SME ต้องรู้! บริหารการเงินยังไงให้รอดพ้นวิกฤต COVID-19

TEXT : นิตยา สุเรียมมา 




Main Idea
 
  • นอกจากการพยายามตั้งสติตั้งรับกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในช่วงนี้ การบริหารการเงินที่ดีก็นับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้
 
  • ต่อไปนี้ คือ 6 แนวทางในการบริหารการเงินให้กับธุรกิจของคุณในยามที่วิกฤตรุมเร้าเข้ามาเช่นนี้




     ช่วงนี้ไม่ว่าผู้ประกอบการธุรกิจไหนๆ ก็คงนั่งกุมขมับ คิดหาทางออกเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ด้วยกันทั้งนั้น นอกจากกลยุทธ์ต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้แล้ว การบริหารการเงินก็ถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญเช่นกันที่จะทำให้สามารถผ่านพ้นจากวิกฤตในช่วงเวลานี้ไปได้ บริหารการเงินยังไงให้ธุรกิจรอดไปดูกัน
 




     รวบรวมรายจ่ายที่จำเป็นออกมา
               

     อันดับแรกให้ลองจดรวบรวมรายจ่ายที่จำเป็นออกมาไว้ก่อน ว่าในระยะเวลา 1 - 3 เดือนต่อจากนี้ รายจ่ายที่ต้องจ่ายประจำทุกเดือนมีอะไรบ้าง เรียงลำดับความสำคัญจากมากไปน้อย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะได้ช่วยให้คุณสามารถประเมินสถานการณ์และศักยภาพธุรกิจของตัวเอง เพื่อวางแผนการใช้เงินที่มีอยู่กับรายจ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นว่ายังเพียงพออยู่หรือไม่ และสามารถพยุงตัวไปได้อีกสักเท่าไหร่ หากมีรายได้เข้ามาน้อย หรือแทบจะไม่มีรายได้เข้ามาเลย ถ้าไม่เพียงพอจะสามารถหาเพิ่มหรือลดรายจ่ายจากทางใดได้บ้าง
 




     ประเมินสถานการณ์ที่ดีที่สุด และเลวร้ายที่สุดไว้ล่วงหน้า
               

     ในสถานการณ์ที่ยังไม่สงบและคลี่คลายเช่นนี้ และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงที่ใด ทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลย  ฉะนั้นแล้วเพื่อให้สามารถเตรียมตัวตั้งรับได้ทัน ให้เราลองประเมินสถานการณ์การเงินของตัวเองดูก่อน ว่าหากเป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุดหรือเลวร้ายที่สุดสำหรับคุณแล้วจะเป็นเช่นไร เพื่อที่หากเกิดสถานการณ์แต่ละอย่างขึ้นมาจริงๆ เราจะได้รู้ว่าต้องเตรียมตัวรับมือได้อย่างไร เช่น หากมีการชำระหนี้ล่าช้าเกินไปจะสามารถเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ได้ไหม อย่างน้อยๆ ก็เพื่อประเมินสถานการณ์สภาพการเงินของตัวเองไว้ในอนาคต




 

     วางแผนเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้
               

     แน่นอนว่าเมื่อสถานการณ์ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป รายได้เข้ามาลดน้อยลง หรือแทบไม่มีเลย การผ่อนชำระหนี้ของผู้ประกอบการเองย่อมต้องลดลงไปด้วย การเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ เพื่อขอยืดอายุหรือพักการชำระหนี้ออกไปก่อน จึงเป็นอีกสิ่งจำเป็นต้องทำในช่วงเวลานี้ ซึ่งเชื่อว่าในสถานการณ์นี้หากไม่ใจร้ายจนเกินไป ใครๆ ก็คงต้องเข้าใจ
 




     แสวงหาแหล่งรายได้ใหม่
               

    ในเมื่อรายได้จากช่องทางเดิม ไม่สามารถทำเงินได้ ไม่ว่าจากปริมาณลูกค้าที่ลดลง หรือการปิดพักกิจการชั่วคราว เพื่อปฏิบัติตามมาตรการป้องกันต่างๆ จากภาครัฐก็ตาม การแสวงหารายได้เสริมจากสิ่งที่พอทำได้ ขายได้ เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้พอมีรายได้เข้ามา เพื่อช่วยพยุงธุรกิจให้อยู่รอดต่อไป ดังนั้นแล้ว SME ควรใช้ศักยภาพทั้งหมดที่มีอยู่ของตนออกมาใช้ในช่วงเวลานี้ ไม่แน่ว่าหลังจากผ่านพ้นวิกฤตไปแล้ว คุณอาจได้พบลู่ทางใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจก็เป็นได้
 

     ปกป้องกระแสเงินสดไว้ให้ได้มากที่สุด
               

     ในยามนี้กระแสเงินสดเปรียบเสมือนออกซิเจนที่ไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่ต่อไปได้ ซึ่งหากคุณยังสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องรักษาสมดุลการไหลเข้าและออกของเงินสดได้ จ่ายให้น้อยกว่ารับ ธุรกิจก็ยังสามารถอยู่รอดต่อไปได้ ในที่นี้นอกจากการพยายามหารายได้เข้ามาแล้ว การมองหาช่องทางอื่นๆ ที่จะมีเงินเข้ามาได้เร็ว เช่น รับชำระด้วยเงินสด งดพักการให้เครดิต หรือขอเลื่อนกำหนดเวลาการจ่ายเงินจากคู่ค้าให้เร็วขึ้น อะไรที่น่าจะพอทำได้ต้องลองทำแล้วในเวลานี้   
 



     รักษาลูกค้าของคุณไว้ให้ดีที่สุด
               

     แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาที่รุมเร้าเข้ามามากเท่าไหร่ก็ตาม แต่อย่าลืมว่าผู้ประกอบการเองก็ยังคงต้องทำหน้าที่ของการเป็นธุรกิจที่ดีเพื่อลูกค้าของตนด้วย เพราะไม่ใช่เพียงแค่เจ้าของกิจการธุรกิจอย่างเดียวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบในเวลานี้ ผู้บริโภคทั่วไปเองต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้นหากมีอะไรที่พอช่วยได้ ไม่เหลือบ่ากว่าแรงเกินไป ธุรกิจควรนึกถึงผู้บริโภคด้วย อาจไม่ต้องมากมาย ช่วยได้เท่าที่ได้ แค่นี้ก็เป็นน้ำใจที่ดีแล้ว และแน่นอนว่าหากมีอะไรที่พวกเขาสามารถช่วยเหลือได้ในภายภาคหน้าหรือ ณ ตอนนี้ ธุรกิจของคุณก็จะไม่ถูกทอดทิ้งอย่างแน่นอน โปรดจงจำไว้ว่า ความภักดี คือการลงทุนที่ดีที่สุดของธุรกิจที่จะช่วยปกป้องรายได้ในอนาคตให้กับคุณได้


     และ นี่คือ วิธีที่จะช่วยปกป้องฐานะทางการเงินของคุณในเวลานี้ได้ จงใช้ทุกมาตรการที่เป็นไปได้ ไม่มีใครรู้ได้แน่ชัดว่าวิธีใด คือ วิธีที่ดีที่สุด ทุกอย่างเริ่มได้ที่การคิดทบทวนตัดสินใจอย่างรอบคอบ เป็นกำลังใจให้กับทุกคน
 



ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
www.smethailandclub.com
 
 

RECCOMMEND: FINANCE

ไขข้อข้องใจ! ทำไม SME ถึงเข้าแหล่งเงินทุนยาก ฟังแนวทางแก้ไขจากกูรูด้านการเงิน

รู้หรือไม่จำนวน SME ของไทยกว่า 3.2 ล้านราย มี SME ไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทั้งๆ ที่ SME คือฟันเฟืองที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่การที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนสถาบันการเงินกลับไม่ใช่เรื่องง่าย

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน