4 ทางออกช่วย SME เคลียร์หนี้ช่วงวิกฤต ช่วยธุรกิจผ่อนหนักให้เป็นเบาตามมาตรการ ธปท.

TEXT : นเรศ เหล่าพรรณราย





     การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมากที่ต้องขาดรายได้จนนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้กับทางสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตามธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตราการช่วยเหลือลูกหนี้ออกมาในหลายระดับขั้นตามความรุนแรงของความเป็นหนี้ ไปลองดูกันว่าผู้ประกอบการจะมีหนทางแก้ไขอย่างไร
 

       1. หากลูกหนี้ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ได้บ้าง แต่อยากจะให้สถาบันการเงินช่วยลดภาระหนี้เช่นจากเดิมต้องชำระเดือนละ 1,000 บาท แต่ต้องการจะขอชำระเหลือ 500 บาท กรณีนี้สามารถติดต่อไปยังสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้อยู่เพื่อที่จะหาทางช่วยเหลือเป็นรายกรณีตามเครดิตที่มีอยู่
 

      2. หากเริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้ แต่ไม่ต้องการจะเสียประวัติในเครดิตบูโร สามารถติดต่อไปยังสถาบันการเงินเพื่อหาทางออกร่วมกันได้ เพราะธนาคารเองก็ไม่ต้องการจะต้องตั้งสำรองส่วนของหนี้เสีย โดยสิ่งที่จะสามารถขอต่อรองได้ก็คือการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปหรือลดดอกเบี้ยให้ ตลอดจนการรวมหนี้ส่วนต่างๆ เช่นหนี้สินบ้านและบัตรเครดิตให้เป็นก้อนเดียวกันเพื่อลดภาระผ่อนต่อเดือน ก็จะช่วยไม่ให้เสียประวัติในเครดิตบูโร



 

        3. เกิดเป็นหนี้เสียหรือ NPL แล้ว จากการผิดนัดชำระหนี้สามเดือนติดต่อกัน สามารถติดต่อไปได้ที่คลินิกแก้หนี้หรือสถาบันการเงิน เพื่อขอให้ปรับโครงสร้างหนี้เช่นผ่อนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลให้เป็นระยะเวลา 10 ปี ดอกเบี้ยเหลือ 4-7 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี หรืออาจจะออกแบบโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับรายได้ที่มี ก็จะช่วยให้ไม่ถูกฟ้องจากสถาบันการเงินให้เกิดคดี
 

       4. หากอยู่ในช่วงของการถูกฟ้องร้องไปแล้วหรือว่าถูกบังคับคดีเป็นที่เรียบร้อยและกำลังจะถูกยึดทรัพย์ ตอนนี้มีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือในการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมคุ้มครองสิทธิ โดยสามรถติดต่อได้ทางช่องทางออนไลน์ หน่วยงานดังกล่าวจะเข้ามาเจรจาเรื่องข้อตกลงการชำระหนี้ใหม่เพื่อที่จะจบคดีในชั้นศาลหรือไม่ถูกยึดทรัพย์


       ทั้งนี้หากถูกฟ้องร้องนอกจากจะถูกยึดทรัพย์แล้วยังอาจตกเป็นผู้ล้มละลายซึ่งจะไม่สามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงินได้อีกแม้แต่การเปิดบัญชีธนาคาร ลูกหนี้จึงควรใช้สิทธิที่มีเข้าไปเจรจากับสถาบันการเงิน



 

        การเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้อาจจะเกิดได้หลายกรณีไม่ว่าจะเป็นการ Hair Cut หรือตัดหนี้ทิ้งบางส่วนและปรับระยะเวลาการชำระคืนหนี้ใหม่ วิธีนี้จะทำให้เสียประวัติในเครดิตบูโรแต่จะยังไปไม่ถึงชั้นศาลในการสั่งฟ้องยึดทรัพย์
 

        แต่หากยังคงดำเนินการชำระหนี้ได้แม้จะไม่ได้ตามสัดส่วนที่เคยชำระได้ก็ตาม วิธีนี้จะไม่ทำให้ประวัติในเครดิตบูโรเสียแต่อย่างไร ผู้ที่ยังคงมีกำลังในการชำระหนี้ได้และมีความจำเป็นต้องอาศัยเครดิตทางการเงินในอนาคตจึงควรเลือกเส้นทางนี้ 


       ถือได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตราการช่วยเหลือลูกหนี้ออกมาในทุกเคส อย่างไรก็ตามบางเคสอาจเป็นดุลยพินิจของสถาบันการเงินเอกชนที่จะรับความช่วยเหลือหรือไม่ซึ่งจะขึ้นอยู่กับนโยบายของธนาคารพาณิชย์นั้นๆ ด้วย



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: FINANCE

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้

ฟังผู้บริหาร บสย. แนะ SME เสริมสภาพคล่อง เข้าถึงสินเชื่อในระบบ

ในยุคที่เศรษฐกิจผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต่างต้องการ “เงินทุน” ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน แต่ “การเข้าถึงสินเชื่อในระบบ” ยังเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการ ทางออกหนึ่งคือการหันไปหา “เงินกู้นอกระบบ”