3 เหตุผลดีๆ ที่ SME ต้องดูแลสถานะทางการเงินของธุรกิจ “ด้วยตัวเอง”

TEXT : เจษฎา    





Main Idea

เหตุผลที่ SME ต้องดูแลสถานะการเงินด้วยตัวเอง
 
  • ไม่มีใครรู้จักธุรกิจของเราดีเท่าตัวเราเอง
 
  • เรามีข้อมูลในการตัดสินใจที่เหนือกว่าทุกคน
 
  • การควบคุมดูแลด้วยตัวเอง จะทำให้เข้าถึงและแก้ปัญหาได้เร็วกว่า



     ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักมีหน้าที่และงานที่ต้องรับผิดชอบมากมายจนเรียกได้ว่า “ยุ่งอยู่ตลอดเวลา” ดังนั้น เพื่อบริหารจัดการธุรกิจให้ลงตัว ก็จำเป็นที่จะต้องมอบหมายงานให้ลูกจ้างหรือพนักงาน หรือจ้างบุคคลภายนอก (Outsource) มาช่วยตั้งแต่การเป็นลูกจ้างในกระบวนการผลิต พนักงานขาย ส่งสินค้า ตอบคำถามผ่านโซเชียลมีเดีย ทำงานกราฟิก และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อให้เราสามารถโฟกัสเรื่องการสร้างกำไรได้อย่างเต็มที่
              




      มาถึงคำถามสำคัญกันแล้ว นั่นก็คือ “เราได้จ้าง Outsource มาดูแลสถานะทางการเงินของธุรกิจหรือไม่” ถ้าเราตอบว่าใช่ ก็อาจถึงเวลาคิดทบทวนให้ละเอียดถี่ถ้วนอีกสักครั้งได้แล้ว
              

      สำหรับการจ้าง Outsource เพื่อทำบัญชีไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ตราบเท่าที่เรายังสามารถควบคุมและตรวจสอบให้แน่ใจได้ว่าข้อมูลไม่ถูกดัดแปลงหรือแก้ไข ขณะเดียวกันนักบัญชีก็ยังสามารถให้คำแนะนำเรื่องการเงินและภาษีประจำปีได้ แต่ถ้าเราพึ่งพาคนนอก หรือจ้าง Outsource ให้ดูแลสถานะทางการเงินของธุรกิจ ต้องบอกว่าคิดผิดไปโดยถนัด เพราะว่าไม่มีใครแคร์ธุรกิจของเราได้มากกว่าตัวเราเองอีกแล้ว เพราะฉะนั้นในฐานะเจ้าของธุรกิจเราต้องรู้ตัวเลขและข้อมูลต่างๆ ทั้งหมดเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในด้านต่างๆ


      นอกจากนั้น ยังมีอีก 3 เหตุผลที่ชี้ชัดว่า เราควรดูแลสถานะทางการเงินด้วยตัวเอง



 


            1. ไม่มีใครรู้จักธุรกิจของเราดีเท่าตัวเราเอง


         เราไม่สามารถปล่อยเรื่องการตัดสินใจด้านการเงินที่สำคัญไว้ในมือคนที่เราไม่รู้จัก เพราะคนที่ก่อตั้งและรู้จักธุรกิจที่ทำมาดีที่สุดก็คือตัวเราเอง สิ่งที่เราควรทำคือรับฟังคำแนะนำหรือความคิดความเห็น ก่อนจะนำมาประมวลผล ตัดสินใจ และรับผิดชอบผลที่จะตามมาด้วยตัวเอง สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือการเข้าใจตัวเลขสถานะทางการเงินอย่างถ่องแท้ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจก้าวนำคู่แข่งไปได้
 






            2. เรามีข้อมูลในการตัดสินใจที่เหนือกว่าทุกคน
              

        ในฐานะเจ้าของธุรกิจ เราจะมีข้อมูลทุกๆ ด้าน ทั้งที่เป็นเอกสารในมือ ไฟล์ในคอมพิวเตอร์ และข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ในความคิด ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราตัดสินใจอย่างดีที่สุดโดยมีผลกำไรและทางรอดของธุรกิจเป็นที่ตั้ง สิ่งสำคัญที่ควรจำเอาไว้ก็คือ อย่าเป็นเหมือนเจ้าของธุรกิจหลายๆ คนที่คุยโตโอ้อวดว่ามีรายได้ที่สูง 8-9 หลัก เพราะตัวเลขรายได้นั้นจะไม่มีความหมายเลย หากไม่มีผลกำไร




 
        
    
        3. การควบคุมดูแลด้วยตัวเอง จะทำให้เข้าถึงและแก้ปัญหาได้เร็วกว่า
              

       ต้องบอกว่า การ Outsource เป็นเรื่องที่ดี แต่เราเองก็ต้องตรวจสอบทุกเรื่องอยู่ดี ไม่เว้นแม้กระทั่งบัญชีธนาคารและบัญชีรายรับรายจ่ายที่ควรตรวจสอบทุกเดือนว่ามีรายการใดแปลกผิดปกติ หรือเงินหายไปจากส่วนใดบ้างหรือเปล่า โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีโอกาสถูกโกงจากพนักงาน หรือประสบปัญหาเรื่องกระแสเงินสด หากพบปัญหาเราก็สามารถแก้ได้รวดเร็วและตรงจุดกว่า


 
              




      ทั้งนี้จากข้อมูลของ Hiscox บริษัทผู้ให้บริการประกันภัยของสหรัฐฯ พบว่าธุรกิจในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2559 ได้รับผลกระทบจากลูกจ้างที่ลักขโมยของเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 1.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง คิดเป็น 68 เปอร์เซ็นต์ ของคดีที่เกิดขึ้น ประสบภาวะขาดทุนเฉลี่ยแล้วอยู่ที่กิจการละ 289,864 ดอลลาร์สหรัฐฯ เห็นตัวเลขแบบนี้แล้ว อย่าลืมหาเวลาไปดูแลบัญชีและยอดเงินในแต่ละเดือนกันให้ดีละ
 
              

      ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องเงินมักไม่เข้าใครออกใคร ดูแลเอง ระวังเอง ตัดสินใจเอง ย่อมดีที่สุด
 
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

 

RECCOMMEND: FINANCE

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้

ฟังผู้บริหาร บสย. แนะ SME เสริมสภาพคล่อง เข้าถึงสินเชื่อในระบบ

ในยุคที่เศรษฐกิจผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต่างต้องการ “เงินทุน” ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน แต่ “การเข้าถึงสินเชื่อในระบบ” ยังเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการ ทางออกหนึ่งคือการหันไปหา “เงินกู้นอกระบบ”