ธ.กรุงเทพ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.40 เปอร์เซ็นต์ พร้อมพักชำระหนี้ SME 6 เดือน




     ธนาคารกรุงเทพ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภท เอ็มแอลอาร์ เอ็มโออาร์ และเอ็มอาร์อาร์ ลง 0.40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการและประชาชนลดต้นทุนทางการเงินรับมือโรคโควิด 19 และหวังช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2563
               

     สุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ 3 ประเภท ลง 0.40 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง เอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) เอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) และเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2563
               

     สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นการให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการและประชาชนในเรื่องการลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนการดำเนินธุรกิจและลดภาระของประชาชน เพื่อเสริมศักยภาพในการรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
               

     “ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะประคับประคองให้ลูกค้าผู้ประกอบการและประชาชนสามารถผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมในช่วงที่มีความเปราะบางทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพได้ให้การดูแลและให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการให้มีเงินทุนและสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงาน และช่วยเหลือประชาชนในการลดภาระทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนมาตรการของภาครัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)”
               

     นอกจากนี้ธนาคารยังสนับสนุนมาตรการเพิ่มเติมจากธปท. เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SME ทั้งเงินกู้เสริมสภาพคล่อง และพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ให้ลูกค้าผู้ประกอบการมีเงินทุนและสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19
               

     โดยการช่วยเหลือประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ 1. สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการค้าทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติ ระยะเวลา 6 เดือน และไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต เพื่อช่วยให้มีสภาพคล่องรองรับรายจ่ายจำเป็น ทั้งนี้ ลูกค้าผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ธนาคารขอแนะนำให้ชำระหนี้ตามปกติ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
               

     2. ธนาคารพร้อมสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (soft loan) เพื่อเป็นเงินกู้เสริมสภาพคล่อง สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในประเทศที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก และไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก ทั้งนี้ลูกค้าต้องมีสถานะผ่อนชำระปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (ยังไม่เป็น NPL) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยแต่ละรายสามารถขอกู้ได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ของยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562
               

     “ในระหว่างการใช้ 2 มาตรการดังกล่าว ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาแนะนำลูกค้าผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด ทั้งในการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับแผนการผ่อนชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ และช่วยจัดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกค้าผู้ประกอบการ ด้วยธนาคารเข้าใจถึงสถานการณ์ความยากลำบากที่ลูกค้ากำลังเผชิญอยู่ จึงเน้นให้ความช่วยเหลือก่อนที่ลูกค้าจะกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งจะกระทบต่อประวัติเครดิตของลูกค้า และเป็นผลเสียต่อการขอใช้บริการสินเชื่ออื่นๆ ในอนาคต สำหรับลูกค้าที่มีศักยภาพหรือมีความสามารถในการผ่อนชำระได้เช่นเดิม ยังคงสามารถใช้บริการและชำระสินเชื่อต่างๆ ได้ตามปกติ เพื่อร่วมช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” สุวรรณ กล่าว
 
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: FINANCE

ไขข้อข้องใจ! ทำไม SME ถึงเข้าแหล่งเงินทุนยาก ฟังแนวทางแก้ไขจากกูรูด้านการเงิน

รู้หรือไม่จำนวน SME ของไทยกว่า 3.2 ล้านราย มี SME ไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทั้งๆ ที่ SME คือฟันเฟืองที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่การที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนสถาบันการเงินกลับไม่ใช่เรื่องง่าย

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน