020

     เมื่อถามถึงภาพรวมธุรกิจในปีหน้า เขาบอกว่าในกลุ่มสินเชื่อนาโนเอสเอ็มอี หรือกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า และกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี มองว่าปีหน้าจะยังคงเติบโตได้ เพราะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ายังเป็นฐานรากสำคัญของประเทศ และเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของฐานปิรามิด ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขายังเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้เพียงประมาณ 2 แสนราย ขณะที่จริงๆ แล้วเชื่อว่ายังมีอีกนับล้านราย ทั้งในระบบและนอกระบบ และมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องการเงินเพื่อไปประกอบธุรกิจรายย่อย


     “ปีนี้เราเติบโตที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยมีลูกค้าใหม่ประมาณ 1 แสนราย ที่เป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า พอร์ตฟอลิโอใน กลุ่มไมโครเอสเอ็มอีอยู่ที่ 8,600 ล้านบาท ในปีหน้าเราตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ มีลูกค้าเพิ่มอีกประมาณ 1.2 แสนราย  โดยนอกจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ยังมีกลุ่มที่เราจะขยายไปเพิ่มคือคนที่ทำงานในตลาด รวมถึงกลุ่มอาชีพอิสระ และจักรยานยนต์รับจ้าง อีกด้วย ซึ่งกลุ่มนี้เรามีอยู่แล้วแต่ยังไม่มากนัก จึงจะขยายให้มากขึ้น” เขาบอกในตอนท้าย


     ทั้งนี้ปัจจุบันไทยเครดิต เพื่อรายย่อย มีจำนวนลูกค้ากลุ่มไมโครทั้งหมด 250,000 ราย สินเชื่อคงค้างทั้งหมด 50,000 ล้านบาท (70 เปอร์เซ็นต์ เป็นสินเชื่อหลักของธนาคาร เช่น นาโนเครดิต / ไมโครไฟแนนซ์ และ สินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย (Micro SME) มีสินทรัพย์รวมทั้งหมด 56,000 ล้านบาท  
การขยับตัวครั้งนี้ของพวกเขา ไม่เพียงสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในธุรกิจ แต่คือการเปลี่ยนชีวิตของผู้ค้ารายย่อยเพื่อให้ยังยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่ง ในคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ชื่อ “ดิจิทัล”  
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน