โควิด-19 พ่นพิษใส่ภาคการผลิต ฉุด MPI เดือนมี.ค.หดตัว 11.25%





       สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.25 โดยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และภัยแล้ง ส่งผลให้ MPI ไตรมาสแรกปี 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.63 อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการบางอุตสาหกรรมได้ปรับเพิ่มการผลิตให้เข้ากับสถานการณ์และความต้องการสินค้า ส่งผลให้ MPI เดือนมีนาคมขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 1.87 รวมถึง MPI ไตรมาสแรกที่ขยายตัวจากไตรมาสก่อนร้อยละ 5.22
 

     “ทองชัย ชวลิตพิเชฐ” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.25 โดยได้รับผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและภัยแล้ง ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาสแรกปี 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.63 อย่างไรก็ตามการจำหน่ายมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 3.49
 

     โดยผู้ประกอบการในบางอุตสาหกรรม อาทิ อาหารแปรรูป ได้ปรับเพิ่มการผลิตสินค้าให้เข้ากับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ร้อยละ 1.87 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 67.22 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ร้อยละ 5.22 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Hard disk drive ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นหลังทั่วโลกใช้นโยบาย work from home และอุตสาหกรรมอาหารเกือบทุกประเภทที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น


     ยกเว้นอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจึงมีปริมาณอ้อยเข้าโรงงานลดลง โดยมีดัชนีผลผลิตหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 68.93 ทั้งนี้ มีความต้องการอาหารจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารพร้อมทาน ทำให้การส่งออกอาหารกลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรกในรอบ 8 เดือน โดยการส่งออกอาหารเดือนมีนาคมขยายตัวร้อยละ 0.8
 

     ทองชัย กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนมีนาคม 2563 ได้แก่ น้ำตาลจากภาวะภัยแล้ง รถยนต์และเครื่องยนต์จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และสำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนมีนาคม ได้แก่


     Hard disk drive ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.18 มีคำสั่งผลิตและส่งมอบเพิ่มขึ้นหลังห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ในประเทศจีนมีปัญหา และการปิดฐานการผลิตที่ประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ก่อนหน้านี้ รวมถึงผู้ผลิตได้ปรับแผนเร่งผลิตและส่งออกให้มากขึ้นผ่านทางเรือเนื่องจากเที่ยวบินขนส่งสินค้าลดลง


     เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.25 ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย เนื่องจากประเทศคู่แข่งขาดชิ้นส่วนในการผลิต ในขณะที่ตลาดภายในประเทศอยู่ในระดับทรงตัว


     การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.22 จากผลิตภัณฑ์กะทิเป็นหลักที่ปีนี้มีวัตถุดิบมะพร้าวจำนวนมาก รวมถึงการขยายศูนย์กระจายสินค้าและการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายจึงมีการเร่งการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ


     เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.70 จากผลิตภัณฑ์นาเม็ด ยาแคปซูล และยาครีม โดยยาเม็ดและยาแคปซูลได้ผลิตตามคำสั่งขององค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด (ยารักษาตามอาการและยาฆ่าเชื้อ) ให้ผลิตเก็บเป็นสต็อกอย่างน้อย 3 เดือน รวมถึงยารักษาโรคความดัน เบาหวานและลดไขมันตามคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาลที่เปลี่ยนจำนวนการให้ยาผู้ป่วยตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม


     อาหารทะเลแช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.75 จากผลิตภัณฑ์จากปลาแช่แข็งและเนื้อปลาบด ตามความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19


     ภายใต้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ความต้องการสินค้าในตลาดโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก อุตสาหกรรมบางสาขามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารบางสาขา และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส่งสัญญาณแสดงให้เห็นถึงการเตรียมผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมการนำเข้ารวม (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.49 และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป  (ไม่รวมทองคำ) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.72 อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับแผนการผลิตให้เข้ากับสถานการณ์โลกปัจจุบันรวมถึงการปรับเปลี่ยนตัวสินค้าให้เข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคนั่นเอง
 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 
 

RECCOMMEND: FINANCE

ไขข้อข้องใจ! ทำไม SME ถึงเข้าแหล่งเงินทุนยาก ฟังแนวทางแก้ไขจากกูรูด้านการเงิน

รู้หรือไม่จำนวน SME ของไทยกว่า 3.2 ล้านราย มี SME ไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทั้งๆ ที่ SME คือฟันเฟืองที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่การที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนสถาบันการเงินกลับไม่ใช่เรื่องง่าย

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน